Skip to main content
sharethis





นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ กล่าวสุนทรพจน์ ต่อผู้นำภาคธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) วานนี้ (7 ก.ย.) แสดงความวิตกถึงปัญหาประชาธิปไตยของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เกาหลีเหนือ รัสเซีย จีน และไทย พร้อมเรียกร้องให้มีการก่อตั้งกลุ่ม "พันธมิตรประชาธิปไตยเอเชียแปซิฟิก" เพื่อช่วยส่งเสริมแรงผลักดันสายกลางภายในภูมิภาค


 



ผู้นำสหรัฐแสดงความคาดหวังว่าจะเห็นการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรมในไทย นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า ต้องมีการดำเนินการเพื่อช่วยให้ประชาชนเกาหลีใต้มีเสรีภาพเช่นเดียวกับพลเมืองในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นประชาธิปไตย พร้อมผลักดันให้รัฐบาลพม่าหยุดข่มเหงนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงทำงานร่วมกับประเทศอย่างรัสเซีย เพื่อยกระดับผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายในโลก และส่งเสริมให้ผู้นำรัสเซียเคารพการตรวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งมีความจำเป็นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย


  


"เราต้องผลักดันให้รัฐบาลพม่ายุติการจับกุม รังควาน และโจมตีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัดงานหรือเข้าร่วมการเดินขบวนอย่างสงบ รัฐบาลทหารต้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทันที ต้องหยุดข่มขู่ประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และต้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน" ประธานาธิบดีบุช กล่าว


  


บุชเรียกร้องให้จีนใช้การแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2008 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งปีหน้า เป็นโอกาสในการแสดงความยึดมั่นที่จะเปิดกว้างประเทศและปฏิรูปการเมืองในจีน โดยสหรัฐจะยังคงร่วมมือกับจีนต่อไป แต่จะไม่ยอมหลบเลี่ยงการแสดงความเชื่อมั่นต่อค่านิยมที่ว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งยึดมั่นในเสรีภาพอย่างแรงกล้า


  


ผู้นำสหรัฐชี้ว่า สมาชิกเอเปคหลายชาติสนับสนุนความก้าวหน้าของเสรีภาพในภูมิภาค สหรัฐจึงใช้เวทีเอเปคเสนอก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยประเทศเสรีที่ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนค่านิยมประชาธิปไตย เพิ่มความแข็งแกร่งของสถาบันประชาธิปไตย และช่วยเหลือประเทศที่กำลังก่อร่างและประคับประคองสังคม


  


ต่อมาบุชได้พบปะกับผู้นำประเทศที่เป็นทั้งสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเอเปค จากนั้นได้ประกาศว่าเขาได้เชิญผู้นำอาเซียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากพม่า ไปประชุมสุดยอดที่รัฐเท็กซัสของสหรัฐ เพื่อหารือด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย สงครามต้านก่อการร้าย การขยายการค้า ไข้หวัดนก และภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง


  


"ผมยินดีที่จะประกาศว่า เราจะแต่งตั้งทูตประจำอาเซียน เพื่อให้มั่นใจว่าความสัมพันธ์ที่เราก่อตั้งมาตลอดหลายปียังคงแน่นแฟ้น" บุชกล่าว พร้อมเสริมว่า อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นกลุ่มสหายที่ไม่เพียงคุ้นเคยทางสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวแทนของการค้า การพาณิชย์ และความมั่งคั่ง


  


ด้านนายกอร์ดอน จอห์นโดร โฆษกความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เผยว่า สหรัฐได้เชิญตัวแทนระดับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทุกชาติไปร่วมหารือกันที่เท็กซัส ยกเว้นพม่าซึ่งจะมีการตัดสินใจว่าจะเชิญตัวแทนระดับใดเข้าร่วมประชุม


  


ส่วนประเด็นการค้านั้น ผู้นำสหรัฐได้วิจารณ์ประเทศกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวการทำให้การเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮาหยุดชะงัก พร้อมชี้ว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันมีความเต็มใจและยืดหยุ่นที่จะฟื้นเจรจารอบโดฮา โดยแต่ละชาติต้องพุ่งเป้าในส่วนที่ตัวเองจะได้ประโยชน์จากการค้าเสรี ไม่ใช่ส่วนที่เสียประโยชน์


 



ผู้นำสหรัฐยังได้กล่าวชื่นชมความพยายามต่อต้านก่อการร้ายในเอเชียแปซิฟิก หลังจากเคยเกิดเหตุโจมตีโดยฝีมือกลุ่มหัวรุนแรงบนเกาะบาหลีและกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ รวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ นอกจากนั้น แกนนำกลุ่มอัล-ไกดา ยังเคยขู่โจมตีออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แถมยังมีแผนก่อการร้ายที่เจ้าหน้าที่สามารถขัดขวางได้หลายครั้งในสิงคโปร์ กรุงมะนิลา รวมถึงนครเมลเบิร์นและซิดนีย์ของออสเตรเลีย


  


บุชชี้ว่า เอเชียประสบความสำเร็จในการต่อต้านก่อการร้ายแต่ไม่ค่อยมีใครหยิบยกมาพูดถึง ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกสามารถเรียนรู้แนวทางการรับมือก่อการร้ายของเอเชียแปซิฟิก ที่ใช้วิธีให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้าย เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้นำสายกลางและให้ประชาชนมีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง


 



