Skip to main content
sharethis


หมายเหตุ : ต่อไปนี้เป็นเอกสารประกอบการแถลงข่าว เรื่อง "การค้นพบนกพงปากยาว (Large-billed Reed Warbler; Acrocephalus orinus) ครั้งที่สองของโลกในรอบ 139 ปี" เมื่อเวลา 12.30 น.วันอังคารที่ 6 มีนาคม 2550 ที่ห้องประชุม 301 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดย คุณวีรวัธน์ ธีรประสาสน์ ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย 2550 คุณกวิน ชุติมา นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ฟิลลิป ดี ราวด์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 


 


....................................................................


 


รายงานการค้นพบนกพงปากยาว (Large-billed Reed Warbler; Acrocephalus orinus) ครั้งที่สองของโลกในรอบ 139 ปี


 


ฟิลลิป ดี ราวด์ และ สมชาย นิ่มนวล


 


 



 


 



 


นกพงปากยาว (Large-billed Reed Warbler; Acrocephalus orinus) ได้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียเมื่อ 139 ปีที่ผ่านมามีเพียงตัวอย่างเดียวที่ถูกเก็บรักษาไว้ จนกระทั่งได้ถูกค้นพบอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2549 โดยใช้ตาข่ายดักจับบริเวณพื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย การวิเคราะห์ทางรูปพรรณสัณฐานประกอบกับการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมยืนยันว่านกพงปากยาว (A. orinus) ที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดเดียวกับที่พบที่ประเทศอินเดีย แสดงให้เห็นถึงการยังคงอยู่ของนกชนิดนี้ แต่ประชากรในพื้นที่ทำรังวางไข่และพื้นที่พักพิงในฤดูหนาวยังคงเป็นปริศนาอยู่


 



 


การค้นพบครั้งที่สองของโลก


การศึกษาใส่ห่วงขานกอพยพ และนกประจำถิ่นดำเนินงานโดย ฟิลลิป ดี ราวด์ ร่วมกับกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ที่แหลมผักเบี้ยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2542 นกที่จับได้ทุกตัวได้มาจากการใช้ตาข่ายดักบริเวณแปลงทดลองบำบัดน้ำเสียของทางโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี


 


เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 เวลา 10:00 น. ทีมศึกษาได้จับนกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายนกพงปากยาว (A. orinus) จึงได้ทำการวัดขนาดและรูปร่างทางชีววิทยาและเก็บขนหางเพื่อใช้ตรวจสอบทางพันธุกรรม นกพงปากยาว (A. orinus)ที่จับได้บริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549 ได้ถูกเปรียบเทียบกับตัวอย่างต้นแบบ โดยการตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยา และทางพันธุกรรม วิธีการตรวจสอบทำโดยการสกัดดีเอ็นเอจากขนที่หางของนกตัวที่พบที่คิดว่าเป็น นกพงปากยาว (A. orinus) เปรียบเทียบกับ นกพงปากยาว (A. orinus) ที่พบที่ประเทศอินเดีย และ Acrocephalus ชนิดอื่นๆ เพื่อดูว่าตัวอย่างที่ได้ตรงกับชนิดใด


 


ผลการตรวจสอบพบว่านกตัวใหม่ที่จับได้นี้ มีลักษณะทางสัณฐานวิทยา และทางพันธุกรรมตรงกับนกพงปากยาว (A. orinus) ที่เป็นตัวอย่างเดิมในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานการพบ นกพงปากยาว (A. orinus) เพียงครั้งเดียวเมื่อ 139 ปีที่ผ่านมาทางตะวันตกของประเทศอินเดีย การค้นพบครั้งใหม่ของ นกพงปากยาว (A. orinus) นี้เป็นการค้นพบครั้งที่สองของโลกซึ่งได้รับการยืนยันโดยการตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมจากขนหางเปรียบเทียบกับตัวอย่างเดิมที่ประเทศอินเดีย


 



 


ความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้


สถานภาพของนกพงปากยาว (A. orinus)ทำให้นักอนุกรมวิธานสงสัยมาเป็นเวลามากกว่าศตวรรษถึงการคงอยู่หรือสูญพันธุ์ไปแล้วของชนิดพันธุ์นี้ จนกระทั่งการตรวจสอบดีเอ็นเอจากตัวอย่างที่จับได้บริเวณแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2549เปรียบเทียบกับตัวอย่างต้นแบบที่เก็บได้ที่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียในปี 1867 ยืนยันได้ว่าเป็นชนิดเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า นกพงปากยาว (A. orinus) ยังไม่สูญพันธุ์ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรม นิเวศวิทยา ชีววิทยาการสืบพันธุ์ และขอบเขตการกระจายในช่วงฤดูหนาว จากหลักฐานที่พบนี้อาจแสดงว่า นกพงปากยาว (A. orinus) มีการกระจายตัวของกลุ่มประชากรบริเวณทางใต้ของเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยอินเดีย พม่า ตะวันตกของประเทศไทยและมีแหล่งทำรังวางไข่ทางตอนเหนือของเอเชียหรือที่เรียกว่า Palaearctic อย่างไรก็ตาม นกพงปากยาว (A. orinus) อาจเพียงแค่พัดหลงเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากนกในกลุ่มเดียวกับ นกพงปากยาว (A. orinus) ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นนกพงคิ้วดำ (A. bistrigiceps) และนกพงใหญ่พันธุ์ญี่ปุ่น (A. orientalis)


 


การค้นพบในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่มีข้อมูลน้อยของสิ่งมีชีวิตที่มีการคาดการว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาไว้ของถิ่นอาศัยที่เหมาะสมเพื่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่อไป


 


 


 


กิตติกรรมประกาศ


ขอขอบคุณอาจารย์เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกในการทำวิจัย


 


 


ที่มา


บทความนี้อ้างอิงจากงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Journal of Avian Biology 2007 โดย Philip D. Round, Bengt Hansson, David J. Pearson, Peter R. Kennerley and Staffan Bensch

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net