Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสำคัญที่ต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่า


(ที่มาของภาพ : https://etender.ongc.co.in)


 


สิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับบทบาทในการกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า นั่นก็คือบทบาทการลงทุนในประเทศพม่าของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นานาประเทศอิหลักอิเหลื่อกับการพยายามกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างจริงจัง


 


ในรายงานชิ้นนี้จึงจะขอนำเสนอถึงข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆ สำหรับการลงทุนในพม่าจากบรรษัทและรัฐบาลของชาติต่างๆ …


 


บรรษัทข้ามชาติยังคงประเคนค่ากระสุนให้เผด็จการพม่าไว้สาดใส่ให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย


ธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ บรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในพม่าของต่างชาติที่สำคัญได้แก่ เชฟรอน (Chevron) และยูโนแคล (Unocal) บรรษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ, บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (China National Petroleum),โททัล (Total) บรรษัทพลังงานจากฝรั่งเศส, บรรษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ของไทย, นิปปอน ออยล์ กรุ๊ป (Nippon Oil Corp) จากญี่ปุ่น, แดวู อินเตอร์เนชั่นแนล (Daewoo International) จากเกาหลีใต้, เปโตรนาส (Petronas) ของรัฐบาลมาเลเซีย, เกล (Gail) และ ออยล์ แอนด์ แนชชัวรอล แก๊ส คอร์ป (Oil and Natural Gas Corp) ของอินเดีย


 


หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศพม่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรษัทด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไป และรัฐบาลในหลายประเทศก็ยังไม่มีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจที่แน่ชัด


 


ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) แห่งสหรัฐฯ และนายกกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) แห่งอังกฤษ จะพยายามส่งสัญญาณกดดันผู้นำพม่า ด้วยการสั่งยกเลิกวีซ่าสมาชิกคณะรัฐบาลทหารของพม่าร่วม 30 คน รวมถึงความพยายามที่จะแซงชั่นรัฐบาลทหารพม่า


 


ในรายของบรรษัทข้ามชาติอเมริกันก็ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ ถึงแม้ว่านักกิจกรรมทางสังคมจะเรียกร้องให้ เชฟรอนและยูโนแคล รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ออกมาจากการทำกิจการในพม่า --- ซึ่งเราสามารถเข้าใจได้ว่าผู้ประกอบการสัญชาติอเมริกัน ถ้าหากทุนใหญ่ยังคงดำเนินไปได้อย่างเสรีแล้ว ไม่ว่าการเมืองจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรแล้ว บรรษัทต่างๆ ยังคงสามารถดำเนินกิจการได้อย่างไม่รู้หนาวรู้ร้อน


 


ต่างจากกรณีของเวเนซูเอล่าของ อูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ที่สร้างรัฐบาลที่เป็นปฏิปักษ์กับทุนใหญ่ข้ามชาติ โดยการออกนโยบายให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซูเอล่า (Petroleos de Venezuela: PDVSA) เข้าไปมีส่วนแบ่งอย่างน้อย 60% กับกิจการน้ำมันของบรรษัทต่างชาติในเขต Orinoco ซึ่งเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน ทำให้หลายบรรษัทยักษ์ใหญ่ได้ดำเนินการต่อรองอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อไม่ให้ตนเสียประโยชน์ โดยเฉพาะเชฟรอนของสหรัฐ


 


ส่วนการลงทุนของนายทุนจากอังกฤษในพม่า ที่ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เดวิด มิลิแบนด์ (David Miliband) จะพยายามออกมากล่าวถึงเรื่องการสนับสนุนองค์กรที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า ว่ารัฐบาลอังกฤษสนับสนุนเงินถึง 400,000 ปอนด์ในปี ค.. 2007 ในการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกของพม่า รวมถึงเงิน 500,000 ปอนด์ สำหรับภาคประชาชนรากหญ้าในพม่า และมีโครงการที่จะเพิ่มเงินถึง 3 ล้านปอนด์ ในการสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งยังรวมถึงเงินที่รัฐบาลอังกฤษอุดหนุนให้กับค่ายผู้อพยพระหว่างเขตแดนไทยพม่าจำนวน 1.8 ล้านปอนด์


 


