Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


Peaceway Foundation


 


".....ไม่มีดินผืนใดให้ไออุ่น เท่ากับดินที่คุณถือกำเนิด ไม่มีดินผืนใดดูมั่นคง เท่ากับดินที่ลงสำมะโนครัว ไม่มีดินผืนใดให้คุณเดิน เท่ากับดินที่คุณเดินตอนตั้งไข่ ไม่มีดินผืนใดมีความหมาย เท่าแผ่นดินสุดท้ายของเผ่าพันธุ์...."


 


ครั้งแรกที่ฉันฟังเพลงนี้น้ำตาก็ซึมออกมาพร้อมๆกับนึกถึงบางเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่ง "ตอแล" ชายหนุ่มคะเรนนี จากค่ายผู้ลี้ภัยบ้านในสอย แม่ฮ่องสอน เพื่อนผู้อยู่ในแคมป์มากว่า 20 ปี วันที่เรานั่งคุยกัน ตอแล เล่าให้ฟังบางตอนว่า


 


"ชีวิตผมเปลี่ยนไป หัวใจผมไม่เหมือนเดิม ตอนรู้ว่าผมอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ประเทศไทย ผมออกไปไหนไม่ได้ มีลวดหนามบางๆ ดูไม่มั่นคงขวางกั้นผมกับถนนด้านหน้าอยู่ ลูกถามผมทุกวันว่าเราอยู่ที่ไหน ผมบอกลูกไปว่าเราอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ผมหวังว่าวันหนึ่งลูกจะเข้าในสิ่งที่ผมบอกเขาว่าทำไมผมถึงไม่สามารถบอกลูกได้ว่า เราอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ที่เราออกไปไหนไม่ได้อย่างอิสระเสรี ผมไม่อยากให้เขาเจ็บปวดเหมือนผมในวันนี้ วันที่ผมรู้ว่าผมกับบ้านเกิดอยู่ใกล้กัน แต่ผมไม่สามารถกลับไปเหยียบแผ่นดินนั้นได้อีกต่อไปแล้ว"


 



 


ความเลวร้ายฝั่งตะวันตกยังคงเดิม : ภาพสะท้อนจากตัวเลขคนพลัดถิ่น


 


ปลายเดือนมกราคม ณ เมืองชายแดนแห่งหนึ่ง ในเวทีประชุมทบทวนสถานการณ์การทำงานกับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี 2550 วันนั้นมีเพื่อนในพื้นที่ต่างๆจากฝั่งพม่ามาแลกเปลี่ยนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทั้งจากรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐฉาน และย่างกุ้ง เราพบว่าสถานการณ์ในฝั่งพม่าตลอดปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่เลวร้ายลงกว่าเดิม โดยเฉพาะสถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยง การบังคับย้ายถิ่นฐาน การใช้แรงงานทาส การฆ่า การข่มขืน การจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม การบังคับให้เป็นทหารเด็ก การจับกุมคุมขัง เหยื่อจากกับระเบิด ก็ยังดำเนินไปอย่างโหดร้าย ส่วนในย่างกุ้งแม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้เผชิญปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกับชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ แต่สถานการณ์การบริหารประเทศที่ผิดพลาดจนส่งผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายนั้น ทำให้ในปัจจุบันมีข้าราชการเกษียณอายุจำนวนมากต้องกลายมาเป็นขอทาน


 


ทามลา ชายหนุ่มจากรัฐกะเหรี่ยง เล่าให้ฟังว่า


 


"ในแต่ละพื้นที่ของรัฐกะเหรี่ยงยังมีทหารจากกองทัพพม่า จาก DKBA ทั้งกองพันทหารราบ กองพันทหารเบา มากกว่า 90 หน่วย ทหารอย่างน้อย 15,000 นาย เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทั้งในเขตยองเลบิน (Nyaunglebin) ผาปูน(Papun) ตองอู(Toungoo) ดูปลายา(Doplaya) พะอัน(Pa-an) กอกะเรก(Kawkareik) ทวาย(Tavoy) บางหน่วยก็ตั้งค่ายถาวร บางหน่วยก็ออกลาดตระเวนทั้งกลางวัน-กลางคืน"


 


ตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา ในเขตตองอู พบว่ามีครัวเรือนอย่างน้อย 1,500 ครัวเรือน ชาวบ้านมากกว่า 6,500 คน ต้องหลบหนีทหารพม่าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า อีก 1,000 ครัวเรือน ชาวบ้านกว่า 5,000 คน ก็ต้องเดินทางออกจากป่าที่เคยไปหลบซ่อนอยู่ ออกไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทยแทน นี้ยังไม่นับที่ชาวบ้านอีก 27,289 คน จาก 5,235 ครัวเรือน ของ 90 หมู่บ้าน ต้องออกไปอยู่ในพื้นที่ที่ทหารพม่าจัดให้ (แปลงอพยพ) และอีก 2,641 ครัวเรือน มากกว่า 14,700 คน ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่าที่เป็นทหารกองใหม่อีกจำนวน 54 กองพัน ที่เข้ามาตั้งค่ายอยู่ในพื้นที่นี้


