Skip to main content
sharethis


ภาพการซ้อมพิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิคที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เมื่อ 23 มี.ค. ก่อนที่จะมีพิธีจริงในวันนี้ (AFP/Louisa Gouliamaki)


 


ปธ.คณะกรรมการโอลิมปิกเชื่อมหกรรมกีฬาระดับโลกจะเปลี่ยนจีนได้


 


จากเมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ ชาร์กส์ รอจจ์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (IOC) ระบุว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกสามารถเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้จีนเปลี่ยนแปลงได้


 


"พวกเราเชื่อว่าจีนจะเปลี่ยนเป็นประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น จนชาวโลกสามารถตรวจสอบได้ ผ่านสื่อกว่า 25,000 แห่ง ที่จะเข้าร่วมในมหกรรมกีฬาครั้งนี้" รอจจ์กล่าว


 


"การมอบมหกรรมโอลิมปิกให้กับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นเจ้าภาพนั้น จะช่วยให้ประชากรโลกกว่าหนึ่งในห้า เปิดตัวเองไปสู่จิตวิญญาณแห่งโอลิมปิกนิยม (Olympism)"


 


รอจจ์แสดงความเห็นเห็นก่อนพิธีการจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่ประเทศกรีซ ซึ่งจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้มีการบอยคอตมหกรรมกีฬาในครั้งนี้เพื่อประท้วงที่จีนใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามการชุมนุมในทิเบต


 


คณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ (IOC) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงในเขตหิมาละยันเมื่อสัปดาห์ก่อน


 


รอจจ์ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า องค์กรเอกชน และ องค์กรสิทธิมนุษยชน ต้องการจะ "คัดง้าง" กับมหกรรมโอลิมปิก เพื่อที่จะทำให้เกิดแรงกดดันแก่จีน แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ยืนยันว่า "โอลิมปิกส์เกมส์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ไม่ใช่ยาสรรพคุณที่จะรักษาโรคทุกชนิดได้"


 


"เหตุการณ์ในทิเบตก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับ IOC ...แต่เราก็ไม่ใช่องค์กรการเมืองหรือองค์กรนักเคลื่อนไหว" เขาบอก


 


"ความรับผิดชอบหลักของ IOC คือการจัดมหกรรมกีฬาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับนักกีฬา"


 


"พวกเราทำงานเหล่านี้ใกล้ชิดและร่วมมืออย่างแนบแน่นกับคณะกรรมการจัดงานของกรุงปักกิ่ง"


 


"IOC จะทำงานอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยร่วมกับจีน เพื่อที่จะรักษาสวัสดิการให้กับนักกีฬาและทำให้กีฬาโอลิมปิกบรรลุถึงเป้าหมาย" รอจจ์ กล่าว


 


 


รักษาความปลอดภัยมโหฬาร พิธีจุดคบเพลิงที่โอลิมปิกที่กรีซ


 


โดยพิธีจุดคบเพลิงสำหรับกีฬาโอลิมปิคที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ มีการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่าจะมีการประท้วงกรณีจีนปราบปรามผู้ประท้วงชาวทิเบต กลางพิธีจุดคบเพลิง


 


ทางโรงแรมต้องเปิดรายชื่อผู้เข้าพักให้กับตำรวจสืบสวนดู มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ตามเนินเขารอบ ๆ สนามกีฬาโบราณ ซึ่งใช้เป็นที่ประกอบพิธี นอกจากนี้ยังมีแผนการป้องกันไม่ให้ผู้เข้าชมขวางเส้นทางวิ่งคบเพลิง


 


มีคนกว่าพันคนต้องการจะเข้าร่วมพิธีในวันจันทร์นี้ โดยมีผู้สื่อข่าวที่ได้รับอนุญาตและแขกรับเชิญผู้มีเกียรติรวมราว ๆ 2,500 คน ในที่นั้นจะมี หลิว ฉี ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของกรีซด้วย


 


แต่นักเคลื่อนไหวก็เตือนว่า การจุดคบเพลิงนั้นจะเป็นการกดสวิตซ์เปิดให้คลื่นการประท้วงรัฐบาลจีนถาโถม ทั้งในเรื่องทิเบตและเรื่องอื่นๆ


