Skip to main content
sharethis

ทิพย์สิริ มันปาสิทธิ์
 สำนักข่าวประชาธรรมและโลคัลทอล์ค
 


ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หรือปรากฏการณ์โลกร้อน เริ่มเป็นที่ตระหนักชัดแล้วว่ามันกำลังนำหายนะภัยมาสู่มวลสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกนำมาเป็นหัวข้อสำคัญในการเสวนาของหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อหาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต


กรณีของประเทศไทย มีหนึ่งในแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่ถูกชูเป็นวาระระดับชาติด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้นำกับ "นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า" เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซและสารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก


โดยการใช้พันธุ์ไม้โตเร็วปลูกป่า และไม้โตเร็วเหล่านั้นต้องสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อีกด้วย แต่ในทางกลับกัน กรอบคิดการขยายพื้นที่ป่าที่ผนวกเข้ากับความต้องการแสวงหาความมั่นคงทางพลังงานนี้ ได้สร้างความสงสัยและเกิดข้อกังวลขึ้นมาว่า เป็นนโยบายที่เน้นแต่การส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อตอบสนองการบริโภค แต่อาจไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรัฐเองไม่ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งมั่นลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังเลย...      


ขยายป่าไม้โตเร็ว - ทางเลือกพลังงานที่ไม่ลดโลกร้อน


เมื่อช่วงปลายปี 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกมาประกาศ "ทิศทางไทยสู้ภัยโลกร้อน" เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินนโยบายและแนวปฏิบัติตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550-2554 โดยมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติสำหรับภาคส่วนต่างๆ 4 ภาคส่วน คือ 1. ภาคพลังงาน 2. ภาคอุตสาหกรรม 3. ภาคเกษตรกรรม และ 4. ภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียว


โดยในภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ให้มีการเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วยการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง โดยดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริด้านป่าไม้ รวมทั้งจะดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูตามมาตรการอื่นๆ มุ่งเน้นการปลูกป่าและรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชนเมือง [1]


ภายหลังต่อมา นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็ออกมาแถลงมอบนโยบายให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ป่าที่เคยถูกทำลาย เพื่อหาขอบเขตพื้นที่ป่าที่ชัดเจนที่จะใช้ในการวางแผนด้านการส่งเสริมการปลูกป่าและฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของ FAO ที่ระบุจำนวนพื้นที่ป่าที่สมดุลของไทยควรจะมีไม่น้อยกว่า 128 ล้านไร่ ของจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย 320.7 ล้านไร่


นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการปักหมุดเขตแดน ของป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าให้เสร็จภายใน 2 ปี รวมทั้งการจัดการที่ดิน ส.ป.ก.ให้ถูกต้องตามมติ ครม. เพื่อให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกป่า โดยเฉพาะให้ปลูกไม้โตเร็ว เพื่อนำไปใช้ในโครงการโรงใช้ไฟฟ้าชีวมวล [2]


อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางในการเพิ่มพื้นป่าเพื่อลดภาวะโลกร้อนตามนโยบายของหน่วยงานรัฐตามที่ประกาศไว้ มีลักษณะสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการลดปัญหาโลกร้อน กล่าวคือ การขยายพื้นที่ป่าสัมพันธ์กับการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานเพื่อการค้า เมื่อเป็นดังนั้น ย่อมหมายถึงการปลูกป่าในลักษณะพืชเชิงเดี่ยวที่ขาดองค์ประกอบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งลักษณะป่าเช่นนี้มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าป่าที่มีความสมดุลของระบบนิเวศน์อยู่แล้ว ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อดิน และน้ำ


ไม่เพียงเท่านั้น การนำไม้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานจำเป็นต้องตัดโค่น และเวียนสลับกับการปลูกใหม่อยู่เสมอ และที่สำคัญกระบวนการนำเนื้อไม้มาเผาเพื่อให้ได้ความร้อนไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ยังไม่สามารถแก้ข้อสงสัยว่าจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างไร หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ในเมื่อพื้นที่ป่าปลูกเพื่อหวังให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซนี้กลับกลายเป็นป่าที่ถูกนำมาใช้เพื่อการผลิตพลังงานเสียเอง ถูกตัดแล้วปลูกอีก วนซ้ำไปมา เนื้อที่ป่าสมบูรณ์ก็ไม่มีวันเป็นจริง


เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) กล่าวว่า นโยบายการขยายพื้นที่ปลูกป่าไม้ที่ควบคู่ไปกับแนวคิดการนำไม้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือก เพื่อนำมาทดแทนการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ยุคขาดแคลนพลังงานในช่วงปี 2517-2518 แล้ว กระนั้น การปลูกป่าหรือพืชเพื่อนำมาผลิตพลังงาน ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะราคาน้ำมันก็ถูกลง จึงกลับมาใช้น้ำมันกันอีก


