Skip to main content
sharethis

ทันทีที่มีกระแสการแก้ไขพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 แทบทุกสายตาชาวมุสลิมและผู้สนใจในสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ก็ล้วนจับจ้องลงไปยังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยพลัน เพราะนี่อาจเดิมพันด้วยคำถามว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่?

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง รายงาน

 

 

ทันทีที่มีกระแสการแก้ไขพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 แทบทุกสายตาชาวมุสลิมและผู้สนใจในสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ก็ล้วนจับจ้องลงไปยังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้โดยพลัน

 

เพราะเหตุด้วยว่า พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมที่สำคัญ 2 ประการ นั่นก็คือการได้มาซึ่งคณะกรรมการในองค์กรทางศาสนาอิสลามทุกระดับด้วยการ 'สรรหา' แทนการ 'เลือกตั้ง' อีกประการคือการแยกหน้าที่สำนักงานจุฬาราชมนตรีกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำประเทศไทยให้ชัดเจนเนื่องจากมีความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ที่นำไปสู่การถกเถียงเรื่องขอบเขตอำนาจของ 'จุฬาราชมนตรี' ว่าควรจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของผู้นำทางศาสนาเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอำนาจบริหารใดๆหรือควรเป็นผู้มีอำนาจฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามกลางประจำประเทศไทยโดยตำแหน่ง

 

แน่นอนว่าการจับจ้องในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเดิมพันด้วยคำถามว่า 'จะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่ ?'

 

แต่ไม่ว่าอย่างไรการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คงจะหลีกไม่พ้นการช่วงชิงอำนาจนำในหมู่ชาวมุสลิมสยามครั้งสำคัญอีกครั้ง ด้วยในอดีตที่ผ่านมาผู้มีอำนาจในมุสลิมสยามและมีบทบาทนำมักจะเป็นผู้มาจากรัฐส่วนกลางซึ่งไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกของมุสลิมบนความแตกต่่างอื่นๆที่ดำเนินมาหลายร้อยปีได้ จึงทำให้ต้องมีการออกแบบจัดสรรกระบวนการจัดการอำนาจกันใหม่ตั้งแต่ระดับล่างสู่การมีอำนาจสูงสุดระดับบนในหมู่ชาวมุสลิม นั่นก็คืออำนาจบริหารกิจการอิสลามอันมี 'จุฬาราชมนตรี' เป็นผู้นำสูงสุด

 

 

มุสลิมไทยไม่ได้มีกลุ่มเดียว

ก่อนอื่นคงต้องจำแนกให้เห็นกันชัดว่าว่ามุสลิมในประเทศไทยมีมากมายหลายกลุ่ม ศาสนาอิสลามเข้ามาในประเทศไทย ราว พ.ศ. 1800 ในลักษณะรัฐอิสระบริเวณคาบสมุทรมลายูหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มมลายูมุสลิมซึ่งก็คือมุสลิมในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางส่วนในจังหวัดสตูลและสงขลาในปัจจุบัน นอกจากนี้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์มีการค้า การทำสงครามและการเทครัวบ้างจึงมีการเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดอยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา นนทบุรี และบางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เช่น ธนบุรี สี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ พระประแดง บางคอแหลม มหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก มุสลิมกลุ่มเชื้อสายมลายูนี้มีจำนวนมากที่สุดในบรรดามุสลิมสยาม

 

กลุ่มที่ 2 เป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากเปอร์เซียหรืออิหร่านซึ่งเข้ามาค้าขายตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาแม้มีจำนวนประชากรไม่มากแต่ต่อมามีบทบาทสูงในราชสำนักสยามทั้งในฐานะการค้าและกำลังในการสงคราม โดยเฉพาะ ชัยค์ ( เฉก) อะห์มัด กูมี (Shieak Ahmad Qumi) ซึ่งเข้ามาประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ก่อน พ.ศ. 2143 นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์มาเผยแพร่เป็นครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เฉก อะห์หมัด รับราชการรับยศเทียบเท่าเจ้าพระยา กรมท่าขวา และได้เป็น 'จุฬาราชมนตรีคนแรก' มีหน้าที่เก็บภาษีสินค้าเข้า ออก ดูแลการเดินเรือระหว่างประเทศและดูแลกิจการศาสนาอิสลาม (ต้นตระกูลบุนนาค บุณยรัตตพันธ์ ศรีเพ็ญ ) ปัจจุบันมุสลิมนิกายชีอะฮ์จากเปอร์เซียจะอยู่กันมากย่านเจริญพาสน์ ฝั่งธนบุรี