 


ทั้งนี้นักกิจกรรมหลายกลุ่มวางแผนการรณรงค์ในช่วงใกล้มหกรรมกีฬาโอลิมปิคที่จะมีในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีเป้าหมายต่อต้านสิ่งที่จีนทำต่อทิเบต ต่อดาร์ฟูร์ ต่อสิทธิมนุษย์ชน ต่ออิสรภาพในการนับถือศาสนา และประเด็นอื่นๆ


 


โดยกลุ่มจิตวิญญาณอย่าง "ฟาหลุนกง" บอกว่าพวกเขาเคยถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมมาก่อน และจะจัดการวิ่งคบเพลิงของตัวเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในจีน


 


และองค์กร "ความฝันของดาร์ฟูรร์" (Dream of Darfur) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกดดันให้จีนช่วยหยุดการนองเลือดในเขตตะวันตกของซูดาน ก็กำลังวางแผนจะมีการประท้วงตามเส้นทางที่มีการวิ่งคบเพลิงเช่นกัน


 


ทั้งนี้ การจุดคบเพลิงโอลิมปิกอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันนี้ (24 มี.ค.) ในประเทศกรีซ และตำรวจราว 1,000 คนจะตรวจตราอยู่รอบ ๆ โอลิมเปีย เพื่อที่จะกันผู้สนับสนุนทิเบตออกไปจากพิธีการ การวิ่งคบเพลิงมีกำหนดการเดินทางผ่าน 20 ประเทศก่อนจะถึงกรุงปักกิ่ง ในพิธีเปิดวันที่ 8 ส.ค.


 


 


จีนโต้ประธานรัฐสภาสหรัฐ "สองมาตรฐาน"


 


เมื่อวันอาทิตย์ (23 มี.ค.) ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวของจีน เขียนบทวิจารณ์โจมตีประธานรัฐสภานางแนนซี่ เพโลซี่ ในเรื่องที่เขาเข้าพบดาไล ลามะ กล่าวหาเธอและ "ตำรวจสิทธิมนุษยชน" ว่าเป็นพวกดับเบิ้ลสแตนดาร์ดหรือเลือกปฏิบัติในการที่พวกเขาละเลยความจริงเรื่องเหตุไม่สงบในทิเบต


 


นอกจากนี้ทางการจีนยังได้กล่าวหาดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณพลัดถิ่นของทิเบตอีกครั้งว่า เขาได้จัดตั้งกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลในทิเบตและเขตใกล้เคียงในช่วงเดือนนี้ เพื่อที่จะทำลายงานกีฬาโอลิมปิกของกรุงปักกิ่งและล้มล้างผู้นำคอมมิวนิสท์


 


สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นในวันอาทิตย์ กล่าวหาว่าเพโลซี่เมินเฉยต่อความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยผู้ประท้วงชาวทิเบต


 


" "ตำรวจด้านสิทธิมนุษยชน" อย่างเพโลซี่มักจะอารมณ์เสียและใจแคบอย่างเป็นนิสัยถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน โดยปฏิเสธข้อเท็จจริงและไม่ยอมค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์" สำนักข่าวซินหัวระบุ


 


"มุมมองของเขาก็เหมือนนักการเมืองคนอื่น ๆ อีกหลายคน รวมถึงสื่อตะวันตกด้วย ที่ภายใต้การเลือกปฏิบัติของพวกเขาได้แอบซ่อนความตั้งใจที่จะรับใช้กลุ่มที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังพวกนั้น ที่ต้องการจะยับยั้ง หรือไม่ก็ใส่ร้ายจีน"


 


ทั้งนี้ รัฐบาลจีนพยายามจะแสดงภาพของพวกเขากับกลุ่มธุรกิจของจีนว่าเป็นเหยื่อของการประท้วง


 


ในช่วงแรก ทางการจีนประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงในลาซาว่ามีผู้เสียชีวิต 22 คน ขณะที่รัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตบอกว่ามีชาวทิเบตเสียชีวิต 99 คน


 


