Skip to main content
sharethis

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "6 ตุลา - บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ในการเสวนาหัวข้อ "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียนของเรา" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, วิชา ป.211 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ., หลักสูตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ศาสตร์ มธ. ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา


 


00000


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ขอเริ่มต้นด้วยบทสนทนาของหญิงวัยใกล้ 60 ปี ที่เชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมประวัติศาสตร์ 6 ตุลา กับลูกชายของเขาซึ่งเรียนรู้เหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างตะกุกตะกักผ่านแม่ของเขา


ผู้เป็นแม่ "เอาอีกแล้ว สมัครมันเอาอีกแล้ว มันโกหกอย่างหน้าด้านๆ อีกแล้ว มันพูดได้ยังไงว่ามีคนตายแค่คนเดียว คนเห็นกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่านักศึกษาตายไปเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ในเช้าวันที่ 6 ตุลา" 


ลูกชาย : "แล้วอะไรล่ะคือความจริง ความจริงที่ทำให้เกิดการฆ่ากันตายในวันนั้น พวกแม่และเพื่อนๆ เป็นฝ่ายซ้าย เป็นคอมมิวนิสต์จริงรึเปล่า"


ผู้เป็นแม่ : "ไม่ใช่ทุกคนหรอก เราอาจจะเคยเชื่ออะไรบางอย่าง แต่เวลามันก็ผ่านมานานแล้ว"


ลูกชาย : "แล้วทำไมเขาต้องฆ่านักศึกษาล่ะ ฟังแม่พูดมากี่ที ไม่เห็นเคยได้รับคำตอบจริงๆ ชัดๆ ซักที"


ผู้เป็นแม่ : "บางทีก็มีหลายอย่างที่เราไม่อยากจำไม่อยากพูดถึงมันอีก แต่หวังว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเธอคงไม่หลงเชื่อสิ่งที่ลุงสมัครพูดนะ"


ลูกชาย : "จะบ้าหรือไง ผมว่าคนรุ่นผมส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบคนรุ่นจูราสิกอย่างลุงหมักหรอก แต่ถ้าคนรุ่นแม่ไม่ทำอะไรและไม่ยอมพูดความจริงทั้งหมดซักที ท้ายที่สุด ใครๆ ก็จะลืมว่าความจริงและบทเรียนจากความจริงคืออะไร สิ่งที่เหลืออยู่ในสมองคนอย่างรุ่นผม มันก็คือคำโกหกคำโตของลุงสมัครอะแหละ" 


 


นี่เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นนะคะ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ได้อ้างอิงถึงใครในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์


 


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทย คนไทย ที่ไม่ได้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา รวมทั้งตัวดิฉันเองด้วย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แบบขาดๆ เกินๆ เมื่อเริ่มเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ขอบเขตของความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะไปไม่เคยไกลเกินภาพการต่อสู้ของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าฝ่ายซ้ายผู้รักประชาธิปไตย  กับการใช้อำนาจและความรุนแรงของรัฐและฝ่ายขวา มันเป็นภาพการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งนี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา


 


และเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ตัวแสดงผู้มีส่วนร่วมใน 6 ตุลา เปลี่ยนบทบาทโฉมหน้า การเมืองในสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซับซ้อนมากขึ้น ความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดขึ้นสำหรับคนโดยรวมและคนรุ่นต่อๆ มา นอกจากที่ดิฉันจะมานั่งฟูมฟายถึงความยากลำบากของการเรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ 6 ตุลา สิ่งที่พยายามจะทำในเวลาอันสั้นนี้คือ พยายามจะตอบคำถามหลักที่สำคัญว่า ทำไม 6 ตุลาจึงเป็นบทที่ไม่เรียนของสังคมไทยผ่านปรากฎการณ์วิวาทะระหว่างคุณสมัคร สุนทรเวชกับแรงต้านและความไม่พอใจของสิ่งที่คุณสมัครพูดในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คำตอบมีสามข้อหลักๆ ซึ่งจะขยายความต่อไป


