Skip to main content
sharethis


สนช.ประชุมถึง20ธ.ค.ข้องใจ "ม็อบจ่อบุกซ้ำ"


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เปิดเผยวานนี้(15 ธ.ค.) ถึงการนัดชุมนุมขององค์กรภาคประชาชนครั้งที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 17 ธ.ค. ว่า ไม่เข้าใจเจตนาที่แท้จริงว่ากลุ่มเหล่านี้มีวัตถุประสงค์อะไร แต่ สนช.จะทำหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่นิติบัญญัติไปจนกว่าจะมีรัฐสภาใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ สนช.ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะพิจารณากฎหมายในวันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ เป็นวันสุดท้าย โดยในวันจันทร์ที่ 17 ธ.ค. จะมีการประชุมวิป สนช.เพื่อคัดเลือกกฎหมายที่มีความจำเป็นต่อประเทศชาติ เพื่อนำมาพิจารณาในวันดังกล่าว


 



นางสาวพจนีย์ กล่าวว่า ในส่วนนี้จะมีกฎหมายความมั่นคงหรือไม่ ต้องรอผลการประชุมวิป สนช. ภายหลังจากนั้น สนช.จะไม่พิจารณากฎหมาย แต่จะทำหน้าที่อื่น เช่น การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยการตั้งกระทู้



"ไม่ทราบว่ากลุ่มเหล่านี้ต้องการเรียกร้องเพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไรหรือไม่ แต่ส่วนตัวดิฉันไม่ได้คิดอะไร หากจะมีการชุมนุมกันก็ขอให้มาอย่างเรียบร้อย อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับเขตพระราชฐาน เพราะจะเป็นการไม่เหมาะสม ถ้าทำอย่างเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหาอะไร" รองประธาน สนช. คนที่ 2 ระบุ


 


 


สนช.ติง รมว.คลังฝ่อถอนร่างพรบ.เงินตรา


เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ -นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณี นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.คลังได้ถอนร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ออกจากสภา ทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีโอกาสที่จะผ่านสภาในรัฐบาลชุดนี้ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า


รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งๆ ที่กฎหมายดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน



ในร่างกฎหมายเงินตราฉบับใหม่นั้น ได้เปิดช่องให้สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่บริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อให้สามารถนำรายได้มาชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่รัฐบาลรับภาระให้ ธปท.ขณะที่ ธปท.เป็นผู้รับภาระการชำระคืนเงินต้น โดยปัจจุบันรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณซึ่งมาจากภาษีประชาชนเพื่อชำระหนี้ดอกเบี้ยปีละหลายหมื่นล้านบาท



อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนช.ได้เสนอให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และ รมว.คลังชี้แจงรายละเอียดและความจำเป็นต่างๆ ให้หลวงตามหาบัว รับทราบก่อน เชื่อว่าหลวงตาจะสนับสนุนให้ดำเนินการแก้ไขกฏหมายเปิดทางให้สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แต่เมื่อไม่มีใครไปกราบเรียน รายละเอียดให้ท่านได้รับทราบ จึงเกิดกระแสต่อต้านขึ้น ทำให้กระทรวงการคลังต้องถอนร่างกฏหมายออกไปในที่สุด


 


 


คมช. เร่ง "ทักษิณ" กลับไทย


เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ -พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ รักษาการณ์ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) กล่าวถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์  2551  ว่า ไม่รู้สึกเป็นห่วงเรื่องดังกล่าว เพราะความจริงแล้วอยากให้กลับมาเร็วกว่านั้น ควรจะมาต่อสู้คดีต่าง ๆ ที่ศาลสถิตยุติธรรมของประเทศได้มีข้อกล่าวหาไว้ ซึ่งจริงๆๆแล้วควรที่จะต้องมาก่อนหน้านั้น


 



ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณห่วงเรื่องความปลอดภัย พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่าเป็นภาระหน้าที่ของทางตำรวจที่ต้องดูแล


 