สำนักข่าวซินหัวรายงานในวันอาทิตย์ผ่านมาว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 94 คน จากเหตุการณ์ประท้วงวันที่ 15-16 มี.ค. ในสี่อำเภอและหนึ่งเมืองในมลฑลกานสู  จากรายงานยังบอกอีกว่ามีผู้ชุมนุม 19 คน ได้ออกมายอมมอบตัวในกานนัน ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของมลฑลกานสู แต่ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม


 


เหตุรุนแรงได้กลายเป็นหายนะของจีนในเรื่องการประชาสัมพันธ์งานกีฬาโอลิมปิก ที่จีนหวังว่าจะใช้มันช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นในสายตานานาชาติ


 


ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ รัฐบาลจีนได้พยายามสื่อเหตุการณ์ประท้วงในมุมของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้ควบคุมข้อมูลที่มาจากทิเบตและจากเขตใกล้เคียง ทางรัฐบาลบอกผ่านสื่อของทางการว่าพื้นที่ที่เคยไม่เชื่อฟังได้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว และกล่าวหาดาไล ลามะ อีกครั้งหนึ่งว่า เป็นผู้พยายามจะทำลายภาพลักษณ์ของจีนซึ่งทำลังจะจัดโอลิมปิกในฤดูร้อนนี้


 


"พวกดาไลก๊ก กำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมจับงานกีฬาโอลิมปิกของกรุงปักกิ่งเป็นตัวประกัน และบังคับให้รัฐบาลจีนยินยอมมอบเอกราชให้ทิเบต" จากพีเพิ้ลส์เดลี่ ปากกระบอกเสียงหลักของพรรคคอมมิวนิสท์


 


ดาไล ลามะ โต้ว่า ข้อกล่าวหาต่อเขานั้น "ไร้ที่มาที่ไป" และย้ำว่า เขาเองก็สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของจีน


 


"อาตมาสนับสนุนมาโดยตลอดว่างานโอลิมปิกควรจะ...จัดในกรุงปักกิ่ง...ซึ่งจะทำให้คนมากกว่า 1 พันล้านคน คือคนจีนเอง รู้สึกภาคภูมิใจ" ดาไล ลามะกล่าวขณะที่อยู่ในนิวเดลี ประเทศอินเดีย


 


 


แบ็คแพกเกอร์พบทหารซ้อมปราบจลาจลในยูนนาน


 


แม้ว่าทางการจีนจะมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ข้อมูลบางอย่างก็รั่วไหลออกมา นักเดินทางสะพายเป้ชาวอเมริกันที่เดินทางผ่านเฉิงตู เมืองหลวงของมลฑลเสฉวน บอกว่าเขาได้เห็นทหารไม่ก็หน่วยพลร่มในเมืองเต้อเฉิน (Deqen) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยูนนาน ติดกับพรมแดนทิเบต


 


นักเดินทางสะพายเป้ผู้นี้ชื่อราล์ฟฟ่า เขาได้ให้ข้อมูลว่า "ในที่จอดรถที่ว่างโล่งแถวๆ หอสมุด มันเต็มไปด้วยรถทหารและคนถือโล่คุ้มกันกำลังฝึกซ้อม ฉันเห็นทหารเป็นร้อยเลยทีเดียว"


 


ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าจะมีการประท้วงในยูนนานเลย


 


พระในวัด เกอตาน ซง ซาน (Gedan Song Zan) นอกเมืองจงเตียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูนนาน พากันสวดมนต์ขอให้เกิดสันติภาพและขอให้เหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างชาวทิเบตในจีนจบสิ้นลง พระในวัดนี้ซึ่งบอกว่าตนเป็นทั้งชาวจีนและชาวทิเบต พูดถึงความรู้สึกของพวกเขาว่า การลุกฮือและการประท้วงไม่ได้ช่วยอะไรแก่ใครเลย


 


รัฐบาลจีนยืนยันว่า พื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งกลับมามีความมั่นคงแล้ว ในวันอาทิตย์ ทาง CCTV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนรายงานว่า เมืองลาซากลับมามีไฟฟ้าและระบบโทรคมนาคมเช่นเดิมแล้ว


 


ที่มา:


Olympics can bring change to China, Rogge says , AFP, 23/3/2551


China attacks Pelosi over Tibet remarks , Cara Anna, AP, 23/3/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net