Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซาเสียวเอี้ย


 


ในวรรณกรรมจีนส่วนใหญ่ หากใครคิดจะเปรียบเปรยหญิงสาวว่างดงามอ่อนหวาน ดอกไม้ประเภทโบตั๋น ดอกท้อ หรือพลับพลึง ถือเป็นตัวแทนแห่งความงามอันน่าทะนุถนอมเหล่านั้น


 


แต่ถ้าพูดถึง "ดอกเบญจมาศ" ขึ้นมาเมื่อไหร่ ความคิดคำนึงของชาวจีนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงความเข้มแข็งและหยิ่งทะนง


 



 


อาจเพราะดอกเบญจมาศจะเบ่งบานก็ต่อเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง และยืนหยัดท้าทายสายลมแรงด้วยกลีบดอกสีเหลืองจ้าตัดกับอากาศแห้งแล้ง เรื่อยไปจนกระทั่งฤดูหนาวมาเยือน


 


หากหญิงสาวคนไหนถูกเปรียบเปรยกับดอกเบญจมาศ ความโดดเด่นของเธอก็น่าจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องความอ่อนหวาน (อันเป็นคุณสมบัติที่มีแต่คนเรียกร้องจากผู้หญิง)


 


อันที่จริง มันอาจจะเกี่ยวข้องกับขนาดและความเข้มแข็งของ "หัวใจ" มากกว่า


 


อย่างไรก็ดี แทนที่จะมีคนพูดถึงขนาดหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของตัวละครหลักใน Curse of the Golden Flower กลายเป็นว่ามีแต่คนเพ่งเล็งขนาดของ "หน้าอกหน้าใจ" มากกว่าอะไรอย่างอื่น ถึงขั้นที่นักวิจารณ์บางคนบอกว่างานนี้ผู้กำกับจางอี้โหมว "เล่นง่าย" ด้วยการเอาฉากอลังการมาล่อตาล่อใจ และใช้ "ดอกบัวปริ่มน้ำ" มาเป็นจุดขาย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจคนดูจากพล็อตหนังอันหลวมโพรก อันว่าด้วยศึกสายเลือดที่ไม่มีอะไรใหม่เลย…


 


ประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอะไรใหม่


ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวในหนังเรื่องนี้แบบคร่าวๆ ก็คงมีแค่ว่า "ฮ่องเต้" (โจวเหวินฟะ) ผู้ทรงพระปรีชาสามารถที่ครองราชบัลลังก์เมื่อตอนปลายราชวงศ์ถัง อันเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูยุคหนึ่งของจีน ต้องรับมือกับความพยายามที่จะโค่นบัลลังก์โดยฮองเฮาของตัวเอง (กงลี่)


 


ขณะเดียวกัน องค์รัชทายาทที่หนึ่ง (หลิวเหย่) และองค์รัชทายาทที่สอง (เจย์ โชว) ก็ถูกดึงเข้ามาเป็นหมากในกระดานแห่งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างฮ่องเต้และฮองเฮา โดยมีองค์ชายสาม (ฉินจุ้นเจี๋ย) เป็นผู้สังเกตการณ์เรื่องราวต่างๆ อย่างไม่ปล่อยให้คลาดสายตา


 


Curse of the Golden Flower ไม่ได้ถูกจั่วหัวว่าเป็น "หนังประวัติศาสตร์" และรายละเอียดปลีกย่อยของหนังก็ไม่ได้แม่นยำตรงเป๊ะเมื่ออ้างอิงกับหลักฐานทางโบราณคดี


 


ฉากวังอันใหญ่โตโอฬารและเครื่องแต่งกายสุดเซ็กซี่ของฮองเฮาและเหล่านางสนมจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในจีน (รวมถึงบ้านเราด้วย) ว่าไม่มีความสมเหตุสมผล


 


แต่ถ้าตัดประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้ออกไป และพิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า "การแย่งชิงอำนาจภายในราชวงศ์" ที่ผู้กำกับจางอี้โหมวพูดถึงในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่--มันก็แทบไม่ต่างอะไรจากการที่ท่านมุ้ยพยายามบอกเล่าเรื่อง "การแตกความสามัคคีของคนในชาติ" อย่างที่เราเห็นกันในหนัง "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร"


 


