Skip to main content
sharethis


 


 


วานนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมโนโวเทล จังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดประชุมนานาชาติเรื่องถ่านหินสะอาด โดยมีนายอำนวย ทองสถิตย์  รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิด มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกที่มีความร่วมมือถ่านหินอาเซียน (ASEAN Forum on Coal - AFOC) เข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ และยังมีผู้แทนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และสถาบันถ่านหินเข้าร่วมด้วย


 


จนท.กระทรวงพลังงานแจงประชุมเพื่อความร่วมมือด้านถ่านหินสะอาด


โดย ดร.บุญรอด  สัจจะกุลนุกิจ  นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามวาระที่กำหนดให้มีการประชุม 2 ปีครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การใช้ถ่านหินโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าขายด้านถ่านหินในภูมิภาค  เพื่อนำข้อเสนอขอรับความเห็นชอบในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรีพลังงานของอาเซียน ณ ประเทศสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับหัวข้อที่นำมาพูดคุยในครั้งนี้  มีประเด็นหลักคือ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด  และการควบคุมตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีการติดตามผลกระทบมลภาวะได้ตลอด 24 ชั่วโมงและวันที่ 20 ก.ค. จะมีการพาผู้ร่วมประชุมไปดูงานที่นั่น


 


ดร.บุญรอด ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การนำถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมาใช้ คงไม่สวนทางกับข้อกังวลเรื่องภาวะโลกร้อน ถ้าเอาไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเลยจะเอาพลังงานที่ไหนมาตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยก็ใช้พลังงานฟอสซิลกว่า 80-90% ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นถ้าหยุดใช้แล้วถามว่าจะอยู่ได้ไหมกับอีก 20% ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน


 


กรีนพีซโต้ ใช้ถ่านหินทำภาวะโลกร้อนก่อมลพิษ


นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านภูมิอากาศและพลังงาน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ความจริงก็คือ ถ่านหินนั้นสกปรกและก่อให้เกิดมลพิษตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนจบ การสร้างภาพว่าถ่านหินสามารถเผาไหม้ได้โดยไม่มีผลกระทบตามมาเป็นเรื่องตลกพอๆ กับที่อ้างว่ามันสามารถแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยได้นั่นแหละ เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดก็เหมือนกับการล้างทำความสะอาดถ่านหิน การปล่อยมลพิษที่มีระบบกรองอากาศ การเผาไหม้ที่ได้ไนโตรเจนออกไซด์ต่ำ กระบวนการทางประสิทธิภาพที่ให้ความร้อนสูง  การดักจับและกักเก็บคาร์บอน เหล่านี้ล้วนเป็นการแก้ปัญหาปลายทางที่ไม่อาจยอมรับได้และมีราคาแพงในเชิงสิ่งแวดล้อม ถ่านหินเป็นฆาตกรภูมิอากาศมือฉมังเลยทีเดียว  แทนที่จะจ่ายเงินจำนวนมากไปกับเทคโนโลยีที่ไม่มีการทดลองเพื่อทำให้มันสะอาด ควรจะเปลี่ยนแผนการลงทุนไปพยายามทดลองกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยและความปลอดภัยทางพลังงานในระยะยาว"


 


การที่ กฟผ. นำพลังงานถ่านหินมาใช้โดยอ้างว่าสามารถพัฒนาเป็นพลังงานสะอาด ถือว่าสวนทางกับข้อกังวลของสาธารณะเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และถ่านหินคือตัวการสำคัญ แม้จะมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจากการเผาเชื้อเพลิงถ่านหินที่โฆษณาว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคตไม่รู้ว่าจะเอามาใช้เมื่อไหร่ด้วยซ้ำไป และตอนนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ถ่านหินสะอาดจึงเป็นเหมือนคำโฆษณาของอุตสาหกรรมถ่านหิน ที่เบี่ยงเบนประเด็นว่าช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้


 


ถ้าถ่านหินสะอาด คงมี "คุณค่าทางโภชนาการ"


