Skip to main content
sharethis

การประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 ภายใต้หัวข้อ "วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง" ในวันที่ 9 พ.ย. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก


 


ศ.ดร.James Morone นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Brown สหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาเรื่อง "วัฒนธรรมพลเมืองกับประชาธิปไตย" เปรียบเทียบลักษณะตำนานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยและอเมริกาเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมืองและประชาธิปไตยแบบไทยๆว่า ตำนานทางวัฒนธรรมการเมืองอเมริกาเริ่มต้นมาจากการเดินเรือจากยุโรปไปสู่แผ่นดินใหม่อันไพศาลหรืออเมริกา แต่ละคนมีความมุ่งหวังของตนเอง สำหรับอเมริกาความเป็นตำนานคือความสำเร็จ สัญลักษณ์คือ เงิน ความสำเร็จทางทางการเงินและตลาดเศรษฐกิจ และความโลภไม่ใช่เรื่องน่าอาย ทุกปัจเจกบุคคลสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองและมีเสรี แต่แนวคิดเหล่านี้นักรัฐศาสตร์กลัวว่าจะทำให้ประชาธิปไตยไม่ไปถึงไหนเพราะมุ่งประโยชน์ส่วนตัวมาก


 


ในขณะที่ตำนานทางวัฒนธรรมสำหรับเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย เริ่มต้นในทางตรงข้าม คือเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน แม้มีที่นาส่วนตัวก็มีการลงแขกช่วยกัน เมื่อ 2 วัฒนธรรมที่ต่างกันดังนั้นจงอย่าตอบรับรูปแบบทางเศรษฐกิจที่อเมริกาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะมันเป็นความเชื่อของอเมริกาไม่ใช่ไทย


 


นอกเหนือจากตำนานทางวัฒนธรรมแล้ว  "ศาสนา" เป็นอีกเรื่องที่มีผลต่อวัฒนธรรมการเมือง สำหรับอเมริกา 300 กว่าปีที่หนีลงเรือจากยุโรปไม่ใช่การหนีจากรัฐศาสตร์ แต่คือการหนีจากนักบวชแบบเดิม เมื่อมาถึงอเมริการเกิดการมองตัวเองใหม่ว่าพระเจ้าได้เลือกคนที่ได้ขึ้นสวรรค์อยู่แล้ว คือมีนักบุญที่หนีมาจากยุโรปจะนำคนอเมริกาขึ้นสวรรค์ทั้งหมด แล้วสะท้อนออกมาในแนวคิดที่ต้องรักษาความบริสุทธิ์ไว้เป็นอันดับแรก กลายเป็นรูปแบบกำหนดออกมาว่าใครบ้างที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ใครบ้างที่มีสิทธิในพลเมือง และมีใครบ้างที่ต้องถูกสาปหรือกันออกไปจากสังคมให้อยู่กับซาตาน มีการแบ่งแยกใครเป็นเรา ใครเป็นเขา ใครดีและใครเลว พวกคนพวกดีจะมีศักดิ์และสิทธิสมบูรณ์ ทำให้ในอเมริกามีพวกที่นับถือซาตานอยู่มากมายเช่นกัน และจอร์จ ดับเบิ้ลยุ บุช เชื่อแบบนี้ ทำให้เรื่องการเข้าใจความอยากในใจที่ผ่านมาทางศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ


 


อย่างไรก็ตาม James Morone พูดถึงสิ่งสะท้อนวิธีคิดแบบแบ่งขั้วที่มีรากเหง้าทางความคิดมาจากศาสนาว่า ทำให้สถิติการติดคุกของอเมริกาอยู่ที่ ประมาณ 700 ต่อ 100,000 คน ในขณะที่ไทยจะมีเพียงประมาณ 100 ต่อ 100,000 คน ตัวเลขที่แตกต่างกันมากใน 2 วัฒนธรรมนี้บ่งบอกสำนึกทางการเมืองแบบอเมริกาว่ามีพื้นที่ของคนดีและคนไม่ดีและมีประเพณีเก็บคนส่วนหนึ่งไว้ในที่จองจำ ในขณะที่สังคมไทยมีศาสนาที่มีแนวความคิดให้คนอยู่ร่วมกัน มีคนมาช่วยเหลือที่มีเมตตากรุณา ซึ่งมันมีผลต่อประชาธิปไตย


 


ประเด็นสุดท้ายที่มีผลต่อวัฒนธรรมการเมืองของทั้ง 2 ประเทศ คือวัฒนธรรมพลเมืองหรือเรื่องประชาสังคม สำหรับอเมริกาเดิมทีเป็นเรื่องของคาวบอยหรือ อินเดียนแดง แต่คนอเมริการุ่นใหม่เมื่อผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ทำให้มีมุมมองมองที่ต่องออกไปว่าทำไมจึงไม่มาดูแลช่วยเหลือกัน เลยเกิดการนำหม้อไหต่างๆมาใช้ร่วมกันคล้ายเป็นรูปแบบสหกรณ์แทนที่จะนึกถึงประวัติศาสตร์ตอนย้ายมาจากยุโรป