แต่ทั้งนี้ภาคประชาชนอังกฤษได้เปิดเผยว่าในปัจจุบันมีกิจการต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่ากว่า 150 ราย และมีกิจการสัญชาติอังกฤษรวมอยู่ด้วย ซึ่งมีเงินหมุนเวียนกว่า 1.2 พันล้านปอนด์ต่อปี


 


ส่วนในรายของโททัลของฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี นิโกล่า ซาร์โกซี่ (Nicolas Sarkozy) แห่งฝรั่งเศส ได้เปิดเผยมาตรการลงโทษพม่าในระหว่างการกล่าวอภิปรายในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ด้วยการกระตุ้นให้นักธุรกิจฝรั่งเศส ที่รวมถึงโททัล ระงับการลงทุนในพม่าที่ปกครองโดยทหารมาตั้งแต่ปี ค..1962


 


แต่ขณะนี้โททัล บรรษัททางด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของฝรั่งเศสได้ร่วมลงทุน 31% ในโครงการยาดานา (Yadana project) กับเมียนม่าร์ ออยล์ (Myanmar Oil) ที่เป็นของรัฐบาล เพื่อนำแก๊สธรรมชาติจากทะเลอันดามันมายังโรงไฟฟ้าที่ประเทศไทย


 


นอกจากนี้ ยังมีบรรษัทจากนานาชาติที่ลงทุนในการพัฒนาแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของพม่า ที่ยังให้เหตุผลของการที่ยังดำเนินกิจการต่อไปว่า สถานการณ์ทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน เว้นแต่ว่าทางการของประเทศของพวกเขาจะประกาศการคว่ำบาตรอย่างเป็นทางการเท่านั้น เช่น นิปปอน ออยล์ กรุ๊ปจากญี่ปุ่น, แดวู อินเตอร์เนชั่นแนลจากเกาหลีใต้, เปโตรนาส ของรัฐบาลมาเลเซีย, เกล และ ออยล์ แอนด์ แนชชัวรอล แก๊ส คอร์ป ของอินเดีย


 


สำหรับจีน ยุทธศาสตร์พลังงานและยุทธศาสตร์เรื่องพื้นที่ของจีนในพม่าถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จีนยังคงปกป้องพม่าอยู่ตลอดเวลา


 


คาดกันว่าความต้องการน้ำมันในจีนภายในปี ค.. 2010 เท่ากับ 340 ล้านตัน และภายในปี ค.. 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 440 ล้านตัน


         


ทั้งนี้จีนได้ทบทวนยุทธศาสตร์พลังงานใหม่โดยเฉพาะในด้านเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซเข้ามายังประเทศ เนื่องจากการพึ่งพาแต่เพียงเส้นทางช่องแคบมะละกาเป็นหลักนั้นไม่ปลอดภัย ต้องเสี่ยงทั้งภัยก่อการร้ายและโจรสลัดชุกชุม รวมถึงกองเรือสหรัฐที่เป็นคู่แข่งทางด้านยุทธศาสตร์พื้นที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ --- ซึ่งขณะนี้ 80% ของน้ำมันที่นำเข้ามายังจีนนั้นได้ขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา


         


ทั้งนี้ยุทธศาสตร์พลังงานใหม่นั้นหวังที่จะใช้เส้นทางจากพม่าและปากีสถาน และพึ่งแหล่งพลังงานส่วนหนึ่งจากประเทศพม่าเองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่จีน


 


โดยเมื่อเดือนธันวาคม ค.. 2005 รัฐบาลพม่าและปิโตรไชน่าได้ลงนามสัญญาป้อนก๊าซธรรมชาติ 6.5 ล้านล้านคิวบิกฟุตให้แก่จีน ในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้านี้ โดยจะขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไปยังคุนหมิงที่จะสร้างขึ้นคู่เคียงกับท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างพม่าและจีนยังคงมีพื้นที่ที่จะขยายออกไปได้อีกมาก


 


ซึ่งจุดเด่นของพม่าสำหรับจีนนั้น อยู่ที่การเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติด้วยตัวเอง กอปรด้วยมีความเสี่ยงภัยคุกคามก่อการร้ายน้อย โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจึงค่อนข้างปลอดภัย แม้ว่าการเดินทางจากตะวันออกกลางเข้ามายังพม่านั้น จะต้องผ่านมหาสมุทรอินเดีย แต่พม่าและอินเดียต่างก็เป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจบังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา และไทย หรือ BIMST-EC


 


และธุรกิจอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จีนค้าขายกับพม่านั้น คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 1200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในรายของสหภาพยุโรป หนึ่งในกลุ่มประเทศที่ออกมาประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าบ่อยครั้งที่สุด ถึงแม้ทางสหภาพยุโรปมีท่าทีที่จะไม่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับพม่า แต่ในด้านหนึ่งนั้นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเองกลับมีการค้าขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทางอ้อมเช่นกัน ในลักษณะธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่แหล่งผลิตชิ้นส่วนของอาวุธยุทโธปกรณ์มาจากหลายแหล่ง โดยร่วมมือกับบรรษัทอาวุธของอินเดียที่เป็นอีกหนึ่งคู่ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์กับพม่า


 


เช่นจากรายงานของแอมนาสตี้สากลพบว่าบรรษัทอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศในสมาชิกสหภาพยุโรปได้ผลิตชิ้นส่วนของเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบา (Advanced Light Helicopter: ALH) ที่พม่าต้องการ โดยชิ้นส่วนหลายอย่างผลิตจากในโรงงานในประเทศ เบลเยี่ยม, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวีเดน และอังกฤษ


 


ส่วนรัสเซียอีกหนึ่งมหาอำนาจ นอกเหนือจากการทำการค้าเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์กับพม่าแล้ว การเข้าไปช่วยพม่าพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เป็นธุรกิจอีกอย่างหนึ่งที่จะทำเงินให้กับรัสเซียได้อย่างมหาศาลในอนาคต


 


โดยศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์โรซาตอม (Rosatom) ของรัสเซียได้บรรลุข้อตกลงที่จะสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในพม่า ซึ่งศูนย์วิจัยนิวเคลียร์นี้แบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พลังน้ำมวลเบาขนาด 10 เมกะวัตต์ (10MW light-water reactor) และยังมีห้องทดลองการรักษาผู้ป่วยด้วยสารกัมมันตภาพรังสี และที่กำจัดขยะนิวเคลียร์ --- ทั้งนี้รัสเซียจะอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะให้แก่พม่าประมาณ 300 - 350 คนในศูนย์แห่งนี้


 


ไทยเพื่อนบ้านผู้มีผลประโยชน์มหาศาล


จากข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 1-3 .. 2550 พบว่าปัจจุบันภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในพม่ารวมทั้งสิ้น 56 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 1,345.62 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 17.28%


 


ซึ่งการลงทุนที่สำคัญได้แก่ สาขาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น บรรษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อันเป็นบรรษัทที่ได้รับสิทธิในการดำเนินการสำรวจก๊าซธรรมชาติ 5 แปลง นอกชายฝั่งพม่า ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 65 ล้านดอลลาร์


 


นอกจากนี้บรรษัท เช่น บรรษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ร่วมทุนในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และร่วมทุนในเยตากุน ซึ่งมีปริมาณการผลิตประมาณ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กำลังการผลิตทั้งหมดรวมกันประมาณ 1,125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยบรรษัทสามารถนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ ส่งกลับเข้าสู่ไทยได้ประมาณ 30% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ไทยใช้อยู่ขณะนี้


 


ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.. 2549 ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอสิทธิสำรวจแปลงน้ำลึกนอกชายฝั่งพม่าเพิ่มอีก 4 แปลง แต่ 1 ใน 4 แปลง รัฐบาลได้ให้สิทธิแก่จีนในการสำรวจ ส่วนอีก 1 ใน 3 แปลงที่เหลือ รัฐบาลพม่าให้ ปตท.ดำเนินการร่วมกับโททัล และอีก 2 แปลงที่เหลือซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างพม่ากับบังกลาเทศ ซึ่งจะต้องตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายก่อน แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า 25 กุมภาพันธ์ พ.. 2550 รัฐบาลพม่าตกลงให้สัมปทานแก่แดวูของเกาหลีใต้ไป


 


การลงทุนในโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำได้แก่ MDX บรรษัทในเครือ GMS Power ทำธุรกิจก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ร่วมลงทุนกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง และยังมีโครงการเขื่อนฮัตจี กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งร่วมทุนระหว่างกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่ากับบรรษัท กฟผ.



