Skip to main content
sharethis

ศราวุฒิ ประทุมราช
นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
อดีตผู้จัดการกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.)
 


เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ประชุมลับอย่างรีบร้อนลงมติด้วยคะแนน 156 เสียง ให้ถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีผลทันที ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สังคมไทยยืนอยู่บนหลักการที่ไม่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง อันอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อยู่ได้ โดยไร้หลักการก็ว่าได้


เหตุผลที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอ้างในการยื่นญัตติถอดถอนนายจรัล ก็ คือ "นายจรัลปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ และไม่เป็นกลาง" อันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หน้าบ้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จนมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและจับกุมแกนนำกลุ่ม นปก.จำนวน 9 คนซึ่งมีนายจรัลรวมอยู่ด้วยในฐานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีการจับกุมแกนนำกลุ่มพิราบขาวอีก 6 คน ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน


            คำถามก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใช้หลักการอะไรในการอ้างอิงเพื่อการดำเนินการดังกล่าว


            บทความนี้ขอไม่กล่าวถึงว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีความชอบธรรมในการถอดถอนนายจรัล เพราะเป็นสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจรัฐ ตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) และกฎหมาย เนื่องจากได้อำนาจรัฐมาโดยมิชอบตามวิถีทางประชาธิปไตย การแต่งตั้งรัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะรัฐประหารจึงไม่มีความชอบธรรมใดใดทั้งสิ้น        


การอ้างเหตุผลในการยื่นญัตติถอดถอนนายจรัลเพราะนายจรัลเป็นพวก นปก.ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและกฎหมายด้วยเหตุผลว่า


            ประการแรก กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถถูกถอดถอนโดยวุฒิสภา ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ผู้ยื่นญัตติได้อ้างถึง "เพราะเหตุที่กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หรือไม่เป็นกลาง" ซึ่งกฎหมายมาตรานี้ ยังกำหนดเงื่อนไขในการถอนถอน ไว้อีกหลายประการ ได้แก่ กรรมการสิทธิมนุษยชนมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องทางศีลธรรมจรรยาที่อาจมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงตำแหน่งหน้าที่ หรือต่อการส่งเสริมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือมีส่วนได้เสียในกิจการหรือธุรกิจใดๆ ที่อาจมีผลกระทบโดยตรงหรือก่อให้เกิดความเสียหายทำนองเดียวกัน หรือมีหรือเคยมีพฤติการณ์ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง


            นายจรัล ให้สัมภาษณ์ตลอดเวลา ว่า การออกมาเรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจให้ประชาชนร่วมกับกลุ่ม นปก.นั้น กระทำการในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิแห่งชาติถือว่าการกระทำของนายจรัล เป็นสิทธิส่วนตัวของนายจรัล ส่วนว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็ได้เตือนนายจรัลแล้ว ซึ่งนายจรัลต้องรับผิดชอบเอง ดังนั้นการที่นายจรัลเข้าร่วมกับกลุ่ม นปก.โดยตัวเอง เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องถือว่านายจรัล ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


            ประการที่สอง กฎหมายบัญญัติว่า เหตุที่สามารถถอดถอนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากตำแหน่งได้นั้น ต้องมีพฤติการณ์ว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนนั้น ไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ทำหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน หรือ เหตุอื่นๆ ตามกฎหมาย การที่นายจรัลเข้าร่วมกับกลุ่ม นปก. เป็นการกระทำในนามส่วนตัว จึงไม่ได้ใช้อำนาจหรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่หากนายจรัล ซึ่งได้เข้าร่วมกับกลุ่ม นปก ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการกระทำของกลุ่ม นปก.หรือ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่ม นปก.ว่าพวกตนถูกสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกรรมการชุดนายจรัล ไม่ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อเท็จจริง ฟังความข้างเดียวและจัดทำรายงาน สรุปว่า การสลายการชุมนุมหน้าบ้านพลเอกเปรม นั้น เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นนี้ จึงจะถือได้ว่า นายจรัลใช้อำนาจหน้าที่ ไม่เป็นกลาง เพราะตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยตนมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดการชุมนุมด้วย หรือหากนายจรัล ไปส่งเสริมให้ประชาชนในภาคใต้ที่ถูกทำร้ายหรือฆ่ารายวัน ติดอาวุธ ต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ อาจถือว่า การกระทำของนายจรัลปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะไปยุยงส่งเสริมให้ประชาชนเข่นฆ่า กันเอง แทนที่จะส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเคารพสิทธิในชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน


            ประการที่สาม การต่อต้านการรัฐประหารและคณะรัฐประหาร ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน เป็นสิทธิมนุษยชน ในแง่ที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งหากมีการใช้เสรีภาพโดยทุจริต หรือกระทำการอย่างผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกจับกุม และขณะนี้ นายจรัลกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาว่า เป็นผู้นำในการใช้กำลังชุมนุมเกิน 10 คน ขึ้นไปก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และอีกหลายข้อหาร่วมกับ กลุ่ม นปก. อีก 8 คน แม้กฎหมายดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่ขัดแย้งต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ แต่นายจรัลต้องไปพิสูจน์ความถูกผิดของตน ในศาล


            ประการที่สี่ การที่นายจรัลและพวกถำลังถูกดำเนินคดีในศาล ในประเด็นก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น ตามหลักนิติธรรมแล้ว ต้องถือว่านายจรัลและพวก ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่ามีความผิด แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับทำหน้าที่ถอดถอนนายจรัล เสมือนหนึ่งทำตัวเป็นผู้พิพากษา โดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาแต่อย่างใด


สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้มีสมาชิกส่วนใหญ่มาจาก ทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำและประชาชนฝ่ายที่ไม่พอใจการปกครองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีบางส่วนมาจากเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชุมนุมเรียกร้องให้คุณทักษิณลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้ฝ่ายทหารกระทำการบางอย่าง นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549  นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เข้าร่วมก่อตั้ง นปก.กับนายวีระ มุสิกพงษ์และพวก ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่า นปก.เป็นผลผลิตของอำนาจเก่าที่ต้องการอำนาจคืน สังคมไทยโดยรวมจึงเหมารวมว่า นายจรัลเป็นพวกเดียวกับอำนาจเก่าที่มีคุณทักษิณ อยู่เบื้องหลัง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะจริงหรือเท็จไม่ใช่ประเด็น แต่การที่นายจรัลเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มอำนาจเก่า ย่อมเป็นเป้าหมายของกลุ่มที่โค่นล้มคุณทักษิณ ซึ่งรวมถึงคนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ซึ่งประเด็นนี้นี่เอง เป็นรอยด่างของสังคมไทยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย เกรงกลัวและต้องการกำจัดฝ่ายคุณทักษิณ ใครไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตน ก็เป็นฝ่ายตรงข้าม จึงดูเสมือนไม่มีหลักการ


หากเรายังคงจำได้ จะเห็นว่าสังคมไทยละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตยมาโดยตลอด เช่น กรณีที่ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ยุติลง มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.หรือมาจากการเลือกตั้ง ในครั้งนั้นเมื่อการเลือกตั้งผ่านไป สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กลับปลี่ยนแปลงเป็น เสนอให้นายอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่สอง สังคมไทยในยุคนั้น ก็ไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี หรือ การที่สังคมไทยมีความยินดีที่ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือ ถูกฆาตกรรมโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นว่าผู้ค้ายาเสพติด เป็นผู้ทำลายบ้านเมือง สมควรตาย ซึ่งขัดแย้งต่อหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน


และเมื่อเร็วๆนี้ การเรียกร้องให้คุณทักษิณ ออกจากอำนาจ จนนำไปสู่การรัฐประหาร สังคมไทยก็ยินดีปรีดากับคณะรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ไม่สนใจหลักการประชาธิปไตยว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องลงจากอำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่กลับไปสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่คณะรัฐประหาร ด้วยการเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบ้าง หรือคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของคุณทักษิณ และครอบครัวบ้าง หรือ องค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ ตั้งข้อสังเกตว่า คณะรัฐประหารชุดนี้ น่าจะทำดี ขอดูท่าทีไปก่อน ยังไม่คัดค้านการรัฐประหาร แต่หากคณะรัฐประหารกระทำการที่ขัดแย้งต่อระบอบประชาธิปไตย จะทำการคัดค้านทันที ฯลฯ ทั้งๆ ที่ การรัฐประหารนั้น ต้องได้รับการประณาม หยามเหยียด โดยไม่ต้องรอดูท่าทีอะไรทั้งสิ้น


เห็นทีสังคมไทยต้องทบทวนและพัฒนาความรับรู้และการปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้อง สังคมไทย ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนาน จนกว่าประชาชนโดยรวม จะยอมรับและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net