Skip to main content
sharethis

มุทิตา  เชื้อชั่ง


 



กว่า 10 ปีมาแล้วที่พื้นที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ วางตัวเป็นด้ามขวานอันเงียบสงบ แม้จะมีความรุ่มร้อนขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินปะทุอยู่ในพื้นที่ข้างๆ อย่างอ.บ้านกรูด และบ่อนอก


 


หากยังจำได้ ตั้งแต่ปี 2538 ชาวบ้านกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก - กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เป็นขบวนการชาวบ้านกลุ่มแรกก็ว่าได้ ที่รวมกลุ่มต่อต้านโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จนสามารถหยุดโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ทั้ง 2 แห่งได้สำเร็จในปี 2546 ซึ่งท้ายที่สุดต้องแลกด้วยชีวิตแกนนำอย่าง "เจริญ วัดอักษร" ที่ถูกลอบสังหารเมื่อ 21 มิ.ย.47 และยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้ตราบจนปัจจุบัน


 


ในเวลานั้น "ทับสะแก" ก็เป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเช่นกัน หากแต่เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ใช่โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) อย่างที่บ่อนอก-บ้านกรูด อย่างไรก็ตาม พอดีกับที่เวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โครงการของกฟผ.จึงได้หยุดชะงักไปด้วยนับแต่นั้น


 


ถึงวันนี้ หลังจากคลื่นลมในทะเลสงบลง ประกอบกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) 2550 ซึ่งเป็นแผนแม่บทการจัดการกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในระยะ 14 ปี (2550-2564) ได้รับอนุมัติไปหมาดๆ (โดยเวทีประชาพิจารณ์ที่โรงแรมสยามซิตี้ ล่มไปเมื่อ 7 ก.พ.50 เนื่องจากถูกชาวบ้านชุมนุมประท้วง และได้ย้ายไปจัดอีกครั้งในพื้นที่ทหาร - หอประชุมกองทัพบก)  "ทับสะแก" ก็ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในฐานะ "ที่เก่าเก็บ" ของ กฟผ. ที่อาจเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดย กฟผ.ได้รับโควตาตามแผนพีดีพีฉบับล่าสุดให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์


 


ทั้งนี้ ในพีดีพีกำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าไว้ทั้งหมด 39,676.25 เมกะวัตต์ โดยคำนวณบนฐานว่า จีดีพีของประเทศจะเติบโต 5-6% ตลอดสิบกว่าปีดังกล่าว แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ (2550-2553) 7,885.25 เมกะวัตต์ และโครงการช่วงหลังในปี 2554-2564 จำนวน 31,791 เมกะวัตต์ โดยในส่วนช่วงหลังนี้ แบ่งให้ กฟผ.ประมาณครึ่งหนึ่งคือ 12,400 เมกะวัตต์ (ในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์อย่างที่กล่าวไป) เป็นส่วนของไอพีพี 12,600 เมกะวัตต์ เป็นส่วนของเอกชนรายย่อย 1,700 เมกะวัตต์ และนำเข้าจากเพื่อนบ้านอีก 5,091 เมกะวัตต์ ในส่วนของไอพีพีจะเปิดให้ยื่นซองประมูลก่อน 3,200 เมกกะวัตต์ภายในเดือนมิถุนายนนี้


 


แน่นอน เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินทีไร ชาวบ้านที่ประจวบเป็นอันตื่นตัวหวาดผวาทุกที โดยเฉพาะเมื่อแหล่งข่าวระดับสูงใน กฟผ.ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า กฟผ.กำลังศึกษาอยู่ 2-3 พื้นที่ แต่จะตัดสินใจเลือกเพียงแห่งเดียวเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรง กำลังผลิตโรงละ 700 เมกะวัตต์ และเชื่อว่าพื้นที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะพื้นที่ดังกล่าว กฟผ.ได้เตรียมพื้นที่มามากกว่า 10 ปี


 


ท่ามกลางกระแสค้านที่เริ่มเกิดขึ้น และตามประวัติการต่อต้านที่เป็นที่ทราบกันดีในพื้นที่ประจวบ ถึงตอนนี้ ดูเหมือน กฟผ.ก็ยังไม่กล้าฟันธงเรื่องพื้นที่ชัดๆ โดยอ้างว่าในพีดีพี 2550 ที่ได้รับการอนุมัติไป ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะให้ไป "ลง" ตรงไหน หากแต่เมื่อย้อนดูพีดีพี 2550 ฉบับร่างเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว (ก.พ.50) ที่ใช้ประกอบการประชาพิจารณ์ที่โรงแรมสยามซิตี้ มีการระบุอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินของ กฟผ.คือ โรงไฟฟ้าทับสะแก (700x3) 2,100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากระบี่อีก 700 เมกะวัตต์


 


นี่ทำให้ไม่ว่าจะอย่างไร อุณหภูมิในพื้นที่ทับสะแกก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง.....