 "ความจริงท่านเองต้องรู้อยู่แล้วว่าใครจะเข้ามา เพราะท่านเป็นตำรวจเก่า ทุกคนต้องได้รับการดูแลให้เกิดความปลอดภัย ถ้ามาคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คงไม่มีใครอยากจะไปทำอะไรหรอก"พล.อ.อ.ชลิต กล่าว


 


 


"ผบ.ทอ." จวก "สมัคร" พูดเรื่อยเปื่อยเหตุส่งทหารป่วนรัฐสภา


เว็บไซต์เดลินิวส์ - พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. และรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คม ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงาน ด้านความมั่นคงเพื่อรับมือช่วงการเลือกตั้งและวันปีใหม่ ว่า ในช่วงที่ประชุมเกิดขึ้นภายหลัง จากที่มีกลุ่มม็อบบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีคงจะเป็นห่วงในเรื่องการ ดูแลความปลอดภัย และความวุ่นวายต่าง ๆ เพราะบางครั้งคนเราใช้กฎหมู่มากเกินไป ทำให้ ไปรบกวนสิทธิ์ของคนอื่น เรื่องพวกนี้ทุกคนควรจะต้องระมัดระวัง ไม่ไปทำลายสิทธิ์ของคนอื่น เมื่อเกิดความวุ่นวายก็จะทำลายความมั่นคง และเรื่องอื่น ๆ จะเริ่มสั่นคลอน อย่างไรก็ ตามตอนนี้ตนคิดการเมืองเริ่มนิ่ง แต่อาจจะมีเรื่องสัพเพเหระนิดหน่อย ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทางการเมือง ตอนนี้ทุกพรรคพยายามสร้างภาพของตัวให้เป็นที่สนใจ แม้แต่ข่าวก็พยายาม สร้างขึ้นมา ถือเป็นเรื่องธรรมดา


 



เมื่อถามว่า พรรคพลังประชาชนออกมาระบุว่า ม็อบที่บุกรุกที่อาคารรัฐสภาเป็นม็อบจัดตั้ง เพื่อล้มการเลือกตั้ง และมาจากทหารที่ปฏิวัติ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ให้ทุกคน ช่วยกันหาข่าว แต่ที่ว่ามาจากทหารที่ปฏิวัตินั้นตนไม่เขข้าใจว่าจะทำไปทำไม เพราะเราต้องดูสิว่าใครเป็นคนเข้าไป และใครสามารถบังคับใครได้หรือไม่ บางทีคนที่สักที่พูดก็พูดไปเรื่อย


 



 "เราต้องดูว่าผู้ที่ทำนั้นคือกลุ่มใด ผู้ปฏิวัติจะสามารถไปควบคุมหรือสังการให้ผู้นั้นทำได้หรือ ไม่  และกลุ่มคนที่เข้าไปในวันดังกล่าว เคยอยู่ในส่วนไหน กลุ่มไหน บางทีจะต้องฟังหูไว้หู และคนฟังจะต้องคิดดู และยิ่งเจอว่ามันไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้อง ก็จะต้องเก็บข้อมูลไว้ว่าเป็น อย่างไร ส่วนจะเป็นการโจมตี คมช. เพื่อต้องการไม่ให้ประชาชนไว้วางใจหรือไม่ ผมคงไม่ทราบ เพราะจิตใจคนเดาใจยาก เพราะมันยั่งลึกมาก" พล.อ.อ.ชลิต กล่าว


 