 


เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับอเมริกาในการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน นักสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้มองว่ามันเหมือนกับสังคมไทย คือมันเกิดขึ้นที่หัวใจในชุมชน และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเกิดประชาธิปไตยที่ดี สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "ทุนทางสังคม"


 


James Morone กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ประชาธิปไตยจะต้องมีชุมชน มีทุนทางสังคมและพฤติกรรมแห่งหัวใจที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ไทยกลับไม่มองตรงนี้ทั้งที่มีทุนทางสังคมสูง ไปมองเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว มองว่าอเมริกามีรัฐธรรมนูญเดียว ซึ่งต้องเข้าใจว่าสังคมไทยพูดเรื่องความสัมพันธ์ การทำงานร่วมกัน เป็นทุนทางสังคมที่สูงเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยและยิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ


 


ดังนั้น สังคมไทยจงระวังการหาเสียงแบบอเมริกาซึ่งเป็นเรื่องที่แย่ที่มุ่งแต่การโจมตีฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังมีมุมมองว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี มีการแบ่งแยกคนดีและไม่ดี หรือแม้แต่ตลาดเสรีก็ต้องระวัง อย่างไรก็ตาม ประทับใจการอภิปรายทางประชาธิปไตยของคนไทย เข้าใจว่าเสียงที่อื้ออึงกันอยู่คือการคุยกันเรื่องการเมือง คนไทยมีความกระตือรือล้น มีพลังที่ถกเถียงเรื่องการเมืองของตัวเองสำหรับประชาธิปไตยๆแบบไทยๆ


     


ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกจุดเด่นทางจริยธรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองญี่ปุ่นและจีนมาเปรียบเทียบกับจริยธรรมและวัฒนธรรมการเมืองไทย โดยเริ่มต้นจากญี่ปุ่นว่า ตัวแปรสำคัญทางวัฒนธรรมคือถ้าไม่มีสิทธิควรจะได้แล้วจะไม่รับ ถ้ารับแล้วต้องมีสิ่งตอบแทน ประการที่ 2 คือ ญี่ปุ่นมี social sanction (กระบวนการแทรกแซงและคว่ำบาตรทางสังคม) ที่แรงมากไม่ว่าจะจากสังคมหรือสื่อมวลชน เช่น นักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในญี่ปุ่นถูกข้อกล่าวหาว่าชอบกับกุ๊กกิ๊กเลขาธิการผู้หญิงถูกกดดันจนไม่มีที่ยืนในสังคม ลูกศิษย์คนไทยคนหนึ่งเสนอให้ไปบวชเพราะสังคมไทยนั้นหนีได้แม้แต่ราชภัย แต่สำหรับสังคมญี่ปุ่นพอบวชได้ไม่กี่วันมีขบวนการเคลื่อนไหวไปอภิปรายกันหน้าวัด เป็นต้น


 


ประการที่ 3 ระบบการเมืองญี่ปุ่นมีความเป็นอาชีพใครอาชีพมัน นักการเมืองมีความเป็นนักการเมือง จะไม่มีลักษณะสับสนอย่างการเป็นนักธุรกิจแล้วมาเป็นนักการเมือง หน้าที่แบ่งแยกชัดเจน และประการสุดท้าย ญี่ปุ่นเป็นสังคมรวมหมู่ ไปสู่การสร้าง social sanction ที่เข้มแข็ง ทำให้แตกแถวไม่ได้


 


สำหรับจีน แม้ว่าจะมีรูปแบบต่างจากญี่ปุ่น เพราะมีระบบปกครองจากพรรคเดียว แต่ระบบการเมืองจีนมีกรรมการพรรคที่ใช้จัดการพรรคทุกเรื่อง และมีหน่วยงานตรวจสอบวินัยและการปฏิบัติทางจริยธรรมของสมาชิกพรรค แน่นอนว่า จีนก็มีการคอรัปชั่น แต่เพราะมีระบบตรวจสอบดังกล่าวทำให้ไม่บ่อนเซาะพรรคจนล่มเหมือนที่เกิดในพรรคการเมืองต่างๆทั้งในประเทศสังคมนิยมและประชาธิปไตย ทั้งนี้ การคัดเลือกบุคคลและตรวจสอบ เช่น ตรวจสอบว่าร่วมพรรคตั้งแต่เมื่อไหร่และมีกระบวนการกลั่นรองต้องพิสูจน์ตัวเองอันยาวนานอย่างไร ลักษณะนี้ตรงข้ามกับระบบของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียและในโลก


 


