Skip to main content
sharethis

เวลา 10.00น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการเปิดเทปบันทึกการแถลงข่าวจาก นครควิเบก ประเทศแคนนาดา ของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ซึ่งบันทึกไว้ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น.วันที่ 8 ก.ค. ตามเวลาในไทย หลังการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก โดยแถลงยืนยันท่าทีของไทยเป็นไปในทางเดียวกันโดยปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองอย่างเคร่งครัด และได้พยายามเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ ขอเลื่อนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกออกไป และได้พยายามขอให้ไทยได้ขึ้นทะเบียนร่วม และได้แจ้งการที่ไทยไม่สามารถสนับสนุนกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารได้ และแม้คณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจไปแล้ว ตนได้กล่าวถ้อยแถลงคัดค้านไม่เห็นด้วย และยืนยันการสงวนสิทธิของไทยตามหนังสือของนายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงสหประชาชนเมื่อ 2505 ไว้อีกครั้ง


 


นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการที่กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นเรื่องของกัมพูชาที่ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ไม่ได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนของไทยเลย ดังนั้นขอให้ประชาชนคนไทยวางใจได้ และในส่วนพื้นที่ของไทยได้มีการเตรียมการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งในระเบียบของคณะกรรมการมรดกโลกฯยังสามารถขอขึ้นทะเบียนกรณีภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมได้ และทางกรมศิลปกรได้เตรียมเสนอเข้าเป็นมรดกโลกคู่กับปราสาทพระวิหาร


 


"ผมขอยืนยันว่าเขาขึ้นทะบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น ไม่ได้ลุกล้ำเข้ามาในดินแดนของไทย เรื่องนี้ขอให้ประชาชนชาวไทยได้วางใจได้ ส่วนกรณีที่บอกว่าเราควรจะได้มีมรดกโลกในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ผมขอยืนยันว่าเราได้เตรียมการ อยู่แล้ว เพราะนอกจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกประเภทตัวปราสาทแล้ว ยังมีมรดกโลกประเภทภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ในส่วนประเทศไทย ทางกรมศิลปากรเตรียมจะเสนอเพื่อให้เป็นมรดกโลกต่อไปเพื่อมารวมกับตัวปราสาทพระวิหาร" นายปองพลกล่าวและว่า กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยผ่านหลักเกณฑ์เพียง เดียว อัจฉริยภาพที่แสดงการสร้างสรรค์ของมนุษย์ส่วนหลักเกณ์ที่ 3,4 ซึ่งเกี่ยวกับภูมิทัศน์วัฒนธรรมนั้นกัมพูชาไม่ผ่านเพราะภูมิทัศน์อยู่ในเขตแดนไทย


 


ทั้งนี้นายปองพลกล่าวปลอบใจคนไทยด้วยว่าไม่ต้องเสียใจเพราะเรากำลังจะดำเนินการขอขึ้นทะเบียนในส่วนภูมิทัศน์บริเวณด่านล่างปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดโลกเช่นกัน


 


"ขอเรียนย้ำอีกทีว่าขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยอย่าไปเสียใจกับการที่กัมพูชาได้สามารถขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะว่าในส่วนของเราก็จะทำเช่นนั้นเช่นกัน"นายปองพล กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของหารแถลงข่าว นายปองพล ได้กล่าวตำหนิการที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลก ว่า เป็นการลดความเชื่อถือของคณะกรรมการมรดกโลกเอง เพราะได้มีมติสวนทางกับหลักการและหลักเกณฑ์ซึ่งคณะกรรมการฯได้เป็นผู้กำหนดไว้ นั่นคือความสมบูรณ์ของความเป็นมรดกโลก และยังสวนทางกับรายงานทางวิชาการสื่อองค์กร


 


ไอคอมมอสของกัมพูชาเอง ที่ระบุว่าที่กัมพูชาเสนอผ่านเฉพาะหลักเกณฑ์แรก แต่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่ 3