ผู้สื่อข่าวถามว่านายสมัคร ออกมาระบุว่าทหารที่ปฏิวัติยังสกัดพรรคพลังประชาชนไม่ให้เป็น รัฐบาล พล.อ.อ.ชลิต กล่าวพร้อมกับหัวเราะว่า "จริง ๆ เราอยากหยุด คงจำได้สิ่งที่คณะ ปฏิรูปดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 เรามุ่งหวังอยากจะได้ร่าง รธน. ที่ไม่เอื้ออำนวย กับกลุ่มใดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  และการลงมติของชาวไทย ทำให้เราจะมีรัฐบาลมาบริหาร ประเทศ  คมช. ต้องการให้เลือกตั้ง และ มีรัฐบาลใหม่ คมช.จะได้หมดภาระ ไม่ว่าใครจะมา เป็นรัฐบาล ทุกท่านทุกพรรคก็พยายามที่จะแก้ไขและทำให้ทุกอย่างราบรื่น แต่บางครั้งที่ไม่ คิดช่วยส่วนร่วม พยายามเอาแต่จิตใจของตัวเอง และกลุ่มน้อย ๆ มาเป็นที่ตั้ง ก็ทำความเสียหายกับบ้านเมืองได้ ดังนั้นจะต้องช่วยกันอย่าทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนจะต้อง เลือกคนที่ดีรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยากถามว่าเราจะเลื่อนการเลือกตั้งไปทำไม ไม่มีเหตุผล


 


 


ทุกพรรคประสานเสียงไม่เอาทางด่วน M1


เว็บไซต์คมชัดลึก - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สุเหร่าบางมะเขือ เขตวัฒนา กทม.เครือข่ายประชาชนคัดค้านการก่อสร้างทางด่วน พิเศษคลองเตย-สุวรรณภูมิ (M1) ที่มีนายนสุเมธ ตันธนาศิริกุล เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแสดงวิสัยทัศน์กรณีการก่อสร้างทางด่วน M1 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนจากชุมชนต่างๆในละแวกใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน โดยพรรคการเมืองทุกพรรค ต่างประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งรับปากว่าหากได้เป็นส.ส.จะยกเลิกโครงการทันที แม้แต่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน ก็ประกาศคัดค้านด้วยเช่นกันแม้ว่าโครงการนี้จะริเริ่มโดยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ตาม


 



พ.ต.อ พนาเจือเพชร์ กฤษณะราช ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล เราพูดคำเดียวว่าไม่เอาโครงการนี้ เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม แต่ถ้าเราได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็จะขอร่วมคัดค้านอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน


 



"แม้ว่า ครม.สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะมีมติให้ศึกษาโครงการก็ตาม แต่ยืนยันว่า ถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณตัดขาดจากกันแล้วกับพรรคพลังประชาชน ผมขอเสนอให้นำระบบรถรางมาใช้แทน เราต้องทำให้โครงการนี้ยุติ ตั้งแต่กระบวนการศึกษา เพราะไม่มีประโยชน์และทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ วันนี้ขอให้ชาวบ้านกลับไปนอนหลับให้สบาย เพราะพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้แน่นอน"



ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างทางด่วน M1 อย่างแน่นอน เนื่องจากเราคิดว่า การตัดถนนผ่ากลางเมืองเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ที่สำคัญในฐานะที่ตนดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรค คำนวณจากงบประมาณแล้วเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนด้านคุณภาพชีวิตยิ่งไม่มีความคุ้มค่าแถมน่ารังเกียจด้วยซ้ำ



"พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในบทบาทใด เราก็จะคัดค้านเพื่อให้โครงการนี้ยุติลงไป และเป็นการยุติแบบถาวร"นายกรณ์ กล่าว


 



านนายสมพร หลงจิ ตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ร่วมคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากเรามีเส้นทางที่เชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิอยู่แล้วหลายโครงการ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในพื้นที่ เพราะบางพื้นที่มีวัฒนธรรมที่ดีมายาวนาน


 



"โครงการนี้กำลังทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ทั้งวัด ทั้งสุเหร่าต่างได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าพรรคมัชฌิมาธิปไตยจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านโครงการนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และแม้ว่าวันนี้ทุกพรรคการเมืองต่างรับปากว่าจะคัดค้านโครงการนี้ แต่ขอให้ชาวบ้านอย่าเพิ่งวางใจ เพราะนักการเมืองเวลาอยู่ต่อหน้าชาวบ้านก็เสียงดัง แต่เวลาอยู่กับหัวหน้าพรรคก็เงียบเสียง พูดไม่เหมือนที่เคยพูดกับชาวบ้าน"นายสมพร กล่าว



ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการอภิปราย ได้มีตัวแทนชุมชนบ้านครัว ซึ่งเคยเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการทางด่วนมาเป็นเวลายาวนาน ได้อภิปรายว่า ในฐานะที่เคยต่อสู้มายาวนาน เข้าใจธรรมชาติของนักการเมืองเป็นอย่างดี วันนี้สัญญากับชาวบ้าน แต่พอถึงเวลาชาวบ้านก็ไม่มีใครก็ต้องพึ่งตัวเองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชนบ้านครัว ดังนั้นก่อนที่จะเลือกใครต้องตัดสินใจให้ดี ควรจะให้กรรมการชุมชนทุกแห่งร่วมกันวิเคราะห์ว่า ผู้สมัครพรรคไหนมีแนวโน้มว่าจะช่วยเหลือชาวบ้านแล้วเลือกเขาให้เต็มที่ ถึงเขาจะได้หรือไม่ก็ไม่สำคัญถือว่าเรามอบใจให้ เพราะถึงอย่างไรสุดท้ายเราต้องช่วยพวกเราเองกันอยู่แล้ว


 



"ขอบอกให้รู้ว่าวันนี้มาฟังนักการเมืองพูดแล้วอย่าดีใจ กลับไปบ้านไปนอนเหมือนที่ผู้สมัครบางพรรคบอก เราต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพราะสุดท้ายไม่มีใครช่วยเราได้ และอยากบอกว่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐนั้นเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากชาวบ้านครัวเคยร้อง ให้หน้าทำเนียบรัฐบาลมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง"ตัวแทนชุมชนบ้านครัว กล่าว


 


 


ก.ล.ต.ถกกองทุนรวมปมปตท.  สั่งจ่ายผู้ขายหน่วยลงทุนก่อน


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้หารือร่วมกับ บริษัทจัดการลงทุน(บลจ.) ในกรณีปรับการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุน(เอ็นเอวี) ของหุ้น ปตท. ใหม่ หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ขอให้ บลจ.ปรับเอ็นเอวี ของหุ้น ปตท.ใหม่ เนื่องจากคำตัดสินของศาลปกครองอาจทำให้มูลค่าพื้นฐานของหุ้น ปตท.เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ปตท. ยังถูกห้ามการซื้อขายยาว และการคำนวณ เอ็นเอวี ด้วยวิธีปกติอาจทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดได้



ทั้งนี้แนวทางที่ ก.ล.ต.ให้ไว้กับ บลจ. ก่อนหน้านี้คือ ให้นำราคาปิดของการซื้อขายวันแรกหลังตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่องหมายเอสพี มาคำนวณ เพราะถ้าใช้ราคาของวันก่อนหน้าตามเกณฑ์ปกติ ราคาในการคำนวณอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ลงทุนได้


 



อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการหารือวานนี้ ก.ล.ต.ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศหยุดการซื้อขายหุ้น ปตท. เป็นการชั่วคราว และ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศให้คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเอ็นเอวี โดยให้ใช้ราคาหุ้น ปตท. วันแรก ที่กลับมาซื้อขายและต่อมาตลาดหลักทรัพย์ ได้ประกาศยืดระยะเวลาหยุดการซื้อขายหุ้น ปตท.ไปจนกว่า ปตท. จะแจ้งผลของคดีและการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวว่า เรื่องนี้จะมีความชัดเจนหลังจากนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 ธ.ค.2550 นั้น



เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในการซื้อขาย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหุ้น ปตท.ในวันนี้ ก.ล.ต.และบริษัทจัดการลงทุน จึงได้ร่วมหารือการดำเนินการในระหว่างที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสั่งห้ามซื้อขายหุ้น ปตท. โดยมีผลการประชุมสรุปว่า กรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุน บลจ.อาจใช้ดุลยพินิจที่จะจ่ายเงินค่าขายหน่วยลงทุนบางส่วนให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนไปก่อน และเมื่อ บลจ. สามารถคำนวณราคาหุ้น ปตท. ได้ตามปกติ จะชำระเงินค่าขายส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ขายหน่วยลงทุนต่อไป



