Skip to main content
sharethis

องอาจ เดชา /สัมภาษณ์


 


 


 


 






 


 


"ถ้ามองในแง่ปรากฏการณ์ของฟิลิปปินส์ กฎหมายดูดี แต่ราชการอ่อนแอ ไม่มีพลังในสังคม พลังอยู่กับชนชั้นนำ กลุ่มคนรวย มีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นสูง"


 


"สมัยที่มาร์กอสเข้าไปมีบทบาท มีอำนาจในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์ถูกมาร์กอสครอบงำ ถูกคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ การคุมอำนาจทหาร รัฐสภา และได้ทำในเรื่องของการสร้างฐานคิดประชานิยมท้องถิ่นเอาไว้ด้วยเบ็ดเสร็จ"


 


"ผมเคยนั่งคุยกับชาวบ้านท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ ถามว่า ฮีโร่ของคุณคือใคร เขาบอกว่า ฮีโร่คือมาร์กอส แต่ถูกชนชั้นกลางโค่นล้มเสียก่อน แต่ถึงอย่างไร คนชนบทก็ยังรักมาร์กอสอยู่ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นประชานิยมฟิลิปปินส์ในช่วงนั้นก็ว่าได้"


 


"ในอินโดนีเซีย รูปแบบการการเมืองการปกครองท้องถิ่น จะมีโครงสร้างการกระจายอำนาจดีกว่า เป็นลักษณะการถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งตัวคน กระจายอำนาจที่อยู่ในมือรัฐทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่นจะต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น นั่นหมายถึงว่า หากจะลงนายก อบต. ก็จะต้องสังกัดพรรคในระดับชาติทุกคน ฉะนั้น นโยบายการหาเสียง ต้องขึ้นคู่กับหัวหน้าพรรค"


 


 


 


"โอฬาร อ่องฬะ" ได้รับทุน API-fellowships 2007 Thailand ศึกษาวิจัยกระบวนการ-รูปแบบการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เพื่อนำมาวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน รวมไปถึงทิศทางในอนาคตของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในประเทศไทย ล่าสุด, เขาเพิ่งเดินทางกลับมา พร้อมกับให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" ถึงมุมมองเรื่องการเมืองท้องถิ่นในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ก่อนจะย้อนมองการเมืองท้องถิ่นในไทย ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร


 


รูปแบบการเมืองท้องถิ่น การกระจายอำนาจของฟิลิปปินส์กับประเทศไทยมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง


 


กระบวนการกระจายอำนาจที่ประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทยค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร ในส่วนโครงสร้างการปกครองของฟิลิปปินส์ โดยหลักๆ จะมีอยู่แค่ 3 ระดับ มีระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า Barangay มีผู้บริหารเรียกว่า Barangay captain มาจากเลือกตั้งในหมู่บ้าน ระดับเทศบาล (Municipality) ผู้บริหารเรียกว่า Mayor มาจากการเลือกตั้ง และระดับที่ 3 ระดับจังหวัด (Province) ผู้บริหารเรียกว่า Governor น่าจะหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมาจากการเลือกตั้ง ทั้ง 3 ส่วนนี้ถูกกำหนดให้เป็นหน่วยปกครองท้องถิ่น และที่เป็นระดับชาติไปเลยก็คือประธานาธิบดี


 


ในขณะที่ประเทศไทย ความชัดเจนของแนวทางการกระจายอำนาจ เริ่มจะเห็นชัดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และออกพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ในปี 2542 ซึ่งแน่นอนว่าจากประสบการณ์ บทเรียน ที่ผ่านมา ค่อนข้างจะมีลักษณะของเชิงรูปแบบมากกว่าเชิงปฏิบัติ


 


ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงแนวทางการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่นของประเทศฟิลิปปินส์ไว้กว้างๆ ว่า กฎหมายการปกครองท้องถิ่น ของประเทศฟิลิปปินส์ก็ไม่ถึงเรียกว่าสมบูรณ์นะ เพราะมีข้อจำกัดมากเหมือนกัน กฎหมายปกครองท้องถิ่น2534 ของประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า "Local Government Code 1991" รากฐานของการมีกฎหมายปกครองท้องถิ่น ปี 1991 ฉบับนี้ มาจากการรวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในยุคประธานาธิบดีเฟอรดินัน มาร์กอส ซึ่งมีรูปแบบการปกครองเป็นแบบเผด็จการ (Dictatorship) การผูกขาดระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การกอบโกย ตักตวง ผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศชาติ ที่มิได้ตอบสนองการเติบโตการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันประเทศ


 


ในทางกลับกัน ผลประโยชน์เหล่านั้นกลับเกื้อหนุนให้เฉพาะตระกูล เครือญาติของตนเอง จนกระทั่งนำไปสู่การชุมชุมครั้งใหญ่ในปี 1986 จนทำให้ประธานาธิบดีมาร์กอส ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ การต่อสู้ในครั้งนั้นรู้จักกันในชื่อ EDSA Revolution หรือการปฏิวัติ EDSA ที่นำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองในประเทศฟิลิปปินส์


 


แต่อย่างไรก็ตาม สมัยที่มาร์กอสเข้าไปมีบทบาท มีอำนาจในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์ถูกมาร์กอสครอบงำ ถูกคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ การคุมอำนาจทหาร รัฐสภา และได้ทำในเรื่องของการสร้างฐานคิดประชานิยมท้องถิ่นเอาไว้ด้วยเบ็ดเสร็จ


 


ผมเคยนั่งคุยกับชาวบ้านท้องถิ่นในฟิลิปปินส์ ถามว่า ฮีโร่ของคุณคือใคร เขาบอกว่า ฮีโร่คือมาร์กอส แต่ถูกชนชั้นกลางโค่นล้มเสียก่อน แต่ถึงอย่างไร คนชนบทก็ยังรักมาร์กอสอยู่ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นประชานิยมฟิลิปปินส์ในช่วงนั้นก็ว่าได้


 


ช่วงนั้น ถือว่ามีการเคลื่อนไหวประท้วงกันอย่างหนัก ?


 


ใช่ ช่วงนั้นมีการเดินขบวนไล่กันหลายต่อหลายครั้ง ทั้งฝ่ายซ้ายและศาสนจักร ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ ที่เป็นความเชื่อแข็งแรง และสนับสนุนโดยกลุ่มโบสถ์ ในปี 1986 มาร์กอส ออกจากอำนาจ ก็มีโครงสร้างใหม่ คือมีรองประธานาธิบดี ขึ้นมารักษาการแทน โครงสร้างฯขึ้นมารักษา คือ คอราซอน อาคีโน


ภรรยาม่ายของคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองของมาร์กอสได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน หลังสามีของเธอถูกยิงตายที่สนามบิน


 


ในยุคของประธานาธิบดี คอราซอน อาคีโน (President Corazon Aquino, 1986-1992) ก็ได้ประกาศฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และปฎิรูปโครงสร้างทางการเมือง การสถาปนา กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับ องค์กรปกครองท้องถิ่นภายใต้กฎหมายปกครองท้องถิ่น 1991 (Local Government Code 1991) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและได้ถูกนำไปใช้ในการบริหารจัดการท้องถิ่น


 


จะเห็นว่า ฟิลิปปินส์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง จากรวมศูนย์มาสู่การกระจายอำนาจ พร้อมฟื้นฟูกฎหมายท้องถิ่นขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ "กฎหมายปกครองท้องถิ่นปี 1991" แบ่งอำนาจออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.มุ่งเน้นให้ความเป็นอิสระ(Autonomous) กับหน่วยปกครองส่วนท้องถิ่น การถ่ายโอนภารกิจ บทบาทหน้าที่ เช่น การจัดการทรัพยากร การจัดการศึกษา การจัดการระบบสุขภาพ การจัดสรรงบประมาณในการบริหารท้องถิ่นให้กับหน่วยปกครองท้องถิ่นถึง 40% ในขณะที่ประเทศไทย กระจายงบประมาณมาให้ท้องถิ่น 24.1% ซึ่งแต่เดิมในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 ได้กำหนดให้ต้องรัฐต้องกระจายงบประมาณอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 35% ให้แล้วเสร็จในปี 2550 แต่ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และต่อมาได้ถูกปรับปรุงแก้ไขจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2550 อีกครั้งหนึ่ง โดยให้การอุดหนุนงบประมาณองค์กรปกครองส่วน อยู่ที่ 24%


