Skip to main content
sharethis


ธีระ สุธีวรางกูร


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



 


 


ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาและคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือไม่


 


000


 


โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ แม้ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจในการทำหนังสือสัญญา แต่หากหนังสือสัญญานั้นมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยตามความในวรรคสอง ฝ่ายบริหารก็ต้องเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ


 


ต่อกรณีแถลงการณ์ร่วมฯ  แม้จะมีการยืนยันจากฝ่ายบริหารว่าไม่ใช่หนังสือสัญญา ทั้งไม่ได้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย แต่เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งเห็นตรงข้ามกับฝ่ายบริหาร จึงมีการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด


 


000


 


การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ปัญหาหลักของคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก็มีอยู่ว่า แถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือไม่ 


 


เพื่อหาคำตอบถึงเรื่องดังกล่าว ปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยจะแยกย่อยออกไปเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ หนึ่ง แถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาหรือไม่ และ สอง หากเป็นหนังสือสัญญา แถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่


 


ไม่มีใครทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในเรื่องนี้อย่างไร  แต่โดยสมมติฐานเบื้องต้น หากศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นแรกว่าแถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาแล้ว การวินิจฉัยในประเด็นที่สองที่ว่า แถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่ อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา


 


000


 


แท้จริงแล้ว การจะบอกว่าหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย คงไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก หากเส้นอาณาเขตระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความชัดเจนและแน่นอน


 


แต่กรณีเรื่องเส้นอาณาเขตระหว่างไทยกับกัมพูชาในเรื่องพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารแล้ว ด้วยข้อเท็จจริงที่ทราบกันทั่วไป ทุกฝ่ายต่างรู้อยู่ว่ามันไม่ได้มีความแน่นอนชัดเจนอย่างนั้น


 


ในกรณีดังนี้  ปัญหามีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะอาศัยหลักเกณฑ์ใดมาวินิจฉัยว่าอาณาเขตไทยนั้นอยู่ที่ตรงไหน เพื่อจะได้นำข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มาวินิจฉัยในประเด็นของคดีต่อไปว่าแถลงการณ์ร่วมฯนั้นเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ


 


000


 


ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุที่ศาลไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอาณาเขต จึงจำเป็นอยู่เองที่ศาลจะต้องเรียกผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อเท็จจริงต่อศาล


 


แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร และมิพักต้องสนใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือไม่ โดยพิจารณาจากสภาพของประเด็นแห่งคดี เมื่อศาลต้องวินิจฉัยลงไปว่าอาณาเขตไทยในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารนั้นอยู่ตรงไหน กรณีย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าอาณาเขตไทยในพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นแล้วโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ


 


และที่ต้องตราไว้ก็คือ นี่เป็นการกำหนดอาณาเขตไทยในพื้นที่เหล่านั้นจากรัฐไทยฝ่ายเดียวโดยที่ไม่ต้องผ่านการเจรจาเพื่อหาความตกลงร่วมกันในเรื่องของการกำหนดเขตแดนระหว่างกันของไทยกับกัมพูชา


 


000


 


หากกัมพูชาจะยอมรับการกำหนดอาณาเขตของประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชาในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารซึ่งรัฐไทยกระทำผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างก็อาจจบลงด้วยดี


 


แต่หากกัมพูชาเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดอาณาเขตไทยในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารเป็นการล่วงล้ำอาณาเขตของกัมพูชาโดยปราศจากความยินยอม กัมพูชาก็คงจะมีปฏิกริยาตอบโต้ไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


 


000


 


แม้จะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็ยังหวังว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย


 


นอกจากนั้น ยังหวังด้วยว่าเรื่องนี้คงไม่ทำให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาต้องกลับกลายเป็นคู่กรณีพิพาทกันอีกครั้งในปัญหาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net