 

นอกจากนี้ยังมีมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญแต่ในสายนิกายซุนนะห์ คือโมกอล เดิมตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง จังหวัดสงขลา ซึ่งย้ายมาจากอินโดนีเซีย เป็นบิดาของ สุลต่านสุลัยมาน ซาห์ ผู้แยกสงขลาเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ต่อมานับว่ามีบทบาทหรืออำนาจนำในส่วนกลางของสยามเช่นกัน ทั้งในสายราชสกุลหรือสกุลที่เป็นพุทธ เช่น สุทัศน์ ณ อยุธยา สุคนธาภิรมย์ วัลลิโภดม จันทโรจน์วงศ์ ณ สงขลา ณ พัทลุง สุวรรณคีรี ขัมพานนท์ ศรุตานนท์ วงศ์วานิ ยงใจยุทธ หรือที่ยังเป็นมุสลิมได้แก่ สุวรรณกิจบริหาร โยธาสมุทร บางอ้อ สิทธิวนิช แสงวนิชย์ ปรียากร ชลายนเดชะ บัวหลวง ทองคำวงศ์ ศรเดช

 

กลุ่มที่ 3 เชื้อสายชวา มีหลักฐานยืนยันว่าชาวชวาเข้ามาไทยสมัยรัชกาลที่ 5 น่าจะมีสาเหตุมาจากการทำมาหากินเพราะค่าจ้างในไทยสูงกว่าในชวาถึง 3 เท่าในเวลานั้น และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวชวาก็ถูก ญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างรถไฟสายมรณะ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามชาวชวาก็ตั้งถิ่นฐานในไทย ปัจจุบันในกรุงเทพฯจะมีมุสลิมเชื้อสายชวามากรองจากเชื้อสายมาเลย์เท่านั้น

 

กลุ่มที่ 4 เชื้อสายมาจากจาม-เขมร สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทหารอาสามาจากเขมรที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาอาสารบ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 อพยพตามเจ้า พระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรเวลานั้นเข้ามา

 

กลุ่มที่ 5 เชื้อสายมาจากเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และ อัฟกานิสถาน มีหลักฐานว่ามาค้าขายตั้งแต่ในสมัยอยุธยา บางส่วนจึงตั้งรกรากอยู่ทั่วประเทศไทย

 

กลุ่มสุดท้ายเป็น มุสลิมที่สืบเชื้อสายมาจากจีนเข้าประเทศไทยทางชายแดนภาคเหนือ โดยตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเชียงราย ลำพูน แม่ ฮ่อนสอน และเชียงใหม่ จีนฮ่อมุสลิมนี้เข้ามาประเทศไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาล ที่ 5 ส่วนการอพยพครั้งต่อมามีขึ้นในปี 2493 เมื่อประเทศจีนเป็น คอมมิวนิสต์ กองพล 93 ที่เป็นทหารของเจียงไคเช็คแห่งก๊กมินตั๋ง จึงอพยพมา อยู่ที่ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย

 

 

อำนาจนำ 'จุฬาราชมนตรี' จากส่วนกลางที่ไม่เคยมีในภาคใต้

จะเห็นว่าจากลุ่มมุสลิมที่มีหลากหลายนี้ ปัจจุบันมีความไม่ลงตัวระหว่าง 'ปริมาณ' กับ 'อำนาจ' ทั้งนี้ ความจริงแล้วคงต้องย้อนไปเปิดประวัติศาสตร์ชาติไทยกันใหม่อีกครั้ง

 

ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยามิติของรัฐปัตตานีหรือก่อนหน้านั้นเป็นรัฐอิสระมีสุลต่านเป็นผู้นำในแต่ละแคว้น อีกทั้งมีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าสูงมากจนเป็นคู่แข่งขันกับนครศรีธรรมราชเมืองเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องการมีอำนาจเหนืออาณาจักรนี้และต่อมาก็ทำได้สำเร็จโดยการยอมรับการเป็นหัวเมืองประเทศราชที่ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองหรือ 'บุหงามาศ' แต่ในด้านรูปแบบการปกครองและวัฒนธรรมแล้วล้วนเป็นอิสระในตัวเอง

 

ในขณะเดียวกันกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเมืองเศรษฐกิจที่ทำการค้ากับนานาชาติ การคบค้ากับนานาชาติจึงสำคัญโดยเฉพาะ จีนและแขก ทั้ง 2 ชาตินี้ จึงมีตำแหน่งขุนนางสำคัญในราชสำนักมากเลยทีเดียว นั่นก็คือ 'โชฎึกราชเศรษฐี' สังกัดกรมท่าซ้ายดูแลการค้ากับจีน และ 'จุฬาราชมนตรี' สังกัดกรมท่าขวา อำนาจในการดูแลอิสลามสยามอยู่ภายใต้ตำแหน่งนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วในส่วนของเฉก อะห์หมัด

 

จุดที่น่าสนใจก็คือ 'จุฬาราชมนตรี' ที่เป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดด้านอิสลามของสยามที่ผูกติดกับอำนาจส่วนกลางหรือราชสำนักแต่จะไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับรัฐปัตตานีที่เป็นอิสระในวัฒนธรมและการปกครองมาตลอด นอกจากนี้ จะเห็นได้อีกว่าอำนาจนำในฐานะ 'จุฬาราชมนตรี' จะกระจุกตัวในมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย ในขณะที่ส่วนมุสลิมเชื้อสายมลายูมีปริมาณมากที่สุดแต่กลับไม่ค่อยมีบทบาทนำหรือต่อรองมากนักในสยามหลังการรวมศูนย์อำนาจในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ อำนาจ 'จุฬาราชมนตรี' มักไม่ได้รับการยอมรับ

 

การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้มีแรงปฏิเสธสูงจากสุลต่านที่เคยมีอำนาจอิสระในหัวเมืองตนต่อมาจึงกลายเป็นการต่อต้านครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า กบฎพระยาแขก 7 หัวเมือง ซึ่งแม้จะปราบหรือกดลงได้ด้วยกำลังแต่ก็กลายเป็นเชื้อไฟที่รอประทุตลอดเวลา ซึ่งก็คือรากเหง้าดั้งเดิมของปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ นั่นเอง

 

จนกระทั่งในช่วงสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความพยายามที่จะแก้ไขและทำความเข้าใจกับปัญหาจังหวัดชายแดนเหล่านี้โดยตำแหน่ง 'จุฬาราชมนตรี' ถูกนำกลับมาใช้ทางการเมืองในการนี้ฐานะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในเรื่องของชนชาวมุสลิม ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นนายกรัฐมนตรีในระยะหนึ่งสั้นๆ ได้แต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ (มุสลิมนิกายซุนนะห์ นอกวงศ์ เฉก อะห์หมัด คนแรก)ให้ดำรงตำแหน่งนี้ และดำเนินนโยบายประนีประนอมมองให้เห็นถึงความแตกต่างและยอมรับทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการติดต่อกับผู้นำของท้องถิ่น เช่น กรณีของ 'หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์' (ดู เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏ หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. ศิลปวัฒนธรรม, 2547) ซึ่งรัฐบาลให้้ทำข้อเสนอเพื่อการเจรจาจนสถานการณเริ่มคลี่คลาย

 

"น่าเสียดายที่ความพยายามของ 'สายพิราบ' นี้สะดุดหยุดลงเมื่อ 'สายเหยี่ยว' กลับมามีอำนาจภายหลังการ 'รัฐประหาร 2490' ที่นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งจอมพลผิน ชุณหะวัณ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมกลับมาครองอำนาจใหม่ ข้อเสนอและบทบาทของ 'หะยีสุหลง' ถูกกล่าวหาว่าเป็น 'กบฏ' ต้องการ 'แบ่งแยกดินแดน' ตัวท่านเองก็ 'ถูกอุ้ม' หายไป (เชื่อกันว่าถูกทำลายชีวิตด้วยการจับมัดใส่กระสอบนำไปถ่วงน้ำ"(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์บาดแผล จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่ครั้งแรกศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 4 วันที่ 1 ก.พ. 2548)

 

ส่วนตำแหน่ง 'จุฬาราชมนตรี' ก็ถูกลดฐานะเป็นเพียง 'ที่ปรึกษาของ ร.ม.ต. มหาดไทย' และไร้ความหมายไปโดยปริยาย เป็นความไร้ความหมายที่ทำให้กระทั่งองค์ความรู้เกี่ยวกับมุสลิมสยามสูญหายไปด้วยจนต้องมาเริ่มต้นกันใหม่แบบตั้งตัวไม่ติดในปัจจุบัน