 


ส่วนที่ 2.การมุ่งเน้นแนวทางในการกระจายอำนาจลงไปสู่ในระดับท้องถิ่น ไม่ได้มุ่งเน้นการให้อำนาจที่โครงสร้างหน่วยการปกครองท้องถิ่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ได้ให้อำนาจในทางกฎหมายกับองค์กรชาวบ้าน ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนภาคีในการพัฒนาท้องถิ่น และเป็นกลไกในการคิด วางแผนในการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน รวมถึงการอำนาจในการทำประชาวิจารณ์ในระดับท้องถิ่น การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น การให้มีโครงสร้างพิเศษในการทำงานร่วมกับหน่วยปกครองท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า "Local special Bodies"


 


ซึ่ง "Local special Bodies" นี้จะมีอยู่ทั้งหมด 5 ส่วน ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมด้วย คือ ส่วนที่1.โครงสร้างของสภาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ส่วนที่ 2.โครงสร้างของคณะทำงานการศึกษาและโรงเรียน ส่วนที่ 3.โครงสร้างของคณะทำงานในด้านสุขภาพในท้องถิ่น ส่วนที่ 4.โครงสร้างของคณะทำงานในการคัดเลือกคุณสมบัติและให้รางวัลกับชุมชน และส่วนที่ 5.โครงสร้างของคณะทำงานเพื่อรักษาความสงบ รวมถึงการให้ภาคส่วนของกลุ่มคนชายขอบได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการในการทำงานร่วมกับสภาท้องถิ่นด้วย อีก 3 คน


 


ในส่วนที่เรียกว่า Local sectoral representation (LSRs) กฎหมายได้กล่าวไว้ว่า"จะต้องมีตัวแทน 3 คน ที่จะได้เข้ามาร่วมทำงานกับสภาท้องถิ่น โดยมาจาก 1.) ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง 2.) ตัวแทนฝ่ายแรงงาน และ3.) ตัวแทนจากกลุ่มชายขอบ/ กลุ่มวัฒนธรรม (จาก Local Government Code 1991 ส่วนที่ 41-c)"


 


แต่ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติในระดับท้องถิ่น ของประเทศฟิลิปปินส์กลับพบว่า ส่วนใหญ่แนวทางการบริหารท้องถิ่น ภายใต้หน่วยปกครองท้องถิ่น ได้ตกไปอยู่ในการควบคุมของชนชั้นนำที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตระกูล ครอบครัวของตนเอง ที่เรียกว่า "Traditional Political Elite" ผ่านการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ฝังลึกในระดับท้องถิ่น (Local Patronage Relationships) ซึ่งตอกย้ำถึงช่องว่างทางการเมืองภายใต้ความยากจนและความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ห่างกันมาก


 


สรุปแล้ว มองรูปแบบการกระจายอำนาจในฟิลิปปินส์เป็นอย่างไร


 


ถ้ามองในแง่ปรากฏการณ์ของฟิลิปปินส์ กฎหมายดูดี แต่ราชการอ่อนแอ ไม่มีพลังในสังคม พลังอยู่กับชนชั้นนำ กลุ่มคนรวย มีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นสูง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐท้องถิ่น ส่วนกลางมีความห่าง อาจจะประสานตัวบุคคล โครงสร้างไม่ใกล้ชิดกัน ระยะเวลา 3 - 4 ปีทีผ่านมา มีกลุ่มชนชั้นกลางทางสังคมเข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่นสูงขึ้น แต่ชาวบ้านก็มีพัฒนาการมากขึ้นด้วย เช่น ที่ได้ไปคุยมานั้น ก็มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงาน ภาคประชาสังคม นายกฯ สายก้าวหน้า ร่วมกันพัฒนากลไกขึ้นมา ในลักษณะการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น รวมตัวกันเป็นเครือข่าย การทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อต่อสู้กับพวกชนชั้นกลาง


 


แล้วรูปแบบการปกครองของอินโดนีเซียแตกต่างหรือคล้ายกันกับไทยหรือไม่


 


