Skip to main content
sharethis


วรภัทร วีรพัฒนคุปต์

เครือข่ายนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่


 


 


ก่อนที่ผมจะพูดถึงเหตุการณ์ 22 กรกฎาคม ตามมุมมองของนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน ผมมีเรื่องหนึ่งที่จำเป็นต้องเวิ่นเว้อเสียก่อนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ขอให้ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งด่วนรำคาญไปเสียก่อน ขอเตือนว่าคนที่ไม่ชอบประชาธิปไตย ไม่เคยเห็นคนเป็นคนอย่าได้อ่านเป็นอันขาด ถ้าเผลอเปิดมาแล้วยังมีโอกาสปิด…


 


ผมเตือนแล้วนะ... จะอ่านจริงๆเหรอ... ไม่ปิดเหรอ... หึหึ!!!


 


ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่มีวิวัฒนาการมายาวนานในสังคมโลก ที่ผมจำได้คือ แต่เดิมเราเคยมีประชาธิปไตยทางตรงเกิดขึ้นในนครรัฐกรีก นั่นคือการใช้เสียงประชาชนตัดสินร่วมกันด้วยการโยนเปลือกหอย (และนี่คือต้นแบบของวิธีการลงประชามติ ผมว่าถ้าเอาไปใช้ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คงน่าสนุกเหมือนกัน)


 


วิวัฒนาการขั้นต่อมา เมื่อโครงสร้างสังคมในโลกเปลี่ยนไป สังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประชากรมากขึ้น จึงเป็นการยากที่จะให้มาโยนหอยตัดสินกันได้ทุกเรื่อง ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนจึงเกิดขึ้น


 


ช่วงระยะเวลาตลอด 75 ปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยกระโดดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราก็ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง (เช่น สส. , สว.ชุดที่แล้ว) ซึ่งสามารถอ้างได้อย่างเต็มปากว่าเป็นผู้แทนที่มาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน (เหมือนอย่างที่อดีตนายกฯคนก่อนชอบอ้างความชอบธรรม 19 ล้านเสียง) หรือผู้แทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ยังอ้างความชอบธรรมได้ว่ามาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมไทยหลากหลายสาขาอาชีพทั้งนักวิชาการ นักธุรกิจ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ อย่างสมัยท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกฯ ก็มีคนถีบสามล้อเครื่องได้เป็น สนช. หรืออย่างสมัยน้าชาติก็เคยแต่งตั้งผู้นำแรงงานเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภา


 


แม้ว่าเราจะมีผู้แทนประชาชนรูปแบบต่างๆ ที่อ้างว่าไว้เพื่อเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชน แต่สุดท้าย ผู้แทนที่มีจำนวนเพียงหยิบมือหนึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศก็ไม่สามารถเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ด้วยเพราะยังไม่มีผู้แทนหลากหลายกลุ่มสาขาพอ หรือเพราะผู้แทนลืมกำพืดตัวเองก็ตามแต่ สุดท้ายสังคมก็จำเป็นต้องใช้ระบบการมีส่วนร่วมทางตรงด้วยการเรียกร้องกับผู้แทนโดยตรง


 


ในสังคมชนชั้น เมื่อคำว่า "รัฐ" ถูกตีความให้หมายถึง ผู้ถืออำนาจในการร่างหรือบังคับใช้กฎหมาย เมื่อเสียงของประชาชนธรรมดาเป็นได้เพียงเสียงเล็กๆ ในสังคม แม้จะมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ที่ทำให้ภาพดูเหมือนว่ารับฟังเสียงของประชาชนทุกคน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราอ่านเกมออก เราจะพบว่า เมื่อรัฐเป็นผู้มีอำนาจในการกุมพื้นที่ทางความหมาย พื้นที่ทางการสื่อสารสาธารณะในสังคม ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สายด่วนร้องเรียน กล่องแสดงความคิดเห็นมันก็คือการสร้างความหมายในตัวให้แก่อำนาจของรัฐ ความหมายของมันคือ รัฐให้สิทธิแก่คุณในการใช้บริการส่งเรื่องต่างๆ มา เมื่อคุณใช้สิทธินั้นแล้ว รัฐก็ถือว่ารัฐให้สิทธิกับคุณแล้ว แต่อำนาจเด็ดขาดสูงสุดก็อยู่รัฐ รัฐจะรับเรื่อง หรือส่งต่อเรื่องของคุณให้ผู้เกี่ยวข้องไปพิจารณาอย่างจริงจังหรือไม่ อำนาจความชอบธรรมตกอยู่ที่ลายเซ็นในหนังสือราชการที่ตอบกลับต่อเรื่องนั้นถือเป็นอันยุติ หรืออาจตกอยู่ในพื้นที่ที่คุณส่งเรื่องมาโดยอาจไม่มีการส่งต่อไปที่ใดเลยก็เป็นไปได้