 

 

อำนาจนำ 'จุฬาราชมนตรี' ปัจจุบันที่ยังถูกปฏิเสธ

ในอดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ไม่ต่างกันนัก เมื่อนโยบายเกี่ยวกับภาคใต้ของรัฐสยามไม่ว่าจะในสมัยรัชกาลที่ 5 จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และที่ยังไม่แน่ใจว่าจะหวานซ่อนเปรี้ยวหรือไม่ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน ทำให้ผู้มีอำนาจนำในหมู่มุสลิมที่เป็นสัญลักษณ์จากส่วนกลางมักจะถูกปฏิเสธจากในพื้นที่ 3 จังหวัด

 

ขณะเดียวกันสถานะของ 'จุฬาราชมนตรี' แม้จะมีชื่อว่าเป็นผู้นำสูงสุดของมุสลิมสยาม แต่ในทางการบริหารรูปแบบองค์กรกลับแบ่งเป็นส่วนสำนักจุฬาราชมนตรีที่มีอำนาจในทางบริหารน้อย ในขณะที่อีกองค์กรหนึ่งคือสำนักงานอิสลามกลางประจำประเทศไทยเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการบริหารกิจการอิสลามมากทำให้เงื่อนไขทางการเมืองภายในระหว่าง 2 องค์กรก่อตัวขึ้นและกลายเป็นการช่วงชิงอำนาจนำภายในกระบวนการบริหารกิจการอิสลามก็ขยายตัวมากไปกว่าแค่เรื่องชาติพันธุ์แต่พ่วงไปสู่เรื่องการเมืองและผลประโยชน์

 

ดังนั้นขณะนี้การดำรงตำแหน่ง 'จุฬาราชมนตรี' ของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้งคนแรก ตาม พ.ร.บ. บริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ก็ตาม ก็ถูกไม่ให้การยอมรับจากหลายฝ่ายที่นำเรื่องในพื้นที่ 3 จังหวัดมาใช้ในการลดทอนความน่าเชื่อถือ ประเด็นนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะ 'จุฬาราชมนตรี' เป็นตำแหน่งในโครงสร้างปัจจุบันที่มีภาพที่รองรับการเมืองจากรัฐส่วนกลางโดยไม่ได้สร้าง 'ความรู้สึกมุสลิมเดียวกัน' กับมุสลิมส่วนอื่นโดยเฉพาะมุสลิมเชื้อสายมลายูตั้งแต่ดั้งเดิม

 

กรณีล่าสุดคือการประกาศวันตรุษฮารีรายอ ฮัจจี หรือวันอีดิลฮัฎฮา อันเป็นหลักการสำคัญทางศาสนา แต่กลับมีการประกาศตรุษอีตถึง 2 วัน คือที่มีการประกาศโดยนายสมาน มาลีพันธ์ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และที่ประกาศโดย 'จุฬาราชมนตรี' เอง ซึ่งมัสยิดกว่า 3,000 แห่ง ใน 3 จังหวัดใต้บวกสงขลาและบางจังหวัดในประเทศไม่ได้ออกอีตตามประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่องนี้จึงเป็นสัญญาณบางอย่างที่มีต่ออำนาจสูงสุดจากส่วนกลาง

 

หรือในกรณีอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้จุฬาราชมนตรีมาสาบานในกรณีที่ดินวะกัฟของกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างท่อก๊าซไทย - มาเลเซียที่จะนะ จังหวัดสงขลา ก็เป็นอีกเรื่องที่มีการเรียกร้องให้มีการวินิจฉัยหลักการทางศาสนาหรือฟัตวาของอันเป็นหน้าที่ของ 'จุฬาราชมนตรี' อย่างท้าทายในลักษณะให้มาสาบานในการวินิจฉัยปัญหาตามหลักการอิสลามของ 'จุฬาราชมนตรี' ว่าเป็นไปตามหลักศาสนาหรือไม่ นอกจากนี้ในกรณีกรือเซะท่าทีของ 'จุฬาราชมนตรี' ที่ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในวันที่ 29 เมษายน 2547 ก็ดูจะสอดรับกับสิ่งที่รัฐบาลขณะนั้นต้องการให้พูดมากกว่าสิ่งที่คนใน 3 จังหวัดต้องการได้ยิน เช่น การระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำถูกต้องแล้วในกรณีนี้

 

"เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ได้ใช้ความอดกลั้น น่าสรรเสริญแล้ว เมื่อจำเป็นในที่สุดก็ต้องทำตามหน้าที่ แม้ต้องสูญเสียก็ต้องทำ ผมจึงขอชมเชยเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ความชมเชยแก่ผู้คนรอบๆ มัสยิดกรือเซะ เพราะไม่ได้เห็นชอบตามที่ผู้ก่อการร้ายชี้แนะ เห็นได้ว่าไม่มีใครต่อต้านหรือส่งเสียงช่วยผู้ก่อการร้าย จึงเป็นการสบายใจว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความรับผิดชอบถูกต้องว่าอะไรควรไม่ควร ผมจึงขอบใจทุกคนที่ทำตนอยู่ในความสงบ ไม่ได้ขัดขวางอันใด เขาได้เห็นชอบแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทำตามกฎหมายถูกต้องพอสมควร"

 

ส่วนในตัวของคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย (มาจากการเลือกตั้งในหมู่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด) ที่มีอำนาจบริหารเองก็มีกระแสอยู่เนืองๆว่ามักจะปัดข้อเสนอจากทางสำนักจุฬาราชมนตรีให้ตกไป ทำให้ภายหลังมีการบอยคอตกันภายในและไม่ร่วมประชุมจนความขัดแย้งเริ่มปรากฏชัด ดังคำสัมภาษณ์ของนายพิเชษฐ์ สถิรชวาลย์ เลขาธิการคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเนชั่นสุดสัปดาห์ (ปีที่ 15 ฉบับที่ 722วันที่ 31ม.ค.49)

 

"ท่านประธานก็คือท่านจุฬาราชมนตรี ประมุขสูงสุดของทางด้านศาสนาอิสลาม แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายบริหารก็ไม่เอาด้วย ท่านจุฬาฯ ว่าไงไปคณะบริหารก็ไม่เอาด้วย อย่างนี้มาตลอด ซึ่งหลายๆ คนในที่นั่น เมื่อทนไม่ไหวก็ไม่มาร่วมประชุมเลย โดยการบอยคอต"

 

หรือช่วงหนึ่งก็มีกระแสกดดันให้ 'จุฬาราชมนตรี' ออกจากตำแหน่ง การให้สัมภาษณ์ของนายไพศาล พรหมยงค์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่ยอมรับว่า ชมรมโต๊ะอิหม่าม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ขับไล่ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี ออกจากตำแหน่งฐานรับเงินกองสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งผิดหลักศาสนาอิสลามและบอกด้วยว่า ผู้ที่ออกมาดำเนินการขับไล่ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดของจุฬาราชมนตรีที่แต่งตั้งมาด้วยตนเองทั้งนั้น และยอมรับว่า ในคณะกรรมการกลางอิสลามเกิดความขัดแย้งภายในมานานแล้ว โดยมีทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง (ผู้จัดการออนไลน์ 'ก.ก.อิสลามรับขัดแย้งภายใน เผยคนสนิทเบื้องหลังขับไล่จุฬาราชฯ' วันที่ 21 พ.ค. 2549)

 

หรืออีกครั้งที่เสียงจาก 3 จังหวัดภาคใต้ถูกโยนว่าไม่ยอมรับ 'จุฬาราชมนตรี' เมื่อ นายสง่า วันฎเอนทรีย์ อดีตกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมสมาชิกคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมชาย สุนทรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 11 กันยายน 2549 ให้ตรวจสอบและสอบสวนข้อเท็จจริงการขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักด์ จุฬาราชมนตรี ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 โดยยืนยันว่าชื่อที่สนับสนุนนี้มาจาก 3 จังหวัดภาคใต้เป็นหลัก

 

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากนายสวาสดิ์ ในฐานะจุฬาราชมนตรี ได้มอบหมายให้นายดำรงค์ สุมาลยศักดิ์ บุตรชาย ซึ่งมีตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำการรับรองบุคคลว่าเป็นมุสลิม เพื่อจะได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจจ์ และอุมเราะห์ ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมีการเรียกเก็บเงินค่ารับสมัครจำนวน 200 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541-2548 จำนวน 69,401 คน รวมเป็นเงินหลายล้านบาท และนำเงินดังกล่าวเข้าเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ เนื่องจากการรับรองบุคคลนั้น ถือว่าเป็นการรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม ตาม พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตรา 18 (9) บัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการการอิสลามแห่งประเทศไทย จึงเห็นว่าจุฬาราชมนตรี จงใจกระทำผิดกฎหมาย ตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และจุฬาราชมนตรี ตามมาตรา 17 (1) ประกอบมาตรา 7 (6) จึงต้องพ้นจากตำแหน่งไป (ไทยรัฐ 'ยื่นมท.ปลด 'จุฬาราชมนตรี'ขาดคุณสมบัติ ความประพฤติมิชอบ' วันที่ 11 ก.ย. 49 )