 


คือความสมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้นำโบราณสถานที่อยู่ฝ่ายไทยมาร่วม


 


"ผมต้องขอพูดอีกรอบหนึ่งเพราะว่ามีบางประเด็นยังไม่ได้พูดอยากจะเรียนว่า การที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนพระวิหารตามคำเสนอของกัมพูชานั้น ผมถือวาเป็นการลดความเชื่อถือของคณะกรรมการมรดกโลกเอง เพราะได้มีมติสวนทางกับหลักการณ์และหลักเกณฑ์ซึ่งคณะกรรมการเป็นผู้กำหนดไว้ นั่นก็คือ ความสมบูรณ์ของความเป็นมรดกโลกและยังสวนทางกับรายงานของฝ่ายวิชาการองค์กรไอโคมอสของเขาเอง เพราะไอโคมอสบอกว่าหลักเกณฑ์ 3 หลักเกณฑ์ที่กัมพูชาเสนอนั้น ผ่านเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ 1 เท่านั้น แต่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่ 3,4 เพราะขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากโบราณสถานที่อยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อนก็ดีที่อยู่ในฝ่ายไทยก็ดี ไม่ได้นำมารวม และเมื่อวินิจฉัยหรือตัดสินออกมาเช่นนี้ก็ทำให้ความเชื่อถือของคณะกรรมการมรดกโลกลน้อยลงไป"นายปองพลกล่าว


 


พล.ท.นิพันธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กล่าวว่าในฐานะที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนได้รับรายงานจากหน่วยทหารในพื้นที่มาตลอด ต่างยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ใด ๆ ที่น่าเป็นห่วงที่กระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ออกมานั้น ไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่กัมพูชาได้เตรียมตัวมาอย่างดีเมื่อผ่านเกณฑ์ก็สามารถได้รับการรับรองได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไทยถูกทำร้าย หรือไทยสอบตก และยืนยันว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาบริเวณชายแดนยังเป็นปกติดี ไม่มีปัญหาน่าเป็นห่วง


 


"มติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ออกมานั้น ถ้าเปรียบเทียบก็คือว่า ให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ ว่าไม่ใช่เป็นการแข่งขันกันระหว่างไทยกับกัมพูชา หากแต่ว่าทางกัมพูชา เปรียบเสมือนกัมพูชาเหมือนนักเรียนคนหนึ่งที่เตรียมตัวมาอ่านหนังสือมา แล้วมาสอบเพื่อเลื่อนชั้น เมื่อสอบผ่านเกณฑ์ก็เลื่อนชั้นขึ้นไปได้ มิได้หมายความว่าประเทศไทยถูกทำร้ายหรือว่าประเทศไทยสอบตก มิได้เป็นเช่นนั้น นี่คือความเข้าใจง่ายๆ ว่าเมื่อเตรียมตัวมา คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ คณะกรรมการก็มีมติให้กับกัมพูชาไป ขอเรียนให้ท่านสบายใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาบริเวณแนวชายแดน รวมทั้งกระผม ได้สอบถามไปยัง ผู้ช่วยฑูตทหารบกผู้ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศกัมพูชา สถานการณ์ทุกอย่างยังปกติดีไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงครับ"พล.ท.นิพันธ์ กล่าว


 


 


 


ขณะที่พ.อ.นพดล โชติศิริ นายทหารกรมแผ่นที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ได้ตรวจสอบแผนผัง ที่ทางกัมพูชาได้แนบเสนอในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น จากการตรวจสอบขอยืนยันว่าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใด หรือจุดหนึ่งจุดใดล้ำเข้ามาอยู่ในแนวเขตบริเวณปราสาทพระวิหารตามหลักฐานตามมติครม.ปี 2505 ที่ไทยยึรม.ปี 2505 ที่ไทยยึดถือ ส่วนหมายเลขโซนต่าง ๆ โดยเฉพาะโซน 3 ที่เคยเป็นห่วงปัญหาข้อกังวลของไทยนั้น กัมพูชาเขียนลงในgraphic plan ด้วยว่า excluded หรือตัดออก ไม่ได้รวมอยู่ในพื้นที่ที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารด้วย ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะเสียดินแดนแต่อย่างใด