 


คำตอบแรกคือ การสังคยานาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เป็นเรื่องยาก ทั้งในแง่กระบวนการการเขียนประวัติศาสตร์ซึ่งขาดกระบวนการการค้นหาและการกล้าที่จะพูดถึงความจริงของ 6 ตุลา มากไปกว่าเพียงเรื่องของความรุนแรงและจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิต และรวมทั้งกระบวนการต่อสู้เชิงอำนาจของการในการสร้างความรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ภาคประชาชนในสังคมไทย

คำตอบที่สอง ภายใต้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในการเมืองปัจจุบัน เมื่อตัวแสดงต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยยากมากที่จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้ในอดีต กับการเปลี่ยนแปลงของคนเหล่านี้ในปัจจุบัน 


 


คำตอบที่สาม จากปรากฎการณ์วิวาทะของคุณสมัครกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในแง่ของความจริง การต่อสู้ทางวิวาทะนี้ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่าย เชื่อมโยงกับเงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งหลังความพยายามในการล้มคุณทักษิณหลังการรัฐประหารและภายใต้รัฐบาลของคุณสมัคร


 


ต่อประเด็นที่หนึ่ง เรื่องความยากของการสร้างและการขีดเขียนกระบวนการการรับรู้ประวัติศาสตร์เรื่อง 6 ตุลา เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในสังคมไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยเพิ่งเริ่มลงหลักปักฐาน เราไม่ได้กำลังพูดถึงประวัติศาสตร์ในระบบมหาวิทยาลัย หรือในหนังสือเรียนหรือในโรงเรียนเท่านั้น แต่เราพูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ในแง่ของกระบวนการ เรากำลังพูดถึงกระบวนการการเขียน การเข้าถึง การผลักดันประวัติศาสตร์สู่การรับรู้ของคนในวงกว้าง ที่ผ่านการเขียนเนื้อหาและช่องทางในการผลักดัน ซึ่งเคยถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าขุนมูลนาย นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจ เพราะการเขียนประวัติศาสตร์ภาคประชาชน แท้ที่จริงเราต้องยอมรับว่ามันคือการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งไม่มีทางที่ชนชั้นนำจะหยิบยื่นให้เรา


 


อำนาจในการสร้างประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำทั่วโลกเกิดขึ้นเพื่อกดทับความเป็นจริงในสังคม การให้ได้มาซึ่งประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ซึ่งสังคมไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ 6 ตุลายังอยู่ในช่วงของการตั้งไข่  


 


อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากความกล้าหาญของคนหลายๆ คนที่พยายามลุกขึ้นมาคัดค้านสิ่งที่คุณสมัครพูดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์  ความกล้าในการอ้าปากพูดถึงประวัติศาสตร์ของตัวเอง ของอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ไปให้ไกลกว่าความตายและความรุนแรงที่รัฐกระทำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก


 


เราต้องยอมรับว่า 6 ตุลา เป็นเรื่องของการต่อสู้ปฎิบัติการทางการเมืองผ่านอุดมการณ์ ไม่ว่าใครจะยอมรับหรือไม่ว่าตัวเองเคยเรียนรู้เคยเชื่อและมีปฎิบัติการทางการเมืองผ่านอุดมการณ์ขวาซ้าย แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับพวกเขา หลังการปราบปรามทุกคนเต็มไปด้วยบาดแผล การกลับมายืนในสังคมอีกครั้งเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เฉพาะอดีตฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า แม้แต่ฝ่ายขวาอย่างคุณสมัครเอง ความพยายามในการหลีกเลี่ยงและการสร้างตัวตนใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมใหม่ๆ ทางการเมือง เพื่อเจือจางภาพประวัติศาสตร์ของเขา การง้างปากคนแบบนี้พูดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งนั่นรวมถึงอดีตนักศึกษาและผู้ร่วมต่อสู้ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาและในเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วย ที่ต้องเผชิญถึงความอิหลักอิเหลื่อในการพูดถึงตัวตนของเขาเองอดีตของเขา เพราะในสังคมแบบนี้ที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางการเมืองมีพื้นที่น้อยมากสำหรับคนเหล่านี้