 


สังคมไทยเองก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ ประชาชนเพียงหยิบมือในประเทศที่มีเสียงดังในสังคม ประชาชนเพียงหยิบมือนั้นประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ / ทหาร / ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ บุคคลผู้มีตำแหน่งในสังคม นักวิชาการ(ที่รู้จักเสนอตัวเองผ่านทางสื่อ) หรือเจ้าสัวตระกูลดังนามสกุลเก่าแก่ คนเหล่านี้เป็นเทวดาในสังคมก็ว่าได้ แค่เพียงจาม ผายลม ก็ทำให้คนสั่นสะท้านกันยกประเทศได้แล้ว ฉะนั้นแค่เพียงจะให้บุคคลระดับปลัดกระทรวง ส.ส. รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีมาฟังเสียงของคนในกลุ่มนี้เพียงไม่กี่คน ก็ไม่ใช่เรื่องยาก บางครั้งยังทำให้คนระดับนายกฯ กลัวจนขี้หดตดหายก็ยังได้


 


แต่กับประชาชนชั้นกลางที่พอจะมีกิน พอจะมีความรู้บ้าง จนถึงประชาชนชั้นรากหญ้าหาเช้ากินค่ำ การศึกษาน้อย อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณค่าความเป็นพลเมืองของคนกลุ่มนี้มีน้อย ชนิดที่ไม่ต้องหวังเลยว่าท่านผู้มีอำนาจในประเทศจะยอมลงมาคุยกับคนระดับนี้แบบ Face to Face


ทางออกของประชาชนตัวเล็กๆ ในสังคมเช่นนี้ที่จะทำให้เสียงความต้องการของตนดังขึ้น นั่นคือการรวมกลุ่มกันโดยประชาชนระดับปัจเจก หรือกลุ่มต่างๆ มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับหลวมๆ เพื่อการสร้างพลวัตร (dynamic) ในสังคมด้วยการประท้วง ซึ่งเราใช้ศัพท์เรียกสั้นๆ ว่า "ม็อบ"


 


ม็อบเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย เพราะสิ่งที่เราต้องยอมรับคือ ในสังคมที่มีความหลากหลายของกลุ่มชนชั้น การสนองประโยชน์ให้คนทุกฝ่ายพอใจได้เป็นเรื่องยาก และด้วยระบบชนชั้นดังที่กล่าวมา ม็อบนี่แหละคือทางออกที่ดีที่สุดที่ทำให้ความต้องการของกลุ่มตนมีพลังมากขึ้น


 


ท่านอาจารย์นิธิ(เอียวศรีวงศ์)ที่เคารพของผมเคยกล่าวว่า แม้สังคมจะมีโครงสร้าง มีกฎเกณฑ์ซับซ้อนเพียงใดก็ตาม แต่สุดท้ายถ้าท้องมันหิว อากาศมันร้อน ขี้จะแตก โครงสร้างอันซับซ้อนเหล่านั้นก็ต้องแพ้ปรากฏการณ์ธรรมชาติของมนุษย์ที่เหนือการควบคุม ผมจึงวิเคราะห์ว่า ด้วยเหตุนี้ แม้จะสังคมจะมีหลักนิติศาสตร์ มีความเป็นนิติรัฐที่กำหนดบังคับอยู่อย่างชัดเจนว่ากฎต้องเป็นกฎ แต่กระนั้นโดยวัฒนธรรมประชาธิปไตย จึงมีข้อยกเว้นให้การกระทำอันดื้อแพ่งของม็อบให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการตีความตามหลักนิติปรัชญา


 