 


ในพื้นที่ยองเลบิน พบว่ามีที่ดิน 63 แห่ง และไร่ถั่วพลูกว่า 90 ไร่ ถูกทหารพม่าทำลาย โรงเรียนประถม 3 แห่ง ถูกปิดเพราะถูกทหารพม่าเข้ามารุกรานอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ครูไม่สามารถสอนหนังสือเด็กได้อย่างปลอดภัยอีกต่อไป หมู่บ้านมากกว่า 20,000 แห่งต้องถูกย้ายเข้าไปอยู่ในป่าลึกกว่าเดิม เพราะไม่สามารถทนต่อการก่อกวนจากการลาดตระเวนของทหารพม่าได้ตลอดเวลา


 


ในพื้นที่มูตอว์ พบว่าไร่นามากกว่า 70 แห่ง ถูกทำลาย และที่นามากกว่า 100 แห่งไม่สามารถเพาะปลูกตามฤดูกาลได้ เพราะถูกทหารพม่าลาดตระเวนตลอดเวลาเช่นเดียวกับพื้นที่ยองเลบิน มีชาวบ้านมากกว่า 19,000 คน ต้องหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า หมู่บ้านอย่างน้อย 28 แห่ง ถูกทหารพม่าทำลาย และในจำนวนที่เราสำรวจพบ มีชาวบ้านอีก 9 คน ทั้งผู้หญิงและเด็กถูกทำร้าย จน 4 คนในนั้นต้องตายลง อีก 2 คนก็เหยียบถูกกับระเบิดระหว่างหลบหนีทหารออกมา


ในพื้นที่พะอันและดูปลายา พบว่ามากกว่า 107 ครอบครัวในพะอันต้องอพยพออกจากหมู่บ้านไปอยู่ที่ชายแดน ในวันที่ 17 เดือนธันวาคมมีครอบครัวอย่างน้อย 35 ครอบครัว รวม 186 คน จากดูปลายา เดินทางมาถึงค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งไทย


 


ในพื้นที่ทวาย พบว่า SPDC ยังคงบังคับใช้แรงงานในหมู่บ้านจนต้องทำให้ชาวบ้านอพยพหลบหนีมาที่ค่ายผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน ชาวบ้านที่นั่นต่างพูดอย่างชัดเจนว่า SPDC ต้องการที่จะกำจัดประชาชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในทุกๆพื้นที่ที่เขาต้องการมีอำนาจ


 


ส่วนในพื้นที่ท่าตอน พบว่าสถานการณ์ไม่แตกต่างจากพื้นที่ทวาย SPDC และ DKBA ยังคงบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวบ้านด้วยวิธีการต่างๆอย่างต่อเนื่องตลอดมา


 



 


ตอแล ชายหนุ่มจากรัฐคะเรนนี เล่าเป็นคนถัดมาว่า "ไม่มีอะไรใหม่ในพื้นที่คะเรนนี สถานการณ์ยังย่ำรอยทางเดิมที่ผ่านมา ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในรัฐคะเรนนี ไม่มีใครอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าไปยังที่อื่นที่มีความปลอดภัยมากกว่า ก่อนหน้านั้นประมาณ 1-2 เดือน กองทหารของ SPDC ได้เข้าโจมตี KNPP อย่างหนักหน่วงที่ Nya Mu แคมป์ ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่นี้ การทำงานของพวกเราที่เข้าไปช่วยเหลือ IDPs มีความลำบากมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ทำได้ คือ เราต้องทำงานร่วมกันกับกองทหารของ KNPP เพราะพื้นที่ที่เราเข้าไปทำงานมันอันตรายต่อการเดินทางและการทำงานเป็นอย่างยิ่ง


 


สำหรับในพื้นที่แม่ฮ่องสอนนั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ยิงเด็กนักเรียนในแคมป์บ้านในสอยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การเดินทางเข้าออกจากแคมป์เป็นเรื่องยากลำบากขึ้น มีการระแวดระวัง สอดส่อง ตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ไทยมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงต้องทำงานในแคมป์กันต่อไป เป็นความโชคดีว่าความสัมพันธ์ของพวกเรากับทหาร KNPP กับทหารไทยก็ยังดำเนินไปอย่างราบรื่น"


 



 


แสงคง หญิงสาวสวยจากรัฐฉาน เล่าต่อว่า


 


