Skip to main content
sharethis

จากที่ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 28 คน นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 50 โดยทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับเรื่อง ลงเลขที่รับ ๒๐๓/๒๕๕๐ ในวันเดียวกัน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ให้แพทยสภาสามารถคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนตามวัตถุประสงค์ได้ดี


 


พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมที่ร่างขึ้นใหม่นี้ ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ดังนี้ 1.แก้ไขเพิ่มเติมเองค์ประกอบของคณะกรรมการแพทยสภา โดยลดจำนวนกรรมการแพทยสภาลงจากเดิม เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ตลอดจนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสามารถส่งผู้แทนเป็นคณะกรรมการแพทยสภาได้


 


2. กำหนดให้นายกแพทยสภา อุปสนายกแพทยสภา เลขาธิการ และรองเลขาธิการ ต้องไม่เป็นผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินการที่อาจขัดแย้งต่อการทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนตามวัตถุประสงค์ของแพทยสภา และ 3.กำหนดให้ข้อบังคับดี่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนตาม พรบ.นี้ ต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวางก่อน ซึ่งทั้งหมดเตรียมที่จะบรรจุวาระการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาในวันที่ 3 ต.ค.


 


 


นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนทราบแล้ว และไม่อยากแสดงความเห็น เนื่องจากเป็นการร่างกฎหมายโดยที่แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพไม่ทราบ และไม่ได้เข้ามีส่วนร่วม แต่เป็นการดำเนินการของเอ็นจีโอบางกลุ่ม โดยตนเพิ่งทราบเรื่องเมื่อวานนี้เอง ทั้งนี้จากที่พิจารณาเนื้อหาในร่างกฎหมายที่นำเสนอแก้นั้น เป็นความพยายามที่จะนำคนที่ไม่ใช่วิชาชีพเข้าความคุมวิชาชีพ โดยเป็นกรรมการแพทยสภา ซึ่งต้องบอกว่า แพทยสภาไม่ได้ดูเฉพาะแค่จริยธรรมเท่านั้น แต่ดูในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ หลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ด้วย ซึ่งต้องอาศัยคนที่มีความรู้เฉพาะทางร่วมพิจารณา


 


"ผมไม่อยากบอกว่า ทาง สนช.เองกำลังทำผิดจริยธรรม ซึ่งการออกกฎหมายไม่ว่าเรื่องใด ต้องให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ดำเนินการแอบร่างกฎหมายกันเอง แล้วออกเป็นกฎหมายมาบังคับ ซึ่งหากออกเป็นกฎหมายจริง คงส่งผลกระทบแน่ ซึ่งหวังว่าคงมีการถอนวาระพิจารณาร่าง พรบ.ฉบับนี้ออกไปก่อน" นายกแพทยสภา กล่าว และว่า สิ่งที่ สนช.ทำนั้น เรียกว่าไม่ได้ให้เกียรติแก่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากแพทย์ทั่วประเทศเข้ามาทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีแพทย์จากทั่วประเทศหลายพันคนร่วมส่งรายชื่อมายังแพทยสภา เพื่อเสนอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้แล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าหากยังคงมีการพิจารณาต่อ เรื่องนี้คงเป็นเหตุที่ทำให้แพทย์ทั่วประเทศสามารถรวมตัวกันได้เร็วที่สุดเพื่อร่วมประท้วง เพราะถือเป็นสิ่งที่รับไม่ได้


 


นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดไม่ให้ผู้บริหารหรือองค์กรที่อาจขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมการนั้น อยากบอกว่า เท่ากับไม่ให้หมอเปิดคลินิก เป็นเจ้าของคลินิกไม่ได้ และเท่าที่ตนได้คุยกับ สนช.บางคน ทำให้ทราบว่า เป็นกฎหมายที่มีผู้ฝากนำเสนอมา ทั้งนี้การออกกฎหมายในช่วงนี้ถือว่าอันตรายมาก เพียงไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ แค่เพียง 3 วันก็ออกเป็นกฎหมายได้


 


ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะได้สังคายนา พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งสาระสำคัญที่ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงจนเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับประชาชน สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่สมาชิก สนช.เสนอ มีสาระสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ


 


1.การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของแพทยสภาใหม่ จากเดิม 46 คน เหลือ 25 คน โดยในจำนวนดังกล่าว มีตัวแทนจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่แพทย์ 20% หรือ 5 คนประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 1 คน ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุบสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) 1 คน และผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพจำนวน 3 คน และมีผู้แทนโดยตำแหน่ง 8 คน ส่วนที่เหลือ 12 คนให้แพทย์คัดเลือกกันเอง สัดส่วนองค์ประกอบของกรรมการแพทยสภาถือว่าใกล้เคียงกับประเทศอังกฤษหรือในยุโรป


2.ผู้ที่มีอำนาจในคณะกรรมการแพทยสภา ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ 3.หากแพทยสภาจะมีข้อบังคับหรือระเบียบใดๆ ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนหรือผู้ป่วยในระยะยาว จะต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อน


 


"ชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่แก้ไขดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับประชาชนในระยะยาวด้วย ถือเป็นข่าวดีของประชาชนไทยที่จะมีกฎหมายดีๆ ออกมาให้ประชาชนใช้ จึงขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับ สนช.ทุกๆ ท่านที่จะช่วยกันรังสรรค์กฎหมายดีๆ ออกมาในระยะนี้" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว


 


 


 


 


ที่มา: สำนักข่าวเนชั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net