Skip to main content
sharethis







รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

สมบูรณ์ ศิริประชัย


บรรณาธิการ


 


เอกสารวิชาการหมายเลข 19


โครงการ WTO Watch


(จับกระแสองค์การการค้าโลก)


พฤษภาคม 2551


178 หน้า

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์


 


การเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiations) นับตั้ง GATT มีผลบังคับใช้ในปี 2491 เป็นต้นมา มีเป้าประสงค์ในการขยายระเบียบการค้าระหว่างประเทศบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม โดยที่ในระยะหลังระเบียบดังกล่าวนี้มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปครอบคลุมปริมณฑลนอกการค้าระหว่างประเทศในความหมายดั้งเดิม การเจรจารอบโดฮาสืบทอดมรดกทางประวัติศาสตร์ของการเจรจาการค้าพหุภาคีดังกล่าวนี้ ด้านหนึ่ง การเจรจารอบโดฮาพยายามขยายปริมณฑลของระเบียบการค้าเสรี อีกด้านหนึ่ง พยายามบรรจุ Singapore Issues เข้าสู่ระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามผลักดันการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศในแนวทางที่เอื้อผลประโยชน์แห่งชาติตน จนบางกรรมบางวาระถึงกับหลงลืมคำประกาศเจตนารมณ์ของการเจรจารอบโดฮาที่ต้องการให้เป็นรอบแห่งการพัฒนา (Development Round) โดยกำหนดเข็มมุ่งในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศด้อยพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (The Least Developed Countries)


 


ประสบการณ์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจารอบโดฮาหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด


 


คำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ เกือบจะเป็นคำถามเดียวกับคำถามที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือไม่


 


สมาชิกองค์การการค้าโลกต้องปฏิบัติตามกฎกติกาชุดเดียวกัน (Level Playing Field) การค้าระหว่างประเทศภายใต้การดูแลขององค์การการค้าโลกเป็นระบบที่ยึดกฎกติกาเป็นที่ตั้ง (Rule-Based Trading System) ประเทศด้อยพัฒนาที่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ระบบดังกล่าวนี้ย่อมต้องมีความสามารถในการแข่งขัน หากไม่สามารถปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความได้เปรียบเทียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ได้ ย่อมยากที่จะได้ประโยชน์จากระบบการค้าเสรี ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในฐานะเช่นที่ว่านี้ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัยได้ให้บทเรียนแก่ประเทศโลกที่สามว่า จะต้องไม่ผลีผลามรับระเบียบการค้าเสรี เพราะนอกจากไม่แน่ว่าจะอยู่รอดทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น หากยังต้องเผชิญกับการเล่นแร่แปรธาตุของประเทศมหาอำนาจในการหาประโยชน์จากกฎกติกาองค์การการค้าโลกอีกด้วย


 


ประเทศมหาอำนาจพยายามโน้มน้าวให้ประเทศด้อยพัฒนาเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และเดินแนวทางการพัฒนาโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ประเทศด้อยพัฒนาที่จำต้องพึ่งพิงเงินกู้จากองค์กรโลกบาล ดังเช่นธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อยู่ในภาวะจำยอมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามฉันทมติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถีบตัวเป็นเมนูนโยบายเศรษฐกิจหลักของโลกนับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ประเทศมหาอำนาจและองค์กรโลกบาลพยายามเผยแพร่ความเชื่อที่ว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศช่วยเพิ่มพูนสวัสดิการทางเศรษฐกิจแก่ประเทศคู่ค้า อีกทั้งยังมีการผลิตงานวิชาการที่ให้ข้อสรุปว่า การเปิดเสรีแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการถูกผูกมัดและโดยปราศจากปฏิบัติการต่างตอบแทน (Unilateral Liberalization) ให้ประโยชน์แก่ประเทศมากยิ่งกว่าการเปิดเสรีที่ถูกผูกมัดและที่มีปฏิบัติการต่างตอบแทนจากประเทศคู่ค้า หากการเปิดเสรีชนิด "ข้าไปคนเดียว" ให้ประโยชน์มหาศาลจริงแท้แน่นอน เหตุไฉนประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จึงไม่เลือกเส้นทางการเปิดเสรีชนิด "ฉายเดี่ยว" โดยไม่ต้องนำพาว่าประเทศคู่ค้าเปิดเสรีตามไปด้วยหรือไม่ และโดยไม่ต้องนำพาในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกติกาขององค์การการค้าโลกให้ยุ่งยาก