 


 


สำหรับรายละเอียดการสนทนาของนายปองพลในการแถลงข่าวมีดังนี้


หลังจากได้คุย คกก.มรดกโลก 21 ประเทศ มีแนวโน้มที่กัมพูชาจะได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกในการประชุมครั้งนี้ใช่หรือไม่


ใช่ครับ คณะกรรมการส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าควรจะให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น


 


หมายความว่าแผนที่ที่กัมพูชายื่นไปยังเป็น อันเดิมที่ได้คุยกับไทยครั้งล่าสุดใช่หรือไม่


ใช่ครับ เป็นไปตามมติของศาลโลกและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2505 ที่กำหนดเขตเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้นที่ให้ไป


 


จะทราบผลการตัดสินเมื่อไหร่


วันพรุ่งนี้ครับ ตอนนี้ยังเป็นคืนวันที่ 6 ก.ค.อยู่พรุ่งนี้วันที่ 7 ก.ค. คิดว่าจะให้เสร็จภายในวันนั้น


 


อยู่ในวาระที่เท่าไหร่ของการประชุม


ทั้งหมดมี 47 เรื่องที่เข้ารอการพิจารณา เดิมจัดเรื่องเขาพระวิหารจะเป็นเรื่องที่ 4 แต่ได้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นเรื่องที่ 47 เพื่อที่จะให้ฝ่ายไทยและกัมพูชา ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้มีเวลาหารือและตกลงกันก่อน อยากจะเรียนอย่างนี้ว่าวิธีการทำงานของคณะกรรมการมรดกโลก ในกรณีที่มีคู่กรณีความเห็นไม่ตรงกันจะมีตัวแทนของคณะกรรมการมาพบคู่กรณีและเข้ามาคุยกับทางคณะฝ่ายไทย ว่าเราต้องการท่าทียังไงก็แสดงไป เขากก็จะเอาท่าทีของเราไปแจ้งกัมพูชาและไปคุยกับฝ่ายกัมพูชาเช่นกัน เรายังยืนยันที่จะขอเลื่อนตามที่รัฐมนตรีฯนพดล แจ้งให้ทราบ และข้อต่อมายังยืนยันว่าเราต้องการให้เสนอการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกัน เพื่อให้ความเป็นมรดกโลกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งข้อแรก กรรมการมรดกโลกบอกว่าเลื่อนการพิจารณาไม่ได้เพราะได้เลื่อนมา 1 ปีแล้ว ดังนั้นต้องพิจารณาตัดสิน ส่วนเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนร่วมนั้น ทางกัมพูชาบอกว่าเขาขอเสนอขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวโดยเขายอมลดพื้นที่ลงมาเหลือเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นและยืนยันว่าไม่ลุกล้ำดินแดนของไทย


 


