Skip to main content
sharethis

ณรงค์ แก้ววัด


 


 


บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นจากความอนาถใจในสภาพของ "ภาคประชาชน" ที่กลายเป็นซากศพไปแล้ว ภายใต้เงาทะมึนของมหากาพย์สงครามการเมืองไทยที่ยังไม่ถึงจุดจบ ผู้เขียนขอสารภาพว่า ใช้นามปากกาเพราะไม่กล้าเผยตัวต่อสาธารณะท่ามกลางความขัดแย้งขณะนี้ แต่สิ่งที่เป็นเหตุผลหลักมากกว่าในการไม่ระบุชื่อจริงก็คือ มันจะเป็นการลดทอนสติสัมปชัญญะของผู้อ่านที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะละวางจากทั้งอคติและฉันทาคติใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการ "อ่าน" สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะสื่อออกไป


 


หมายเหตุ


 


1.     ตัวอักษรสีน้ำเงิน อ้างอิงจาก พิภพ ธงไชย: ชายขอบโกลาหล, แท็บลอยด์ ไทยโพสต์, 8 มิ.ย 51 ซึ่งเป็นการโต้แย้งการให้สัมภาษณ์ของประพาส ปิ่นตบแต่ง (วิเคราะห์พันธมิตรฯ-ภาคประชาชน และไปให้พ้น 2 ขั้ว) ในพื้นที่สาธารณะแห่งเดียวกันเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.51


 


2.     ผู้เขียนมิได้เป็นผู้บัญญัติคำว่าชนชั้นใดๆ ทั้งสิ้นในบทความนี้


 


.........................


 


 


คุณก็ไม่ชอบทักษิณเหมือนกันไม่ใช่หรือ ทำไมไม่มาร่วมกับเรา มาวิจารณ์เราทำไม …"


 


คำปราศรัยในค่ำคืนระอุแห่งไอร้าวฉานภายในของ "ภาคประชาชน" คงก่อให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลายตามแต่อารมณ์ มุมมอง และจุดยืนทางการเมืองของผู้ที่รับฟังอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้สัมผัสกันได้ชัดเจนก็คือ ณ วันนี้ คงเป็นเรื่องยากเสียแล้วสำหรับความพยายามที่จะเยียวยาความขัดแย้งภายในระหว่าง "พี่ใหญ่เอ็นจีโอ" ที่สวมเสื้อเหลืองในกีฬาสีการเมืองภายใต้เกมการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับ บรรดา "น้องๆ" อีกไม่ทราบจำนวนที่บางคนเพียงแค่ "กล้า" ที่จะแสดงความเห็นต่างต่อพี่ใหญ่ของพวกเขาเท่านั้น ก็ถึงกับถูกโต้ตอบด้วยท่าทีที่ล่วงล้ำเข้าสู่ปริมณฑลแห่งการโจมตีศัตรู


 


มิหนำซ้ำยังถูกราดน้ำมันบนกองไฟด้วยนักวิชาการที่น่าสนใจเป็นพิเศษในพัฒนาการทางความคิด/ปรัชญาทางการเมืองของเขา 2 รายคือ ไชยันต์ ไชยพร และภูวดล ทรงประเสริฐ ซึ่งรายหลังนี้ ยังคงได้ขึ้นเวทีทุกคืนเพื่อด่ากราดอย่างสาดเสียเทเสียต่อทุกผู้คนที่มีความคิดเห็นต่างจากตน ชนิดสิ้นลายเสือเก่ามาร์คซิสต์ที่หลายคนเคยเคารพ... อย่างล่อนจ้อน


 


 


เห็นต่างคือศัตรู เห็นตามคือสมานฉันฑ์


 


"ในพันธมิตรฯ ช่วงนั้นผมก็เห็นว่า ทาง ครป.รวมทั้งสุวิทย์ วัดหนู แม้จะมี Conflict บ้าง สุริยะใสหรือคนอื่นๆ ที่ยืนอยู่ตรงนั้นก็บอกว่าเราจะไม่เอาเรื่องที่เคยเห็นต่างกันมาแตกกันในระหว่างการทำสงคราม บางเรื่องให้เป็นยุทธวิธีไป เพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ใหญ่ ต้องฟังหรือตกลงเห็นพ้องร่วมกันว่ายุทธศาสตร์ใหญ่คือเรื่องจัดการทักษิณ"


 


