Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


 


บรรดาคอการเมืองทั้งหลายต่างใจจดใจจ่อกับคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นใน 30 พ.ค. 50 นี้ว่า พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะถูกยุบหรือไม่ แนวโน้มจากบรรดานักพยากรณ์ไม่ว่าจากนักวิชาการหรือจากสมาชิกสภากาแฟต่างก็ "ฟันธง" ไปว่า "ยุบทั้งสองพรรค" กันเกือบร้อยทั้งร้อย มิหนำซ้ำยังมีการปล่อยข่าวว่า แต่ละพรรคถูกยุบด้วยคะแนนเท่านั้นเท่านี้บ้าง


 


แต่ผมกลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น


 


ขอเรียนว่าความเห็นของผมมิได้มุ่งหวังจะไปชี้นำหรือกดดันการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในระดับปรมาจารย์แต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าถึงขณะนี้แล้วคณะตุลาการฯ ต่างก็มีคำวินิจฉัยหรือ "ธง" คำตอบของตนไว้ในใจเรียบร้อยแล้ว ความเห็นของผมนั้นเป็นความเห็นทางวิชาการล้วนๆ เพราะผมไม่ได้เป็นสมาชิกหรือเคยลงคะแนนเสียงเลือกทั้งสองพรรคนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม


 


คำว่า พรรคการเมือง (political party) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Par ซึ่งแปลว่า "ส่วน" พรรคการเมืองจึงหมายถึง ส่วนของประชากรภายในประเทศ หมายถึงการแยกประชากรออกเป็นส่วนๆ ตามความคิดเห็นและประโยชน์ได้เสียทางการเมือง พรรคการเมืองถือว่าเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในระบบการเมือง เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยบุคคลจำนวนมาก มีภารกิจที่จะไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชักนำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง


 


ในทฤษฎีทางอุดมการณ์แล้ว ทฤษฎีนี้เชื่อว่าพรรคการเมืองเกิดมาจากคนที่มีความคิดคล้ายคลึงกันมารวมตัวกันเพื่อทำตามอุดมการณ์ที่วางไว้ ฉะนั้น การจะยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจึงมิใช่เรื่องเล็ก เพราะผลกระทบที่ตามมามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่มีขนาดใหญ่ดังเช่นสองพรรคนี้


 


ที่สำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือ ผลกระทบทางด้านแวดวงวิชาการด้านกฎหมายและการเมืองการปกครองที่จะต้องถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่จะเป็นกรณีศึกษาไปอีกนานเท่านาน จึงต้องพิจารณาในหลายแง่หลายมุม นอกเหนือจากการใช้ตัวบทกฎหมายล้วนๆ เพราะสังคมจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการยุบพรรค นอกเสียจากผู้ที่ต้องการความสะใจที่วิวัฒนาการของพรรคการเมืองถูกทำลายลง


 


ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันก่อนเกิดรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไปแล้วถึง 30 กว่าพรรค แต่ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเป็นแต่เพียงขั้นตอนทางธุรการเสียเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การไม่แจ้งรายงานต่างๆ ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (โดยมีเจตนาที่จะไม่ดำเนินการทางการเมืองต่อไป) หรือประสงค์จะยุบรวมกับพรรคอื่น ฯลฯ แต่มิใช่ข้อหาฉกรรจ์ดังเช่นกรณีของทั้งสองพรรคนี้ถูกร้องให้ยุบพรรค


 


โดยพรรคไทยรักไทยถูกข้อหาว่า กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ม.66 (1) พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกข้อหาว่ากระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ(ม.66 (2))


 


ทั้งสองพรรคถูกตั้งข้อหาเหมือนกันคือ กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน (ม.66 (3))


 


นอกเหนือจากประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายที่ทั้งสองพรรคยกขึ้นต่อสู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะตุลาการฯ จะต้องมีคำวินิจฉัยในทุกประเด็นโดยละเอียด ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นไว้มากแล้ว อาทิ กฎหมายย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลัง หรือการกระทำเป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 40 เมื่อรัฐธรรมนูญปี 40 ถูกยกเลิกไปแล้วความผิดที่ว่าก็ควรจะถูกยกเลิกไปด้วย แม้กระทั่งการแก้ข้อกล่าวหาที่ว่า ข้อหาการจ้างพรรคเล็กให้ลงหรือไม่ให้ลงเลือกตั้งนั้นไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าเป็นความผิด ฯลฯ ผมจึงงดเว้นที่จะกล่าวถึง


 


แต่ยังมีประเด็นที่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาพิจารณาหรือกล่าวถึง ซึ่งก็คือ ทั้งสองพรรคต่างก็มีเจตจำนงที่จะดำเนินการทางการเมืองต่อไป ดังจะเห็นได้จากแนวทางการต่อสู้คดีต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น การยุบทั้ง 2 พรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่เข้าไปทำลายพรรคการเมืองในฐานะตัวแทนของผู้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ซึ่งก็คือการทำลายเจตนารมณ์ของสมาชิกพรรคทั้งสองนั่นเอง


 


ในประเทศที่ถือว่าเป็นแม่แบบประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น ไม่มีการยุบพรรคการเมือง เนื่องเพราะเหตุกรรมการหรือเจ้าหน้าที่พรรคไปกระทำความผิดแต่อย่างใด มีแต่การลงโทษบุคคลเป็นรายๆ แล้วแต่กรณีไป ไม่เช่นนั้นแล้ว ในคดีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาวคงต้องมีการยุบพรรครีพับลิกันที่ประธานาธิบดีนิกสันสังกัดอยู่เป็นแน่ เพราะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ นิกสันบงการให้คนร้ายเข้าไปโจรกรรมข้อมูลของพรรคเดโมแครตจนถูกจับได้คาหนังคาเขา


 


แล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไทยจะทำอย่างไร ในเมื่อคำวินิจฉัยมีได้เพียงสองทางเท่านั้นคือ "ยุบกับไม่ยุบ" แน่นอนว่าหากมีคำวินิจฉัยว่า "ยุบ" แล้ว ก็เป็นอันจบกัน ทั้งพรรค กรรมการบริหารพรรค ตลอดจนสมาชิกพรรค


 


แต่หากวินิจฉัยว่า "ไม่ยุบ" เล่า พรรคก็คงอยู่ สมาชิกก็คงอยู่ แต่คณะกรรมการบริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในข้อกล่าวหาอาจจะไม่คงอยู่ เนื่องเพราะในคำวินิจฉัยนั้นสามารถนำไปเป็นเหตุในการดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการทางอาญา หรือแม้แต่ทางแพ่งที่จะต้องชดใช้แก่รัฐที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ออกไปในการเลือกตั้ง


 


ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าในคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะประกอบไปด้วยคำร้อง คำให้การ พฤติการณ์แห่งคดี ตลอดจนหลักฐานพยานต่างๆ และสุดท้ายคือ เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยที่บ่งบอกถึงลักษณะของการกระทำความผิดของแต่ละบุคคล ซึ่งผมเชื่อว่ามีการกระทำความผิดในทั้งสองพรรคจริง แต่เป็นการกระทำผิดโดยตัวบุคคลมิใช่การกระทำผิดโดยพรรค


 


ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดของคดียุบพรรคซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีการเมืองในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ จึงเป็นไปได้ในทางเดียวคือ "พรรครอดแต่คนไม่รอด" ซึ่งจะมีผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นไปตามหลักของการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง มิใช่มาถูกยุบพรรคเพียงเพราะเหตุของการกระทำ "ความชั่ว" ของคนไม่กี่คน ซึ่งก็ควรที่จะต้องรับโทษานุโทษเป็นรายๆ ไป ใช่ไหมครับ


 


 


 


 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 23 พ.ค. 2550


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net