Skip to main content
sharethis

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA แถลงการณ์ถึงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่ายังน่าเป็นห่วง


 


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 50 ว่า "นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และธนาคารโลก เกี่ยวกับรายงานการวัดผลความสะดวกในการประกอบธุรกิจประจำปี 2551 (Doing Business 2008) ซึ่งการสำรวจข้อมูลมีขึ้นระหว่างเดือน เม.ย. 2549-มิ.ย. 2550 จาก 178 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างๆ ว่า ธนาคารโลกได้ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สะดวกในการประกอบธุรกิจอันดับที่ 15 เลื่อนจากอันดับ 17 ในปีก่อน"


 


ดร.โสภณ มีความเห็นว่า การที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่ กล่าวคือ มีเพียงการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่ไทยอยู่อันดับที่ 12 นอกนั้นอยู่ต่ำกว่าอันดับที่ 15 ทั้งหมด


 


เช่น การก่อตั้งกิจการ (36) การจ้างลูกจ้าง (49) การลงทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ (20) การเข้าถึงแหล่งทุน (36) การคุ้มครองนักลงทุน (33) การจ่ายภาษี (89) การค้ากับต่างประเทศ (50) การบังคับใช้สัญญา (26) การเลิกกิจการ (44) (ตัวเลขในวงเล็บ แสดงอันดับที่)


 


"ผมเห็นว่ายังมีข้อผิดพลาดบางประการ เช่น การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ที่บอกว่าใช้เวลา 2 วัน ความจริงใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป ส่วนการชดเชยกรณีให้ลูกจ้างออกจากงานที่อ้างว่าต้องจ่ายถึง 54 สัปดาห์ คงสูงเกินความเป็นจริง" ดร.โสภณระบุ


 


ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ธนาคารโลกนำเสนอให้ไทยปรับปรุงนั้น บางประการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น เสนอให้ลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัททั้งที่ค่าจดทะเบียนเป็นเงินเพียง 5,000 บาท สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 250,000 บาท สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านขึ้นไป หรือประมาณ 0.5% ของทุนจดทะเบียน


 


เสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมต่ำ ทั้งที่ต่ำมากอยู่แล้ว และไม่เคยได้รับการร้องเรียนจากผู้ซื้อ-ขายทรัพย์สิน และประเทศไทยยังไม่มีภาระภาษีทรัพย์สินด้วยซ้ำ


ในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัวสุดขีด เช่น ช่วงปี 2529-2534 สิ่งต่าง ๆ แทบไม่เป็นอุปสรรคเลย นักลงทุนจากต่างประเทศแห่เข้าไทยเป็นจำนวนมาก ยุคนั้นประเทศไทยห้ามคนต่างชาติซื้ออาคารชุด ก็ยังมีคนมากันมากมาย ทุกวันนี้แม้เวียดนาม เขมร ลาว อยู่ในอันดับประเทศที่ขาดความสะดวกในการลงทุน ก็ยังมีคนแห่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากมาย จนประเทศไทย "ห่อเหี่ยว" ไปถนัดตา


 


ดร.โสภณเห็นว่า สาเหตุที่จะมีคนมาลงทุนในประเทศมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ ประการแรก การมีค่าแรงถูก ประการที่สอง การมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ประการที่สาม การมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย (หลายประเทศในแอฟริกา แม้มีประชากรมาก แต่ก็ขาดทรัพยากร จึงไม่มีใครไปลงทุน) และประการที่สี่ ความมั่นคงทางการเมือง


 


ประธาน AREA กล่าวว่า ได้รับเชิญจากสมาคมนายธนาคารเพื่อการลงทุนของมาเลเซียเมื่อกลางปี 2550 ทางนายธนาคารที่นั่นเห็นว่า นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในมาเลเซียและเวียดนามมากกว่ามาประเทศไทย ดังนั้นหากประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม หรือเกิดการรัฐประหารซ้ำหรือซ้อนใด ๆ ขึ้น ประเทศไทยก็คงมีผู้สนใจมาลงทุนน้อยลงไปอีกแม้อันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจจะอยู่ระดับต้นๆ ก็ตาม


 


เขายังระบุว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการนำเสนอผลการสำรวจการลงทุนข้ามชาติ (Foreign Direct Investment) ที่นำเสนอโดย อังถัด (UNCTAD: United Nations Conference on Trade And Development) ทราบว่า การลงทุนข้ามชาติสำคัญเป็นในภาคการขุดหาทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันและอื่น ๆ


 


การลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงผลพลอยได้ ไม่ใช่เป็นประเด็นเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการที่ไทยหรือประเทศไทยคิดจะอำนวยความสะดวกให้ต่างชาติมาครอบครองทรัพย์สินในไทยจึงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องแน่นอน


 


ดร.โสภณทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามมีข่าวดีว่าเมื่อปี 2549 ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างชาติมากเป็นอันดับที่สองรองจากสิงคโปร์ น่าแปลกที่ประเทศสิงคโปร์มีขนาดเพียงหนึ่งในสามของกรุงเทพมหานคร กลับมีคนไปลงทุนมากกว่ามาไทย


 


แต่ข่าวร้ายก็คือปี 2550 น่าจะไม่มีการลงทุนจากต่างชาติมากเช่นปี 2549 เพราะเมื่อปี 2549 ที่มีการลงทุนจากต่างชาติมาก นั้นเป็นผลจากการโอนหุ้นชินคอร์ป 73,000 ล้านบาท ปีนี้คงไม่มีกรณีการลงทุนข้ามชาติมากมายเช่นนี้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net