 


การพูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลากลายเป็นเพียงการต่อสู้ของผู้บริสุทธิ์ เพื่อความยุติธรรมทางสังคม แต่นั่นไม่ได้เป็นการเชื่อมโยงถึงความเป็นจริงของ 6 ตุลา แม้ว่าจะมีนักวิชาการหลายๆ คนที่พยายามเขียนงานที่มีพลังมากในการวิเคราะห์เหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้กำลังพูดถึงกระบวนการประวัติศาสตร์ในตำรา เรากำลังพูดถึงกระบวนการการเขียนและการรับรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ต้องสร้างขึ้นโดยคนมหาศาล และต้องมีส่วนร่วมโดยคนมากมายในสังคม หนังสือ การอ่าน แน่นอนหลายคนอาจจะบอกว่า ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย แต่การสร้างประวัติศาสตร์ไม่เคยห่างจากตำรา


 


ประสบการณ์โดยส่วนตัวของดิฉันเอง ดิฉันทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การเปลี่ยนผ่านของอดีตฝ่ายซ้ายในการเมืองปัจจุบัน ซึ่งนั่นหมายถึง ความพยายามในการเข้าใจความเปลี่ยนผ่านของอดีตนิสิตนักศึกษา ขบวนการภาคประชาชนที่เคยผ่านปฎิบัติการฝ่ายซ้ายและเปลี่ยนแปลงอย่างไรในปัจจุบัน


 


ดิฉันเองเผชิญปัญหามากมายในการสัมภาณ์ผู้คนเหล่านี้ ดิฉันเข้าใจ การถูกประเมินท่าทีของคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์อย่างตัวดิฉันเอง ในการเริ่มต้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขาคิดอยู่ในสมอง เป็นเรื่องยากมาก ดิฉันต้องสร้างความไว้วางใจกับพวกเขา ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าดิฉันเข้าใจ อยู่กับพวกเขา เข้าใจเขา ดิฉันไม่ได้โทษพวกเขา แต่สิ่งที่สะท้อนคือ เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่ถูกพูดคุยกันเพียงในวงแคบๆ ของคนเหล่านี้ ไม่ใช่วงสาธารณะ


 


ดิฉันว่าเราต้องเลิกพูดกันเสียทีว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลาเป็นเรื่องที่ยังไม่ลงตัว เราต้องเลิกโทษนักศึกษา เลิกโทษคนรุ่นใหม่ถึงประเด็น "16 ตุลา" ใครจะไปรู้ ใครจะไปเข้าใจในเมื่อไม่มีอะไรให้เข้าใจ ตัวดิฉันเองถึงแม้จะเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เรียนปริญญาเอก แต่ดิฉันไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้ จนกระทั่งมาทำเรื่องนี้ เรื่อง 14 ตุลาอาจจะยากน้อยกว่าการเข้าใจ 6 ตุลามาก เพราะประวัติศาสตร์ 6 ตุลา มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และยากที่จะเข้าใจความจริงเกิน fact ที่พูดว่าเหตุการณ์อะไร เกิดขึ้น เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร แต่อะไรคือพลังผลักดัน อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน 6 ตุลา อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นวัน 6 ตุลา และอะไรคือผลกระทบของ 6 ตุลา ต่อจำนวนคนมากมายมหาศาล นี่คือประเด็นแรกที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม 6 ตุลาจึงเป็นบทที่ไม่เรียนในสังคมไทย


 