กิจการธุรกิจประมง ได้แก่ สยาม โจนาธาน (Siam Jonathan) ซึ่งเป็นบรรษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่ได้รับสิทธิการทำประมงจากพม่าให้นำเรือประมง 500 ลำเข้ามาทำประมงในพม่า



บรรษัทอินเตอร์ แอสเสท โฮลดิง (Inter Assets Holdings) ได้ร่วมทุนกับบรรษัทเมียนมาร์ พีพีพี แอสเสท โฮลดิง (Myanmar P.P.P Asset Holdings) ทำประมงในพม่าในลักษณะบรรษัทร่วมทุน นำเรือประมงประเภทเรืออวนลาก และเรือเบ็ดราว จำนวน 40 ลำ เข้าไปทำประมงในเขตรัฐยะไข่ รวมทั้งทำโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่เรือสิตต่วย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.. 2547



บรรษัทเมียนมาร์ มอดเทค (Myanmar Modtech) ซึ่งร่วมทุนระหว่างไทย พม่า และเกาหลีใต้ ทำประมงในรัฐยะไข่ รวมทั้งทำโรงงานน้ำปลาที่ด่านตาลด่วย เริ่มทำปี 2546



บรรษัทดราก้อน ซี ฟิชเชอรี่ (Dragon Sea Fishery) จำกัด ร่วมทุนในการทำประมงกับบรรษัทเมียนมาร์ ฟิชเชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จอยท์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด (Myanmar Fisheries International Joint Venture Limited) นำเรือประมงต่างชาติจำนวน 200 ลำเข้ามาทำประมง ในพม่าที่เขตตะนาวศรี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี พ.. 2547



ส่วนการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีภาคเอกชนในไทยลงทุนทำธุรกิจด้านโรงแรมในกรุงย่างกุ้งรวม 3 แห่ง ดังนี้ คือ กลุ่มดุสิต ธานี กรุ๊ป (Dusit Thani Group) ลงทุนบริหารจัดการโรงแรมดุสิต อินดี้ เลค (Dusit Indy Lake) กลุ่มบางกอก คลับ (Bangkok Club) ลงทุนทำโรงแรมนิคโค (Hotel Nikko) มูลค่าการลงทุนประมาณ 38 ล้านดอลลาร์ กลุ่มบรรษัทเครือใบหยกลงทุนทำโรงแรมกันดอว์จี พาเลซ (Kandawgyi Palace) มูลค่าการลงทุนประมาณ 31 ล้านดอลลาร์


 


การลงทุนด้านเกษตรกรรม บรรษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนด้านเกษตรกรรมในพม่ามาตั้งแต่ปี พ.. 2540 โดยปัจจุบันบรรษัทดำเนินธุรกิจในพม่า 3 สาขา คือ การส่งเสริมการเพาะปลูก พืชไร่ ได้แก่ ข้าวโพด การเพาะเลี้ยงสัตว์บก ได้แก่ การเลี้ยงไก่ และการทำอาหารสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่การทำฟาร์มกุ้ง



การลงทุนด้านก่อสร้างและอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ บรรษัทอิตาเลี่ยน-ไทย (Italian-Thai) ลงทุนทำธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์และกระแสไฟฟ้าที่เมืองพะอันและเมืองเจ้าเซ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสะพานขนส่งสินค้าที่เมืองติละวา มูลค่าการลงทุนประมาณ 22 ล้านดอลลาร์ การก่อสร้างสนามบินเมืองมัณฑะเลย์ และการก่อสร้างเส้นทางสายมะริด-มุด่อง


 


บรรษัทซีแพค (CPAC) ลงทุนทำธุรกิจก่อสร้างโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จที่กรุงย่างกุ้ง มูลค่าลงทุนประมาณ 500,000 ดอลลาร์ โดยเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.. 2540



สำหรับเรื่องการลงทุนทางด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ล่าสุด ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผย ว่าจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่านั้น จะส่งผลให้การเจรจาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียม M9 อ่าวเมาะตะมะ ระหว่างไทยและพม่า ต้องล่าช้าออกไป จนกว่าเหตุการณ์ในพม่าจะสงบ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทีมเจรจาฝ่ายไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลพม่าได้ส่งหนังสือมายังรัฐบาลไทย เพื่อให้เร่งส่งทีมเจรจาหาข้อสรุปในโครงการลงทุนในแหล่ง M9 แต่เหตุการณ์ความไม่สงบได้เกิดขึ้นเสียก่อนจึงต้องเลื่อนการเจรจาออกไป


 


"เสถียรภาพ" และ "ประชาธิปไตย" ธุรกิจเลือกอะไร?