 


ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจา อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลการเจรจา


 


ประเด็นการเจรจาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ หากเป้าประสงค์ในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่การเปิดตลาดและการส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัว ประเด็นการเจรจาเกือบจะเป็นชุดเดียวกับที่เจรจาในรอบโดฮา แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่การเกื้อกูลให้ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาพ้นจากความยากจน ประเด็นการเจรจาย่อมแตกต่างจากชุดที่กำลังเจรจาในรอบโดฮา Rodrik (2004) และ Stiglitz and Charlton (2005) วิพากษ์ประเด็นการเจรจาในรอบโดฮาว่า มิได้เกื้อกูลกระบวนการพัฒนาของประเทศยากจน Rodrik (2004) ชี้ให้เห็นว่า การจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศโดยมุ่งประเด็นการเปิดเสรีตลาดการค้าสินค้าเกษตรให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียงบางประเทศเท่านั้น หาได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมดไม่ เพราะประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากมิได้ส่งออกสินค้าเกษตร ในทัศนะของ Rodrik (2004) การเจรจารอบโดฮาจะได้ชื่อว่าเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" (Development Round) ก็ต่อเมื่อจับประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศโดยเสรีเป็นประเด็นหลัก อีกทั้งต้องเปิดให้ประเทศด้อยพัฒนามีพื้นที่ในการกำหนดนโยบายของตนเอง (Policy Space) มิใช่กำหนดกฎกติกาขององค์การการค้าโลกเพื่อรัดรึงประเทศด้อยพัฒนาจนไม่มีอธิปไตยในการเลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเอง ในการนี้จำเป็นต้องยอมรับความแตกต่างด้านสถาบันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ด้วยเหตุที่ประเด็นการเจรจารอบโดฮามิได้ให้ประโยชน์โดยตรงแก่ประเทศในโลกที่สาม Rodrik (2005) จึงมีความเห็นว่า หากการเจรจารอบโดฮาจบลงด้วยความล้มเหลวก็มิใช่เรื่องอันควรแก่การเสียดายแต่ประการใด


 


Stiglitz and Charlton (2005) เสนอความเห็นว่า ประเด็นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจำนวนมากมิได้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อเกื้อกูลการพัฒนาและการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศด้อยพัฒนา ประเด็นที่สร้างต้นทุนแก่ประเทศด้อยพัฒนาและสมควรที่จะเรียกร้องให้ยกเลิกการเจรจา ได้แก่


 


(1)        ความตกลงด้านการลงทุน


(2)        กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา


(3)        การเปิดเสรีการค้าบริการ


(4)        มาตรการต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับการค้า เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ฯลฯ


(5)        การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงิน


 


กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้ง Rodrik (2004; 2005) และ Stiglitz and Charlton (2005) มีความเห็นว่า วาระการเจรจารอบโดฮาที่กำลังดำเนินการอยู่มิได้ให้ประโยชน์ขั้นรากฐานแก่ประเทศด้อยพัฒนาหากต้องการให้รอบโดฮาเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเด็นและวาระการเจรจาใหม่