สังคมไทยแทบทุกยุคทุกสมัย มักจะมีม็อบรูปแบบต่างๆ ให้เห็น นับตั้งแต่สมัยที่มีการชุมนุมกันของนักศึกษารามคำแหงเพื่อขับไล่อธิการบดี จนมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา (ที่ทำให้รุ่นพี่มหาวิทยาลัยเดียวกับผม รวมถึงเด็กมหา"ลัยอื่นที่กลายเป็นอาจารย์ที่นี่กลายเป็นฮีโร่หลายคน ทั้งๆ ที่เด็กรามฯ กับเด็กช่างกลเป็นหน่วยกล้าตาย) นับจากนั้นสังคมไทยก็มีม็อบต่างๆ มากมาย ทั้งม็อบปัญหาที่ทำกิน ม็อบเกษตรกร ม็อบต่อต้านสินค้าต่างชาติ ม็อบแรงงาน และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ม็อบการเมือง


 


ก่อนจะพูดต่อผมขอชี้แจงก่อนว่า ใครก็ตามที่คิดว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนหมายถึงการก่อม็อบ ขอให้ปรับความเข้าใจเสียใหม่ ผมไม่รู้ว่ามุมมองของรุ่นพี่เก๋าๆ มากประสบการณ์มองอย่างไร แต่ถ้ามุมมองของผม ม็อบเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ขบวนการภาคประชาชนใช้ในการสื่อสารต่อสังคมเท่านั้น การเคลื่อนไหวภาคประชาชนจริงๆ แล้วความหมายกว้างมากและมีวิธีการหลากหลาย ม็อบเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีในหลายๆ โอกาสเท่านั้น บางครั้งม็อบอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน หรือในทางกลับกัน การรวมตัวกันเป็นม็อบอย่างหลวมๆ ก็อาจนำไปสู่การเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้เช่นกัน


 


ม็อบถือเป็นพลวัตรในสังคมประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่าม็อบคือการเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อสื่อสารปัญหาความทุกข์ยากหรืออุดมการณ์ของกลุ่มตนต่อสังคม การสื่อสารด้วยวิธีม็อบอาจเป็นได้ทั้ง One way communication หรือ Two ways communication แล้วแต่จะตีความ แต่ไม่ว่าจะตีความอย่างไร จุดมุ่งหมายของม็อบก็ย่อมต้องการการตอบสนองจากกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายหลักคือผู้ที่ตนไปประท้วง เพื่อให้เขาทำตามที่เสนอหรืออย่างน้อยที่สุดคือลงมาเจรจาด้วย และเป้าหมายรองคือประชาชนในสังคม ให้ได้รับทราบสิ่งที่ม็อบต้องการ ให้สังคมเกิดปฏิกริยาต่อสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของตน ไม่ว่าปฏิกิริยาของคนในสังคมที่จะตอบกลับมาจะเป็นการตอบรับหรือต่อต้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็คือ บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากdynamicของความเห็นที่หลากหลายในสังคม


 


******


 


หลังจากเวิ่นเว้อมานาน ก็คงได้ฤกษ์ที่ต้องพูดเข้าเรื่องที่ค้างไว้ตั้งแต่ตอนต้นจริงๆ เสียที สิ่งที่ผมอยากพูดคือความไม่สบายใจต่อปฏิกิริยาของสังคมที่มีต่อ นปก. ในเวลานี้ เพราะยังไม่ทันที่ผลการพิสูจน์จะปรากฏแน่ชัดว่าใครผิดกันแน่ แกนนำ นปก. ทั้ง 9 คนกลับถูกจับเข้าคุก และที่ร้ายกว่าคือต้องกลายเป็นจำเลยตามคำตัดสินของสังคมไปก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่พวกเขาแค่ใช้สิทธิดื้อแพ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ถูกโยงไปเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวอย่างมีเบื้องหลังไปก่อนแล้ว


           