 



ก็ต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวกันต่อไป หากการกดดันจากนานาชาติยังไม่เป็นรูปธรรม
(ที่มาภาพ
: Abd Halim/Reuters)


 


การลุกฮือของประชาชนในครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการผสมโรงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในเรื่องของเศรษฐกิจ (ปากท้อง) และสิทธิเสรีภาพ --- หนึ่งในเหตุผลของการลุกฮือครั้งนี้ก็คือการพัฒนาทุนนิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพในพม่า


 


ในด้านหนึ่งเราอาจจะมองระบบทุนนิยมในแง่ดีว่าถ้าหากเกิดการพัฒนาทุนนิยมในด้านที่สนับสนุนระบบประชาธิปไตย ยกระดับทางชนชั้นของประชาชนพม่าส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคและแรงงานที่มีประสิทธิภาพ การทำธุรกิจระยะยาวในพม่าก็จะเป็นตัวเลือกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง


 


แต่ตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalist) ที่เป็นเนื้อแท้ของระบบทุนนิยมโลกปัจจุบันนั้นอาจไม่ต้องการให้พม่าเป็นเช่นนั้น


 


เพราะนอกเหนือจากที่พม่ายังคงเป็นแหล่งทรัพยากรและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง รวมถึงปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ธุรกิจข้ามชาติตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ต้องการพม่าอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรงขั้นต่ำถูก, การใช้แรงงานเด็ก, การห้ามจัดตั้งสหภาพแรงงาน, เสถียรภาพทางการเมืองสูง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนยังคงสนใจพม่า ตราบใดที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายังปล่อยให้มีการลงทุนเสรี ไม่กลั่นแกล้งนายทุนเหมือนที่กดขี่ประชาชนของตนเอง


 


ขณะนี้เราคงได้แต่จับตาว่า มาตรการของรัฐต่างๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่มีแต่ขี้ปากกดดัน การอ้างแค่ประเด็นสิทธิเสรีภาพ แต่ในด้านหนึ่งเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวหากยังทำเงินเข้าบรรษัท จะมีพลังสนับสนุนประชาชนพม่าได้แค่ไหน


 


ที่พม่าจะเป็นเหตุการณ์ที่พิสูจน์น้ำยาของนามธรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน-สิทธิทางการเมือง ว่ามันสามารถเปลี่ยนสังคมหนึ่งๆ ได้ไหม? จะสามารถสู้กับพลังทางด้านเศรษฐกิจได้หรือไม่?


 


 


......................................


แหล่งข้อมูล :


British investment in Burma (BBC 27 .. 2550)


Burma: Foreign Investment Finances Regime - Companies Should Condemn Crackdown (Human Rights Watch 2 .. 2550)
EU-MADE ROCKETS, GUNS AND ENGINES RISK UNDERMINING MYANMAR ARMS EMBARGO New report by Amnesty International, Saferworld and other NGOs (Amnesty International's  16 .. 2550)


Firms that invest in Burma 'have paid for bullets' (independent 29 .. 2550)


Global firms provide lifeline to Myanmar's junta (APF 1 .. 2550)


"ชาเวซ" รายสัปดาห์: บรรษัทสังคมนิยม, ซื้ออาวุธ, และการกดดันบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ (ประชาไท 24 มิ.. 2550)


ทิศทางตลาดหุ้นวันนี้ (บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา  28 .. 2550)


จีนรุดหน้ายุทธศาสตร์พลังงานใหม่ฉลุย (ผู้จัดการรายวัน 13 มิ.. 2549)


56 โครงการทุนไทยในพม่า (ประชาชาติธุรกิจ 1 .. 2550)


ถึงคว่ำบาตรก็ไร้ผล เมื่อผลประโยชน์ค้ำคอมหามิตรของพม่า (ฐานเศรษฐกิจ 29 ก.. 2550)


พม่าเร่งเสริมประสิทธิภาพกองทัพโดยเสนอซื้ออาวุธรัสเซียเพิ่ม (ประชาไท 10 เม.. 2549)


"รัสเซีย - พม่า" ตกลงร่วมพัฒนานิวเคลียร์ (ประชาไท 17 .. 2549)


 


 

 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net