ส่วนนโยบายปลูกพืชพลังงานก็ล้มเลิกไป แต่นั่นก็เป็นความคิดที่ดี ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคิดทบทวนให้มาก และรอบด้านยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้วิกฤตปัญหาการขาดแคลนพลังงาน แต่รวมไปถึงปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกิน เกษตรกรรายย่อยแข่งขันสู่ทุนเกษตรขนาดใหญ่ไม่ได้ ขาดทุนเป็นหนี้สิน แต่รัฐต้องคำนึงถึงปัญหาพลังงาน สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันด้วย


ทั้งนี้ การขีดพื้นที่เพื่อการปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อนำมาผลิตพลังงานทดแทน ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานจะแก้ไม่ได้มากแล้ว กลับก่อปัญหาต่างๆ ขึ้นมาด้วย


อาทิ การปลูกไม้เนื้ออ่อน ชนิดเดียวขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่ จะนำมาสู่ปัญหาเรื่องน้ำ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ พืชบางชนิดยังเพิ่มอุณหภูมิในบรรยากาศให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งหากลองเดินเข้าไปในป่ายูคาลิปตัส ก็จะพบว่าอุณหภูมิสูงกว่าป่าตามธรรมชาติ อีกทั้งยังไม่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนฯ ในชั้นบรรยากาศ เพราะว่าปลูกขึ้นมาแล้วก็ตัดไป


"ผมคิดว่านโยบายการปลูกป่า ต้องมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงเพื่อแค่วัตถุประสงค์เดียวที่มุ่งนำไปผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งไม่ได้ช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่ปรากฏกลับเป็นการปลูกป่าพืชพลังงาน ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ดูดน้ำใช้ในปริมาณมาก ทำให้แหล่งน้ำในหลายพื้นที่แห้งขอด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกิน พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว 


"ป่า" องค์รวมระบบนิเวศน์ที่ไม่แยกส่วน


สภาพปัญหาป่าไม้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ได้เป็นที่มาของแนวคิดการปลูกป่าลดโลกร้อนจนเรียกได้ว่าฮิตติดเทรนด์อยู่ในทุกๆ ภาคส่วนของสังคมไปแล้ว ทว่าในการปลูกป่า เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "ป่า" ที่มิใช้เพียงพื้นที่ที่มีต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่มีองค์ประกอบของระบบธรรมชาติที่เกื้อกูลสัมพันธ์กัน และไม่แยกขาดจากกัน


องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations) ให้ความนิยามว่า "ป่า" หมายถึง "บรรดาพื้นที่ที่มีพฤกษชาตินานาชนิดปกคลุมอยู่โดยมีไม้ต้นขนาดต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญโดยไม่คำนึงว่าจะมีการทำไม้ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม สามารถผลิตไม้หรือมีอิทธิพลต่อลมฟ้า"


นอกจากนี้ ป่าไม้คือพื้นที่หรืออาณาบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้หลายชนิดและมีขนาดลดหลั่นกันลงมา รวมทั้งมีสัตว์ป่านานาชนิดเป็นองค์ประกอบ เป็นระบบนิเวศวิทยาขนาดใหญ่ ที่มีการสร้างและถ่ายทอดพลังงานอย่างสมดุล ป่าไม้เป็นต้นกำเนิดชีวิต เป็นแหล่งพลังงาน แหล่งอาหาร ยา-สมุนไพร เป็นต้นแม่น้ำ ลำธาร ยังคอยดูดซับความชื้น เป็นเครื่องปรับอากาศปอดของโลกอีกด้วย


ถึงแม้ว่าเราจะจัดป่าไม้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่สามารถสร้างขึ้นทดแทนขึ้นใหม่ได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน หากมนุษย์ใช้ทรัพยากรป่าไม้โดยปราศจากการดูแลรักษา หรือขาดการจัดการอย่างถูกต้องและยั่งยืน ย่อมส่งผลให้ป่าไม้เสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งผลเสียที่กระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศน์จะเป็นไปอย่างรุนแรง จนไม่อาจควบคุมภัยธรรมชาติต่างๆได้ [3]


ด้านนายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สภาพความสมดุลของป่าสำหรับประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ หรือ ควรมีพื้นที่ป่าอย่างน้อยประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และไม่ควรมองว่าสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์นี้จะเป็นพื้นที่ป่าอย่างเดียวโดยแยกส่วนออกจากชุมชนอย่างชัดเจน


เราไม่ควรแยกป่าและคนหรือชุมชนออกจากกัน ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ ภูมิประเทศส่วนใหญ่กว่า 85 เปอร์เซ็นต์เป็นพื้นที่สูง เป็นภูเขา เป็นพื้นที่ป่าที่ต้องรักษาไว้เป็นเขตต้นน้ำ ส่วนพื้นที่ราบ ป่าก็ถูกถางออกจนหมด กลายเป็นชุมชน หรือเมือง อยู่ในลักษณะที่ป่าปราศจากชุมชน ชุมชนก็ไม่มีป่า