 


สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวว่า กฟผ.ซื้อที่ดินในต.นาหูกวาง ประมาณ 4,000 ไร่ ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยตัวโครงการนี้ตั้งห่างจากโรงไฟฟ้าบ้านกรูดเพียง 6 กม. นอกจากนี้ข้อมูลในงานวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนกับโครงการดังกล่าว ที่จัดทำในช่วงนั้นโดยอ.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ระบุว่า กฟผ.ใช้งบในการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวราว 2,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่กฟผ.ที่เกี่ยวข้องว่า คอรัปชั่นเรื่องที่ดินนี้ประมาณ 40% ของมูลค่าที่ดินทั้งหมด


 


"ช่วงปี 2540 ทาง กฟผ.ยังได้ให้ม.สงขลานครินทร์จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย แต่ยังไม่ทันผ่านก็ต้องชะลอโครงการไป พอมาปี 49 เริ่มมีข่าวว่า กฟผ.จะรื้อฟื้นโครงการนี้มา จากเดิมที่คนทับสะแกไปเป็นแนวร่วมให้บ่อนอก บ้านกรูด ตอนนี้ก็ต้องเริ่มรวมกลุ่มคัดค้านในพื้นที่ตัวเองมาตั้งแต่ปลายปี 49 ในนาม กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก"


 


สุรีรัตน์ กล่าวว่า คนคัดค้านส่วนใหญ่เป็นชาวประมงในพื้นที่ และชาวสวนมะพร้าวที่เป็นห่วงเรื่องผลกระทบทั้งต่อการทำมาหากินแบบดั้งเดิมและคุณภาพชีวิตดังเช่นที่เห็นจากกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง (2,400 เมกะวัตต์) ซึ่งชาวบ้านเจ็บป่วยล้มตาย ต้องอพยพออกจาพื้นที่ โดยที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานราชการตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ 


 


"ถ่านหินสะอาดไม่มีในโลกนี้ ดูที่แม่เมาะนั่นไง ต้นทุนที่บอกว่ามันถูก ไม่เคยรวมค่าสูญเสียด้านสุขภาพของชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมที่เสียไป แล้วมันใช้ถ่านหินมหาศาลจะไม่มีผลกระทบเป็นไปไม่ได้"


 


"ชาวประมงพื้นบ้านมีที่ทำกินมันอยู่ในทะเล ขณะที่การทำโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้น้ำทะเลมาหล่อเย็น ถ้าเต็มเฟส 4,000 เมกกะวัตต์อย่างที่ กฟผ.เคยโฆษณาไว้ว่าจะให้ใหญ่ที่สุดในเอเชียนั้น ใช้น้ำทะเลในการหล่อเย็นประมาณวันละ 700,000 คิว แล้วก็ดูดเข้าปล่อยออกตลอด 25 ปี กลุ่มชาวประมงเลิกอาชีพไปได้เลย" แกนนำหญิงกล่าว


 


ชาวบ้านกลุ่มนี้มีจุดยืนคัดค้านและเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนกระทั่ง กฟผ.ตัดสินใจไม่ให้เงินพัฒนาท้องถิ่นซึ่งเดิมตั้งใจจะมอบให้อ.ทับสะแกจำนวน 150 ล้านบาท เนื่องจากถูกชาวบ้านตั้งคำถามอย่างมากว่า มีจุดประสงค์แท้จริงอะไร


 


อย่างไรก็ตาม นโยบายใหม่ของกระทรวงพลังงานเองก็ยังเพิ่มเติมเรื่องภาษีพลังงาน โดยให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อลดความขัดแย้งและคืนกำไรให้คนพื้นที่ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องจ่ายภาษีเป็นเงินสนับสนุนพัฒนาชุมชนโดยรอบในอัตรา 1 สต./หน่ว ยสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ให้จ่ายในอัตรา 2 สต./หน่วย (หากโรงไฟฟ้ามีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ จะได้เม็ดเงิน 50 ล้านบาทต่อปี โรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี)


เริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.50 คาดว่าโรงไฟฟ้าทั่วประเทศจะส่งเงินเข้ากองทุนประมาณ 1.85 พันล้านบาทต่อปี



ถึงกระนั้น การเก็บเงินเข้ากองทุนฯ นี้จะผลักภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปรวมไว้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 1.2 สตางค์ต่อหน่วยด้วย


 


"เงินกองทุน 2 สตางค์ชาวบ้านเขาไม่สนใจหรอก เพราะสิ่งที่เขาได้เขามีทุกวันนี้ มันมากกว่าที่ กฟผ.จะให้เยอะ เงินนั้นมันไม่สามารถมาชดเชยสุภาพและการทำมาหากินของชาวบ้านได้ เพราะทุกวันนี้มันพึ่งพาตัวเองได้ แต่ถ้าคุณอยากได้เศษเงินนั้นเมื่อไร คุณก็จะกลายเป็นขอทาน มันไม่มีใครยอมแลกหรอก และถึงที่สุด เงินกองทุนนี้ก็ผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟเป็นคนจ่ายในค่าเอฟทีอยู่ดี" สุรีรัตน์กล่าว