สำหรับพี่ใหญ่ การเกลียดทักษิณ ดูเหมือนจะกลายเป็นเหตุผลแห่งความชอบธรรมที่จะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างทางการเมือง เพื่อไล่ระบอบทักษิณ ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีสิทธิที่จะมาเห็นว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย... ไม่-มี-ความ-ชอบ-ธรรม


 


"เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเราก็รู้ว่าถูกตัดสินโดยสังคมด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เห็นว่าพรรคพลังประชาชนไม่ควรเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยมาครองอำนาจ จึงนำไปสู่การขับไล่รัฐบาลด้วย"


 


และเรา ในที่นี้หมายถึงใคร พี่ใหญ่ได้เคารพความเห็นต่างในเรื่องนี้หรือไม่ หรือความเห็นต่างในเรื่องนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความเห็นของศัตรู


 


เสียงอะไรก็ตามที่แตกต่างจากบนเวทีพันธมิตรฯ นั่นคือเสียงแห่งการบ่อนเซาะทำลาย สร้างเงื่อนไขแห่งความพ่ายแพ้ของฝ่ายพันธมิตรฯ ทั้งสิ้น


 


แล้วเหตุใดเล่า ความชอบธรรมของพันธมิตรฯ จึงเป็นสิ่งที่กรุบกรอบบอบบางปานนั้น พี่ใหญ่ ในฐานะ(ปัจจุบัน) ที่เป็นหัวขบวนของชนชั้นกลาง ชนชั้นที่เพียบพร้อมด้วยปัญญาความรู้ มิใช่ทราบดีแก่ใจอยู่ดอกหรือ ?


 


"....นี่ไงการที่ทำให้ทุกอย่างมันเป็นสาธารณะมันมีผลในการเปลี่ยนแปลงบนเวทีพันธมิตรฯ ...."


 


"อย่างที่ผมบอก มันมีการถ่ายทอดสดมันจะเกิดกระแสสาธารณะ โทร.เข้ามา กลายเป็นว่าประชาชนที่ชุมนุมหน้าเวทีพันธมิตรฯ ไม่ได้อยู่ในความดำมืด ถูกโฟกัสจากสาธารณะด้วยการถ่ายทอด มันถูกกำหนดว่าคุณต้องเปลี่ยนพฤติกรรมนะ มันก็เป็นข้อดี..."


 


แล้วมันต่างอะไรเล่า กับการที่ "น้องๆ" ใช้แท็บลอยด์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน หรือว่าสิ่งที่แตกต่างก็คือ น้องๆ เหล่านี้ไม่ใช่ "ประชาชนที่ชุมนุมหน้าเวทีพันธมิตรฯ " จึงต้องตอบโต้อย่างศัตรู ผู้เขียนมีข้อข้องใจอย่างยิ่งว่า การคุยกันดีๆ หลังเวที กับ การโต้แย้งทางความคิดผ่านพื้นที่สาธารณะ โดยประภาส ปิ่นตบแต่ง จะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่? คำถามในที่นี้คือ


 


หนึ่ง พี่ใหญ่จะได้ยินหรือไม่ หากเป็นสิ่งที่พี่ใหญ่ไม่ต้องการฟัง


 


สอง พี่ใหญ่ใช้บรรทัดฐานอะไรในการตีค่าความคิดเห็นที่แตกต่างของมิตร กระแสสาธารณะที่พี่ใหญ่ไม่อาจหลีกพ้น พี่ใหญ่ชิงอธิบายให้ตัวเองเป็นฝ่ายชอบธรรม แต่กระแสสาธารณะอันเกิดจากคนที่น่าจะอยู่ในโอวาท กลับกลายเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ศัตรู


 


กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผู้เขียนเห็นว่า คำโต้แย้งผ่านแท็บลอยด์ 8 มิถุนายน ไม่ต่างอะไรกับนักการเมืองที่เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น


 


ตัวอย่างสีน้ำเงินข้างต้น ล้วนบ่งชี้ไปที่ ความมีอยู่จริงของ "ชนชั้น" ในชุมชนเอ็นจีโอ เป็นชนชั้นอาวุโส ที่ครอบงำด้วยวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องเคารพในความเห็นของปัจเจกบุคคล (โดยเฉพาะผู้ด้อยอาวุโสกว่า) ไม่ต้องเคารพในความเห็นต่างในกระบวนการตัดสินใจรวมหมู่ โดยผู้อาวุโสคิดเหมาเอาเองว่าเป็นการตัดสินใจเชิงขบวน ทั้งๆ ที่เป็นการตัดสินใจจากความเห็นส่วนตัว


