Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวใหญ่ที่ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจเท่าไหร่สำหรับคอบอลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือผลการเจรจาระหว่างองค์กรอำนาจนิยมของกีฬาฟุตบอลอย่างสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA และสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ UEFA กับกลุ่มสโมสรทุนใหญ่อย่าง G-14 ว่าด้วยการชดเชยเงินให้สโมสรกรณีนักเตะบาดเจ็บ และการยุบตัวของ G-14 ซึ่งว่ากันว่านี่อาจจะเป็นชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จขององค์กรอำนาจนิยมเหนือทีมฟุตบอล ต่อกลุ่มสโมสรทุนใหญ่

15 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์กรอย่าง FIFA และ UEFA กับกลุ่ม G-14 ได้ทำข้อตกลงกันไว้หลายอย่าง ซึ่งสาระสำคัญที่ถือว่าเป็นทางออกของความขัดแย้งระหว่างองค์กรควบคุมการแข่งขันระดับนานาชาติกับสโมสรฟุตบอลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ หากนักฟุตบอลได้รับบาดเจ็บจากการรับใช้ทีมชาติแล้ว ใครควรรับผิดชอบ?

โดยในข้อตกลง FIFA และ UEFA ยอมรับข้อเสนอในการจ่ายเงินชดเชยให้กับสโมสรหากนักเตะต้นสังกัดต้องไปเล่นให้ทีมชาติและได้รับบาดเจ็บในระดับชาติ รวมถึงการจัดระบบตารางโปรแกรมการแข่งขันให้สอดคล้องกันทั้งการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติกับฟุตบอลสโมสรในแต่ละประเทศ และฟุตบอลสโมสรยุโรป

"บางอย่างที่สุดวิเศษได้เกิดขึ้นวันนี้แล้ว" Sepp Blatter ประธาน FIFA กล่าวที่ซูริค หลังจากการเจรจากับกลุ่ม G-14 "สโมสรทั้งหลายได้ข้อตกลงเบื้องต้นอันที่จะช่วยพัฒนาเกมกีฬานี้"

กว่าเกือบ 9 ปีแล้ว ที่ปัญหาข้อพิพาทระหว่างองค์กรควบคุมการแข่งขันกับสโมสรยักษ์ใหญ่ในเรื่องของอาการบาดเจ็บของนักเตะ

FIFA และ UEFA ต่างได้รับผลกำไรจากการจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติ เช่น ฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป แต่สโมสรต้นสังกัดกลับต้องจ่ายค่าเหนื่อยหลักล้านให้กับผู้เล่นของเขา รวมทั้งรับผิดชอบผลกระทบจากอาการบาดเจ็บของนักเตะเหล่านั้น


สโมสรนิวคาสเซิล รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดจากการที่นักเตะได้รับอาการบาดเจ็บจากการลงเล่นให้กับทีมชาติได้ดีที่สุด ในรายของ Michael Owen | ที่มาภาพ: BBC

ปัญหาเรื่องการบาดเจ็บในวงการลูกหนังนั้น มิใช่เรื่องเล็กๆ แต่บางครั้งมันได้ส่งผลกระทบใหญ่โตที่ตามมา ทั้งเรื่องอนาคตของนักเตะเองรวมถึงผลงานของสโมสร

ซึ่งภายใต้ข้อตกลงเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น กลุ่ม G-14 จะต้องถอนข้อเรียกร้องทางกฎหมายที่ร้องเรียน FIFA ในกรณีของการเรียกร้องเงินจากสาเหตุที่นักเตะได้รับบาดเจ็บจากเกมระดับชาติ

กรณีตัวอย่างนี้ก็คือ Abdelmajid Oulmers จากสโมสรนอก G-14 อย่าง Charleroi จากเบลเยียม (ที่คาดว่า G-14 สนับสนุนให้ฟ้องร้องต่อ FIFA) โดย Oulmers ได้รับบาดเจ็บเข่าอย่างรุนแรงในการรับใช้ทีมชาติโมร็อคโคของเขา กับอีกกรณีของ Eric Abidal อดีตกองหลังของ Lyon (ปัจจุบันอยู่กับ Barcelona) ได้รับบาดเจ็บที่เท้าในเกมของทีมชาติฝรั่งเศส

นี่ยังไม่นับรวมกรณีของ Michael Owen ของทีม Newcastle ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เมื่อฟุตบอลโลก 2006

โอเวนย้ายจาก Real Madrid สู่ Newcastle ด้วยค่าตัวกว่า 30 ล้านดอลลาร์ เมื่อช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 2005 แต่ด้วยอาการบาดเจ็บที่รบกวนตลอดเวลา ทำให้เขาได้ลงเล่นเพียง 27 ครั้ง และยิงไป 10 ประตูเท่านั้น และในช่วงที่เขาลงเล่นไม่ได้ สโมสรก็ต้องจ่ายค่าเหนื่อยให้เขาเช่นนักเตะคนอื่นๆ

 

G-14 คืออะไร?

