Skip to main content
sharethis

ประชุม ส.ว.นัดแรก 14 มี.ค. "พ.ท.กมล" ปธ.ชั่วคราว


วานนี้ (10 มี.ค.) นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดประชุมวุฒิสภานัดแรกว่า ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ทำหนังสือถึงส.ว.เพื่อเรียกประชุมวุฒิสภาในวันที่ 14 มี.ค.เวลา 10.00 น. ซึ่งมีวาระการประชุมคือการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา โดยในการคัดเลือกจะใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2544 ซึ่งผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วย ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภา1คนสามารถเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานได้เพียง1 คนและต้องมีผู้รับรอง10คน ส่วนการลงคะแนนจะใช้เสียงข้างมากโดยหากมีการเสนอชื่อเพียง1 ชื่อจะได้รับเลือกทันที แต่หากเสนอ 2 ชื่อ ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องได้เสียงข้างมาก และหากมีการเสนอชื่อมากกว่า 2 ชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกแต่จะต้องมีเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม แต่หากเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็จะต้องมีการลงมติใหม่ ซึ่งครั้งนี้ผู้ที่ได้รับเลือกไม่จำเป็นต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมครั้งแรก คือ ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด ได้แก่ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา อายุ 72 ปี


 


ส.ว.อุตรดิตถ์ เผยเล็ง พล.อ.เลิศรัตน์ ส.ว.สรรหา นั่ง ปธ.วุฒิสภา


ด้านนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า มีฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งวุ่นวายกับการเลือกประธานวุฒิสภา ถือว่าไม่เหมาะสม และคนๆนั้นก็ไม่ควรได้รับเลือกเด็ดขาด เพราะไม่มีความเป็นกลาง หลอกลวงประชาชน จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะเข้ามายุ่งเกี่ยว และอยากให้เพื่อ ส.ว.ทุกคนพิจารณาให้ดี เลือกคนที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง สังคมให้การยอมรับ มีคุณธรรมในจิตใจ การไปร่วมประชุมที่โรงแรมเรดิสันที่ผ่านมารู้สึกอึดอัดใจ ที่มีการประกาศว่าที่ประชุมมีมติให้หนุน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่อยากให้แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตั้งธงว่าต้องเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือสรรหา แต่ควรเลือกคนที่ปราศจากการครอบงำของพรรคการเมือง สำหรับบุคคลที่อยู่ในใจในขณะนี้มองดูว่า พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา น่าจะเหมาะสม เพราะเป็นอดีตนายทหาร เป็นผู้ใหญ่น่าอบอุ่น คุยด้วยแล้วรู้สึกได้ทันทีว่ามีความคิดความอ่านที่ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มองคนอื่น ตนกำลังศึกษาอ่านข้อมูลของบุคคลที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตเหมือนกัน ซึ่งยังเปิดประตูหัวใจรับคนอื่นเหมือนกัน ยังไม่ได้ปิดประตูซะทีเดียว


 


"สิริวัฒน์" ยัน สว.เลือกตั้ง ส่ง 4 คนชิง ปธ.วุฒิสภา ระบุไม่มีแตกแยก


วานนี้ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวถึงภาพความขัดแย้งของส.ว.เลือกตั้งและส.ว.สรรหา ที่ต่างฝ่ายต่างเสนอกลุ่มของตัวเองให้เป็นประธานวุฒิสภา ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของความขัดแย้งและไม่ได้เป็นการตั้งแง่ แต่เป็นเจตนารมณ์และหลักการของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการสนับสนุนคนในซีกตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ทั้งนี้ก่อนที่ส.ว.เลือกตั้งจะได้รับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจาก กกต. ส.ว.สรรหาก็มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนที่ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา อาทิ นายประสพสุข บุญเดช และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานโดยไม่รอ ส.ว.เลือกตั้ง


 


ดังนั้น ครั้งนี้ ส.ว.เลือกตั้งก็มีสิทธิเสนอบุคคลและหลักการของคนที่จะมาเป็นประธานวุฒิฯ ยืนยันว่า ส.ว.เลือกตั้งและส.ว.สรรหาไม่ได้ขัดแย้งกัน คนที่แบ่งแยกส.ว. คือ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าตำแหน่งประธานวุฒิฯไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราขัดแย้งกัน เพราะหลังการลงมติไม่ว่าใครจะได้เป็น ส.ว.เลือกตั้งก็จะยอมรับและทำงานด้วยกันได้


 


นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการประชุมนอกรอบของส.ว. 150 คน ในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 10.00 น. สาระสำคัญคือการต้องการทำความรู้จักและเรียนรู้ความคิดซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จะมาพูดคุยกันเรื่องตำแหน่งประธานหรือมาล็อบบี้ตำแหน่งประธานแต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยถึงเรื่องน้ำได้เพราะถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่สำหรับกลุ่ม ส.ว.ปี 49 มีหลักการร่วมกันว่าจะเลือกส.ว. เลือกตั้งเป็นประธาน และส.ว.เลือกตั้งคนอื่นๆก็มีทิศทางสนับสนุนส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นว่าอยากให้ประธานวุฒิฯมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้มีส.ว.เลือกตั้งที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธาน 4 คน คือ พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว. สุราษฎร์ธานี นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว. บุรีรัมย์ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว. นนทบุรี และนายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว. สงขลา ส่วนที่เกรงว่าส.ว.เลือกตั้งจะเสียงแตกเพราะมีการเสนอชื่อถึง 4 คนนั้น คิดว่าในระบอบประชาธิปไตยสามารถมีความเห็นต่างกันได้ อย่างไรก็ตามการเปิดเผยชื่อ 4 คนนี้ออกมาเพื่อต้องการให้สังคมตรวจสอบและเราจะคัดเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ามาทำหน้าที่


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทวีศักดิ์ มีภาพความใกล้ชิดซีกรัฐบาลจะทำให้ภาพพจน์รัฐสภามัวหมองหรือไม่หากมีการสนับสนุนให้นายทวีศักดิ์ เป็นประธานวุฒิสภา นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ความใกล้ชิดกับใครสังคมต้องช่วยกันมอง ซึ่งพวกเราไม่อยากให้มีการติดต่อกับพรรคการเมืองเพื่อให้ได้ตำแหน่ง เพราะ ส.ว.ต้องปลอดจากการเมือง เมื่อถามว่ากลุ่มส.ว.ปี 49 ทั้ง 42 คน กำลังรวบรวมเสียงเพื่อให้ พล.ต.ท.มาโนช เป็นประธานวุฒิฯใช่หรือไม่ นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยว่าจะสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการ แต่เพียงมีหลักการ 3 ประการว่า 1. ประธานวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง 2. มีความเป็นกลางทางการเมือง และ 3.สังคมและสื่อมวลชนยอมรับ โดยเฉพาะต้องไม่ใช่คนที่นักการเมืองสั่งหรือล็อบบี้ได้ จะไม่ให้ภาพเช่นนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ในการประชุมวุฒิสภานัดแรกเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาครั้งแรก ส.ว.จะมีสติยืนอยู่บนหลักการไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการตกลงกันนั่งตำแหน่งประธานโดยมีวาระ 2 ปีนั้น ยังไม่มีการตกลงกัน แต่อยากให้มองอีกมุมว่าถ้าไม่ต้องการให้เกิดาการผูกขาด โดยบางคนที่แสดงวิสัยทัศน์ก็บอกว่าจะให้มีการประเมินผลงาน 2 ปีครั้งก็เป็นเรื่องน่าสนับสนุนไม่อยากให้มองว่าเป็นสมบัติผลัดกันชม เมื่อถามว่า ส.ว. หญิง 24 คนได้นัดประชุมเพื่อขอเข้าไปนั่งรองประธานด้วยนั้น เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของส.ว.หญิงที่จะทำให้และตนก็สนับสนุนและคงมีการพูดคุยกัน


 


"จรัล" เชื่อ ส.ว. ใหม่ตัวแทนกลุ่มเผด็จการ-ค้านรัฐบาลทุกเรื่อง


นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ลากตั้ง เลือกตั้ง ส.ว. ใครได้ ใครเสีย" เมื่อ 9 มี.ค. ตอนหนึ่งว่า ไม่เห็นด้วยกับระบบที่ให้ ส.ว. มาจากการสรรหา เพราะเห็นว่าคนร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ ส.ว. มาจากการสรรหาก็เพื่อต้องการเอาพรรคพวกของตัวเองเข้าไปมีบทบาททางการเมือง ซึ่งคนที่ได้ผลประโยชน์คือพวกอำมาตยาธิปไตย ชนชั้นสูง อนุรักษ์นิยม เพราะเป็นคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และคนเสียประโยชน์คือประชาชน เสียเปรียบหมื่นเปอร์เซ็นต์ ให้คนเพียงแค่ 7 คนมีสิทธิเลือก ส.ว. ได้ถึง 74 คน และเห็นว่าขณะนี้ประธานวุฒิสภาเป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากจะต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา ที่ประกาศยุติบทบาทเพราะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งความเห็นให้ใบแดงให้ศาลฎีกาพิจารณา ทั้งนี้ รู้สึกเป็นห่วงหากประธานวุฒิสภามาจากการสรรหาและไม่ได้เป็นผู้รักประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สามารถแก้ไขได้ โดยให้ประธานวุฒิสภามาจาก ส.ว.ระบบเลือกตั้ง ก็จะบรรเทาความเสียหายได้บ้าง