 


แม้จะยังไม่มีความขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่อีกกลุ่มที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าทับสะแก ดังจะเห็นเป็นรูปแบบคลาสสิกในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ แต่แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ยืนยันว่า หาก กฟผ.ไม่ถอย แนวโน้มการต่อสู้ของชาวบ้านคงจะ "เข้ม" ขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เคยเป็นมา แม้มันจะเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลมืดหนาแน่นติดอันดับต้นๆ ของประเทศก็ตาม


 


ถึงที่สุด "ทับสะแก" เป็นเพียงพื้นที่ตัวอย่าง (สีแดง) ความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับแนวทางพัฒนาของรัฐ โดยที่กระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ ที่เอ่ยถึงกันไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ปรากฏเป็นจริง


 


กล่าวเฉพาะเรื่องพลังงาน คำถามว่าด้วยการคำนวณความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เกินจริง โดยอ้างอิงกับจีดีพีที่ค่อนข้างสูงอย่างแข็งตัว การมีไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็น ตลอดจนการไม่ให้ความสำคัญกับพลังทางเลือกอย่างจริงจัง (จริงใจ?) ก็ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่สำหรับสังคมนี้ และตราบที่ไม่มีการแก้โจทย์ดังกล่าว ใครจะรับประกันได้ถึงการปะทุของ "ภูเขาไฟเขาทับสะแก" และที่น่ากลัวว่าคือการระบาดของมัน !!


 


 


 


 








 


 


ระยองลุยยื่นคัดค้าน ลั่นไม่เอาโรงไฟฟ้า"ถ่านหิน"


 


 


เว็บไซต์ข่าวสด 11 มิ.ย.2550


        


ระยองฮือต้านโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน ยื่นหนังสือคัดค้านยุติโครงการ ก่อนขึ้นรถแห่กว่า 50 คัน ป่าวประกาศไปทั่วเมืองให้พ่อแม่พี่น้องรับรู้ถึงอันตรายของโรงไฟฟ้า ที่รัฐบาลอนุมัติโครงการสร้างโรงไฟฟ้ากลางเมือง กินพื้นที่ถึง 4 ตำบล แกนนำลั่นไม่ให้สร้างเด็ดขาด เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านก็


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมชาวบ้าน จ.ระยอง จำนวนกว่า 200 คน ร่วมชุมนุมประท้วงที่บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมัน โดยมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ขนาด 3,000 เมกะวัตต์ โดยจะกินพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.ตะพง ต.บ้านแลง ต.นาตาขวัญ และ ต.เชิงเนิน อ.เมือง และหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบด้านมลพิษ เนื่องจากจุดที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ท่ามกลางชุมชนขนาดใหญ่กลางเมือง



 


ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมแห่ขบวนรถกว่า 50 คัน ไปบนถนนสายสุขุมวิทมุ่งสู่เมืองระยอง พร้อมทั้งปราศรัยไปตลอดทาง เพื่อให้ประชาชนชาวระยอง ตระหนักถึงพิษภัยจากมลพิษที่จะตามมาหลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และหยุดบริเวณหน้าบริษัทไออาร์พีซี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน แต่ปรากฏว่าเป็นวันหยุด จึงไม่มีใครออกมารับ รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เฝ้าอยู่หน้าประตูก็ไม่กล้ารับ ทางชาวบ้านจึงวางหนังสือไว้หน้าป้อมยาม จากนั้นเดินทางไปรอบตัวเมือง เพื่อป่าวประกาศให้ชาวระยองได้รับรู้ถึงอันตรายจากโรงไฟฟ้า



 


นายสุทธิ แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า การรวมตัวกันในครั้งนี้เพื่อให้ชาวระยองได้ตระหนักถึงพิษภัยจากมลพิษอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวระยอง และสิ่งแวดล้อมอันมีค่าจนพินาศไปหมดแล้ว แล้วยังจะมายัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินใจกลางเมืองขึ้นมาอีก ในฐานะที่เป็นคนระยองพร้อมกับพี่น้องชาวระยองจึงยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นมาอีก ขอให้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ช่วยด้วย เพราะหากจะแลกกับชีวิตชาวระยองเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นจะคุ้มกันหรือเปล่า หรือมองชาวระยองไม่ใช่คน จึงอนุมัติโครงการที่เป็นอันตรายให้ชาวระยองอยู่ตลอด อีกทั้งไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่รับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ หวั่นเป็นเหมือนชาว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ต้องทนรับสารอันตรายจนตาย



 


แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวต่อว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าจะไม่ยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาก็ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวระยองอยู่ทุกวัน และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ มีเพียงฝ่ายประชาสัมพันธ์เอาเงินมาปิดปากซื้อสิ่งของบริจาคงานบุญ เพื่อชาวบ้านหายโกรธ แต่ไม่เคยที่จะคิดแก้ไขปัญหามลพิษเลย แล้วยังมาเพิ่มมลพิษอีก เรายอมไม่ได้อีกแล้ว



 


 


 


 


 


 


      


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net