ข้อเสนอต่างๆ ของกัมพูชาได้รับการยอมรับจากที่ประชุมส่วนใหญ่ใช่หรือไม่


มีเหตุการณ์ขึ้นมาอีกเหตุการณ์หนึ่งคือสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรือ ICOMOS ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสำรวจวิจัยและทำรายงานเสนอและเสนอแนะด้วย โดยกัมพูชาได้ยื่น ขึ้นทะเบียน 3 หลักเกณฑ์ จาก 6 หลักเกณฑ์ คือหลักเกณฑ์ที่ 1,3,4 แต่ปรากฎว่าเมื่อกัมพูชาลดพื้นที่ลงมาเหลือเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ICOMOS ก็บอกว่าเหลือผ่านได้หลักเกณฑ์เดียวคือ หลักเกณฑ์ที่ 1 ซึ่งได้แก่หลักฐานแสดงถึงอัจฉริยะภาพด้านการสร้างสรรค์ ส่วนหลักเกณฑ์ที่ 3และ 4 นั้น เขาไม่ผ่าน ที่ไม่ผ่านเพราะว่าโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนอยู่ในเขตไทยพอดีไม่ได้เอามารวมด้วย ดังนั้น ความเป็นมรดกโลกของพระวิหารนี้ก็เลยขาดความสมบูรณ์เพราะไม่ผ่านหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่สนใจ เราเอามาโต้แย้งได้ว่าเพราะเหตุนี้เราจึงควรเสนอร่วม ถ้าเราเสนอร่วมแล้วกัมพูชารับข้อเสนอของเราหลักเกณฑ์ที่ 3 และ 4 ก็ผ่านดีไม่มีปัญหาซึ่งเราก็ได้เจรจาแต่ดูท่าทีเขาก็จะดึงดันขึ้นให้ได้ ถึงแม้จะผิดหลักการบางเรื่อง เช่น ความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เราก็เสนอไปว่าขอให้สนับสนุนการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในพื้นที่ฝ่ายเราต่อไปเช่นกัน และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในไทยแห่งอื่นด้วย


 


ถามว่าไทยสามารถแจ้งความจำนงขอขึ้นทะเบียนบริเวณพื้นที่ด้านล่างรอบปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตไทยโดยไม่มีความเห็นชอบจากกัมพูชา ในที่ประชุมครั้งนี้ได้หรือไม่


ไม่ได้เพราะเราไม่ได้ยื่นเสนอมาก่อน ซึ่งตามระเบียบจะต้องมีการเสนอให้อยู่ในบัญชีรอการพิจารณาไปก่อนเป็นขั้นตอนนั้น วันนี้เราหารือนอกรอบไปแล้วเพราะว่าเรามีสถานที่ 2 แห่งที่จะขอขึ้นทะเบียนและอยู่ในบัญชีแล้วด้วย คืออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทจังหวัดอุดรธานี และปราสาทหินพิมายพนมรุ้งปราสาทเมืองต่ำและอโรคยาศาลาระหว่างปราสาทพวกนี้ เป็น2แห่งที่เราเสนอไปแล้ว เราแจ้งให้เขาทราบบอกว่าเราจะเสนอเข้ามาเพื่อให้พิจารณาในปีหน้าให้ได้ พร้อมกันนี้ก็เสนอบริเวณปราสาทพระวิหารด้วยอีกแห่งหนึ่ง เตรียมเสนอเข้าไปต้องเร่งทำงานภายใน 6 เดือนให้อยู่ในบัญชี


 


ข้อคัดแย้งของไทยจากศาลปกครองในครั้งนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการรับฟังหรือให้น้ำหนักจากคณะกรรมการมรดกโลก


เขาให้น้ำหนักรับฟัง เพราะตอนแรกมีการแจกเอกสารซึ่งบางส่วนเป็นแถลงการณ์ร่วมที่คุณนพดลลงนาม พอตอนหลังไปแจ้งเขา บอกว่าเมื่อมีคำสั่งศาล เราจะใช้เอกสารเหล่านั้นไม่ได้ ซึ่งที่ประชุมเขาก็รีบเรียกเก็บเอกสาร เพราะเกรงจะมีปัญหาทีหลัง และใช้รายงานของ ICOMOS เป็นหลักในการเสนอ เพราะถ้าผ่านหลักเกณฑ์ 1 ใน 6 หลักเกณฑ์ ก็ถือว่าผ่าน ในกรณีนี้ผ่านหลักเกณฑ์ที่ 1 แล้ว ก็ผ่าน โดยไม่จำเป็นต้องมาอ้างความร่วมมือของไทยในการสนับสนุน แค่ข้อเดียวก็ได้แล้วเพราะเป็นระเบียบ ซึ่งกัมพูชาได้เสนอมา 3 ข้อ เขาได้1 แล้วตกไป 2 หลักเกณฑ์ ซึ่งอันนี้มีผลด้านจิตวิทยาและความชอบธรรมด้วย เนื่องจากทำให้มีสมาชิกหลายประเทศวิจารณ์อันนี้ เพราะหลายประเทศเสนอคราวนี้แล้วไม่ได้รับขึ้นทะเบียน ที่ผ่านไปเช่น เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมืองมะละกาของมาเลเซีย มีอย่างอื่นอีก อันนี้เป็นสิ่งที่เขาพูดกัน ว่าทำไมกัมพูชาส่ง 3 แล้วได้ 1 ของเขาส่ง 4 แล้ว ตก 4 หมด ทำไมแค่ 1 ก็ไม่ให้ ก็มีเรื่องให้พูดกันและอีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในการต่อรอง