ขณะที่ในห้องประชุมนายจัสเปอร์ อินเวนเตอร์  ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านภูมิอากาศ กรีนพีซ ย้อนกับบรรดาตัวแทนรัฐมนตรีพลังงานของประเทศอาเซียนในที่ประชุมว่า "หากที่ประชุมครั้งนี้พบว่าถ่านหินสามารถทำให้ "สะอาด" ได้ มันก็คงไม่มีมีปัญหาอะไรถ้าจะบอกว่าถ่านหินก็มีคุณค่าทางโภชนาการได้เหมือนกัน" ในที่ประชุม นายอินเวนเตอร์ได้นำเสนอข้อมูลแนวเสียดสีความคิดของ "ถ่านหินสะอาด" ซึ่งเป็นประเด็นหลักของการประชุมในสองวันนี้ โดยแสดงตัวเลขถ่านหินปริมาณมหาศาล พร้อมด้วยปริมาณแคลอรี่ของถ่านหิน ซึ่งอิงจากความอดอยากของประชากรโลกและความล้มเหลวของข้อปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมในการรับมือกับภาวะโลกร้อน


 


"ถ้า "แร่ปลอดมลพิษ" ที่ท่านเรียกนี้สามารถเป็นตัวแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้ อย่างนั้นเราก็อาจใช้พลังใจเพื่อไปแก้ปัญหาความอดอยากหิวโหยของประชากรโลกได้เหมือนกัน ผมมั่นใจว่า วันหนึ่งข้างหน้าเราจะมีถ่านหินสะอาดที่เหลือเฟือแถมราคาถูกเอาไว้ใช้กิน" นายอินเวนเตอร์กล่าวต่อที่ประชุม ก่อนที่เขาจะถูกเจ้าหน้าที่จัดงานดึงออกไปจากแท่นประชุม


 


ชาวบ้าน "ไม่เอาถ่าน" ประท้วงหน้าที่จัดประชุม


และเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน จาก "เครือข่ายคนไม่เอาถ่านหิน" จากชุมชนแม่เมาะ จ.ลำปาง ชุมชนเวียงแหง จ.เชียงใหม่ ชุมชนบ่อนอกและชุมชนทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ใส่เสื้อยืดสีดำมีข้อความ "หยุดถ่านหิน มหันตภัยโลกร้อน" ได้รวมตัวกันหน้าโรงแรม มีแกนนำปราศรัยให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน และผู้เข้าร่วมประชุมตระหนักถึงผลกระทบและหยุดใช้พลังงานจากถ่านหิน


 


โดยผู้ชุมนุมจาก อ.เวียงแหง ได้แจกแถลงการณ์ของชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.เวียงแหง และ เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน และชาวบ้านอำเภอเวียงแหง "คัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)" และเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ มารับหนังสือคัดค้านด้วย


 


สำหรับ อ.เวียงแหง เป็นพื้นที่ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้ว่าจ้างสถานบริการวิศวกรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม โครงการพัฒนาเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์


 


ชาวบ้านขอมีส่วนร่วมเข้าประชุมด้วย


นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่าชาวแม่เมาะได้รับความทุกทรมานจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผู้ว่าราชการ จ.ลำปางแทนที่จะปกป้องชาวบ้านดันไปปกป้องพวกที่กินถ่าน ปกป้องพวกหาประโยชน์บนความทุกข์ชาวบ้าน ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ต้องคำนึงถึงชาวเชียงใหม่ อย่าสนใจพ่อค้าถ่านที่มาร่วมประชุม ขอให้นึกถึงมลพิษที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ถ่านหินสะอาดมีที่ไหน


 


ต่อมา ผู้ชุมนุมได้เจรจากับ ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน ในฐานะตัวแทนกระทรวงพลังงาน เพื่อขอเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องปัญหาโลกร้อน พวกเราในฐานะพสกนิกรของพระองค์ก็ห่วงใยเรื่องนี้เช่นกัน ขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมเรื่องถ่านหินดังกล่าว


 