 


นายจรัลกล่าวอีกว่า แนวโน้มการทำงานของ ส.ว.ชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาล และจะคัดค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลเสนอ แม้กระทั่งกฎหมายสำคัญๆที่ประชาชนต้องการอาจจะไม่ผ่านสภา เนื่องจากถูก ส.ว.ชุดนี้ดอง ยับยั้ง หรือแช่เย็นเอาไว้ รวมทั้งจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการรับลูกกระแสสังคม อย่างไรก็ตาม จะจับตาดูการทำงานของ ส.ว.ชุดใหม่ว่ามีความเป็นกลางหรือไม่


 


ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้สมัคร ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงสมัคร ส.ว.กทม. พบปัญหาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องความเป็นธรรมกับจังหวัดใหญ่ๆที่กำหนดให้ 1 จังหวัด มี ส.ว. เพียงคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องตลกที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.เลือกตั้งมีเพียงจังหวัดละคน อย่างเช่น กทม. เป็นจังหวัดใหญ่ มี 50 เขต ประชากรมาก ตนยังเดินหาเสียงไม่ครบ ดังนั้น เห็นว่าในอนาคตควรแก้ไขให้จำนวน ส.ว. สมดุลกับจำนวนประชาชน นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ไข โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาควรมีจำนวนลดน้อยลงให้เหลือ 1 ใน 3 และให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งมีมากขึ้น


 


นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีข้อดีในเรื่องที่ให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง แต่เห็นว่าควรรักษาความสมดุลให้ระบบการเมืองและพรรคการเมืองมีความเข้มแข็งด้วย ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยจะไม่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม เท่าที่ลงพื้นที่พบว่าประชาชนแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันทางโครงสร้าง หากยังปล่อยให้มีการขัดแย้งทางการเมืองและไม่จัดการให้เข้าสู่ระบบการแข่งขันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ก็จะเกิดวิกฤตได้


 


สุริยะใสปูด "ผู้มีบารมี" เอี่ยวตั้งประธานวุฒิสภา ไม่เห็นด้วย "รสนา" ลงชิง


ขณะที่ นสพ.เดลินิวส์ รายงานข่าว นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องไปยัง ส.ว. ทุกคนตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีข่าวว่านายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พยายามเข้าไปแทรกแซงครอบงำกระบวนการคัดเลือกประธานและรองประธาน โดยผ่าน ส.ว.ที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองในรัฐบาล ซึ่งจากการสอบถามกับ ส.ว. หลายท่านได้ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริง โดยมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดตประธาน ส.ว. ให้ผู้มีบารมีเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้ว ข่าวที่ออกมานี้ทำลายต้นทุนและความน่าเชื่อถือของ ส.ว. ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน ฉะนั้นต้องเร่งสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนก่อนวันเลือกตั้งประธานและรองประธาน ส.ว.


 


นายสุริยะใส กล่าวว่า ประธาน ส.ว. จะต้องปลอดจากการแทรกแซงและร่างทรงของฝ่ายการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เพราะ ส.ว. ชุดนี้เป็น ส.ว. ลูกผสมที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง หลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยและกังขากับที่มาแบบนี้ ฉะนั้นจะต้องเร่งสร้างเอกภาพและความเชื่อมั่นว่าจะเป็นสภากลั่นกรองกฎหมายและตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ไม่ควรมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสายที่มา หรือสร้างกลุ่มก้อนเพื่อต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามแม้ตำแหน่งประธานและรองประธาน ส.ว. โดยความชอบธรรมเหมาะสมน่าจะมาจากสายเลือกตั้ง แต่หากเป็นร่างทรงของกลุ่มการเมืองก็ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะเมื่อเป็น ส.ว. แล้วอำนาจหน้าที่เท่ากันทุกประการ จึงไม่ควรเอาประเด็นที่มาของ ส.ว. อ้างเหตุเพื่อตีกัน ส.ว. สายแต่งตั้ง และไปประเคนตำแหน่งให้กับ ส.ว. สายเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองเท่านั้น


 


นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ลงชิงตำแหน่งประธานหรือรองประธาน ส.ว. แต่อยากให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิเศษเพื่อตรวจสอบการทุจริตของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ


 


ที่มา: นสพ.เดลินิวส์, แนวหน้า, โลกวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net