ต่อประเด็นที่สอง นอกจากกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาในตัวของมันเองแล้ว ในเงื่อนไขการเมืองปัจจุบันที่อดีตฝ่ายซ้าย อดีฝ่ายขวา ต่างเปลี่ยนแปลงสถานภาพ บทบาททางการเมืองของตัวเองไปแล้ว ยิ่งทำให้สังคมไทยซึ่งประวัติศาสตร์ 6 ตุลาก็ยังไม่ได้เริ่มต้นชัดเจน ยิ่งยากเข้าไปอีก ภายใต้เงื่อนไขของโลกที่ถูกบังคับให้เชื่อและยอมรับเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง อดีตฝ่ายขวาปรับตัวได้อย่างดี กลับมาสร้างความชอบธรรม ผ่านกระบวนการการเลือกตั้ง กรณีคุณสมัครเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจมาก ใครว่าคุณสมัครยังเหมือนเดิม ดิฉันขอเถียง คุณสมัครปรับตัวได้ดีจะตาย


 


เงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เขากลับเข้ามาในกระบวนการเลือกตั้ง ก้าวเข้ามามีบทบาทและสร้างสถานภาพความชอบธรรมทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่คุณสมัครไม่เคยเปลี่ยนคือ ยุทธศาสตร์ propaganda อย่าเข้าใจผิดว่า หมายถึงการโกหก แต่ propaganda เป็นเรื่องที่จริงจัง เป็นเรื่องที่ผ่านกระบวนการที่คิดอย่างเป็นระบบและมีหลักการ หมายถึงการเผยแพร่ความเชื่อ ในแง่หนึ่งยุทธศาสตร์ความเชื่อ If you have to lie, you have to give the big one. ถ้าคุณโกหก คุณก็ต้องโกหกคำโตและยืนยันสิ่งที่คุณโกหกอย่างหนักแน่น นี่คือปฎิบัติการทางการเมืองที่คุณสมัครไม่เคยเปลี่ยน


 


ไม่ใช่เฉพาะเพียงฝ่ายขวาที่เปลี่ยนแปลงไป อดีตฝ่ายซ้ายก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ดิฉันต้องขอโทษที่อาจจะใช้คำว่า อดีตฝ่ายซ้ายอย่างพร่ำเพรื่อจนเกินไป แต่ดิฉันไม่ได้เจาะจงหมายถึงใครเป็นฝ่ายซ้าย แต่ดิฉันพยายามจะใช้คำที่เข้าใจได้ง่ายที่ทำให้สังคมไทยซึ่งเข้าใจอะไรยากอยู่แล้วเข้าใจด้วยการตอกย้ำในการใช้คำนี้ อดีตฝ่ายซ้ายหลายคนเข้าไปทำงานร่วมกับอดีตฝ่ายขวา ในขณะที่อีกขั้วหนึ่ง เชื่อว่าตัวเองยังพยายามรักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง คือไม่ยอมรับอดีตฝ่ายขวา และยังคงต่อสู้กับการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของชนชั้น คนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนทัศนคติที่สังคมมีต่อพวกเขา ด้วยภาพซ้อนทับของประวัติศาสตร์ทางการเมืองของ 14 ตุลาและ 6 ตุลา การไฮไลท์หรือชูประเด็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนเดือนตุลา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คน 6 ตุลาสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้พวกเขามีพื้นที่อยู่ได้ในสังคม เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าท่ามกลางเงื่อนไขประวัติศาสตร์ 6 ตุลาที่ยังไม่ได้รับการชำระ เนื้อหาที่ไปไม่เคยไกลกว่าความรุนแรงบนท้องถนนและจำนวนคนตาย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของคนกลุ่มต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนในสังคมไทยเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา


 


