Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 มิ.ย. 50 ภาคประชาชน -นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ถกหลังตุลาการรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการพรรค 5 ปี มีมุมมองแตกต่างกันไปทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย


 


 


นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ย้อนถาม ตุลาการรัฐธรรมนูญ อธิบายที่มาตัวเองก่อนจะตัดสินคนอื่น


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญว่า ตุลาการวินิจฉัยว่าพรรคไทยรักไทยซื้อเสียง ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีลักษณะก้ำกึ่ง ไม่สู้ว่าการเป็นการกระทำของพรรคโดยตรง แต่ก็ตัดสินยุบพรรค แต่ขอตั้งคำถามว่า ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันนี้ อธิบายการรัฐประหาร (19 กันยา 49) ซึ่งเป็นฐานที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญเสียเอง ตุลาการจะอธิบายที่มาของตัวเองยังไง


 


ผศ.สมชายกล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตต่อว่า ขณะที่การซื้อเสียงถูกลงโทษยุบพรรค แต่การฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น ตุลาการไม่สนใจหรือเปล่า และกล่าวต่อว่า ในอดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ศาลฎีการับรองการรัฐประหารเป็นที่มาของคำวินิจฉัยอย่างดียิ่ง ทั้งยังไม่เคยตั้งข้อสงสัยต่อการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร แม้ว่าการใช้อำนาจนั้นจะขัดต่อหลักนิติธรรม หลักอารยะสากล อย่างเช่น ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 (ข้อ 3 มีสาระสำคัญให้ศาลรัฐธรรมนูญหรืองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค) ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ศาลไม่เคยตั้งข้อสงสัย และยอมรับให้มันใช้ได้


 


"ซึ่งผมเองฟังแล้วรู้สึกตะหงิดๆ ตุลาการไม่เคยตั้งคำถามต่อกฎหมายที่มีที่มาจากการรัฐประหารเลย เท่ากับส่งเสริมให้การรัฐประหารสืบทอดในสังคมต่อไปได้" อาจารย์สมชายกล่าว


 


 


หรือนี่ คือรัฐประหารซ้ำ ที่คล้ายกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า


นายเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ นักวิชาการกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า จากเหตุการณ์วันตัดสินคดียุบพรรค เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่างคล้ายกับการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เพราะดูได้จากความพยายามสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าไปร่วมชุมนุมให้กำลังใจพรรคที่ถูกตัดสินคดี ซึ่งเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย แต่กลับนำกำลังทหารตำรวจนับหมื่นเข้าตรึงกำลังในหลายๆ พื้นที่ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ไม่เว้นแม้กระทั่งตามสื่อสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเขาเห็นว่า การกระทำเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามควบคุมสกัดกั้นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ก้าวหน้าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


"ผมเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เริ่มเหมือนกับรัฐบาลทหารเผด็จการพม่าไปทุกที ผมเห็นว่านี่เป็นการใช้เผด็จการรูปแบบใหม่ ซึ่งเชื่อว่าต่อไป เมื่อมีกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2550 ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะถูกกระทำในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น"


 


 


ภาคประชาชน ย้ำ ระบอบทักษิณไม่มีวันหมด


ด้าน นายนิคม พุทธา ผู้อำนวยการโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง ตอนบน จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคว่า ผลคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะรากหญ้าได้เห็นว่า นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยนั้น มันเหมือนขนมที่เคลือบด้วยยาพิษที่หยิบยื่นให้ชาวบ้าน แต่แท้จริงทั้งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยเอง กลับหลอกลวงชาวบ้านเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ โกงกิน และใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ต่อไป ประชาชนจะต้องเลือกดูให้ดี โดยเฉพาะการเลือกผู้นำ นอกจากจะทำงานเก่งแล้วจะต้องเน้นด้านคุณธรรม จริยธรรมด้วย


 


"อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระบอบทักษิณยังไม่หมดไป เพราะถึงแม้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่อยู่แล้ว แต่ระบอบทักษิณยังอยู่ ยังคงฝังอยู่ในค่านิยมของประชาชน ไม่ว่าเรื่องการครอบงำในเรื่องทุนนิยม การครอบงำอำนาจรัฐ ข้าราชการ ก็ยังคงถูกนำมาใช้เป็นสูตรสำเร็จให้นักการเมืองหน้าใหม่ หรือพรรคการเมืองนำมาใช้ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องส่งสัญญาณเตือนไปยังพรรคอื่นๆ ด้วย ว่าอย่านำระบอบทักษิณมาใช้อีก"


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงทิศทางการเคลื่อนของภาคประชาชน จะไปในทางทิศทางไหน นายนิคม กล่าวว่า หลังจากนี้ ชาวบ้านควรจะมีการจัดเวทีการเมืองภาคประชาชนกันว่า ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้การเมืองกันมากน้อยเพียงใด และจะต้องมีการปรับตัว เรียนรู้เรื่องการเมืองให้มากขึ้น เพราะชีวิตคนเรานั้นมันเกี่ยวข้องกับการเมืองจนแยกกันไม่ออกอยู่แล้ว


 


"ดังนั้น จึงอยากเห็นภาคกลไกของรัฐ ได้หันมาเน้นการสร้างการเรียนรู้ทางการเมืองภาคประชาชนให้มากขึ้น และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแค่ช่วงการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ควรจะส่งเสริมการเรียนรู้ การจัดเวทีในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างต่อเนื่อง"


 


 


คำพิพากษาทำสังคมคลี่คลายวิกฤตได้ในระดับหนึ่ง


ในขณะที่ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวประชาธรรมว่า คำตัดสินที่เกิดขึ้น เราต้องเคารพผู้พิพากษา อีกทั้งจากการรับฟังคำวินิจฉัยเบื้องต้นคิดว่าคำพิพากษาที่ออกมา สามารถทำให้สังคมคลี่คลายวิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งในแผ่นดินได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ที่ผ่านมาในช่วงปี 2548-2549 ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราไม่มีกระบวนการนำผู้ที่ถูกกล่าวหา ซึ่งในสมัยนั้น ซึ่งก็คือรัฐบาลทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากหลายส่วนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่าจะสามารถดำเนินการพิจารณาและนำไปสู่การแก้วิกฤตได้ จากการสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อีกทั้งข้อมูลที่ใช้ต่อสู้ในกระบวนการพิจารณา จะเห็นชัดเจนว่าความผิดที่เกิดขึ้นร้ายแรงพอสมควร ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเกิดพัฒนาการใหม่ของกระบวนการเมืองไทยได้


 


นายสุริยันต์ กล่าวต่อว่า การยุบพรรคครั้งนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการเมืองได้หรือไม่นั้น ต้องดูเหตุและผลในการเมืองปัจจุบัน เพราะหลังจากที่มีการตัดสินยุบพรรค เราก็ต้องยืนยันว่าสิ่งที่ศาลพิพากษาเป็นบรรทัดฐานในการแก้ปัญหา และอย่าลืมว่าใน 5 ปีที่แล้วที่มีการตัดสินเรื่องการซุกหุ้น คนหลายส่วนก็ไม่สบายใจว่าคำตัดสินไม่ยืนอยู่ในครรลองคลองธรรม แต่ทุกคนก็ยอมรับในคำตัดสินและพยายามที่จะรักษาความสงบในบ้านเมือง ดังนั้นสำหรับการถูกยุบพรรคครั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ถูกยุบก็ไม่พอใจในคำพิพากษาเช่นนี้แน่นอน แต่ว่าในทางสังคมแล้วถือว่า นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป   


 


"ผมคิดว่าคำตัดสินครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การเมืองไทยวุ่นวาย จริงๆ แล้วอย่างกรณีสมัยทักษิณรอดเรื่องคดีซุกหุ้น พวกเราก็ยอมรับคำตัดสิน ไม่ใช่ว่าคำตัดสินที่ออกมาทำให้ตนเองเสียประโยชน์แล้วเอาพลังมวลชนมาต่อสู้เพื่อปกป้องพรรคตัวเองมันไม่ถูก เพราะเราอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ต้องยอมรับในการตัดสิน ข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ต้องยอมรับ เพราะมันถูกกรั่นกรองในกระบวนการยุติธรรมแล้ว" กองเลขา สกน.กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net