"สถานการณ์ในรัฐฉานปัจจุบัน พบว่าชุมชนในชนบทไม่ค่อยสนใจในเรื่องต่างๆ แต่ก็ยังมีความหวังกับกลุ่มเยาวชนที่ยังคงทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ชนบทอย่างต่อเนื่อง ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมืองและปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า


 


สำหรับในเรื่องของอัตราการรู้หนังสือและสถานการณ์สุขภาพนั้น พบว่านักเรียนที่อยากเรียนหนังสือจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาลที่ใช้ภาษาพม่าเพียงภาษาเดียวเพียงเท่านั้น ทำให้นักเรียนบางคนไม่ยอมไปโรงเรียน ทำให้มีพ่อแม่ของนักเรียนจำนวนมากวิตกกังวลต่อเรื่องนี้ จึงทำให้ในที่สุดมีกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานในพื้นที่จัดตั้งกลุ่มสอนหนังสือขึ้นมาโดยใช้ภาษาไทใหญ่ในการสอน และมีการสอนประวัติศาสตร์ของคนไทใหญ่ด้วย เพื่อยังคงรักษาวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ตามพบว่านักเรียนที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลมักจะไม่สนใจเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคม พวกเขาเพียงต้องการความรู้เพื่อเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นไปในย่างกุ้งเพียงเท่านั้น บางคนก็หวังเพียงมุ่งหน้าไปหางานทำในประเทศอื่นๆต่อไป


 


สำหรับปัญหาสำคัญด้านสุขภาพ คือ มีคนไทใหญ่จำนวนมากได้รับเชื้อ HIV ยอดผู้ป่วยที่เป็นเอดส์เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ชาวบ้านพึ่งกลับมาจากทำงานที่ประเทศไทยสถานการณ์เรื่องเอดส์ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประชาชนในรัฐฉานเท่านั้น รัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยงก็ต้องผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย


 


สถานการณ์เศรษฐกิจ พบว่าชาวบ้านในท้องถิ่นยังคงทำธุรกิจในท้องถิ่นได้ แต่ธุรกิจเหล่านั้นไม่สามารถสร้างกำไรหรือรายได้ให้กับประชาชนได้ รัฐบาลพม่าได้แบนสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการให้สัมปทานทำเหมืองแก่นักธุรกิจชาวจีนในรัฐฉาน แต่สัมปทานนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่เลย กำไรที่เกิดขึ้นตกเป็นของพ่อค้าชาวจีน ผู้นำของ SPDC และนักธุรกิจพม่าเพียงเท่านั้น สัมปทานเหมืองนำมาซึ่งมลภาวะในพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะมลภาวะทางน้ำ


 


สถานการณ์ทางการเมือง พบว่าความสนใจของประชาชนในชนบทที่มีต่อสถานการณ์การเมืองมีน้อยมาก และนี้คือสิ่งที่กลุ่มเจรจาหยุดยิงของรัฐฉานกำลังสร้างความตระหนักในประเด็นนี้ให้เกิดขึ้นอยู่ เราพบว่าในพื้นที่หยุดยิง สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมีน้อยกว่าในพื้นที่สู้รบ"


 



 


 


คนสุดท้าย เซอ เซอ กุ หญิงสาวจากเมืองย่างกุ้ง เธอเล่าว่า


 


"การดำเนินชีวิตในย่างกุ้งนั้น เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตประชาชน เพราะราคาสินค้าขยับสูงขึ้นอย่างมากซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราเงินเดือนที่ต่ำมาก มันเกิดช่องว่างที่ถ่างออกมากระหว่างคนรวยกับคนจน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนรวยใช้จ่ายเงินหนึ่งแสนบาทในเพียงค่ำคืนเดียวในไนท์คลับ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนมากในย่างกุ้งที่ไม่มีข้าวกิน การคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกส่งผลให้บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลง พร้อมๆกับคนที่ต้องตกงานจำนวนมาก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถีบตัวสูงขึ้นจนทำให้คนขับรถไม่สามารถมีเงินพอจ่ายค่าน้ำมันได้ พวกเขาต้องหันไปใช้แก๊สแทน 


 


รวมถึงอีกหลายคนก็ไม่สามารถไปรับสินค้าจากฝั่งไทยเข้ามาขายที่นี่ได้อีกต่อไป เพราะไม่คุ้มค่าแก๊สและน้ำมัน คนขับรถบรรทุกจำนวนมากต้องติดสินบนในรูปสิ่งของกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านชายแดน บางคนก็ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่จำนวนมากเพื่อเป็นค่าผ่านทาง ทั้งๆที่ถนนจากย่างกุ้งไปชายแดนไทยแย่มาก แต่รัฐบาลก็ไม่เคยนำเงินสินบนเหล่านี้ไปซ่อมถนนเสียที มีคนขับรถบางคนไปถามทหารเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทหารบอกว่า เรื่องเก็บค่าผ่านด่านเป็นเรื่องที่เขารับผิดชอบ แต่เรื่องซ่อมถนนไม่ใช่เรื่องของเขา ให้ไปถามรัฐบาลเอาเอง