G-14 เป็นการรวมกลุ่มกันของ 14 สโมสรฟุตบอลชั้นนำของยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 2000 เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อกร เจรจาต่อรองผลประโยชน์กับองค์กรโลกบาลทางด้านฟุตบอลอย่าง UEFA และ FIFA โดยเมื่อปี ค.ศ. 2002 มีสโมสรเข้าร่วมกลุ่มอีก 4 ทีม แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมตั้งแต่ก่อตั้งคือ G-14

G-14 เป็นกลุ่มกดดัน (pressure group) รวมตัวกันเพื่อต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งรองรับการเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบของเกมฟุตบอลในปัจจุบัน  มีการต่อรองกับ UEFA บ่อยครั้ง และกลุ่ม G-14 เองก็เรียกร้องให้เกิด Super League ที่สโมสรในกลุ่มมาดวลแข้งกันเอง

ทั้งนี้เนื่องจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ทีมใหญ่ๆ ยังต้องแบ่งผลประโยชน์ให้องค์กรเหล่านั้น แต่ถ้าเกิด Super League มันก็จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของทีมที่แข่งขันกันเอง ไม่ต้องแบ่งปันส่วนให้องค์กรทางลูกหนังที่คอยควบคุมการแข่งขันอย่างในปัจจุบัน

แต่หากมองในทางกลับกัน ทีมสโมสรเล็กๆ อีกหลายพันทีมที่มีกระจายอยู่ทั่วยุโรป ก็คงจะไม่สู้ได้รับผลประโยชน์มากนัก แต่ถึงไม่มี Super League พวกเขาก็คงเป็นไม้ประดับอยู่ดี ทั้งด้านผลประโยชน์ที่มีเพียงองค์กรควบคุมการแข่งขันกับสโมสรใหญ่ๆ เท่านั้นที่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ  

การต่อรองของกลุ่ม G-14 โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับ UEFA และ FIFA บ่อยครั้งนักที่ G-14 ไม่สามารถเรียกร้องผลประโยชน์ต่อกลุ่มได้ แต่การต่อรองครั้งสำคัญที่ G-14 สามารถกดดัน UEFA ได้ คือ ครั้งที่ UEFA ลดเกมการแข่งขัน UEFA Champion League ลง โดยตัดการแข่งขันแบ่งกลุ่ม Phase 2 และเปลี่ยนเป็นการแข่งแบบ เหย้า-เยือน รวมผลสองนัดแทน ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

แต่หลังจากวันที่ 15 ก.พ. ที่จะถึงนี้กลุ่ม G-14 จะต้องยุบไปรวมกลับกลุ่มใหม่ คือ European Club Association ที่สโมสรเล็กต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้

รายชื่อของสมาชิก G-14

(สโมสรร่วมก่อตั้งกลุ่ม เมื่อ ปี ค.ศ. 2000)

· Liverpool
· Manchester United
· Olympique de Marseille
· Paris Saint-Germain
· Bayern Munich
· Borussia Dortmund
· A.C. Milan
· Internazionale
· Juventus
· Ajax
· PVS
· Porto
· Barcelona
· Real Madrid

(สมาชิกใหม่เข้าร่วมเมื่อ ค.ศ. 2002)

· Arsenal
· Olympique Lyonnais
· Bayer Leverkusen
· Valencia

เกี่ยวกับกลุ่ม G-14 ที่คุณควรรู้

· สมาชิก G-14 มาจากสโมสรฟุตบอล 7 ชาติมหาอำนาจลูกหนังในยุโรป
· ทั้ง 18 ทีม เคยคว้าแชมป์ League ในแต่ละประเทศได้รวมกันกว่า 250 ครั้ง
· สมาชิกในกลุ่ม G-14 สามารถคว้าแชมป์ European Cup เดิม และ Champions League ในปัจจุบัน ได้ถึง 40 ครั้ง ในรอบ 51 ฤดูกาล
· ตั้งแต่ฤดูกาล 1992 เป็นต้นมา คู่ชิงชนะเลิศ European Cup เดิม หรือ Champions League ในปัจจุบัน เป็นการแข่งขันระหว่างทีมในกลุ่ม G-14 ทั้งสิ้น ยกเว้นฤดูกาล 2004 ที่ Porto (สมาชิก G-14) ต้องเจอกับ AS Monaco (ซึ่งไม่ใช่สมาชิก G-14)