 


เรียนอย่างนี้นะครับว่าที่เราเสียเปรียบกัมพูชามาตลอดเพราะรัฐบาลกัมพูชาเขาถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และของเขาเดินมาตลอด 2 ปี เต็ม เป็นรัฐบาลเดียวกันมีนโยบายชัดเจนแน่นอน แต่ขณะที่ของเรามีการปฏิวัติมีการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้ขาดตอนในการดำเนินการอันนี้เป็นข้อเสียเปรียบ และข้อเสียเปรียบอีกข้อหนึ่งก็คือว่าเมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ เขาก็ไม่สนับสนุน ไม่รับรอง ไม่ยอมรับการปฏิวัติ เขาก็หันไปสนับสนุนกัมพูชา โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริการ ซึ่งทางกัมพูชาก็ ไปขอความช่วยเหลือจากทางสหรัฐอเมริการ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งทีมมาช่วยเรื่องการสำรวจ ศึกษา และเขียนรายงาน ดังนั้นสหรัฐอเมริกาก็เป็นหลักในการสนับสนุนกัมพูชาในเรื่องนี้ และนี่ก็คือสิ่งที่ผมได้มาพบเมื่อมาพบปะกับคณะกรรมการหลากหลายคนด้วยกัน เขาก็แสดความรู้สึกนี้ออกมาแล้วเขาก็บอกว่า ที่เขาไปสนับสนุนกัมพูชานั้นเพราะเขาไม่รู้ว่าประเทศไทยจะฟื้นเร็วในเรื่องการเมือง เพราะเขานึกว่าการปฏิวัติจะอยู่ยาว อยู่นาน ยังไม่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดขึ้น ผมก็ถามว่าเปลี่ยนท่าทีได้ไหม เขาก็บอกว่ามันช้าไปเขากลับตัวไม่ได้ตอนนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไป นี่คือสิ่งที่เราได้ทำ


 


บรรยากาศที่คิดว่าจะไปลอบบี้ตอนแรก กับตอนนี้ที่เจอจริงๆ ต่างกันแค่ไหน


ต่างกัน เพราะว่าตอนแรกคิดว่าน่าจะมีโอกาสแต่เราก็ไม่ทราบเรื่องลึกๆ จนกระทั่งได้มาประสบและสัมผัสและก็ได้ฟังจากบรรดาคณะกรรมการต่างๆ จึงได้ทราบเมื่อมาพบกรรมการหลายท่านรวมทั้ง ICOMOS ด้วย ไปๆ มาๆ เราได้ ICOMOS ที่รับฟังและเข้าใจเราเพราะเขาเป็นผู้มามาศึกษาอย่างละเอียด


 