ผมมองว่าแนวคิดเช่นนี้อาจเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคอดีตนายกฯ ฝีปากคมท่านหนึ่ง ในยุคของท่านอดีตนายกฯ ผู้นี้ ได้ทำสิ่งที่คล้ายกับที่เคยเกิดเมื่อยุค 6 ตุลามาหลายต่อหลายครั้ง นั่นคือการปราบปรามม็อบด้วยความรุนแรง แม้ในยุคท่านอดีตนายกฯ ผู้นี้เหตุการณ์จะไม่รุนแรงนัก ในความรู้สึกของใครหลายคนที่นิยมชมชอบท่าน (ทั้งตำรวจตีม็อบและปล่อยหมากัดม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล มีผู้บาดเจ็บหลายร้อย , สมัชชาคนจนที่ชุมนุมหน้าทำเนียบถูกจับ 255 คน , มีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะกับตำรวจในต่างจังหวัด 3 คน ฯลฯ ) แต่สิ่งที่รุนแรงกว่าคือ การที่ท่านอดีตนายกฯ ผู้นี้ทำให้ภาพของม็อบดูเลวร้าย ดูเป็นขบวนการมีเบื้องหลังไปเสียหมด ท่านไม่เคยลงมาเจรจากับม็อบ ไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้องของม็อบใดๆ แม้แต่ครั้งเดียว รวมถึงภายหลังเหตุการณ์สลายม็อบหน้าทำเนียบฯ ที่ให้ตำรวจเอากระบองตี ยิงแก๊สน้ำตา ปล่อยหมาตำรวจกัดม็อบ และดำเนินคดีกับม็อบ 255 คน ท่านอดีตนายกฯผู้นี้ซึ่งเรียนจบด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ ได้มีวาทะอันอำมหิตว่า "ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยเท่ากันได้ แต่ทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน"


 


ผมไม่ตัดสินว่า นปก. ถูก หรือเจ้าหน้าที่ผิด แต่สิ่งที่ผมกลัวตอนนี้คือ กลัวว่าเหตุการณ์ 22 ก.ค. จะซ้ำรอยกับ 6 ตุลา หรือในยุคของอดีตนายกฯ ปากกล้า กลัวการพิพากษาของสังคมที่จะทำให้การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากตนกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะส่งผลขัดแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ2550 ที่ท่านๆ ทั้งหลายพยายามชี้นำว่ามีความเป็นประชาธิปไตยกว่าฉบับที่ถูกฉีก ส่งผลต่อบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต


 


คมช.และรัฐบาลชุดนี้ควรยอมรับตนเองว่า กระบวนการได้มาของพวกท่านหาความชอบธรรมไม่ได้มาตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นสิ่งที่ท่านควรทำคือ การสร้างความชอบธรรมด้วยการฟังเสียงประชาชนที่คิดต่างจากท่าน รับฟังสิ่งที่คนประท้วงท่านบ้างแล้วนำมาพิจารณาตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำในอารยะประเทศพึงกระทำ นอกเหนือจากกรณี นปก. ที่เรียกร้องให้พวกท่านลาออกและคืนรัฐธรรมนูญปี40 แล้ว ผมยังหมายรวมถึงทุกๆ กรณีที่เกิดขึ้นเช่น กรณีของสมัชชาคนจนกลุ่มเขื่อนปากมูนที่ถูกเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาของท่านจับผลักจับโยนออกมาหน้าทำเนียบฯ อย่างไร้ความปราณี ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นมาด้วยปัญหาปากท้องที่เป็นผลพวงจากนโยบายของท่าน และความยากจนของพวกเขาก็เริ่มต้นจากโครงสร้างการพัฒนาของภาครัฐ


 


แม้ส่วนตัวผมเองจะไม่ค่อยชอบใจกับข้อเรียกร้องบางข้อของ นปก. แต่บทบาทของนักสิทธิมนุษยชน เราจะให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายตรงข้ามเรา แม้เขาคิดต่างกับเรา


 


และในฐานะนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ ผมมองว่าอีกสิ่งที่ท่านจำเป็นต้องทำคือ การยกเลิกกฎหมายทั้งหมดที่ล่อแหลมต่อการละเมิดเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.ควบคุมการใช้คอมพิวเตอร์ที่เพิ่งคลอดออกมา ทั้งหมดนี้มีความหมายถึงการเลิกทัศนะคติแบบเดิมๆที่เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วย


 


หากท่านตั้งใจเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาประชาธิปไตยในประเทศจริงๆ สิ่งแรกที่ท่านควรทำนั่นคือ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในสังคม จัดการความขัดแย้งด้วย "สันติวิธี" แม้มันจะยาก แต่ก็ต้องทำ


 


นี่คือบทพิสูจน์ความจริงใจของท่าน...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net