Skip to main content
sharethis

หลังเลือกตั้งผ่านพ้นไป พรรคต่างๆ วิ่งวุ่นกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล นอกเหนือจากสองพรรคใหญ่แล้วที่น่าจับตาคือการต่อรองของพรรคขนาดกลางที่ได้ที่นั่ง ส.ส.อยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ทั้งสองพรรคนี้กำลังเนื้อหอม และรอเพียงผลสรุปใบเหลือง-ใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ออกมาชัดเจนอีกนิดก่อนตกปากรับคำ เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าเลือกไม่ผิดข้าง...


 


ท่ามกลางกระแสข่าวการเจรจาต่อรองทั้งหลาย เชื่อได้ว่ากรณีของ "คลองด่าน" กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อยู่บนโต๊ะเจรจาต่อรองว่าพรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งมี ส.ส.ในมือ 24 คน จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับฝั่งไหนด้วยแน่นอน เพราะกรณีชี้เป็นกรณีชี้เป็นชี้ตายของนายวัฒนา อัศวเหม ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดิน แกนนำคนสำคัญที่ว่ากันว่าขาข้างหนึ่งไปอยู่ในคุกแล้ว เนื่องจากเป็นคดีที่คณะ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดชัดเจน และคดีกำลังอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล


 


"การรวมขั้วทางการเมืองย่อมมีผลต่อคดีแน่นอน และเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ในช่วงต่อรองกันนี้ ถ้าพูดท่ามกลางเรื่องทั้งหมด คลองด่านอาจเป็นแค่เงื่อนไขเล็กๆ เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพูดจากเรื่องคลองด่าน โดยตัวมันเองชัดเจนมากและเป็นเรื่องใหญ่มาก สุดท้ายแล้วถ้าต่อรองกันทางการเมืองสำเร็จมันอาจจบแบบไม่มีอะไร ทั้งที่พลังของสังคมมันลงไปเท่าไรกว่าจะได้ข้อมูลอย่างจับต้องได้ขนาดนั้น"


 


"เรื่องคลองด่านเป็นเรื่องที่มีประจักษ์หลักฐานที่แข็งที่สุดเท่าที่เคยพิสูจน์กันในเรื่องการคอรัปชั่นในโครงการพัฒนาระดับใหญ่มากๆ และสลับซับซ้อน" ความเห็นของ "สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์" จากกลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม (CAIN) หนึ่งในทีมศึกษาวิจัยภาคประชาชน ซึ่งผลิตงานวิจัยที่มีข้อมูลหลักฐานสำคัญยิ่งสำหรับการเปิดโปงคดีนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 โดยได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนสื่อประชาสังคมต่อต้านคอร์รัปชั่น (กองทุน สปต.)


 


 


โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ... ย้อนรอยคดีอภิมหาคอรัปชั่น


โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมแห่งแรกของไทยซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ด้วยมูลค่ากว่า 23,700 ล้านบาท ในพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ


 


โครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2538 แต่สาธารณชนวงกว้างเพิ่งเริ่มต้นรับรู้เกี่ยวกับโครงการเมื่อปี 2542 หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโครงการเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องทวงสิทธิการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ตลอดจนคัดค้านโครงการนี้เพราะกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต เนื่องจากพื้นที่คลองด่านจัด อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวภายใต้สภาพของแผ่นดินชายเลนริมทะเลอ่าวไทยตอนใน ระบบนิเวศของที่นี่ทั้งรุ่มรวยและเปราะบาง เป็นแหล่งอาชีพของผู้คนท้องถิ่นแทบทั้งหมด


 


ในภายหลังประเด็นการคัดค้านโครงการได้ขยายและพัฒนาสู่มิติอื่นๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับความไม่ชอบธรรม ความไม่โปร่งใส การละเลยและละเมิดกฎหมาย ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงนักการเมืองระดับชาติ ข้าราชการ อดีตข้าราชการ หลายราย


 


ข้อมูลจากงานวิจัยของภาคประชาชน จัดทำโดย ดาวัลย์ จันทรหัสดี และคณะระบุว่า องค์ประกอบของโครงการมีอยู่ 2 ส่วนหลักด้วยกัน คือส่วนของระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและส่วนของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเป็นระบบบำบัดรวมศูนย์ซ้อนทับขึ้นมาในพื้นที่เดียวกัน จากที่แต่ก่อนรัฐเคยจัดการโดยแยกบำบัดระหว่างน้ำเสียจากชุมชนและจากโรงงานอุตสาหกรรม รายละเอียดทั้งหมดของโครงการนี้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาเบื้องต้นที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีทำขึ้น และสถาบันนี้มีส่วนผลักดันโครงการอย่างสำคัญ


 


ข้อสังเกตที่ต้องใส่เครื่องหมายดอกจัน


อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่หลายหน่วยงานแสดงความเป็นห่วงคือเรื่องของความซ้ำซ้อนของโครงการ เนื่องจากเวลานั้นมีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการดำเนินการอยู่ก่อนแล้วจำนวน 2 โครงการ ภายใต้ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการ กับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม


 


ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือข้อสังเกตจากกระทรวงมหาดไทยที่ว่า  


 


1) การเสนอให้มีระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียวรองรับน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 340 ตร.กม.


ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่มาก อาจไม่เหมาะสมต่อการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย  2) แผนการใช้เงินโครงการที่เสนอเป็นจำนวนเงินรวม 13,612 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่มาก ควรจะได้มีการศึกษาให้ละเอียดก่อนดำเนินการ และควรจะทำในพื้นที่ที่มีปัญหาเร่งด่วนก่อน เพื่อความรวดเร็วและไม่ใช้งบประมาณจำนวนมาก  3) การเสนอให้จ้างแบบเหมารวม (turkey) ทั้งการออกแบบและก่อสร้าง รวมถึงการให้เอกชนผู้เข้าประกวดราคาต้องจัดซื้อที่ดินสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย เรื่องการจัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่มากโดยเอกชนอาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ อีกทั้งการจัดซื้อที่ดินจะต้องนำมาคิดคำนวณราคาในการจ้างเหมาด้วย จึงอาจไม่มีการตรวจสอบควบคุมอย่างเหมาะสม ในขณะที่การจัดหาที่ดินของหน่วยราชการทั่วไปต้องให้สำนักงานกลางประสานการจัดหาที่ดินเพื่อกิจการของรัฐ กรมที่ดิน เป็นผู้ดำเนินการประเมินราคา


 


โครงการขนาดใหญ่ที่ใหญ่ขึ้น (อีก) อย่างรวบรัด


อย่างไรก็ตาม โครงการขนาด 13,612 ล้านบาทนั้นกลับมีการปรับเพิ่มงบขึ้นอีก 10,089 ล้านบาท เนื่องจากทางกรมควบคุมมลพิษและผู้เกี่ยวข้องมีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแผนงานและรูปแบบโครงการแตกต่างไปจากที่ขออนุมัติไว้หลายประการ รวมทั้งได้มีการนำเสนอขอวิธีการก่อสร้างและงบประมาณด้วย โดยนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ "ยิ่งพันธ์ มนะสิการ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในขณะนั้นได้นำมติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็น "วาระเพื่อทราบ"


 


ใครเป็นใคร ในคดีคลองด่าน


คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีชื่อนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้อนุมัติ 3 คน ได้แก่ นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการเซ็นสัญญาโครงการบำบัดนำเสียกับผู้รับเหมา ในเดือนสิงหาคม 2540 ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่ถูกกล่าวหาว่า ซื้อที่ดินในบริเวณที่จะใช้ก่อสร้างโครงการ แล้วนำมาขายต่อให้กับโครงการสมัยที่ดำรงตำแหน่ง


คนต่อมานายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและบิดเบือนโครงการ ซึ่งหลังจากถูกเปิดเผยถึงความเกี่ยวข้องกับโครงการยังคงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรมว.ยุติธรรมในสมัยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งอดีตข้าราชการระดับ 10 และข้าราชการระดับ 10 จำนวน 2 คน ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ข้าราชการกรมที่ดิน รวมอีกประมาณ 20 คน ตลอดจนบริษัทเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดหลายข้อกล่าวหา


โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.50 ชี้มูลความผิดทางอาญาส่งให้อัยการสูงสุด ระบุว่า นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็น รมช.มหาดไทย ในขณะนั้น ใช้อำนาจหน้าที่บังคับข่มขืนใจ หรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้ และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่ดิน ออกโฉนดจำนวน 5 แปลง รวมพื้นที่ 1,900 ไร่ ซึ่งเป็นป่าชายเลน ที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ นำไปดำเนินการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอีก 8 คน ฐานกระทำความผิดร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148  มาตรา 157  ประกอบมาตรา 84 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง องค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน เจ้าของสำนวนคดีทุจริตที่ดินคลองด่านออกนั่งบัลลังก์นัดพิจารณาครั้งแรกในคดี อม.2/2550 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย เป็นจำเลยในความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 2


1 ปีรัฐประหารทำอะไรไม่ได้เหมือนราคาคุย


ท้ายที่สุดสุกรานต์ ให้ความเห็นต่อความคืบหน้าของคดีนี้ว่า "โดยภาพรวม 1 ปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่พูดจากจุดที่เหตุผลหนึ่งที่คุณอ้างในการทำรัฐประหารก็คือเรื่องคอรัปชั่น และรูปธรรม กรณีคลองด่านถูกหยิบยกกล่าวอ้างอย่างชัดเจน มันถูกประกาศว่าเป็นหนึ่งในลำดับต้นๆ ที่จะจัดการใน 3 เดือนแรก แต่แล้วมันก็หายไป ความคืบหน้ามี แต่ช้ามาก ไม่เท่าราคาคุย"


 


เธอยังชี้ด้วยว่า นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มีหลายคน แต่ที่ถูกชี้มูลความผิดขณะนี้มีวัฒนา อัศวเหม เพียงคนเดียว เพราะกรณีนี้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเรื่องที่ดิน และเรื่องการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งในเรื่องหลังนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าของกรณีการซื้อที่ดินมาก


 


เช่นนี้แล้ว หลังปีใหม่เป็นต้นไป อย่ากระพริบตาเป็นอันขาดกับการจัดตั้งรัฐบาล...และคดีคลองด่าน


 


 


 


 


ข้อมูลโครงการเรียบเรียงจาก


รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย


ศูนย์ข่าวประชาสังคมต้านคอร์รัปชัน (PFEC news center : www.pfec.or.th)


 


 


 


--------------------------


หมายเหตุ ประชาไทได้แก้ไขข้อมูลในส่วนความเห็นของกระทรวงมหาดไทย จากที่ระบุว่า  ระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียวครอบคลุมพื้นที่ 340 ตร.กม. เปลี่ยนเป็น ระบบบำบัดน้ำเสียฝั่งตะวันออกเพียงแห่งเดียวรองรับน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 340 ตร.กม. .... ขออภัยมา ณ ที่นี้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net