Skip to main content
sharethis


เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม


หลังการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 สื่อมวลชน นักวิชาการและผู้ติตตามสถานการณ์การเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องต่างคาดการณ์กันว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 คงผ่านประชามติไปได้ไม่ยาก แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วนก็ตาม หากรัฐธรรมนูญผ่านจริงดังว่า หลายคนอาจจะมองข้ามชอตเลยไปถึงการเลือกตั้ง และการมีรัฐบาลใหม่ แล้วอะไรต่อมิอะไรในบ้านเมืองก็คงจะเข้าที่เข้าทางตามคำโฆษณาที่ได้ยินผ่านหู แต่ประชาธิปไตยที่กลับคืนมาอีกครั้งตามคำอธิบายของผู้มีอำนาจนั้นยังเป็นคำถามคาใจของประชาชนบางส่วน เฉพาะอย่างยิ่งประเด็น "สิทธิเสรีภาพ" ของประชาชนจะมีสภาพเป็นเช่นไรนับจากนี้


ว่ากันว่า หากต้องการดูว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีมากน้อยเพียงไรในแต่ละประเทศ ให้ดูกันที่สิทธิเสรีภาพของสื่อ หากสื่อมีสิทธิเสรีภาพ ประชาชนก็มีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพตามไปด้วย ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล คมช. มีการเร่งรีบยกร่างกฎหมายสื่อถึง 7 ฉบับรวด รวมแก้ไขกม.การจัดสรรคลื่นความถี่อีก 1 ฉบับ ทั้งนี้การผลักดันกฎหมายทั้งหมดนั้นเป็นที่คลางแคลงใจของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างมากว่าเหตุใดจึงต้องเร่งรีบผลักดันในรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ สภานิติบัญญัติ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของภาคประชาชน แล้วการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเกิดขึ้นได้อย่างไรภายใต้กระบวนการเช่นนี้ ?


กฎหมายทั้ง 8 ฉบับ อันได้แก่ พ...ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ , ร่างพ...องค์การกระจายเสียงและแพ่รภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ......, ร่างพ...ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.......,ร่างพ...ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ....... , ร่างพ...จดแจ้งการพิมพ์ พ......,ร่างพ...ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ......., ร่างพ...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับแก้ไข) ,ร่างพ...กองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ พ...... ในจำนวนนี้ พ...ที่ผ่านออกมาแล้วมีผลบังคับใช้ได้แก่พ...ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ปี 2550 นอกนั้นอยู่ระหว่างการชงให้ สนช.พิจารณาและเร่งผลักดันออกเป็นกฎหมาย


สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มีความเห็นว่ากฎหมายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามรื้อ และรีบชงให้กับ สนช. นั้นก็เพราะถ้าออกกฎหมายในช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ไม่แน่ว่ากฎหมายต่างๆ เหล่านี้จะออกมาได้โดยง่าย พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อดังกล่าว แม้จะมีบางมาตราที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ก็ยังมีคำถามว่าร่างกฎหมายนี้ร่างขึ้นมาโดยใคร และมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร แม้จะเปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนก็จริง แต่โดยภาพรวมมีปัญหาเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" อย่างหนัก มีแนวโน้มปกป้องประชาชน แต่ก็ยื่นดาบให้แก่อำนาจรัฐมากเช่นกัน


เชือดสื่อ IT (...ความผิดทางคอมพิวเตอร์)

กฎหมายสื่อที่ดูเหมือนจะผ่านก่อนใครๆ และเป็นไปอย่างรวดเร็วคือ พ...ความผิดทางคอมพิวเตอร์ เริ่มบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการออกกฎกระทรวงไปแล้ว 1 ฉบับคือกฎกระทรวงที่ว่าด้วยการยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการออกกฎกระทรวงจำนวน 2 ฉบับคือ 1.หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ 2 .หลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ...

กฎหมายฉบับดังกล่าวเสนอโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีสาระสำคัญ เช่น มาตรา 12 หากการดำเนินการทางคอมพิวเตอร์ก่อความเสียหายต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจมีโทษจำคุก 10-20 ปี มีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือก่อการร้ายมีความผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท

เนื้อหาสาระของกฎหมายดังกล่าวมีนัยยะของการปราบปรามมากกว่าที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยังเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากในการเข้ามาตรวจสอบข้อมูลทั้งโดยผ่านศาล และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของบุคคลย้อนหลัง 90 วัน โดยไม่ต้องแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ

สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนเป็นห่วงอย่างมากคือ รัฐจะใช้กฎหมายดังกล่าวในการลิดรอนสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างหนัก มีความกังวลรัฐจะใช้กฎหมายโดยมีเหตุผลซ่อนเร้นทางการเมืองมากกว่าการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดความเป็นประชาธิปไตยก็มีแนวโน้มที่รัฐจะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