 

เสียงเหล่านี้แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การต้องการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.บริหารกิจการศาสนาอิสลามฯในครั้งนี้เพราะมองว่า 'การเลือกตั้ง' จนได้มาซึ่งคณะกรรมการอิสลามระดับต่าง ที่นำไปสู่กระบวนการเลือก 'จุฬาราชมนตรี' ที่มีอำนาจในในสำนักจุฬาราชมนตรีนั้นทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่มุสลิมเพราะไปซ้ำซ้อนกับอำนาจของคณะกรรมการกลางอิสลามในส่วนการบริหาร สุดท้าย พ.ร.บ.แก้ไขนี้จึงต้องกลับไปตั้งคำถามใหม่กับอำนาจของ 'จุฬาราชมนตรี' ว่าควรจะเป็นอย่างไร ในขณะที่แนวโน้มคือแยกสำนักงานจุฬาราชมนตรีออกจากกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามประจำประเทศไทย โดยวาง 'จุฬาราชมนตรี'ไว้บนยอดอำนาจเหมือนเดิมเพราะเป็นยอดอำนาจที่มีความหมายทางวัฒนธรรมซึ่งหากยกเลิกตำแหน่งไปเลยนั้นอาจจะมีแรงเสียดทานที่สูงไม่ว่าอย่างไร 'จุฬาราชมนตรี' เปรียบเสมือนเพียงสัญลักษณ์อันเป็นนวตกรรมจากส่วนกลางที่ยังเหลืออยู่เพื่อใช้เป็นตัวแทนอำนาจแทนมุสลิมทุกกลุ่มชาติพันธุ์

 

ดังนั้นข้อถกเถียงจึงไปอยู่ที่ยอดอำนาจนี้ควรจะเป้นอย่างไร จะให้อยู่ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการกลางอิสลามฯหรือยอดในเชิงสัญลักษณ์ที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมจากอดีตเพียงอย่างเดียวคือเป็นผู้นำหรือทำหน้าที่เฉพาะที่เกี่ยวกับทางศาสนาเท่านั้นโดยไม่มีอำนาจบริหาร ทั้งที่ในเชิงลึกแล้วอาจไม่ได้รับการยอมรับอย่างสนิทใจเลย ภาวะที่เป็นอยู่นี้ทำให้อำนาจการนำในโลกมุสลิมสยามยังต้องถือว่า 'ไม่เสถียร' คล้ายๆกับการเมืองไทยระดับใหญ่อย่างไรอย่างนั้น

 

กระบวนการผลักดันการร่างกฎหมายมุสลิมใหม่จึงคล้ายกับรัฐธรรมที่กำลังร่างกันใหม่ เพียงแต่เป็นกฎหมายนี้จะเป็นธรรมนูญของโลกมุสลิมไทย ข้อถกเถียงเรื่อง 'จุฬาราชมนตรี' ครั้งนี้คงไม่ต่างเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎร์วางโครงสร้างพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยใหม่ ซึ่งเริ่มเสถียรมากขึ้นแล้วในตอนนี้หากไม่เกิดกระบวนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49

 

บนความไม่เสถียรทางอำนาจของโลกมุสลิมสยามตอนนี้ มุสลิมไม่ว่าจะ ซุนนะห์ ซีอะห์ หรือกลุ่มแนวคิดแบบ ซาฟิอีย์ วะหะบี ฮัมบาลี ฮานาฟี มาลีกีย์ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยมลายู กลุ่มกรุงเทพฯ มุสลิมนักการเมือง หรือนักการเมืองที่ไม่ใช่มุสลิม ทหาร และอื่นๆ ต้องรีบช่วงชิงอำนาจนำในช่วงสูญญากาศทางการเมืองระดับใหญ่ การมีบทบาทในแก้ไขกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาฐานประโยชน์ของกลุ่มให้ได้ไม่ว่าจะมาโดยการคัดสรรหรือการเลือกตั้งก็ตาม เนื้อหาวิธีการให้ได้มาจึงเป็นเพียงเนื้อหาหนึ่งที่ต้องจับตาว่าจะเอื้อกับฝ่ายใดที่มีบทบาทในการแก้กฎหมายตัวนี้ เพราะขณะนี้มีบางฝ่ายมีอำนาจในการชี้นำสูงหลังการรัฐประหาร