และอยากจะเรียนว่ากัมพูชาได้เชิญกรรมการทั้งหมดไปชมพระวิหารมาแล้ว โดยเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปพระวิหาร ไม่ได้ขึ้นทางไทย เพราะฉะนั้น กรรมการเหล่านี้ไม่เข้าใจและไม่ทราบว่าทางขึ้นหลักต้องมาจากฝั่งไทย เขาไม่เห็นส่วนนี้ ซึ่งแน่นอนว่ากัมพูชา เขาไม่พาไปดูตรงนั้น แล้วกัมพูชายังได้จ้างบริษัทชาติต่างๆ มีอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย ให้ช่วยทำการศึกษา ก็มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงบ้างอันนี้ก็เป็นข้อที่ให้เราเสียเปรียบ แต่ผมอยากจะเรียนเพิ่มเติมตรงนี้ สื่อมวลชนของกระทรวงการต่างประเทศคงทราบว่าในการประชุมที่นิวซีแลนด์ปีที่แล้ว ต้องให้ประโยชน์แก่ทีมงานกระทรวงต่างประเทศที่นำโดย มนัสภาส ชูโต(นายมนัสภาส ชูโต อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีสมัย นายนิตย์ พิบูลสงคราม) เพราะว่ากระทวงการต่างประเทศเขาตามเรื่องนี้อยู่และพบว่าที่กัมพูชาเสนอแผนที่เข้าไปนั้น แผนที่ดังกล่าวแนบรวมพื้นที่ทับซ้อนด้วย เมื่อรวมพื้นที่ทับซ้อนไป ตอนนั้นก็เสนอว่าให้ขึ้นทะเบียนทั้ง 3 หลักเกณฑ์เพราะสมบูรณ์ แต่เมื่อตอนหลังเรามาพบอันนี้ ทางคณะของคุณมนัสภาส ก็ไปคัดค้าน ประท้วงที่นิวซีแลนด์ เขาก็เลยยังไม่พิจารณายังไม่ให้ขึ้นทะเบียน และก็เลื่อนมาถึงปีนี้ พอมาปีนี้มาถึงรัฐบาลปัจจุบันก็มาเจรจาต่อ โดย รัฐมนตรีฯ นพดล ก็สามารถไปบอกให้เอาเฉพาะปราสาทพระวิหารเท่านั้น ซึ่งอันนี้ผมถือว่าก็ช่วยกันทำ เพราะถ้าไม่ยับยั้งปีที่แล้ว เขาก็มีการขึ้นทะเบียนไปแล้วและมาปีนี้ทางเราบอกว่าให้ขึ้นเฉพาะตัวพระวิหาร เขาก็ต้องเปลี่ยนแก้แผนที่แก้ข้อเสนอต่อยูเนสโกไป ก็เลยทำให้พื้นที่ลดลงมา จนกระทั่ง ICOMOS ไม่ให้ผ่านหลักเกณฑ์ที่ 3 และ 4 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราก็ช่วยกันกระทำมาตลอด พอผมมารับงานนี้ 24 มิ.ย. ก็มาเดินงานต่อ อยากเรียนว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะพระวิหารเท่านั้น แต่เราต้องมาติดตามเรื่องภูพระบาท เรื่องปราสาทหินพิมาย พนมรุ้งปราสาทเมืองต่ำ อีกด้วย และอีกเรื่องหนึ่งที่เคยมีข่าวว่า โบราณสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นมรดกโลก อาจจะถูกถอดถอน ก็ปรากฎว่า ไม่มีอยุธยา และมรดกโลกที่อยู่ในไทยแม้แต่แห่งเดียวที่คณะกรรมการมรดกโลกขึ้นบัญชีอยู่ในภาวะอันตรายหรือบัญชีเสี่ยง อันนี้ยืนยันได้


 


 


 


โอกาสที่กัมพูชาจะได้ขึ้นทะเบียน ไม่มีโอกาสที่พลิกหรือเปลี่ยนเป็นไปเนื่องจากกรรมการมรดกโลกส่วนใหญ่เห็นไปในทางฝ่ายกัมพูชาใช่หรือไม่