นอกเหนือจากประเด็นการเจรจาแล้ว ผลการเจรจานับเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดผลประโยชน์ที่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกได้รับ การเจรจารอบโดฮาที่ผ่านมาเน้นประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร เนื่องจากประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งนำโดยกลุ่ม G20 และกลุ่มอื่นๆ ไม่ยอมเจรจาประเด็นภายใต้ Singapore Issues กระนั้นก็ตาม ประเทศมหาอำนาจพยายามผลักดันประเด็นการเปิดเสรีตลาดสินค้าที่มิใช่สินค้าเกษตร (Non-Agricultural Market Access: NAMA) รวมตลอดจนการเปิดเสรีการค้าบริการ และการยอมรับกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าการเจรจารอบโดฮาจะผ่านพ้นมาเกินครึ่งทศวรรษ แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้


 


เมื่อการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาเริ่มต้นในปี 2544 ประเทศมหาอำนาจโหมโฆษณาว่า ประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์จากนโยบายการค้าเสรีอย่างมหาศาล ประหนึ่งว่า ประเทศด้อยพัฒนาอุดมด้วยอวิชชา และไม่ตระหนักถึงประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากนโยบายการค้าเสรี ธนาคารโลกเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการโฆษณานี้ รายงานเรื่อง Global Economic Prospects 2004: Realizing the Development Promise of the Doha Agenda ขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ เสนอผลการวิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจะให้ประโยชน์แก่ภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกอย่างมหาศาล และสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรนี้ตกแก่ประเทศด้อยพัฒนาเป็นสำคัญ (World Bank 2003) รายงานนี้ก่อให้เกิดวิวาทะในวงวิชาการเป็นอันมาก ประเด็นการถกเถียงที่สำคัญ ก็คือ การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกมากมหาศาลจริงหรือ และประเทศด้อยพัฒนาเป็นผู้ได้ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญจากรอบโดฮาจริงหรือ นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเศรษฐศาสตร์พากันดาหน้าออกมาวิพากษ์ World Bank (2003) ข้อวิจารณ์ที่สำคัญ ก็คือ World Bank (2003) ประมาณการผลได้ผลเสียจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาจากข้อมูลที่ไม่ทันสมัย World Bank (2003) พบว่า ประโยชน์ในสัดส่วนสำคัญที่ได้จากรอบโดฮาเกิดจากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตร แต่ World Bank (2003) มิได้ตระหนักว่า ประเทศด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว กำแพงภาษีโดยข้อเท็จจริงต่ำอยู่แล้ว ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการลดกำแพงภาษีสินค้าเกษตรจึงมิได้มีมากดังผลการประมาณการของ World Bank (2003) ในประการสำคัญ มีความเคลื่อนไหวในสังคมเศรษฐกิจโลกในการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี ซึ่งมีผลในการลดกำแพงภาษีในหมู่ภาคีสมาชิก


 


ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้วงวิชาการมีข้อกังขาอย่างสำคัญเกี่ยวกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา เมื่อมีการพัฒนาฐานข้อมูลให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จึงมีการศึกษาประเด็นนี้จากฐานข้อมูลใหม่ ผลการศึกษาพบว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากรอบโดฮามิได้มีมาก ในประการสำคัญประโยชน์ตกแก่ประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศด้อยพัฒนา (Ackerman 2005; Polaski; 2006)


แบบจำลองที่นิยมใช้ในการประเมินผลกระทบอันเกิดจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอันเป็นผลจากการเจรจารอบโดฮาเป็น Computable General Equilibrium (CGE) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Global Trade Analysis Project Model (GTAP) และอาศัยฐานข้อมูลจาก GTAP Dataset การใช้ฐานข้อมูลที่ต่างกันทำให้ผลการวิเคราะห์แตกต่างกัน GTAP Dataset Version 5 ใช้ข้อมูลปี 2540 เป็นฐาน ในขณะที่ Version 6 ใช้ข้อมูลปี 2544 เป็นฐาน ความแตกต่างสำคัญ ก็คือ กำแพงภาษีในสังคมเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นอันมากระหว่างปี 2540-2544 ทั้งนี้เป็นผลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาคี การใช้ข้อมูลจาก GTAP Dataset Version 6 จะทำให้ประมาณการประโยชน์สุทธิที่ได้จากการเจรจารอบโดฮามีไม่มากเท่าการใช้ข้อมูลจาก Version 5