 


ผบ.ทอ.คำขาดต้อง "กริพเพน"


เว็บไซต์คมชัดลึก - พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม สั่งระงับโครงการจัดซื้ออาวุธเครื่องบินกริพเพน ของสวีเดนว่า เรื่องนี้ตนได้เรียนถามฝ่ายเสธ.ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านบอกว่าไม่เคยพูดสักคำว่าจะระงับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่างประเทศ ความมั่นคง การรักษาพยาบาล ทุกอย่างของประเทศไทยต้องเดินหน้าไป โดยเฉพาะเรื่องของความมั่นคง ส่วนจะทำดีหรือไม่ดีต้องว่ากันต่อไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ความโปร่งใส ก็ต้องตรวจสอบกัน



เมื่อถามว่า แสดงว่ากองทัพอากาศจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจัดซื้อเครื่องบินเอฟ 16 ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเราได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสวีเดน และผู้แทนที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ครั้งแล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปไปเรียบร้อยแล้ว



ต่อข้อถามว่า เกรงหรือไม่ว่ารัฐบาลชุดต่อไปอาจจะมีการเปลี่ยนจากเครื่องบินกริพเพน ไปเป็นเครื่องบินชนิดอื่นๆ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คงไม่เปลี่ยน เพราะว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้



เมื่อถามว่าย้ำว่า หากรัฐบาลไม่เห็นด้วย และมีการเปลี่ยนแปลงจะทำอย่างไร พล.อ.อ.ชลิต พูดติดตลก ว่า ถ้าเปลี่ยนก็คงให้รัฐบาลมาขับเอง



แหล่งข่าวจากกองทัพอากาศ กล่าวว่า สาเหตุที่กองทัพอากาศไทยตัดสินใจซื้อเครื่องบินของสวีเดนนั้น เนื่องจากการประเมินแผนการป้องกันประเทศแล้วว่า กริพเพนมีขีดความสามารถที่จะต่อต้านเครื่องบินรบตระกูลมิก หรือซู ของรัสเซียได้ ซึ่งเครื่องประเภทนี้ เพื่อนบ้านเราก็จัดซื้อเอาไว้แล้ว หากเราเพิ่งเริ่มต้นจัดซื้อ ก็จะเท่ากับว่าเราล้าหลังกว่าเพื่อนบ้านอย่างน้อย 4 ปี



นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันว่าสหรัฐรวมทั้งประเทศในกลุ่มนาโต จะไม่ขายยุทโธปกรณ์ให้แก่ประเทศที่มีการยึดอำนาจ หรือหากอยู่ในภาวะปกติ แต่หากเขาไม่ได้จัดวางประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ การขายอาวุธให้ไทยก็จะเป็นการขายให้เท่าที่เขาคิดว่าเราจำเป็น แต่ไม่ได้คิดว่าเราอยากได้


 


 


ก.ล.ต.แนะนักลงทุนเกาะติดใกล้ชิด


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ-นายประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย ก.ล.ต. จึงเร่งหารือร่วมกับ บลจ.ทุกแห่ง จนได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับความเป็นธรรม และเป็นวิธีที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถปฏิบัติได้  ทั้งนี้ ขอให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดต่อกับ บลจ.ที่ท่านเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจซื้อขาย



แหล่งข่าวจาก บลจ. กล่าวว่า ตอนนี้ บลจ.ส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับการคำนวณเอ็นเอวีของกองทุนรวมประเภทต่างๆ เพราะจากกรณีหุ้น ปตท. ทำให้ ก.ล.ต.ขอให้ บลจ.คำนวณเอ็นเอวีจากราคาปิดของหุ้น ปตท. ที่เปิดซื้อขายวันแรกหลังปลดเครื่องหมาย เอสพี เท่ากับว่าในช่วงที่ ปตท. ถูกขึ้นเอสพีอยู่นั้น กองทุนรวมที่ถือหุ้น ปตท. จะไม่สามารถคำนวณหาราคาเอ็นเอวีได้เลย