 


แม้ว่าจะไม่มีสินค้าจากฝั่งไทยเข้าไปยังฝั่งพม่า แต่ในตลาดที่ย่างกุ้งก็ยังเต็มไปด้วยสินค้าจากฝั่งไทย แต่อย่างไรก็ตามก็มีไม่กี่คนนักหรอกที่จะซื้อหาสินค้าเหล่านั้นได้ ดูตัวอย่างง่ายๆ ลูกจ้างคนหนึ่งได้รับเงินเดือน 10,000 จั๊ต แต่เนื้อชิ้นหนึ่งๆ ราคา 5,000 จั๊ตเข้าไปแล้ว ใครจะซื้อได้บ้าง เงิน 10,000 จั๊ต ไม่สามารถใช้ดูแลคนในครอบครัวได้แม้แต่น้อย สำหรับบางคนที่เกษียณอายุแล้ว จะได้รับบำนาญจากรัฐบาล แต่ก็เพียงน้อยนิดเหลือเกิน คือเพียง 400-1,800 จั๊ต ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่แพงมากขึ้น ส่งผลให้ข้าราชการเกษียณบางคนต้องกลายเป็นขอทานในที่สุด เราจะพบขอทานประเภทนี้ในย่างกุ้งมากขึ้นทุกวัน


 


สำหรับลูกจ้างบางคนที่ไม่ได้ไปที่เปียนมะนาตอนที่รัฐบาลย้ายเมืองหลวงนั้น ถือว่าเป็นความโชคดีที่สุดแล้ว เพราะพวกที่ไปที่นั่นต่างคาดหวังว่าพวกเขาจะได้รับเงินเดือนที่สูงขึ้นหรือได้รับความดีความชอบมากขึ้น แต่จริงแล้วสิ่งแวดล้อมในเปียนมะนาแย่มาก น้ำก็ไม่เพียงพอ ทำให้ข้าราชการจำนวนมากต้องขอกลับมาอยู่ที่ย่างกุ้งเหมือนเดิม ส่วนทหารบางคนก็จะหาทางหาเงินเพิ่มโดยการไปทำงานรับใช้ในบ้านผู้นำระดับสูง จากสถานการณ์ความยากจนที่ระบาดไปทุกหัวระแหงในย่างกุ้งขณะนี้ ส่งผลให้อย่างน้อยในครอบครัวหนึ่งๆต้องมีคนไปทำงานหาเงินที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย และรัฐบาลพม่าก็ไม่เคยสนใจความทุกข์ยากลำบากของประชาชนเหล่านี้แม้แต่น้อย เพราะรัฐบาลสามารถหาเงินเพิ่มได้จากภาษีของพวกเขา


 


สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง พบว่าหลังจากที่พระสงฆ์ประท้วงไม่สำเร็จเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจาก SPDC ได้ปราบปรามอย่างหนักหน่วง รวมถึงการสนับสนุนพระสงฆ์ที่ไม่ได้ออกมาประท้วงในรูปแบบต่างๆ การสนับสนุนพระสงฆ์ในลักษณะดังกล่าวได้สร้างความขัดแย้งในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันเองให้เกิดขึ้นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีประชาชนจำนวนมากที่มีความหวังว่า วันหนึ่งพลังประชาชนนี้เองจะประท้วงสำเร็จสักวันหนึ่ง และพวกเขาไม่ได้หวังว่า UN จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ด้วยเช่นกัน


 


ด้านการศึกษา พบว่าเด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้เพราะครอบครัวไม่มีเงินเพียงพอ รวมถึงอีกหลายครอบครัวก็ต้องให้เด็กออกมาทำงานหารายได้เพิ่มเพื่อจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วในโรงเรียนก็เอาแต่โฆษณาให้คนเห็นแต่ความดีความชอบของ SPDC มากกว่าการสอนหนังสือให้เด็กมีความรู้อย่างแท้จริง เพราะ SPDC กลัวว่าเด็กเหล่านี้จะลุกขึ้นมาต่อต้านพวกเขาในอนาคต"


 










 


"ถักทอประชาธิปไตย สายใยไทย-พม่า" คือชื่อคอนเสิร์ตการกุศล ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ณ MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อบริจาคเงินรายได้ให้กับศูนย์พัฒนาเด็ก พญ.ซินเธีย มาวด์ แพทย์หญิง คลินิกแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเป็นการระดมทุนทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยไทย-พม่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net