 


ความข้างต้นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่าง World Bank (2003) กับ Anderson and Martin (2006) ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกในเดือนกันยายน 2546 ธนาคารโลกชี้นำให้ประเทศด้อยพัฒนายอมรับการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรโดยอ้างว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของสังคมเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 500,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) ในขณะที่ World Bank (2003: 131) สรุปว่า สวัสดิการทางเศรษฐกิจของโลกที่เพิ่มขึ้นจากการเจรจารอบโดฮาอยู่ระหว่าง 400,000 - 900,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน โดยที่มากกว่าครึ่งหนึ่งตกแก่ประเทศด้อยพัฒนา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ณ นครฮ่องกงในเดือนธันวาคม 2548 นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการองค์กรโลกบาลแห่งนี้อ้างผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า การขจัดกำแพงภาษีและเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรจะทำให้สวัสดิการของสังคมเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น 574,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน (Suppan 2005) บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮามิได้มีมากดังที่อวดอ้างกัน


 


ด้วยเหตุที่ World Bank (2003) ถูกวิพากษ์และโจมตีเป็นอันมาก ธนาคารโลกจึงจัดการให้มีการวิจัยใหม่โดยใช้ข้อมูลที่ทันสมัยมากกว่าเดิม ทั้งนี้ภายใต้การอำนวยการของศาสตราจารย์คิม แอนเดอร์สัน (Kym Anderson) แห่ง University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย งานวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ทยอยปรากฏสู่โลกวิชาการ โดยที่มีการปรับปรุงข้อมูลและการวิเคราะห์ตามลำดับ (Anderson and Martin 2005; Anderson, Martin, and Valenzuela 2006; Anderson, Martin, and van der Mensbrugghe 2006; Anderson and Valenzuela 2006) ผลงานวิจัยเหล่านี้รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ดังปรากฏใน Anderson and Martin (2006) ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า การเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ประกอบกับการเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรจะให้ประโยชน์แก่สังคมเศรษฐกิจโลกเพียง 55,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน คิดเป็นประมาณ 0.13% ของ World GDP ในจำนวนนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์อเมริกัน ซึ่งมีไม่ถึง 22% ของประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Hertal and Keeney 2006) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮาตามประมาณการใหม่นี้ต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก ยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า การเจรจารอบโดฮาไม่สามารถผลักดันให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจารอบนี้ยิ่งต่ำลงไปอีก ด้วยเหตุดังนี้ การเจรจารอบโดฮามิอาจเป็น "รอบแห่งการพัฒนา" ได้ เพราะช่วยแก้ปัญหาความยากจนในสังคมเศรษฐกิจโลกได้เพียงน้อยนิด ทั้งๆที่ผลการวิจัยออกมาเช่นนี้ Anderson and Martin (2006: 384) ยังคงกล่าวสรุปว่า "…The potential gains from further global trade reform are large…" จนถูกวิพากษ์โดย Bureau (2006)


 


ผลการศึกษาของ Anderson and Martin (2006) ประกอบกับ Ackerman (2005) และ Polaski (2006) ยังความยินดีปราโมทย์แก่ขบวนการประชาสังคมที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก และลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ในประเทศต่างๆ งานศึกษาผลประโยชน์อันคาดว่าจะได้จากการเจรจารอบโดฮา ถึงจะพยายามธำรงลักษณะวิชาการมากเพียงใดในท้ายที่สุดมิอาจปฏิเสธได้ว่ามีลักษณะการเมืองอย่างเด่นชัด ด้านหนึ่งผู้คนที่ต่อต้านองค์การการค้าโลก ต่อต้านกระบวนการโลกานุวัตร และต่อต้านลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างประทศมิได้ให้ประโยชน์แก่ประเทศโลกที่สามอย่างสำคัญ ในอีกด้านหนึ่งผู้ที่ขับเคลื่อนกระบวนการโลกานุวัตรและสนับสนุนลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมสมัยใหม่ล้วนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบการค้าเสรีให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ร่วมกัน ดังที่ธนาคารโลกพยายามโหมประโคมว่า การเจรจารอบโดฮาจะให้ประโยชน์แก่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างมหาศาล