"
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องข่าวสารหรือเสรีภาพข่าวสารทางเว็บไซต์จะถูกลิดรอน การบล็อกเว็บไซต์จะส่งผลทำให้การใช้อินเตอร์เน็ตช้าลง การทำงานของระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศจะต่ำลง ความเป็นจริงสิ่งที่ไอซีทีควรจะต้องทำคือการพัฒนาศักยภาพของอินเตอร์เน็ต" จีรนุช เปรมชัยพร สำนักข่าวประชาไท กล่าว



ระวังกม.สีขาวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ร่างพ...ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ....... เสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คณะรัฐมนตรีผ่านวาระรับหลักการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 และส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณา หลังจากนี้จะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อ

หลักการและเหตุผลของการยกร่างกฎหมายนี้คือ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุลามก เช่น สื่อที่มีการแสดงกิจกรรมที่วิปริตทางเพศและสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก ประกอบกับยังมีสื่อที่ส่งเสริมและยั่วยุอันตรายอื่นๆ ที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่าวัตถุลามก ได้แก่การใช้ยาเสพติด หรือการฆ่าตัวตาย

แม้ว่าจะมีเจตนาดีในการปราบปรามสื่อที่เป็นพิษภัยต่อเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สุภิญญา เลขาธิการ คปส.มีความเห็นว่า ร่างพ...ดังกล่าวยังให้คำจำกัดความสื่อลามกกว้างเกินไป เช่น การมีลอยสักที่แสดงถึงการเป็นสื่อลามกตามการตีความของเจ้าหน้าที่ก็ถูกดำเนินคดีได้ พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอาจจะเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากขึ้น เปิดช่องให้บุคคลที่เป็นคู่ขัดแย้งสามารถนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมาใช้จัดการกับคู่ขัดแย้งได้ และกระบวนการยุติธรรมจะปกป้องประชาชนได้อย่างไร

"
คนไทยอาจจะคิดว่า ถ้าออกกฎหมายดีๆ แล้วมาห้ามทำไม จุดยืนของเราคือในกระบวนการพิจารณากฎหมายนั้นควรจะเปิดช่องให้มีการถกเถียงกันอย่างเต็มที่ก่อน แต่ปัญหาคือในกระบวนการพิจารณากฎหมายที่ผ่าน สนช.ชุดนี้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม" สุภิญญากล่าว


เร่งแก้กม.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีเงื่อนงำ

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จู่ๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เสนอขอแก้ไขพ...องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมปี 2543 อันเป็นกฎหมายลูกที่ออกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ตามมาตรา 40 จนสร้างความประหลาดใจให้แก่เครือข่ายภาคประชาชนอย่างมากว่าทำไมจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทั้งๆ ที่กฎหมายดังกล่าวโดยภาพรวมก็ถือว่าดี ไม่มีปัญหาอะไร เว้นแต่เพียงการบังคับใช้กฎหมายไม่คืบหน้าเท่านั้นเอง เช่น กระบวนการสรรหา กสช.ที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียที เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขน่าจะเป็นกระบวนการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมายมากกว่า

สาระสำคัญของกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 คือ เป็นกฎหมายที่ระบุว่ารัฐจะต้องดำเนินการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา 2 องค์กร คือ กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) และกทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เพื่อมาจัดการดูแลกำกับกิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคม แต่เหตุผลเบื้องลึกของการแก้ไขกฎหมาย กลุ่มองค์กรภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าการเร่งรีบแก้ไขกฎหมายลูกนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันของรัฐบาล คมช.ที่มีทหารหนุนหลังอยู่นี้ โดยจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ 2550 พบว่ามาตราที่ 47 นั้นระบุว่าให้มีองค์กรของรัฐที่อิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนนั้นมีความเห็นว่าการแก้ไขให้มีองค์กรอิสระเพียงองค์กรเดียวนั้นจะทำให้เกิดการผูกขาดรวบอำนาจการจัดการ และกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมถือเป็นกิจการคนละประเภท โดยกิจการโทรคมนาคมนั้นเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงไม่ควรรวบเป็นองค์กรเดียว เพราะจะยิ่งทำให้องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างโปร่งใส และเป็นธรรม

ปัจจุบันเครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะวิทยุชุมชนเริ่มหวาดหวั่นการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้เพราะเกรงว่าไม่มีหลักประกันว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกแปลงโฉมไปเพียงไร แล้วสิทธิของชุมชนในการจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนตามรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเหมือนเดิมหรือไม่


ทีวีสาธารณะ ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน?