โดย ดร.บุญรอดกล่าวว่าที่ประชุมใช้ภาษาอังกฤษ นางมะลิวรรณจึงกล่าวว่าเราอัดเทปแล้วเอาไปถอดเทปเองได้และหาคนแปลภาษาให้ได้ ตนเองก็เคยไปสัมมนาต่างประเทศหลายครั้ง ทุกที่ก็จะจัดคนแปลภาษาให้ ดร.บุญรอดจึงถามว่าแน่ใจหรือเปล่า ถ้าอย่างไรตนส่งเทปการประชุมไปให้ภายหลังก็ได้ ซึ่งทำให้นางมะลิวรรณไม่พอใจและกล่าวว่าถ้าเป็นแบบนี้ ประชาชนก็ไม่มีส่วนร่วมสิ พวกเราที่มาในวันนี้ขอร่วมประชุมด้วย อาหารไม่ต้องเลี้ยงก็ได้ เก้าอี้ไม่มีเราขอนั่งกับพื้น


 


ผู้จัดไม่ยอมให้ร่วม ชาวบ้านฮือเสิร์ฟ "บุฟเฟ่ต์ถ่านหิน" ท้าให้กินถ้าสะอาดจริง


ซึ่งในที่สุด ดร.บุญรอด กล่าวว่าตนไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้ ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจและเลิกเจรจา พร้อมกล่าวปราศรัยว่า เมื่อท่านไม่มีอำนาจตัดสินใจแล้วมาเจรจาทำไม และหลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้เสิร์ฟ "บุฟเฟ่ต์ถ่านหิน" ให้กับกระทรวงพลังงาน โดยนำถ่านหินมาจัดเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และเทกองถ่านหินบริเวณทางเข้าโรงแรม เพื่อเสิร์ฟเป็นอาหารกลางวัน และเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมรับประทาน เพื่อพิสูจน์ว่าถ่านหินสะอาดจริง ก่อนจะสลายตัวเดินทางกลับอย่างสงบ


 


โดยหลังการสลายตัว ผู้เข้าร่วมการประชุมและเจ้าหน้าที่โรงแรมได้ออกมามุงดู "บุฟเฟต์ถ่านหิน" ดังกล่าว โดยนายธนากร พูลทวี ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารและการเงินกลุ่มผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมการประชุมได้หยิบก้อนถ่านหินขึ้นมาดูกับ ดร.บุญรอด สัจจะกุลนุกิจ และนายธนากรได้กล่าวว่าถ่านหินที่ชาวบ้านนำมาเป็นถ่านหินลิกไนต์ที่มีคุณภาพสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้


 


ชี้ต้องใช้ถ่านหินเพราะ "เทวดาไม่ได้ให้อะไรมามาก"


ขณะที่ ดร.ธีรเกียรติ ภักดีสงคราม ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า เพราะเทวดาไม่ได้ให้อะไรเรามามาก ดังนั้นมีความจำเป็นต้องนำถ่านหินที่มีในประเทศไทยมาผลิตกระแสไฟฟ้า


 


ขณะที่นายธนากรยังกล่าวต่อว่าการใช้พลังงานถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้ามีความจำเป็น พลังงานถ่านหินเองก็ต้องทำให้เป็นพลังงานสะอาด ไม่เช่นนั้นทั่วโลกจะไม่ยอม กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็มีเทคโนโลยีที่กำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ให้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งนี่เป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยต้องผลิตให้ได้ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าและระวังมิให้เกิดวิกฤตพลังงานแบบที่เคยเกิดในฟิลิปปินส์ ที่โรงงานแต่ละเขตต้องสลับกันเดินเครื่องเนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่พอ นอกจากนี้นายธนากรยังกล่าวว่าจะมีการบรรจุหลักสูตรเรื่องพลังงานในหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เด็กมีความรู้ที่ถูกต้อง นอกเหนือจากค่ายเยาวชนของ กฟผ. ซึ่งมีการจัดอบรมเรื่องเหล่านี้เป็นประจำอยู่แล้ว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net