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ทั้ง 2 คน จะมีมุมมองในการทำหนังเรื่องใหม่คล้ายๆ กัน เพราะ ณ เวลาปัจจุบันที่ขอบเขตของแต่ละดินแดนเชื่อมต่อกันอย่างง่ายดาย การแทรกแซงจากปัจจัยภายนอก เกิดขึ้นและลุกลามได้ง่ายดาย ถ้ามีความเหลวแหลกฟอนเฟะของปัจจัยภายในเป็นตัวเร่ง


 


หนังฟอร์มยักษ์เรื่องใหม่ของผู้กำกับชาวเอเชียทั้งสองคนจึงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกันอย่างไม่มีทางเลี่ยง


 


แต่การใช้วิธีเล่าเรื่องแบบย้อนอดีตอาจเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจความจริงของสรรพสิ่งง่ายขึ้นกว่าเดิมก็เท่านั้น…


 


การจัดสรรอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยลงตัว


ในประวัติศาสตร์จีน การที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของผู้ชายและปกครองประเทศอันยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะในยุคสมัยของบูเช็กเทียนหรือซูสีไทเฮา และผู้หญิงเหล่านี้ก็เปรียบได้กับดอกเบญจมาศปลายฤดูหนาวมากกว่าจะเป็นดอกไม้กลีบบางประเภทอื่น


 


ฮองเฮากงลี่ใน Curse of the Golden Flower มีศักดิ์ศรีเป็นถึงพระธิดาของจักรพรรดิ์องค์เก่า จึงรวบรวมไพร่พลเป็นสรรพกำลังลับๆ ของตัวเองได้อย่างไม่น่าติดใจสงสัยแต่ประการใด


 


ส่วนฮ่องเต้ที่ไต่เต้าจากแม่ทัพนายกองผู้มีฝีมือ ตระเวณสู้ศึกแบบถวายหัวให้จักรพรรดิ์องค์เก่า ย่อมต้องมีสหายร่วมรบคอยระวังความปลอดภัยให้ สุดท้ายก็ได้รับรางวัลเป็นเจ้าหญิงผู้เลอโฉม พร้อมด้วยตำแหน่งผู้สืบบัลลังก์


 


แต่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนขั้วอำนาจ มีตัวแปรมากมายกว่าเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทั่วไปของชายและหญิงที่ "อยู่ด้วยกันก็รักกันไปเอง"


 


สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด จึงได้แก่ "บทบาท" และ "หน้าที่" ซึ่งต้องดำเนินไปอย่างเคร่งครัดภายใต้วัฏจักรของโลกและฟ้าดิน


 


สัญลักษณ์ที่ผู้กำกับจางอี้โหมวใช้เป็นสื่อแทนวังวนแห่งอำนาจและการแย่งชิงความเป็นใหญ่ คือพิธีฉลองเทศกาลฉงหยาง ซึ่งเป็นการต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง


 


สมาชิกราชวงศ์มาพร้อมหน้าพร้อมตากันที่โต๊ะประกอบพิธี ซึ่งมีการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคนไว้อย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่สมมติของพรมปักลวดลายวิจิตรซึ่งรายล้อมทุกคนอยู่นั้นเปรียบได้กับ "ดวงตา" ของโลกที่เฝ้ามองความเป็นไปของสรรพสิ่ง


 


เมื่อฮองเฮาก้าวล่วงละเมิดบทบาทและหน้าที่ของความเป็นแม่ด้วยการลักลอบมีความสัมพันธ์กับองค์ชายรัชทายาทซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยง ฮ่องเต้จึงต้องหา "บทลงโทษ" ที่สาสมมามอบให้แก่ฮองเฮา จนเป็นชนวนให้เกิดแรงต้านถึงขั้นล้มล้างบัลลังก์ในเวลาต่อมา


 


ดอกเบญจมาศที่ฮองเฮาเร่งมือปักให้ทันวันงานพิธี พร้อมกับที่สั่งให้ช่างฝีมือช่วยกันปักอีกหมื่นดอก จึงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากสัญลักษณ์แห่งการตอบโต้ให้ "ไม้ใหญ่" ผลัดใบใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง


 


ภายใต้ดวงตาแห่งฟ้าดิน…


เรื่องราวของ Curse of the Golden Flower ดำเนินไปในท่วงทำนองบีบคั้นและเต็มไปด้วยสีสันตระการตาเหมือนฉากในอุปรากรจีน บางครั้งบางคราอาจทำให้คนดูรู้สึกว่าอารมณ์ฟูมฟายแบบเมโลดราม่าออกจะส่งกลิ่นฉุนเกินไปสักนิด แต่ถึงอย่างไรผู้กำกับจางอี้โหมวก็ถ่ายทอดโลกจำลองแห่งการแย่งชิงอำนาจเอาไว้ได้อย่างน่าติดตาม และไม่เสียเครดิตผลงานที่ผ่านๆ มา