ร่างพ...องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ปัจจุบัน สนช.ผ่านวาระรับหลักการโดยใช้ร่างฉบับรัฐบาลเป็นหลักเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายในวาระ 2 จำนวน 22 คน

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวคือมีการจัดตั้งโทรทัศน์สาธารณะขึ้นมา โดยนำเงินจากการจัดเก็บภาษีเหล้า-บุหรี่มาดำเนินการ และจัดตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะขึ้นเป็นหน่วยงานรัฐ มีคณะกรรมการที่มาจากการสรรหามาจากตัวแทนส่วนต่างๆ เช่น ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นากยกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ประธานสภาสถาบันนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ประธานสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ผู้แทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนกระทรวงการคลัง

มีข้อสังเกตจากเครือข่ายภาคประชาชนว่าทีวีสาธารณะนี้ ประชาชนยังมีส่วนร่วมในระดับแค่ผู้ดู และผู้ฟัง แต่ยังไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แนวโน้มที่จะตกเป็นสื่อของรัฐจึงมีอยู่สูงมาก



ร่างพ...ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

เสนอโดย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีรับหลักการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จากนั้นจึงส่งให้ สนช.พิจารณา


สาระสำคัญ คือยกเลิก พ...วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ 2498,2502,2521,2530 โดยระบุหลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้มีข้อสังเกตจาก คปส.ว่าโดยภาพรวมยังคงสภาพความเป็นสื่อของหน่วยงานรัฐ และสื่อของรัฐยังได้รับการยกเว้น เช่น กรมประชาสัมพันธ์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของสถานีรายเดิมในการดำเนินการต่อไปได้ โดยระบุไว้ในบทเฉพาะกาล คือ ให้ผู้ที่ได้รับสัมปทาน หรือสัญญาประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง นั่นหมายความว่าทีวี 3,5,7,9 และ TITV ซึ่งได้เปรียบผู้แข่งขันรายอื่นอยู่แล้วก็จะอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าผู้แข่งขันรายใหม่อยู่นั่นเอง

นอกจากนี้ในร่าง พ...ฉบับดังกล่าวยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวมากำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน และการประกอบกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ (กวช.) ที่ประกอบด้วยตัวแทนที่ล้วนมาจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน

"
กวช.ที่จะมาดูแลชั่วคราวนี้ จะนำไปสู่การต่อสู้วิ่งแข่งในวิทยุชุมชน จะมีทั้งคนที่ได้ และไม่ได้ มีแนวโน้มสูงที่ กวช.จะให้อภิสิทธิแก่หน่วยงานภาครัฐ" สุภิญญาให้ความเห็น


ทำหนังที่ขัดต่อศีลธรรม และความไม่สงบ งดฉาย

จากการศึกษาร่างกฎหมายโดย คปส. มีข้อสังเกตว่าร่างพ...ภาพยนตร์ที่ยกร่างนี้ถือว่ามีการควบคุมสิทธิเสรีภาพหนักมาก เช่นในมาตรา 23 ระบุว่าต้องสร้างภาพยนตร์ที่ไม่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี หรืออาจกระทบต่อความมั่นคง สิ่งแวดล้อม และเกียรติภูมิของประเทศไทย

นอกจากนี้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติยังประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐเช่นเดียวกับกฎหมายอื่น เช่นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อธิบดีกรมศาสนา อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ

คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะเผยแพร่ หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าบ่อนทำลายศีลธรรม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย กระเทือนหรือศีลธรรมอันดีก็มีสิทธิที่จะไม่อนุญาตให้เผยแพร่ได้

กลุ่มผู้ทำหนัง เห็นว่าร่างพ...ดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนทำหนังอย่างหนัก พิมพ์ผกา โตวีระ ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวว่าตามพ...นี้ ภาครัฐทำตัวเหมือนเป็นผู้ปกครอง ไม่เข้าใจว่าคนทำหนังก็มีศักดิ์ศรี เราเรียนรู้ที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว กฎหมายนี้ไม่ได้ทำหน้าที่กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น วิธีคิดหรือมุมมองยังเป็นแบบอนุรักษ์นิยม

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการปรับปรุง ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ซึ่งเครือข่ายประชาชน เช่น คปส. คนทำหนัง คนทำเว็บไซต์ สื่อทางเลือก และวิทยุชุมชน ที่เกี่ยวข้องยังมีความเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การจองจำสิทธิเสรีภาพสื่อ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ แม้หลายหน่วยงานอาจจะมีเจตนาดีในการผลักดันกฎหมายดังกล่าว แต่หากกระบวนการผลักดันกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง ก็ควรจะชะลอไว้ก่อน เพราะมองจากเนื้อหาโดยภาพรวมแล้วจะพบว่าร่างกฎหมายที่ยกร่างขึ้นมาในยุคนี้ มีการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างมาก และเน้นการ "ควบคุม และปราบปราม" มากกว่าจะเอื้อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เฉพาะอย่างยิ่งเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจในประเด็นที่เกี่ยวข้องการเป็นภัยต่อความมั่นคง ความไม่สงบเรียบร้อย สอดคล้องกับความพยายามผลักดันร่างกฎหมายรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งมีการคัดค้านอย่างมากว่าเป็นกฎหมายที่ถือว่าเหนือกว่ารัฐธรรมนูญ และเป็นการสืบทอดอำนาจของทหารนั่นเอง.


........................................................................


หมายเหตุ ข้อมูลจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) และเวทีสัมมนา "วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง" โดย ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/16 สิงหาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net