ประเด็นสุดท้าย เชื่อมโยงถึงปรากฎการณ์วิวาทะระหว่างเรื่องสมัครกับหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่สมัครพูด คือ ปัญหาเรื่องการใช้วิวาทะในยุทธศาสตร์ทางการเมืองภายใต้การเมืองปัจจุบัน ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าจะลุกขึ้นมาประท้วงหรือทักท้วงเรื่องที่คุณสมัครพูด ว่าเป็นความพยายามที่จะจุดประกายให้เกิดการสังคยนาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาอย่างเป็นระบบและสามารถนำไปสู่ย่างก้าวใหม่ในการสร้างประวัติศาสตร์การเรียนรู้ภาคประชาชนให้กว้างขึ้น แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ปรากฎขึ้นคือ ข้อถกเถียงถูกจำกัดเพียงแค่เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และการสร้างภาพความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ 6 ตุลากับเงื่อนไขในปัจจุบันว่า 6 ตุลา อาจจะเกิดขึ้นอีก อาจจะเกิดขึ้นอีก และอาจจะเกิดขึ้นอีก


 


การจำกัดหัวข้อในการถกเถียงเรื่อง 6 ตุลาแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะสิ่งที่สื่อและอดีตผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แย้งกับคุณสมัคร ไม่ได้เกิดภายใต้บรรยากาศที่เป็นสุญญากาศทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะความไม่พอใจต่อท่าทีของคุณสมัครที่หลายคนอาจจะตัดสินคุณสมัครจากบุคลิกภาพ หรือจากบทบาทในอดีต แต่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้และสนับสนุนระบอบทักษิณ การปฏิเสธและการยอมรับ 19 กันยายน รัฐประหารความพอใจและความเบื่อหน่ายต่อการเมืองภายใต้รัฐบาลคุณสมัคร ที่กึ่งยอมรับว่า ตัวเองเป็นรัฐบาลนอมินีของคุณทักษิณ วิวาทะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองแบบนี้ การขึ้นมาของคุณสมัครเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่า แต่แม้อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่อยู่ร่วมกับรัฐบาล หรือสนับสนุนอดีตพรรคไทยรักไทยเองก็กระอักกระอ่วนที่จะยอมรับตัวคุณสมัครและสิ่งที่คุณสมัครพูด เฉพาะฉะนั้นสำหรับอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายปีกต้านคุณทักษิณไม่ต้องพูดถึง


 


ความพลาดของคุณสมัครในการพูดเรื่องจำนวนคนตาย ถ้าคุณสมัครเพียงพูดว่า คนตายไม่กี่สิบคนอาจจะไม่มีสองอาทิตย์นี้ก็ได้ ถ้าไม่ได้พูดว่า มีคนตายแค่คนเดียว ความพลาดของคุณสมัครในการพูดถึงจำนวนคนตาย กลายเป็นเรื่องที่ช่วยให้กระบวนการการแซะรัฐบาลคุณสมัครก่อตัวขึ้น และดูจะประสบความสำเร็จในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา เรื่อง 6 ตุลากลายเป็น hot issue นอกฤดูกาลเดือนตุลา


 


แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นปัญหาคือถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชาติให้กลายเป็นเพียงยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่จะรองรับการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน สังคมจะเรียนรู้อะไรจาก 6 ตุลาไปไกลกว่าบทสนทนาระหว่างแม่ลูกที่ดิฉันแต่งขึ้นและกล่าวในเบื้องต้น


 


 


 


 


อ่านงานที่เกี่ยวข้อง


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง - โพสท์ 21/2/2551


ศิโรตม์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น - โพสท์ 21/2/2551


แผลจากตุลาถึงพฤษภา: ยิ่งเพิกเฉยอดีต วันนี้ยิ่งพิกลพิการ ย้ำ อย่ารื้อฟื้น 6 ตุลา แบบตกหลุม "การเมือง" - โพสท์ 20/2/2551


 


คลิกที่ชื่อเพื่อดาวน์โหลดไฟล์เสียง


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" (8.6 MB/25.17 Min)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล "6 ตุลา-บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (3.9 MB/17.14 Min)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (5.8 MB/37.23 Min)


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net