 

การเมืองเรื่องจุฬาราชมนตรีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้ หมายถึงการมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของโลกมุสลิมสยามทั้งหมด ความขัดแย้งภายในระดับบนของมุสลิมสยามช่วงเวลานี้จึงเป็นไปด้วยความรุนแรงและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่น่าจับตายิ่งด้วยเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อมุสลิมในระดับประชาชนทั้งหมดซึ่งไม่มีฐานอำนาจในการต่อรองใดๆนอกจากการรอรับประชาพิจารณ์

 

คำถามสำคัญคงอยู่ที่ว่าการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้เป็นการออกแบบระบบใหม่เพื่อรองรับการต่อรองอำนาจของทุกฝ่ายให้มีทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์สันติร่วมกันทั้งสังคมมุสลิมเองและสังคมใหญ่ในภาพกว้างที่ต้องอยู่ร่วมกับความเชื่ออื่น ระบบอื่น ศาสนาอื่น หรือจะเป็นเพียงการแก้ไขเพื่อรองรับอำนาจใครบางคนหรือบางกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจไปหาผลประโยชน์เพิ่มจากสังคมมุสลิมบนความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้

 

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องภาวนาให้การช่วงชิงอำนาจนี้นิ่งโดยเร็ว โดยไม่ว่า 'จุฬาราชมนตรี' จะเป็นแค่เพียงตราสัญลักษณ์ของอำนาจทางวัฒนธรรมส่วนกลางหรือผู้มีอำนาจจริง ก็ขอให้ผู้ได้ใช้อำนาจจากการแก้ไขกฎหมายมุสลิมครั้งนี้ได้ใช้อำนาจนั้นด้วยทิศทางที่นำไปสู่การแสวงหาสันติที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วปัญหาภาคใต้คงจะยังไม่มีทางสงบในเร็ววันนี้แน่นอน

 

 

..................................................................

 

ที่มาข้อมูลประกอบการเขียน

รศ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด 'มุสลิมในธนบุรี' จุลสารเข้าใจวิถีมุสลิม 2548

 

ประชาไท 'สัมภาษณ์นิเดร์ วาบา : แก้ไข พ.ร.บ.อิสลาม ตั้งสภาอูลามะอดับไฟใต้' วันที่ 8 ม.ค.2550

 

ประชาไท 'สัมภาษณ์ เด่น โต๊ะมีนา : มีเหตุผลอะไรถึงไม่ให้เลือกตั้งกรรมการอิสลามฯ' วันที่ 9 ม.ค. 2550

 

สำนักงานคณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย 'มุสลิมในประเทศไทย' เว็บไซต์

http://intranet.prd.go.th/journal/content.php?No=1245

 

สถาบันข่าวอิศรา 'กลุ่มท่อก๊าซจะนะจัดเวทีท้า สุรยุทธ์ให้ จุฬาฯ มาสบถกรณีที่ดินวะกัฟ' วันที่ 18 ธ.ค. 2549

 

เนชั่นสุดสัปดาห์ 'สัมภาษณ์พิเศษ พิเชษฐ์ สถิรชวาล : ผมเป็นมุสลิมทั้งกายและใจ' ปีที่ 15 ฉบับที่ 722 วันที่ 31ม.ค.49

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 'ความรุนแรงในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์บาดแผล จังหวัดชายแดนภาคใต้'

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่ครั้งแรกศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 26 ฉบับที่ 4 วันที่ 1 ก.พ. 2548

 

ผู้จัดการออนไลน์ 'ก.ก.อิสลามรับขัดแย้งภายใน เผยคนสนิทเบื้องหลังขับไล่จุฬาราชฯ' วันที่ 21 พ.ค. 2549

 

สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ 'คำแถลงจุฬาราชมนตรี' ให้สัมภาษณ์พิเศษโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจวันที่ 29 เม.ย.47

 

ไทยรัฐ 'ยื่นมท.ปลด 'จุฬาราชมนตรี'ขาดคุณสมบัติ ความประพฤติมิชอบ' วันที่ 11 ก.ย. 49

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net