Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง                   


 


 


ผมอ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคอีสานท่านหนึ่งด้วยความไม่สบายใจ เนื่องเพราะท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้มีคำสั่งด่วนแจ้งไปยังสำนักพระพุทธศาสนาทุกอำเภอในจังหวัดให้แจ้งไปยังเจ้าอาวาสทุกวัดในจังหวัดตรวจสอบพฤติกรรมของพระลูกวัดทุกรูปเกี่ยวกับการปฏิบัติกิจของสงฆ์ หลังมีพระเล่นไฮไฟว์ชักชวนผู้หญิงเข้ามาในกุฏิ สร้างความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก


 


โดยมีคำสั่งห้ามพระนำคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตเข้าไปติดตั้งในกุฏิ จะมีได้เฉพาะห้องสวดมนต์หรือศาลาวัดเท่านั้น ซึ่งจังหวัดจะส่งเจ้าหน้าที่และตำรวจเข้าไปตรวจสอบพร้อมกับการจัดระเบียบ หากพบว่ามีวัดใดฝ่าฝืนจะสอบถามเจ้าอาวาสก่อน จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอาผิดวินัยสงฆ์ อาจถึงขั้นจับสึกได้ทันที


 


ที่ผมบอกว่าอ่านข่าวด้วยความไม่สบายใจนั้น มิใช่ไม่สบายใจเพราะพระไปเล่นอินเตอร์เน็ตหรือเล่นไฮไฟว์ แต่ไม่สบายใจเนื่องจากเห็นว่าโดยปกติแล้วศาสนจักรกับอาณาจักรหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าฝ่ายบ้านเมืองนั้นจะแยกออกจากกัน การปกครองของพระสงฆ์องค์เจ้าจะมีระเบียบแบบแผนเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นวินัยสงฆ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และแก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าพระสงฆ์องค์เจ้าท่านปกครองกันอย่างไร


 


ที่สำคัญก็คือ "การสึกพระ" หรือการที่จะให้พระภิกษุสงฆ์พ้นจากสมณเพศก็ได้มีบัญญัติชัดเจนไว้ในหมวดนิคหกรรมและการสละสมณเพศ ดังนี้


 


มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้องสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดใน  กฎมหาเถรสมาคมให้มหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กับทั้งการกำหนอให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใดๆ นั้นด้วย


 


มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่งโมง นับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น


 


มาตรา ๒๗ เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้


 


(๑)                 ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น


(๒)               ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ


(๓)               ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง


(๔)              ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง


 


ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน        กฎมหาเถรสมาคม


 


พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวัน นับแต่วันที่ได้รับสามคำวินิจฉัยนั้น"


 


มาตรา ๒๘ พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด


 


มาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้


 


มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น


จะเห็นได้ว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่บัญญัติหรือที่เทียบเคียงได้ว่าห้ามพระนำคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตเข้าไปภายในกุฏิ ซึ่งเจตนาของการที่จะมีมาตรการห้ามพระนำคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตเข้าไปภายในกุฏินั้น อาจจะมองว่าเป็นการป้องปราม ด้วยเกรงว่าจะเป็นสิ่งที่ชักนำให้พระกระทำผิดวินัยสงฆ์ ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย


 


อินเตอร์เน็ตนั้นเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าอเนกอนันต์ แต่แน่นอนก็ย่อมมีโทษอยู่บ้างหากนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม แต่การที่จะนำข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยของพระสงฆ์ที่นอกรีตนอกรอยบางรูปบางองค์มาสั่งห้ามย่อมไม่ถูกต้อง (ซึ่งจริงๆแล้วฝ่ายบ้านเมืองไม่มีอำนาจตามกฎหมายด้วยซ้ำไปที่จะกระทำเช่นนั้น)


 


หากเราห้ามพระมิให้ต่อเน็ตเข้ากุฏิ(ซึ่งจริงๆแล้วก็คงห้ามไม่ได้หรอกพราะสามารถใช้ระบบไร้สายหรือ wirelessได้) ก็คงต้องห้ามอะไรๆอีกหลายอย่าง อาทิ ห้ามพระอยู่องค์เดียวหรือเข้าไปในห้องน้ำองค์เดียวเพราะอาจจะล่วงอาบัติสังฆาทิเสสด้วยการทำมิดีมิร้ายต่อตนเอง เป็นต้น


 


ศาสนจักรกับอาณาจักรเป็นของคู่กัน เมื่อใดศาสนจักรครอบงำอาณาจักร เมื่อนั้นก็อาจได้เห็นคนถูกทำโทษด้วยเหตุที่ทำไม่ถูกใจ เช่น การถูกเผาให้ตายทั้งเป็นด้วยข้อหา "แม่มด" หรือถูกแอนตี้จากวัดและชุมชนด้วยข้อหาว่าเป็น "ปอบ"บ้าง ฯลฯ และในทำนองกลับกัน เมื่อใดอาณาจักรครอบงำศาสนจักรหรืออีกนัยหนึ่งก็คือฆราวาสปกครองพระ เราก็จะเห็นความปั่นป่วนวุ่นวายทุบตีทำร้ายพระสงฆ์ ดังเช่น ในพม่าหรือในทิเบต เป็นต้น


 


เราจะยอมให้เป็นเช่นนั้นล่ะหรือ


 


-------------------------


 


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net