ใช่ เมื่อเราเห็นเช่นนั้นเราก็เปลี่ยนท่าที ของเราโดยเราก็เดินต่อ เพื่อต่อรองให้เราได้ประโยชน์ในเรื่องสถานที่ เราเตรียมขึ้นมรดกโลก 3 แห่งซึ่งรวมส่วนบริเวณพระวิหารเป็นส่วนเพิ่มเติมด้วย


 


กัมพูชามีท่าทีสนับสนุนไทยในส่วนพื้นที่ขยายหรือไม่


อันนี้ไม่จำเป็นเพราะอยู่ในเขตของเรา เหมือนที่เขาเสนอในเขตของเขา และก็คิดว่าอาจจะรวมอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารซึ่งอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักด้วย ขณะนี้กำลังให้กรมศิลปากรกับกรมอุทยานสำรวจดูว่ามีจุดเด่นอะไรที่จะนำเสนอเพื่อเป็นมรดกโลก เราจะใช้หลักเกณฑ์อะไร เพราะถ้าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมี 6 หลักเกณฑ์ ส่วนมรดกทางธรรมชาติมี 4 หลักเกณฑ์ รวมเป็น 10หลักเกณฑ์ เข้าหลักเกณฑ์ใด ข้อหนึ่งก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราจะทำต่อๆไป


 


ทางเราได้เสียดินแดนหรือไม่


ไม่ได้เสีย เพราะเขาก็เสนอตามดินแดนที่กำหนดโดยมติศาลโลกและมติครม. เมื่อปี 2505


 


สิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดก็เป็นความเข้าใจผิดใช่หรือไม่


ผมว่าไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิด แต่เป็นเรื่องความเป็นห่วงเพราะที่นิวซีแลนด์ปีที่แล้วมีการเสนอพื้นที่ทับซ้อนด้วย เคราะห์ดีที่เราไปพบแล้วแก้ไขทัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องตามทุกฝีก้าวเหมือนกัน ถ้าเราปล่อยไปก็อาจจะสายเกินแก้ได้


 


การตัดสินใช้เสียงข้างมากหรือมติเอกฉันท์


สำหรับวิธีการลงมติกรณีที่มีคู่กรณีนั้น จะไม่โหวตในที่ประชุมใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการขัดแย้งหรือโต้แย้งเกิดขึ้น โดยใช้วิธีให้คู่กรณีอยู่คนละห้อง ให้เราอยู่ห้องหนึ่งและคณะของกัมพูชาก็อยู่อีกห้องหนึ่ง แล้วก็ตัวแทนของกรรมการมรดกโลก 4-5 คนก็มาคุยกับเรา พอรับทราบทีท่าของเราก็พิมพ์ออกมาเป็นเอกสารชัดเจน ก็เอาไปให้กัมพูชาดู แล้วก็เอากลับมาให้เราดู เพราะกัมพูชาดูแล้วก็มีขอแก้บ้างจนกระทั่งพอใจ ใช้วิธีเช่นนั้น พอตกลงกันได้แล้วคณะกรรมการมรดกโลกก็จะแจ้งให้ที่ประชุมทราบ แล้วก็จะเป็นเช่นนั้น เป็นไปตามที่ตกลง เป็นวิธีการที่ทำกันมา


 


พูดได้หรือไม่ว่าที่กระทรวงการต่างประเทศทำมา 2-3 สัปดาห์นี่ถูกแล้ว


ผมเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมก็ชมกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ ที่คุณมนัสภาส ทำที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้วเพราะเขาหยุดแผนที่ที่รวมพื้นที่ทับซ้อนไปได้ พอมาสมัยคุณนพดลเป็นรัฐมนตรี ก็ได้เจรจาจนสามารถแก้แผนที่ได้ เขายอมแก้จนกระทั่งเหลือเฉพาะตัวปราสาท เป็นผลให้หลักเกณฑ์ที่ 3-4 ของเขาไม่ผ่าน  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net