นอกจากนี้ เอเชียแปซิฟิกยังมีการร่วมมือต่อสู้ก่อการร้ายภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยมาเลเซียและสหรัฐได้ก่อตั้งศูนย์ฝึกต่อต้านก่อการร้ายประจำภูมิภาคในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะที่ศูนย์ฝึกบังคับใช้กฎหมายในกรุงจาการ์ตา และกรุงเทพฯ ก็ช่วยพัฒนาศักยภาพของกองกำลังความมั่นคงทั่วภูมิภาค


 


 


"สุรยุทธ์" ยันต่อเวทีเอเปค "สปิริตประชาธิปไตยของไทยยังคงอยู่"


ด้านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้ความมั่นใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ โดยยืนยันว่า...ขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านกระบวนการประชามติ ที่ดำเนินการเป็นครั้งแรกในประเทศ และจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 23 ธ.ค. ศกนี้ ซึ่งเป็นตามกรอบเวลาที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ พร้อมยืนยันว่า...ไทยยังคงสปิริตความเป็นประชาธิปไตย อย่างชัดเจน



นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวด้วยว่า ผลการออกเสียงประชามติกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 แสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการดำเนินชีวิตในกรอบสปิริตประชาธิปไตย และเป้าหมายของประเทศไทยก็ยังคงอยู่ ไทยจะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะลุกขึ้นอย่างเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม ภายหลังจากที่ใช้เวลา 1 ปี สะสางปัญหาต่างๆ และสร้างพลังขึ้นมาใหม่


 



ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนใหญ่ยังคงมีพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และได้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล รวมถึงอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและประชาชน รวมทั้งมาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนและการทุจริต


 



ด้านเศรษฐกิจ ผลประชามติประชาชนแสดงให้เห็นถึงความต้องการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น เพราะว่าประเทศกระตือรือร้นที่จะต้อนรับรัฐบาลใหม่ เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นแล้ว ดูได้จากตัวเลขการส่งออกที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวในทิศทางที่สดใส เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า



 


ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความมั่นใจว่า ประเทศไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ และยังคงยืนยันที่จะคุ้มครองและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้นนั้น รัฐบาลตระหนักดีว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน และได้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



 


"รัฐบาลเล็งเห็นว่า การปฏิรูปต่างๆ มักจะไม่ได้รับความเข้าใจในตอนแรก แต่เป็นที่น่ายินดีที่ ปัจจุบันมีความเข้าใจที่ดีมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว การใช้วิธีการการปฏิรูปมักไม่ได้รับความนิยม แต่ทั้งนี้ การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น ก็นับเป็นสิ่งจำเป็น นานมาแล้วที่นักธุรกิจต่างชาติ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างปิดบัง ซ่อนเร้น โดยการใช้ยุทธศาสตร์และช่องว่างต่างๆ ซึ่งไม่สมควรจะเป็นเช่นนั้น ทุกธรกิจ ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ต้องมีความเท่าเทียมและเปิดเผย ซึ่งการแก้กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รัฐบาลมีความตั้งใจให้วัตถุประสงค์เหล่านี้บรรลุผลสำหรับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ"



นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ มีความใกล้ชิดและลึกซึ้ง และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันมากที่สุดในภูมิภาค ความสัมพันธ์ทางการค้ามีความเข้มแข็ง ปริมาณการค้าระหว่างกันมีมากถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในไทยสูงถึงเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา


 



ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความสดใส ตื่นตัว และเสรี แม้ว่าค่าแรงงานไม่ถูกที่สุดแต่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของไทย ทั้งนี้ ไทยยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่สดใสสำหรับภาคธุกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ประกันชีวิต ผลิตภัณฑ์อุปโภค บริโภค ยานยนต์ พลังงาน ขนส่ง เวชภัณฑ์ และการเงิน



ปัจจุบัน รัฐบาลเร่งเปิดเสรีทางการเงิน และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย เพื่อขยายสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักดีว่านโยบายปัจจุบันบางนโยบายอาจก่อให้เกิดข้อกังวล แต่รับรองว่ารัฐบาลนั้นยินดีร่วมงานกับนักลงทุนเพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น


 



ทั้งนี้ การทำธุรกิจกับไทยนั้น ไม่เพียงแต่ทำธุรกิจกับประเทศไทยเท่านั้น อาเซียนที่มีอายุ 40 ปีนี้ ได้มีการรวมตัวกันเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม โดยได้มีการระบุวิสัยทัศน์อาเซียนไว้อย่างชัดเจนในกฎบัตรอาเซียนและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ด้วยตลาดที่มีประชากรถึง 550 ล้านคน เชื่อมโยงกับจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ จึงเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่สร้างเครือข่ายและโอกาสที่ไม่สิ้นสุด สำหรับการลงทุนของสหรัฐ ซึ่งหวังว่าภาคเอกชนจะได้ใช้ประโยชน์จากกรอบการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและสหรัฐ และการพันธมิตรที่เพิ่มขึ้นระหว่างอาเซียนและสหรัฐ


 



ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้บริษัทสหรัฐทำงานร่วมกับอาเซียนและประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนการบริหารจัดการที่มีอยู่ให้เป็นโครงการที่เป็นรูปธรรม


 



ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า เอเชีย-แปซิฟิก ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญ ทั้งยังได้มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการขยายตัวของเขตการค้าเสรีเอเปค หรือ APEC-wide FTA หรือ FTAAP ซึ่งจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และมีการค้าครึ่งหนึ่งของการค้าโลก และสหรัฐก็ได้ให้ความสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย


 


 


 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net