เนื่องจากเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายธงชัย ลำดับวงศ์ นายเกษม คมสุตย์ธรรม นายชาญชัย แสวงศักดิ์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในองค์คณะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวก ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีกับพวกต่อศาลปกครองสูงสุด ว่า กระบวนการและขั้นตอนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นไปโดยมิชอบ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2549



อย่างไรก็ตามศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยกคำร้องการเพิกถอน แต่ได้มีคำสั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แยกท่อก๊าซ 3 เส้น ได้แก่ เส้นบางปะกง วังน้อย เส้นชายแดนพม่า-บางปะกง และราชบุรี วังน้อย รวมทั้งที่ดินและสิทธิประโยชน์ของรัฐกลับคืนให้กระทรวงการคลัง ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานภายใน 120 วัน นับจากวันที่ 11 ธ.ค.2550



เมื่อมีคำสั่งให้โอนท่อก๊าซและที่ดิน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาทจึงทำให้ มูลค่าของราคาหุ้น ปตท.คาดว่าจะปรับฐานลงซึ่งส่งผลต่อการคำนวณเอ็นเอวี หุ้น ปตท.ด้วย


 


 


มะกันร้องยุติธรรมให้ 5 แกนนำมาเลย์ป้องจับกุมนักเคลื่อนไหว


เว็บไซต์เดลินิวส์- โฆษกรัฐบาลสหรัฐแสดงความต้องการให้มาเลเซียปฏิบัติอย่างยุติธรรมต่อ 5 แกนนำกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ถูกจับกุมภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายในที่ให้อำนาจสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเข้าคุกได้ทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาคดี ซึ่ง 5 แกนนำดังกล่าวเป็นสมาชิกกลุ่มฮินดู ไรท์ แอคชั่น ฟอร์ซ  ถูกจับกุมเมื่อวันพฤหัสบดีภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน(ไอเอสเอ)


 



นายฌอน แมคคอร์แมค โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงเมื่อวันศุกร์ว่า ตามความคาดหมายของเราในฐานะที่เป็นรัฐบาลเช่นกัน ประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ภายใต้กฎหมายมาเลเซีย และจะต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส  ขณะที่ กลุ่มสิทธิมนุษยชนฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ของสหรัฐ ระบุว่า การจับกุม 5 แกนนำเป็นการกระทำที่รุนแรง


 



 ด้าน นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี แห่งมาเลเซีย กล่าวปกป้องการตัดสินใจควบคุมตัว 5 แกนนำเชื้อสายอินเดียภายใต้กฎหมายความมั่นคงอันเข้มงวดว่า เพื่อประโยชน์ต่อความสงบในสังคม  นายกฯ บาดาวี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเบอร์นามาว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำ หากมีบางสิ่งซึ่งเป็นไม่ที่ต้องการต่อความมั่นคงแห่งชาติและความปลอดภัยของประชาชนเกิดขึ้น และว่า เขาปฏิบัติตามหน้าที่ เพราะประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เนื่องจากไม่อยากเห็นประเทศชาติตกอยู่ในความวุ่นวาย


 



นายกฯ บาดาวี ยังบอกด้วยว่า ความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวโยงกับเสรีภาพในการแสดงออก  ซึ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับความปลอดภัยของประชาชน เขาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน และว่า หากเราต้องการเสรีภาพ เราต้องมีความรับผิดชอบ เพราะเสรีภาพไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากการรับผิดชอบ


 


 