จากผลเจรจานี้ กลุ่ม G-14 จะต้องสลายตัวไปในเดือนหน้า (15 ก.พ.) และเข้าไปรวมตัวเป็นกลุ่มใหม่ที่ชื่อ "สมาคมฟุตบอลยุโรป" (European Club Association) โดยกลุ่มใหม่ที่จะเกิดนี้คาดว่าจะมีสโมสรฟุตบอลกว่าร้อยสโมสรจากชาติสมาชิก 54 ชาติ เข้าร่วม

แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดมากนักสำหรับสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรปที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้ แต่ประเมินกันได้ว่าอำนาจต่อรองของทีมใหญ่คงจะลดลงมาก ในการรวมกลุ่มที่มากด้วยสโมสรต่างๆ แบบนี้

ตามหลักการแล้ว, อาจจะกล่าวได้ว่าการตกลงกันได้ครั้งนี้คือชัยชนะของทั้งสองฝ่าย โดยกลุ่ม G-14 ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในบรัสเซล ได้แสดงปฏิกิริยาว่า กว่าที่จะได้ข้อตกลงนี้นั้นพวกเขาต้องต่อสู้มาอย่างยากลำบากเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับสโมสรทั้งหลาย

แต่ทั้งนี้องค์กรควบคุมการแข่งขัน ก็ไม่ได้ยอมทุกอย่างหมดจดเสมอไป เป็นเพียงแค่การลดอำนาจและกำไรที่พวกเขาจะได้รับไปนิดหน่อยเท่านั้น, เพราะบ่อยครั้งที่ FIFA พยายามที่จะขยายและจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนท์ใหม่ๆ เสมอมาเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดให้กับองค์กรเสมอ

และอย่างน้อยที่สุดในตอนนี้ ทั้ง FIFA และ UEFA ก็สามารถฝ่าทางตันปัญหาระหว่างพวกเขากับศาลแรงงานยุโรปและสโมสรยักษ์ใหญ่ไปได้เปลาะหนึ่ง สำหรับข้อตกลงล่าสุด

ซึ่งในความสำเร็จครั้งนี้อาจต้องขอบคุณประธาน UEFA อย่าง "นโปเลียนลูกหนัง" Michel Platini ที่สามารถผลักดันข้อตกลงนี้ได้สำเร็จ --- จากนักเตะอัจฉริยะคนหนึ่งของโลก ก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารองค์กรลูกหนังที่ว่ากันว่ามั่งคั่งที่สุดอย่าง UEFA

ตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจ พลาตินีเองก็มีท่าทีแข็งกร้าวกับกลุ่ม G-14 มาตลอด ถึงกับเคยวิจารณ์ว่าเหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่เหล่านี้ว่าเป็นพวก "อภิสิทธิ์ชน" (elitist) ด้วยนโยบายประชาธิปไตยแบบเลือกกันเองช่วยเหลือกันเอง ในหมู่สโมสรที่มั่งคั่ง

โดยบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง Platini เองก็ไม่ใช่ใครที่ไหน Blatter ประธาน FIFA นั่นเอง --- หลังจากที่หลายปีก่อน ทั้ง FIFA และ UEFA นั้นมักไม่ค่อยจะกินเส้นกันเท่าไรนัก แต่มาปัจจุบันจากการวางหมากอันแยบยลของแบลตเทอร์ ทำให้องค์กรควบคุมการแข่งขันทั้งสององค์กรนี้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และผลงานแรกในความร่วมมือก็คือการบดขยี้กลุ่ม G-14
 

ที่มา
G14 to disband after compromise (BBC Sport - BBC Sport - January 15, 2008 )
A cease-fire, at least, in the soccer kings' war (International Herald Tribune - January 17, 2008)
G-14 (Wikipedia - เข้าดูเมื่อ 19 มกราคม 2551)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net