หากองค์การการค้าโลกขยายระเบียบการค้าเสรี ภาคีสมาชิกต้องมีภาระในการปรับโครงสร้างการผลิต โดยผันทรัพยากรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบไปสู่กิจกรรมที่ยังมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ มิพักต้องกล่าวว่า การปรับโครงสร้างการผลิตอาจมีปัญหาและอุปสรรคทางด้านสถาบันและการเมืองภายในประเทศ หากพิจารณาจากแง่มุมของประเทศด้อยพัฒนา ต้นทุนการปรับโครงสร้างการผลิตดังกล่าวนี้อาจสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนามากที่สุด ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ย่อมมีประเทศที่ได้รับประโยชน์และประเทศที่เสียประโยชน์ แต่ GATT/WTO รวมทั้งชุมชนระหว่างประเทศไม่เคยสร้างกลไกในการถ่ายโอนส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์ไปช่วยเหลือประเทศที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เสียประโยชน์ที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา


 


หากองค์การการค้าโลกขยายปริมณฑลของกฎกติกาออกไปจากปริมณฑลเดิม ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบาย (Policy Space) เพิ่มขึ้น ต้นทุนอันเกิดจากการสูญเสียปริมณฑลด้านนโยบายดังกล่าวนี้อาจสูงมากสำหรับประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ (Di Caprio and Gallagher, 2006; Gallagher, 2005, Gallagher, 2007, Hoekman, 2005) การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยพื้นฐานต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายอยู่แล้ว เพราะต้องปฏิบัติตามกฎกติกาขององค์กรโลกบาลแห่งนี้ ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงกฎกติกาขององค์การการค้าโลก ดังนั้นการขยายปริมณฑลของกฎกติกาองค์การการค้าโลกย่อมทำให้ภาคีสมาชิกต้องสูญเสียพื้นที่การดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น จนท้ายที่สุดไม่มีอธิปไตยในการกำหนดนโยบายของตนเองเพราะถูกรัดรึงโดยกฎกติกาองค์การการค้าโลก จนไม่สามารถเลือกเส้นทางการพัฒนาเส้นทางอื่นที่มิได้กำกับโดยฉันทมติวอชิงตัน ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจกดดันให้ประเทศโลกที่สามดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีในปริมณฑลต่างๆ แต่ประเทศเหล่านี้ ทั้งยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาล้วนมีประสบการณ์ในการปกป้องอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเทศ แม้จนทุกวันนี้ นโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมซึ่งขัดต่อปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ก็ยังคงดำรงอยู่


 


การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา ดุจเดียวกับการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบก่อนหน้านี้ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้ประโยชน์มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ส่วนผู้เสียประโยชน์ก็เช่นเดียวกันที่มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเด็นการเจรจาและข้อตกลงในการจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศใหม่ ผลการศึกษาในช่วงหลังให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเจรจารอบโดฮามิได้มีมากเท่าการประโคมข่าวในช่วงต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประโคมข่าวของธนาคารโลก


 


หนังสือเล่มนี้นำเสนอการเก็บความงานวิชาการรายการสำคัญที่ประมาณการประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยผู้อ่านเข้าใจความเคลื่อนไหวและความเป็นไปในวงวิชาการในประเด็นการศึกษาผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮา


 


 


หมายเหตุ   เอกสารวิชาการชุดนี้เป็นผลงานของโครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)


 


หาอ่านเอกสารนี้ได้จาก http://www.thailandwto.org/Doc/Pub/Pub/AcademicPaper_19.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net