Skip to main content
sharethis



ภาพฟีเดล คาสโตร ที่ถ่ายในเดือนมีนาคมปี 1985 ระหว่างให้สัมภาษณ์ในทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงฮาวานาประเทศคิวบา (ที่มา: AP Photo/ Charles Tasnadi)


 



ฟีเดล คาสโตร ระหว่างฟังการปราศรัยเนื่องในการเดินพาเหรดวันแรงงานสากล ที่จัตุรัสปฏิวัติ กรุงฮาวานา เมื่อ 1 พ.ค. 2548 (ที่มา: REUTERS/Claudia Daut)


 


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ฟิเดล คาสโตร ผู้นำคอมมิวนิสต์คิวบาที่สุขภาพทรุดโทรมย่ำแย่ ประกาศวานนี้ (19) ว่าจะไม่กลับเข้ามานำพาประเทศชาติ ในฐานะประธานาธิบดี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกแล้ว เป็นการยุติระยะเวลา 49 ปีแห่งการปกครองอันเข้มงวดเบ็ดเสร็จ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปฏิวัติโค่นอำนาจผู้เผด็จการ และมักเปล่งประกายสีสันฉูดฉาด จากการท้าทายอย่างไม่ยำเกรงต่ออภิมหาอำนาจทุนนิยมผู้อยู่ห่างแค่หลังบ้านอย่างสหรัฐฯ


 


คาสโตรซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปี และไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลาเกือบ 19 เดือนแล้ว หลังจากเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ กล่าวในคอลัมน์ประจำที่เขาเขียนให้แก่หนังสือพิมพ์ แกรนมา ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประมุขของประเทศอีกสมัย ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์(24) นี้


 


"ผมไม่ปรารถนาและก็จะไม่ยอมรับ -ผมขอพูดย้ำอีกครั้ง- ผมไม่ปรารถนาและก็จะไม่ยอมรับ ตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสภาแห่งรัฐ (ประธานาธิบดีของประเทศ) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด" คาสโตรเขียนในคอลัมน์ของเขาฉบับล่าสุด และถูกนำออกเผยแพร่ทางเว็บไซต์


 


"มันจะเป็นการทรยศต่อสติสัมปชัญญะของผมเอง ที่จะยอมแบกรับความรับผิดชอบซึ่งเรียกร้องความคล่องแคล่วและการอุทิศตัวอย่างหมดสิ้น อันสภาพร่างกายของผมไม่อาจที่จะให้ได้" เขากล่าวต่อ


 


คาสโตรไม่ได้บอกว่า เขาคิดว่าใครควรจะเป็นประธานาธิบดีต่อจากเขา ถึงแม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า น่าจะได้แก่ ราอูล คาสโตร น้องชายวัย 76 ปีของเขา ซึ่งก็ทำหน้าที่รักษาการประมุขของประเทศมาตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ที่เขารับการผ่าตัด ทว่าคาสโตรผู้พี่ชายได้เขียนในคอลัมน์คราวนี้ พูดถึง "คนรุ่นกลาง" อันหมายความถึงพวกผู้นำประเทศที่มีอายุอ่อนลงมาอีก อย่างเช่น รองประธานาธิบดี การ์โลส ลาเค ว่าไม่ควรที่จะขีดฆ่าชื่อทิ้งไป


 


คาสโตรเป็นผู้นำประเทศที่อยู่ยืนยงในอำนาจได้อย่างยาวนานที่สุดในทวีปอเมริกาเวลานี้ เขาสามารถโค่นล้มจอมเผด็จการ ฟุลเคนซิโอ บาติสตา และยึดอำนาจในคิวบาได้ในปี 1959 ภายหลังสะสมกำลังด้วยการทำสงครามจรยุทธ์ โดยมิตรร่วมรบคนหนึ่งของเขาที่มีชื่อเสียงมากก็คือ เอร์เนสโต เช เกวารา


 


ตัวคาสโตรเองเป็นที่จดจำติดตาในเครื่องแต่งกายชุดทหารสีเขียวมะกอก หนวดเครารกครื้ม และคาบซิการ์ติดปาก ก่อนที่ปัญหาสุขภาพจะทำให้เขาต้องยอมเลิกสูบอย่างอิดออดเต็มที นอกจากนั้นก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องชอบพูดปราศรัยกันทีละยาวๆ หลายชั่วโมง โดยสามารถตรึงความสนใจของผู้ฟังจำนวนมากเอาไว้ได้


 


เขาปกครองประเทศด้วยการปราบปรามปิดปากฝ่ายค้าน ทำให้ผู้คนจำนวนมากอพยพลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯแถบมลรัฐฟลอริดา และแม้ระบบเศรษฐกิจเต็มไปด้วยปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกปิดล้อมของสหรัฐฯ ทว่าก็ได้รับการยกย่องในเรื่องการวางระบบสาธารณสุขอันยอดเยี่ยม ขณะที่ภายนอกประเทศ คาสโตรได้รับการเชิดชูในฐานะผู้นำสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มประเทศโลกที่สาม จากการหาญกล้าท้าทายสหรัฐฯ


 


ระหว่างเวลาเกือบ 50 ปีที่เขากุมอำนาจในคิวบา คาสโตรและระบอบปกครองของเขาสามารถอยู่รอดมาได้ แม้จะต้องเผชิญกับแผนการลอบสังหารหลายต่อหลายครั้งที่บงการโดยสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ(ซีไอเอ), ความพยายามที่จะยกพลเข้ามารุกรานซึ่งได้รับการหนุนหลังจากอเมริกา, การคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐฯ, รวมทั้งการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์โซเวียต ที่เคยช่วยเหลือสนับสนุนเขามาตลอด


 


ทางด้านประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ กล่าวภายหลังทราบข่าวการไม่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกของคาสโตรว่า เขาหวังว่าการถอยฉากของไปของคาสโตร จะเป็นเครื่องหมายของยุคใหม่ในคิวบา ซึ่งควรจะเริ่มต้นด้วยระยะแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย


 


อย่างไรก็ตาม พวกผู้เฝ้าจับตามองคิวบาจำนวนมากบอกว่า แม้คาสโตรคงไม่สามารถมีอำนาจอย่างเต็มที่และกว้างขวางเหมือนในอดีตอีกแล้ว แต่ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในประเทศนี้


 


 


 


ที่มา : ผู้จัดการรายวัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net