Skip to main content
sharethis

ตลอดวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 กลุ่มสตรีและเด็กจากพื้นที่ตำบลกรงปินังได้กางเต็นท์ปักหลักชุมนุมปิดถนนสายยะลา - เบตง บริเวณหน้ามัสยิดหมู่ที่ 7 ตำบลกรงปินัง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา เป็นวันที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชาวบ้านอูแป หมู่ที่ 8 ตำบลกรงปินัง 23 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว และขอให้ถอนทหารจากหมู่บ้าน ทำให้ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวได้


 


ทั้งนี้ ทางศูนย์วิวัฒน์สันติ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้ปล่อยตัวนายนายอาแซ ยานยา โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านอูแป อายุ 80 ปี และนายเจ๊ะกา สาเมาะแม คอเต็บประจำมัสยิดบ้านอูแป อายุ 80 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 4 พฤษภาคม 2550


 


ขณะเดียวกัน บริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอบันนังสตา และที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ชาวไทยพุทธได้ออกมาชุมนุมเป็นวันที่สอง เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการของกลุ่มชาวบ้านที่หมู่ที่ 7 ตำบลกรงปินัง


 


ขณะที่ฝ่ายทหารได้ตั้งด่านตรวจระหว่างทาง ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม และสั่งเตรียมพร้อมตำรวจชุดปราบจลาจล พร้อมกับตัดสัญญาณมือถือ เพื่อป้องกันเหตุลอบวางระเบิด และส่งนายสมเกียรติ ศีรษะเนตร นายอำเภอกรงปินัง เข้าไปเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมแต่ไม่เป็นผล


 


การชุมนุมปิดถนนยืดเยื้อครั้งนี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ขณะนี้สินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มขาดตลาด ขณะที่ผู้สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ได้หันไปใช้ถนนในประเทศมาเลเซียแทน


 


รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อคืนวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 นักกฎหมายในจังหวัดยะลา ที่ได้รับการร้องขอจากชาวบ้านอูแปให้ช่วยเจรจากับฝ่ายรัฐ 4 คน ได้เข้าไปพบกับตัวแทนชาวบ้านในที่ชุมนุม เพื่อสอบถามถึงปัญหาและข้อเสนอที่ต้องการ ชาวบ้านยืนยันให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับกุม พร้อมทั้งขอให้ทหารที่เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านประมาณ 1,800 นาย ถอนกำลังออกจากพื้นที่


 


ทางกลุ่มนักกฎหมายได้เสนอให้ชาวบ้านส่งตัวแทนไปเจรจากับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งนักกฎหมายกลุ่มนี้รับจะประสานงานกับฝ่ายรัฐให้ โดยให้กลุ่มชาวบ้านกำหนดสถานที่เจรจาเอง แต่ไม่มีใครในกลุ่มชาวบ้านกล้ารับเป็นตัวแทนไปเจรจา อ้างว่าเกรงจะถูกเล่นงานในภายหลังและถูกบันทึกภาพ พร้อมกับถามว่าใครจะรับรองได้ว่า จะไม่เกิดเหตุร้ายกับบรรดาตัวแทนชาวบ้านในภายหลัง ซึ่งทางกลุ่มนักกฎหมายไม่สามารถรับประกันให้ได้ว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กับตัวแทนชาวบ้านในภายหลัง


 


นักกฎหมายกลุ่มดังกล่าว บอกไปว่าหากถูกคุกคามหรือถูกเล่นงานขึ้นมาจริงๆ ขอให้แจ้งมายังพวกตน เพื่อแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาทราบ และรีบแก้ปัญหาให้ทันที แต่กลุ่มชาวบ้านก็ยังไม่กล้ารับเป็นตัวแทนเจรจา แต่รับที่จะเขียนบันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น รวมทั้งข้อเสนอทั้งหมด ให้นักกฎหมายกลุ่มนี้นำเสนอกับฝ่ายรัฐ


 


 


รายชื่อชาวบ้านอูแปที่ถูกควบคุมตัว



  1. นายอาแซ ยานยา อายุ 80 ปี โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านอูแป

  2. นายเจ๊ะกา สาเมาะแม อายุ 80 ปี คอเต็บประจำมัสยิดบ้านอูแป

  3. นายมะปากรี ลาเต๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 บ้านอูแป

  4. นายมะดารี สาเมาะแม

  5. นายอุเซ็ง สาเมาะแม

  6. นายการีมัน เต๊ะแต

  7. นายอับดุลเลาะ สุหลง

  8. นายบูรฮาน หะมะ

  9. นายรอฮีม เจ๊ะโซ๊ะ

  10. นายรีซีวัน เจ๊ะโซ๊ะ

  11. นายฮารอมัง เจ๊ะโซ๊ะ

  12. นายอาหามะ มิง

  13. นายพลี ดีสะเอะ

  14. นายเฟาซัน ดีสะเอะ

  15. นายมะรอซี มามะยง

  16. นายมะนาวี อาเซ็ง

  17. นายมะไซดี เจ๊ะโซ๊ะ

  18. นายมะรอซี มะหะมา

  19. นายตอเล๊ะ เจ๊ะเตะ

  20. นายมะยากี เจ๊ะโซง

  21. เด็กชายรานอ มะยะโกะ เต๊ะเด็ง

  22. นายบือรอเหม สาเระ

  23. นายมุกต๊าร สาเมาะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net