 


ชนชั้นในชุมชนเอ็นจีโอดังกล่าว ผู้เขียนขอเรียกว่า ชนชั้นภาคประชาชน


 


ต่อไปนี้คือคำถามและความไม่เข้าใจต่อชนชั้นภาคประชาชน ภายใต้สงครามอุปโลกน์ของภาคประชาชน กับ ระบอบทักษิณ


 


 


อภิสิทธิ์ชนคนชั้นกลาง


 


แน่นอนว่า การชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญที่เป็นทางการแห่งราชอาณาจักรไทย หากใครคิดจะอ้างอย่างจริงจังเช่นนั้น แต่ในทางกลับกัน เราจะมีสิทธิคิดต่างได้หรือไม่ว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ เข้าข่ายการบ่อนทำลาย "สามัญสำนึกทางการเมืองของสังคมไทย" หรือกล่าวอย่างเล่นคำเพื่อให้ชัดเจนในการเปรียบเทียบก็คือ การชุมนุมทางการเมืองนี้ กำลังเป็นการ "ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม" ของสังคมไทยหรือไม่


 


กระทั่งสมเกียรติ ตั้งนโม ถึงกับเห็นว่า พันธมิตรฯ กำลังใช้ "อภิสิทธิ์" ในการแสดงลิเกการเมืองที่สะพานมัฆวานฯ


 


จากมุมมองที่แตกต่าง เราจะมีสิทธิตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า การชุมนุมที่ขาดความชอบธรรมในทางข้อเรียกร้อง และ(นำมาสู่การ)ขาดความชอบธรรมในการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังเป็นการชุมนุมโดยชนชั้นกลาง ชนชั้นที่ถูกกล่าวอ้างว่าฉลาดปราดเปรื่อง อารยะก้าวหน้ากว่าชนชั้นรากหญ้าทั้งผองนั้น ใช่หรือไม่ว่า มันกำลังเป็นการทำลายความชอบธรรมในอนาคต ในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ประสบปัญหาจากนโยบายหรือการใช้อำนาจของรัฐ จนต้องมุ่งเท้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครใจกลางของอำนาจรัฐที่จะแก้ปัญหาของพวกเขาได้


 


จากเส้นทางยาวไกลแห่งการยืนยันถึง "สิทธิขั้นพื้นฐาน" ในการแสดงออก/มีส่วนร่วมทางการเมือง "ม็อบ" สารพัดปัญหาของคนรากหญ้า ม็อบแล้วม็อบเล่า ได้หลั่งเลือดพลีกายเป็นกรวดหินเพื่อถากถางสร้างทางแห่งการยอมรับเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จนกระทั่งมันได้สถาปนาตัวตนขึ้นเป็นที่ยอมรับภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และได้พัฒนาเป็น "สามัญสำนึกทางการเมืองของสังคมไทย" กระทั่งทำให้ รัฐธรรมนูญ 2550 มิอาจไม่บัญญัติไว้นั้น


 


ขณะนี้ ในบ้านของคนชั้นกลาง ที่ชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นด้วยการ "ม็อบ" เราจะเหลือที่ทางอะไรได้อีก สำหรับชนชั้นรากหญ้า... รากหญ้าที่ถูกมอมเมาด้วยระบอบทักษิณ ตามสายตาของบางคน


 


นอกจากการตั้งและล้มรัฐบาลแล้ว คนชนบทยังเป็นผู้สร้างสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะถูกล้มล้างโดยคนกรุงเทพฯ อีกหรือ ?


 


 


Multi Standard


 


1. สองมาตรฐาน


 


 "...ระบบเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตยก็จริง แต่ในสภาพปัญหาเมืองไทยมีการซื้อสิทธิขายเสียงมโหฬาร มันก็ไม่สามารถนำผลการเลือกตั้งมาบริหารประเทศได้..."


 


มีการเลือกตั้งที่ใดในโลกที่ไม่มีการซื้อเสียงหรือ อย่าว่าแต่ผู้นำรัฐบาลเลย กระทั่งตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" ก็ได้มาด้วยการซื้อเสียงเหมือนกันมิใช่หรือ ?


