Skip to main content
sharethis

19 มี.ค.51   กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสหากรรม ร่วมกับกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยผลวิจัยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จากตัวอย่างอากาศที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 พบสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 3 ชนิดที่เกิดค่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก


 


ดร.อาภา หวังเกียรติ หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมโครงการดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเก็บตัวอย่างอากาศดังกล่าวทำโดยชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยใช้กระป๋องตรวจมลพิษซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ง่ายและใช้กันแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ยุโรป ออกไปเก็บตัวอย่างอากาศทันทีที่ได้กลิ่นฉุดของสารเคมี เนื่องจากจะเป็นเวลาที่ปริมาณเข้มข้นที่สุด ก่อนจะระเหยอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงส่งไปตรวจยังห้องแล็บของสหรัฐอเมริกา


 


ผลการตรวจสอบพบว่า สารอินทรีย์ระเหยง่าย 20 ชนิด ในจำนวนนี้มี 6 ชนิดที่เกินค่าระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US EPA และจาก 6 ตัวดังกล่าว มี 3 ตัวที่เป็นสารก่อมะเร็งและพบในปริมาณที่ยังสูงอยู่ คือ 1) Benzene โดยครั้งนี้พบว่ามีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังถึง 700 เท่า  2) สาร Butadiene มีค่าเกินระดับการเฝ้าระวัง 265 เท่า และ 3) Ethylbenzene ตรวจพบแต่ไม่เกินค่าระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศฯ


 


ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เคยตรวจสภาพอากาศไว้เมื่อปี 2548 พบว่า ในบรรยากาศของมาบตาพุดมีสารอินทรีย์ระเหยง่ายปนเปื้อนอยู่อย่างน้อยที่สุด 55 ตัว และจากการค้นคว้าข้อมูลเบื้องต้นโดยอ้างอิงจาก MSDS พบว่า ในจำนวนนี้มีสาร 45 ตัวที่มีอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายคนถึง 19 จุด เช่น มีสารอินทรีย์ระเหยง่าย 33 ตัวที่มีอันตรายต่อตับ, 30 ตัวมีผลต่อไต, 14 ตัวมีผลต่อการทำงานของหัวใจ, 25 ตัวเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง และ 10 ตัวมีผลต่อประสาท ทั้งนี้พบว่าสารที่มุ่งโจมตีอวัยวะในร่างกายของคนมากที่สุด สารคลอโรเบนซีน โดยจะโจมตีไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ตับ ไต ปอด ไขกระดูก อัณฑะ ต่อมไทมัส และม้าม รองลงมาคือ คาร์บอนไดซัลไฟด์ จะโจมตีไปที่หัวใจ ระบบหัวใจร่วมหลอดเลือด ตับ ไต ประสาท ตา และระบบสืบพันธุ์


 


ดร. อาภากล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยการนำเสนอของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) มีการกำหนดมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศโดยทั่วไปในเวลา 1 ปี จำนวน 9 ชนิดแล้วก็ตาม แต่ปัญหาคือกว่าเราจะรู้ว่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายมีค่าเกินมาตรฐานตามกำหนดหรือไม่ จะต้องทำการเก็บตัวอย่างเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วเท่านั้น เท่ากับว่าชาวบ้านมาบตาพุดต้องหายใจอากาศนั้นเข้าไปนานเป็นปี จึงจะรู้ได้ว่าอันตรายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คพ. กำลังจัดทำร่างมาตรฐานระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของสารอินทรีย์ระเหยง่ายประมาณ 20 ตัว จึงอยากสนับสนุนให้เร่งประกาศออกมา เพื่อจะได้ใช้ควบคู่กับมาตรฐานค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายฯ


 


"ปัญหาไมได้อยู่ที่เจอน้อยลงหรือมากขึ้นจากเดิม แต่ประเด็นคือ ตัวที่อันตรายมันยังอยู่ และเกินค่ามาตรฐานสูงมาก จำนวนสารอาจจะน้อยชนิดลง แต่ความเข้มข้นสูงอย่างน่าตกใจ เช่น เบนซีน" ดร.อาภา กล่าว


 


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า หากรัฐบาลรวมถึงเอกชนผู้ก่อมลพิษมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ควรสนับสนุนชุมชุนให้ตรวจสอบคุณภาพอากาศ จัดตั้งหน่วยกระป๋องตรวจมลพิษของชุมชนเพื่อติดตามตรวจสอบสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการทำงานของ คพ. รวมไปถึงการนิคมฯ เอง เพราะชาวบ้านมีศักยภาพที่จะทำได้ โดยการสนับสนุนนั้นอยากให้รัฐสนับสนุนเอง เพื่อปลอดพ้นจากอิทธิพลแทรกแซงจากนายทุน ซึ่งอาจเป็นการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม หรือกองทุนสุขภาพก็ได้


 


"นี่เป็นครั้งแรกที่เสนอให้จัดตั้งหน่วยกระป๋องนี้ ซึ่งใช้กันใช้กัน 20 กว่าแห่งในสหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การควบคุมมลพิษในนิคมอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และอยากให้นำผลการตรวจสอบของทุกหน่วยมาเทียบกันแบบที่ให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ด้วย" เพ็ญโฉม กล่าว


 


ขนิษฐ์ พงษ์นาวิน เลขาธิการเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จังหวัดระยอง กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของประชาชนในระยองให้ประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษมีมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา แต่ภาครัฐก็เลี่ยงไปสู่การกำหนดแผนลดมลพิษ 5 ปีแทน ขณะเดียวกันก็อนุมัติให้มีการขยายปิโตรเคมีระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการใหญ่มากในนิคมฯ มาบตาพุดอีก  โดยบอกว่าแผนลดมลพิษนั้นได้ผล  ทั้งที่ประชาชนยังประสบปัญหาอยู่เช่นเดิม ทั้งน้ำเสีย การลักลอบทิ้งกากของเสีย อากาศเป็นพิษ น้ำใต้ดินบนเปื้อนสารเคมี ซึ่งนับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งชัดเจนและสร้างความวิตกกังวลให้คนในพื้นที่อย่างมาก


 


ขนิษฐ์ ยังกล่าวถึงปัญหาสำคัญของชุมชนในพื้นที่ขณะนี้คือ การทำ CSR หรือการประชาสัมพันธ์ความรรับผิดชอบของบรรษัทเพื่อสังคมได้ผลมาก โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนได้การผูกสัมพันธ์กับชุมชนโดยการอุปถัมภ์ด้านต่างๆ ที่ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอลง ไม่ออกมาเรียกร้องสิทธิอย่างเต็มที่ และมันไม่ได้แก้ปัญหามลพิษอย่างแท้จริง เช่น "โครงการระยองเมืองสีเขียว" ของ ปตท. ที่ทอดผ้าป่า 18 วัด วัดละ 8 แสนบาท เมื่อปีที่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net