 


ขั้วอำนาจเก่าอย่างฮองเฮา อาจยินยอมลงให้กับขั้วอำนาจใหม่อย่างฮ่องเต้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องเพราะเห็นแก่ประโยชน์ที่ฮ่องเต้สามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นเอาไว้ได้ แต่เมื่อถูกคุกคามถึงขั้นหวังจะให้ตาย ไม่ใครก็ใครก็ต้องลุกขึ้นมาปกป้องที่อยู่ที่ยืนของตัวเองเป็นธรรมดา และเท่าที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่อย่างผู้ตกเป็นเบี้ยล่าง คงมีรสชาติเลวร้ายไม่ต่างจากการกินยาพิษเข้าไปจริงๆ สักเท่าไหร่นัก


 


ส่วนฮ่องเต้ผู้กุมอำนาจอันยิ่งใหญ่ อาจหลงลืมไปว่าตัวเองก็เป็นเพียงผู้มาเยือนโลกใบนี้อีกหนึ่งคน หาใช่ฟ้าดินผู้สามารถกำหนดชะตากรรมเป็น-ตายให้ผู้อื่นไม่


 


การ "จัดระเบียบ" ให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปดังใจตัวเองทุกประการ จึงมีราคาต้องจ่ายเป็นความโดดเดี่ยวเดียวดายแบบยิ่งสูงยิ่งหนาว ไม่ต่างจาก "คำสาป" ที่เขาจะต้องแบกรับไปตลอดกาลเช่นกัน


 


ในขณะที่การเล่นเกมแห่งอำนาจดำเนินไป ผู้ใดที่ถูกละเลยและมองข้ามอย่างองค์ชายสาม ก็ย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้คนอื่นๆ รับรู้ถึงการมีอยู่ของตัวเอง


 


ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำนั้นจะถูกเรียกว่าอย่างไรในภายหลัง


 


ถ้าทำสำเร็จ...ประวัติศาสตร์จะเป็นพันธมิตรกับผู้ชนะเสมอ


 


แต่ถ้าล้มเหลว...ประวัติศาสตร์จะทอดทิ้งเขาอย่างไม่ไยดี


 


ส่วนองค์ชายที่หนึ่งผู้อ่อนแอ เลือกที่จะลดบทบาทของตัวเองด้วยการปฏิเสธตำแหน่งรัชทายาท และขอย้ายไปอยู่หัวเมืองเพื่อหนีจากภาระและความคาดหวังของฮ่องเต้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรอดพ้นชะตากรรมแห่งการลงโทษไปได้ เพราะการละเมิดบทบาทหน้าที่ของลูกและการเผลอใจไปมีความสัมพันธ์กับแม่เลี้ยงของตัวเอง ส่งผลให้เขารู้สึกผิดบาปและอยู่อย่างหวาดหวั่นตลอดเวลา


 


ในขณะที่องค์ชายที่สองซึ่งเป็นโอรสองค์โตของฮองเฮาก็ถูกลากเข้ามาเกี่ยวโยงกับการแย่งชิงอำนาจครั้งนี้ด้วยภาระหน้าที่ของความเป็น "ลูก" ทำให้การเลือกข้างขององค์ชายสองดูมีอุดมการณ์น่ายกย่องเชิดชูที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าอุดมการณ์และความภักดีของคนๆ หนึ่งเป็นสาเหตุให้คนอีกเป็นจำนวนมากต้องตกตายไปอย่างไร้ค่า เหมือนอย่างที่ชะตากรรมของทหารแห่งกองทัพผ้าพันคอเบญจมาศต้องสังเวยให้กับภาระและหน้าที่ที่จะต้องทำตามคำสั่งแม่ทัพอย่างเคร่งครัดจนตัวตาย...


 


แน่นอนว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่เลย ทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามวัฏจักรของโลก


 


มียศ เสื่อมยศ มีลาภ เสื่อมลาภ มีอำนาจ ก็ย่อมถูกแย่งชิงในเวลาไม่นาน...


 


โดยเฉพาะอำนาจที่ช่วงชิงมาอย่างฉ้อฉล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net