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมภพ ย้ำว่าที่กล่าวนั้นเป็นเพียงการนำจุดเด่นมาเสนอเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านี้ไม่มีข้อด้อย และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับไทยแล้วเห็นปัญหา ประการแรก คือ สังคมไทยขาด social sanction ทั้งจากประชาชนและสื่อมวลชน


 


ประการที่ 2 สังคมไทยไม่มีความชัดเจนของการแบ่งแยกอาชีพ การโยกย้ายข้ามไปมาเป็นเรื่องปกติประการที่ 3 สังคมไทยมีลักษณะแบบทำตามใจคือไทยแท้ไม่ใช่การรวมกลุ่ม และประการที่ 4 สังคมไทยคิดว่าการได้รับคือสิทธิ และการให้คือความชอบธรรมที่ต้องให้ แต่การให้ผู้อื่นนั้นไม่ใช่หน้าที่ ประการสุดท้ายสังคมไทยให้ความสำคัญกันรูปแบบที่สำคัญกว่าเนื้อหา


 


ทั้งนี้ หากไทยบกพร่องจริยรรมทางการเมืองจะนำไปสู่ปัญหาการถูกท้าทายจากการผลิตที่โตขึ้นของประเทศเกิดใหม่ในทุนนิยมอย่างจีนหรือเวียดดนามที่ต้นทุนการผลิตต่ำแต่มีตลาดในประเทศที่ใหญ่โต เพราะปิดประเทศมานาน อีกด้านหนึ่งสังคมไทยยังถูกท้าทายด้วยการครอบงำทางโลกาภิวัตน์หรือธุรกิจแห่งการเก็งกำไรซึ่งขยายตัวไปทั่วโลกจนทำให้เกิดความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออกสูง และหากต้องเผชิญกับปัญหาจริยธรรมทางการเมือง การคอรัปชั่น ตัวแปรเหล่านี้จะนำไปสู่ความเสี่ยงของธุรกิจ


 


ด้าน ศ.ดร.สุริชัย ศิริไกร นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเทศไทยไทยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 แต่การปกครองไทยยังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมามีการรัฐประหารกว่า 20 ครั้ง มีการใช้กำลังล้มรัฐบาลทุก 3 - 4 ปี สะท้อนถึงความถอยหลังทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปกติของประเทศโลกที่ 3 ที่กำลังพัฒนา ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ การจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยมั่นคงได้ดี ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น


 


ผลการสำรวจทัศนคติล่าสุด จากสำนักโพลล์แห่งหนึ่ง พบว่า คนไทย 70 %ยอมรับรัฐบาลที่คอรัปชั่น ด้วยการยกเหตุผลว่า ถ้ารัฐบาลทำให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ดี ตรงนี้น่าตกใจมาก สิ่งที่สำคัญประชาชน 90 %กลัวการสูญเสียรายได้มากกว่าการสูญเสียสิทธิ และ 84% พร้อมละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมถ้าจำเป็น ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่า ประเทศมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมค่านิยม ที่ถือเป็นปัจจัยของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย


 


"75 ปีที่ผ่านมา ผู้นำการเมืองไทยแก้ปัญหาล้มเหลวมาตลอด มีการคิดกันว่า ประชาธิปไตยไทยล้มเหลวเพราะทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง ทำปฏิวัติรัฐประหารตลอดมา จุดนี้จึงมีแนวคิดให้ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ ที่สุดแล้วปัญหาที่เห็นไม่ใช่แค่ทหาร แต่เป็นว่าพรรคการเมืองเป็นปัญหา ไม่มีความเป็นพรรคการเมืองกันอย่างแท้จริง ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ทหารทำรัฐประหาร นอกจากนี้ยังคิดว่า ประเทศไม่ก้าวหน้ามีปัญหาตลอด เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม จึงร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาใช้ มีจุดมุ่งหมายให้ผู้นำที่บริหารประเทศมีความเข้มแข็ง สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องพบปัญหาใหม่ เกิดกระบอบทักษิณขึ้นมาอีก ปัญหาทั้งหมดน่าจะเป็นเพราะว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยยังไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องปรับปรุงแก้ไข" รศ.ดร.สุรชัย กล่าว


          


รศ.ดร.สุรชัย กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยเกิดขึ้นมา ด้วยการให้ประชาชนต้องมีความรู้ในระดับที่เข้าใจว่า รัฐบาลมีบทบาททางการเมืองอย่างไร ประชาชนต้องมีทัศนคติเชิงบวกมีความภูมิใจในความเป็นพลเมือง ประชาชนต้องอดทนรับฟังความคิดเห็นทางการเมือง เคารพสิทธิของผู้อื่นอย่างจริงใจ สร้างการมีส่วนร่วมมือในทางการเมืองกับผู้อื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายด้วยกัน


 


นอกจากนี้ ต้องมีค่านิยมในการแสดงออกทางการเมือง ในการเรียกร้องผลประโยชน์ต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม มีความสนใจต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนปลดปล่อยตนเอง และมีความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net