 


ให้ทักษิณไปบวชหรือ ไม่มีทาง


"ผมไม่รู้ อย่าพูดปิดตัวเองว่าไม่มีทาง ผมคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือทักษิณต้องยุติ ต้องหยุด หยุดในทางการเมือง หยุดที่จะใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อไปเสริมความร่ำรวย แต่เท่าที่ผมรู้คุณทักษิณไม่หยุดในเรื่องความรวย …"


 


แล้วไม่รู้หรือว่า มีใครบ้างที่ยัง "ไม่หยุดในเรื่องความรวย" มีใครบ้างที่จะได้ประโยชน์ในเรื่องความไม่พอเพียง หากสามารถบดขยี้ทักษิณได้... ภายใต้หญ้าแพรกที่แหลกลาญ


 


"อย่าเรียกว่าสาวก พันธมิตรฯ ไม่ใช่สาวก ก็มีพวกที่นิยมสถาบัน เชื่อมั่นสถาบันอยู่ เอ้าคุณยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงไหมล่ะ ว่าความนิยมสถาบันยังมีอยู่ และมีมากด้วย..."


 


"...แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่คลั่งชาตินิยม ทุกฝ่าย ฝ่ายซ้ายก็มีคลั่งทฤษฎีฝ่ายซ้าย เพียงแต่ว่าเราจะดูแลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างไร ที่ผมพูดนี่พูดจากความจริงของสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีจริงผมก็ยอมรับว่ามีจริง…"


 


แล้วทำไมไม่ยอมรับว่า มีประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่ชอบทักษิณ และต้องการกติกาการเมืองที่ผ่านกระบวนการตัดสินใจของประชาชนในชาติไปแล้ว พี่ใหญ่คงจะบอกว่าประชาชนเหล่านี้ถูกมอมเมาด้วยประชานิยม แล้วคนที่คลั่งอะไรอย่างอื่นที่พี่ใหญ่ยอมรับล่ะ ไม่ถูกมอมเมามากกว่ากระนั้นหรือ ?


 


2. สามมาตรฐาน


 


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือทุกฝ่ายไม่ได้เห็นเรื่องยุทธศาสตร์ร่วมกัน หรือเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ร่วมกันแต่แตกต่างกันเรื่องยุทธวิธี


 


"อันนี้ผมไม่ชัดเจนเพราะยังไม่ได้คุยกันจริงๆ ว่ายุทธศาสตร์ร่วมกันอันนี้โอเคไหม คือทำให้เกิดระบบนิติรัฐ การให้เกิดระบบนิติรัฐขึ้นก็จะต้องจัดการคนที่มีอำนาจมากที่สุดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้กฎหมายจัดการได้ ไม่ใช่คณะรัฐประหารจัดการ เดิมทีเราพูดกันให้คณะรัฐประหารจัดการ ไม่เคยสร้างระบบนิติรัฐ ผมคิดว่าตอนนี้ผมจะฝันไปหรือเปล่าไม่รู้ ผมว่าระบบนิติรัฐกำลังเกิด แต่มันก็ไปพร้อมกับตุลาการภิวัตน์ด้วย"


 


การให้เกิดระบบนิติรัฐขึ้นก็จะต้องจัดการคนที่มีอำนาจมากที่สุดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่สำหรับคนเล็กคนน้อยที่ยากจนอำนาจเช่นโชติศักดิ์ เรามานั่งดูกันเล่นๆ เถิดว่า เขาจะอยู่รอดปลอดภัยหรือเปล่า ภายใต้ระบบศาลเตี้ย


 


รัฐประหารไม่เคยสร้างระบบนิติรัฐ แต่ตอนนี้ฝันว่าอะไรไม่รู้กำลังสร้างระบบนิติรัฐ ระบอบทักษิณ "แทรกแซง" อำนาจตุลาการ ก็เลย "อภิวัฒน์" ตุลาการด้วย "ร้องขอ" เครื่องทุ่นแรง แล้วบีบคอทักษิณมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวในนาม "นิติรัฐ" ....ผู้เขียนฝันว่ากำลังอ่านนิทานศรีธนญชัย


 


3. สี่มาตรฐาน


 


            "......"


4. ห้ามาตรฐาน


 


            "......"


 


สรุป


 


ยังมีคำถามอีกมากมาย แต่ผู้เขียนคงไม่ถามเพิ่ม และขออนุญาตที่จะไม่รอฟังคำตอบ เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่าสิ่งที่จะได้รับก็คือ การมุ่งโจมตีทำลายล้างเยี่ยงศัตรู ผู้เขียนมีคำตอบแจ่มแจ้งแล้วว่า.... นี่คือ "ระบอบพันธมิตรฯ" ที่ใช้ภาคประชาชนเป็นเครื่องบูชายัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net