ผู้นำ "อียู" เรียกร้องคู่ค้า  เปิดกว้างรับตลาดเสรี


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ- ผู้นำ 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) ให้สัญญาว่าจะรักษาการเปิดตลาดรับการค้าเสรี แต่เตือนว่าประเทศอื่นๆ ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน และขอให้ช่วยกันต่อต้านการปลอมแปลงสินค้า อีกทั้งยังเรียกร้องให้นานาประเทศพยายามจำกัดผลกระทบจากวิกฤติการธนาคาร ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอียูในปีหน้า



นายโฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานอียู กล่าวว่า การเปิดกว้างสู่โลกหมายรวมถึงการจัดการการอพยพอย่างถูกกฎหมายของแรงงานทักษะสูง และเอาจริงเอาจังกับการอพยพอย่างผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ เชื่อว่าหากมีการจัดการอย่างดี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ ทั้งยุโรปและผู้อพยพ


 



อย่างไรก็ตาม ผู้นำอียูกล่าวว่า การเปิดกว้างต่อโลกภายนอกก็มีข้อจำกัด โดยประเทศคู่ค้าจะต้องแสดงการเปิดกว้างเช่นเดียวกัน บนพื้นฐานของกฎระเบียบที่เห็นพ้องในระดับสากล โดยเฉพาะความวิตกเกี่ยวกับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจีนมีปัญหาทั้งสองเรื่อง



ประเทศยุโรปร้องเรียนว่า แต่ละประเทศต่างเผชิญอุปสรรคมากมายในการทำธุรกิจในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลปักกิ่งกลับไม่ค่อยมีการจัดการยับยั้งการปลอมแปลงสินค้าที่พัฒนามาจากยุโรป และช่องว่างทางการค้าระหว่างจีนและอียูขยายตัวมากถึง 20% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ผลจากค่าเงินหยวนอ่อนตัวมากเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์และยูโร



 


พร้อมกันนี้ ผู้นำยุโรปกล่าวถึงวิกฤติการเงินทั่วโลก ที่ทำให้ธนาคารจำนวนมากระมัดระวังการปล่อยกู้ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว้างขวางขึ้น เนื่องจากประชาชนกู้เงินได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจต่างๆ โดยสาเหตุหลักมาจากสินเชื่อการเคหะสำหรับผู้มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐ



 


บรรดาผู้นำยุโรปเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงกรอบการทำงานอย่างสุขุม และปรับปรุงความโปร่งใสของตลาดการเงิน โดยนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า ยุโรปสำนึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งแก่เสถียรภาพทางการเงิน


 


 


พม่ารายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรายแรก


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานวานนี้ (15 ธ.ค.) ว่า องค์การอนามัยโลกยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเอช5เอ็น1 หรือไข้หวัดนก เป็นรายแรกในพม่า เป็นเด็กหญิงวัย 7 ขวบ จากเมืองเกงตุง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยหนูน้อยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. ถึง 12 ธ.ค. แต่มีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับยาทามิฟูล ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อไวรัส เด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ เป็น 1 ใน 4 ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัส หลังเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในเป็ดและไก่ช่วงกลางเดือนพ.ย. แต่ผลจากห้องทดลองยืนยันว่า เด็กหญิงผู้นี้เป็นเพียงคนเดียวที่ติดเชื้อเอช5 เอ็น1



 


ส.ว.สหรัฐผ่านกฎหมายเกษตร


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ- วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายการเกษตร เมื่อวันศุกร์ (14 ธ.ค.) แต่ยังเสี่ยงต่อการคัดค้านจากนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดี โดยสมาชิกวุฒิสภาลงมติยอมรับแผนการเกษตรระยะ 5 ปี ด้วยคะแนน 79 ต่อ 14 ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องนำมารวมกับฉบับของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนนำเสนอต่อนายบุช โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างแผนการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนก.ค. แต่รัฐบาลของนายบุชขู่ว่าจะคัดค้านกฎหมายดังกล่าว นายดั๊ก ลูการ์ สมาชิกวุฒิสภาที่ออกเสียงคัดค้าน กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ยุติธรรม เพราะความช่วยเหลือจำกัดอยู่ในวงเกษตรกรเพียงไม่กี่กลุ่ม



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net