Skip to main content
sharethis

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงกรณีความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกกิจกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลิกไนต์ที่ อ.แม่เมาะ และเดินทางเข้าไปยังบริเวณพื้นที่รองรับผู้ที่จะได้รับการอพยพจำนวน 493 ครอบครัวตามมติ ครม. 9 พ.ย.47 เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามที่เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ร้องเรียนว่ายังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา และไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยถูกกีดกันไม่ให้เข้าพื้นที่จากกลุ่มผู้มีอิทธิพลฐานอำนาจของนายยงยุทธ ติยะไพรัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาวางฐานไว้ในสมัยที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายตามมติคณะรัฐมนตรี 10 ม.ค. 2549


แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงพลังงาน เผยว่า นายปิยะสวัสดิ์ รู้สึกตกใจและแปลกใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าพื้นที่รองรับผู้อพยพทั้งหมดจำนวน 1,100 ไร่นั้นเต็มไปด้วยผู้บุกรุกเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าปลูกสร้างที่อยู่อาศัยกันกว่าร้อยราย ทั้งนี้ไม่ปรากฏหน่วยงานภาครัฐใดแสดงตนเป็นผู้พิทักษ์ผืนป่าที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของชาติแม้แต่รายเดียว


ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้บุกรุกทั้งหมด นำโดยนางมาลี อมาตยกุล ผู้ใหญ่บ้านห้วยคิงหมู่ที่ 6 นางราตรี ปินตา และนางศรีทร บุญบุตร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยคิงหมู่ที่ 6 นางหทัยรัตน์ สมแจ้ง ราษฎร หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะ นายสมบูรณ์ เตชะเต่ย อดีตผู้ใหญ่บ้านหัวฝายหมู่ที่ 1 ต.บ้านดง นายอำนวย คำดี อดีต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยเป็ดหมู่ที่ 1 ต.แม่เมาะและพวกประมาณ 60 ราย ได้แสดงตัวต่อรัฐมนตรีพร้อมประกาศไม่ให้เหยื่อแม่เมาะที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อพยพเข้าพื้นที่


แหล่งข่าวกล่าวต่อไปอีกว่า หากข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ปัญหาทั้งหมดคงต้องกลับมาดูว่า กลไกของจังหวัดคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพราะยืดเยื้อมานานแล้ว เรื่องขัดแย้งของชุมชนที่เห็นชัดเจนว่าเป็นการจัดฉากของกลุ่มคนและโยนบาปให้ชาวบ้านเพื่อเป้าหมายแห่งการซื้อเวลาขณะที่จังหวัดกลับเมินเฉย จึงจะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมดโดยเร่งด่วน


ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เผยว่า สมาชิกเครือข่ายฯรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาด้วยตัวเอง เพราะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งจากความแห้งแล้งของสภาพอากาศ หรือผลกระทบด้านต่างๆ ที่มีทั้งกลิ่นเหม็นของถ่านหิน ฝุ่นหินที่ปลิวคลุ้ง เสียงเครื่องจักร ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความขัดแย้งของสังคมที่เกิดจากการยุแหย่ และการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงแม้ว่าทางกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จะทำหนังสือร้องเรียนไปแล้วหลายครั้งก็ตาม


นางมะลิวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ฝ่ายกองเลขาเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ทำหนังสือด่วนที่สุดร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ และการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งตนหวังว่าจะเป็นหลักประกันอีกอย่างหนึ่งให้ปัญหาความเดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยุติโดยเร็วที่สุด


อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังส่วนราชการจังหวัดถึงความคืบหน้าในการและรายละเอียดของอพยพ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหานั้น กลับถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าเรื่องนี้จะมีการหารือในภายหลัง.


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net