"ป่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม "ป่า" ไม่ใช่เพียงวัตถุ หรือต้นไม้เท่านั้น ต้นไม้อย่างเดียวก็ไม่ถือว่าเป็น "ป่า" แต่ต้นไม้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญหนึ่งในสามของป่า ซึ่งประกอบด้วย 1. ลักษณะทางกายภาพ ดิน หิน น้ำ 2. องค์ประกอบทางชีวภาพ คือ ต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ และ 3. จิตวิญญาณ ของมนุษย์ สัตว์ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในป่า "ป่า" จึงจะสมบูรณ์ได้ ทุกพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอหรือจังหวัดใดๆ ควรมีป่า ไม่ใช่อนุรักษ์ให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมีแต่ป่า และอีกพื้นที่หนึ่งทำลายป่า นอกจากนี้ สวนไม้ยืนต้น สวนยางพารา สวนยูคาลิปตัส หรือสวนปาล์มน้ำมันก็ไม่ถือว่าเป็นป่า" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว 


พลังงานหมุนเวียน ทางเลือกที่ไม่ทำลายป่า


ในขณะที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพืชพลังงานเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือก เช่น น้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการบุกรุกพื้นที่ป่าหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญโดยเฉพาะในภาคใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนนโยบายรัฐที่ยังมีความลักลั่นและไม่ชัดเจน ในการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนไปพร้อมกับการมีใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงน่าเป็นห่วงยิ่งว่า ทิศทางในการส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่ห้อยมาตรการสิ่งแวดล้อมไว้ข้างท้ายเพียงแค่ให้ดูน่าเชื่อถือ จะจบลงด้วยหายนะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยากจะกู้คืน 


นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ในภาวะน้ำมันแพง และโลกเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงหนทางออกทางเดียว ในขณะเดียวกัน กระแสพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน กลับยังไม่ได้มีเป้าหมายที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ แต่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจ และการลงทุนเพื่อแสวงหากำไรจากการปลูกพืชพลังงานมากกว่า พอปลูกพืชพลังงานเหล่านี้แล้วขายในประเทศไทยได้ราคาไม่ดี ก็นำไปขายให้กับต่างประเทศ แล้วเมืองไทยจะได้ประโยชน์อะไร?


อย่างไรก็ตาม ทางเลือกด้านพลังงานในส่วนของเกษตรกร หรือชุมชน ตนเห็นว่าควรจัดสรรพื้นที่การเพาะปลูกด้วยพืชพันธุ์ที่หลากหลาย ไม่ควรมุ่งเป้านำพื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดไปปลูกพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย หรือ ต้นทานตะวัน เท่านั้น แต่ต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชอย่างหลากหลาย ให้มีทั้งพืชอาหาร เช่น ข้าว และพืชพลังงานร่วมด้วย เกษตรกรจึงจะสามารถอยู่ได้


นอกจากนี้ บทบาทในการลดโลกร้อน ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ต้องมีส่วนร่วมอยู่แล้ว และสิ่งที่ควรทำ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งต้องดำเนินการก่อน หรือควบคู่ไปกับนโยบายการผลิตพลังงานทดแทนเสียอีก


รวมทั้ง การแสวงหาแนวทางการผลิตพลังงานทางเลือกที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ภาคกลาง ในสมัยอดีตต่างก็ใช้กังหันน้ำและลมเพื่อทำการเกษตรทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์มองข้ามเทคโนโลยีพื้นบ้านเหล่านี้ รัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยพัฒนาในจุดนี้ และไม่มุ่งมั่นพัฒนาการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมมาใช้อีกด้วย


"รัฐไทยมีหน้าที่วิจัย คิดค้น พัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย รวมไปถึงการปรับปรุงเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมที่ยังล้าสมัย และใช้พลังงานสูง ให้ต้องลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน เช่น สถานการณ์เรื่องวิกฤตพลังงาน หรือแม้แต่ป่าไม้ที่กำลังถูกทำลาย ประชาชนควรได้รับข่าวสารเหล่านี้ด้วย รวมไปถึงการให้ข้อมูลข้อเท็จริงเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกต่างๆ เช่น "พลังงานนิวเคลียร์" ซึ่งกำลังเป็นถูกให้เป็นพลังงานทางเลือกอย่างหนึ่ง แต่ก็มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน ฉะนั้นต้องมีการอธิบายให้เหตุผลว่ามีผลดี และผลกระทบอย่างไรบ้าง ให้แก่ประชาชนได้รับรู้" นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย  

เชิงอรรถ
[1] สัมมนาทิศทางประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 19 กันยายน 2550. http://tonprik.org/paper/1356
[2] ทส.เร่งแผนปลูกป่าสั่งกรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ สำรวจพื้นที่, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 3 มีนาคม 2551. http://www.bangkokbiznews.com/2008/03/04/WW83_8302_news.php?newsid=235542
[3] ความสามารถในการดูดซับกาซคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าไม้ โดย ครูโอ. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2551. http://www.ekapanya.ac.th/environmental.doc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net