ที่ประเทศอินโดนีเซีย กฎหมายการกระจายอำนาจ นั้นคล้ายกันกับของประเทศไทย คือการเกิดขึ้นของกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจในขณะนั้น มีการปกครองโดยเผด็จการ ซูนาโต้ คงพอๆ กับประเทศไทย ที่เข้ามายุคทหาร รสช. โดยกฎหมายของอินโดนีเซีย มีอยู่ 2 ตัว คือ กฎหมายเบอร์ 22 อิสระท้องถิ่น และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เบอร์ 25 ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งคุยกันมาไม่กี่ปีมานี้


 


ในอินโดนีเซีย รูปแบบการการเมืองการปกครองท้องถิ่น จะมีโครงสร้างการกระจายอำนาจดีกว่า เป็นลักษณะการถ่ายโอนอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งตัวคน กระจายอำนาจที่อยู่ในมือรัฐทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น ในอินโดนีเซีย เรียกว่า "คาบูบาเต็น" หรือ องค์กรท้องถิ่นในเขตชนบท แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่น จะต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น นั่นหมายถึงว่า หากจะลงนายก อบต. ก็จะต้องสังกัดพรรคในระดับชาติทุกคน ฉะนั้น นโยบายการหาเสียง ต้องขึ้นคู่กับหัวหน้าพรรค


 


หากย้อนมาดูเมืองไทย เริ่มจะเหมือนเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียไปทุกที อย่างล่าสุด,จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกท้องถิ่น ในช่วงเดือนกันยายนนี้ จะสังเกตได้ว่ามีหลายกลุ่มที่จะลงสมัคร พยายามทำป้าย ทำสี โลโก้ หรือมีการชูนโยบาย คล้ายๆ กับพรรคการเมืองระดับชาติหลายพรรค ซึ่งจะเห็นว่า หากพรรคการเมืองท้องถิ่นไปเชื่อมกับการเมืองระดับชาติ หากระดับท้องถิ่นไปอิงกับการเมืองระดับชาติแล้ว ท้องถิ่นจะมีอิสระกับการเมืองได้อย่างไร


 


ทุกวันนี้ เราพอมองออกว่า หลายกลุ่ม ทั้ง อบต. เทศบาล ก็ล้วนแล้วแต่สังกัดพรรคทั้งสิ้น แต่ไม่โชว์ชัดเจน ที่เห็นชัดเจน ก็คือที่ จ.นครราชสีมา มีการช่วยกันหาเสียง รวมไปถึงในเขตเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าจะไม่ประกาศตัวชัดเจน เช่น การหาเสียง สจ.ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเมืองแห่งความขัดแย้งทางการเมือง


 


แล้วจะส่งผลต่อชาวบ้านท้องถิ่นอย่างไร


 


การให้คุณและโทษท้องถิ่น ณ วันนี้ เราก็เห็นแล้วว่า ท้องถิ่นไหนไม่ไปช่วยหาเสียง เมื่อมีปัญหาจะไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือพึ่งพา ในแง่ของระบบอุปถัมภ์ และประชาชนกลายเป็นแค่คนมีสิทธิลงคะแนนเสียง ตัวเลือกก็ถูกกำกับโดยกลุ่มคนบางคนเท่านั้นเอง


 


เห็นด้วยหรือไม่ ที่การเมืองท้องถิ่นจะต้องไปเชื่อมกับการเมืองระดับชาติ


 


กรณีประเทศอินโดนีเซีย ในมิติหนึ่งอาจเป็นข้อเสีย การเมืองระดับบนจะขัดแย้งกัน แต่ในระดับท้องถิ่น นายกฯ คนหนึ่งสังกัดพรรคหนึ่ง และอีกคนหนึ่ง สังกัดอีกพรรคหนึ่ง แต่ด้านล่างในระดับท้องถิ่น เขาสามารถคุยกันและช่วยเหลือกันได้ในระดับท้องถิ่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเอาแต่เฉพาะการเมืองระดับชาติเข้ามาเท่านั้น


 


ดังนั้น เมื่อหันมามองเมืองไทย การเห็นด้วยหรือไม่ต่อการเมืองท้องถิ่น ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งปัจจุบัน เราก็เห็นแล้วว่ามีการสังกัดพรรคกันอยู่มากแล้ว แต่เป็นการเมืองตามกระแสหลัก หากวันหนึ่งมีพรรคทางเลือก และมีฐานท้องถิ่นอยู่ จะต่างอะไรกับ อบต.ที่ไปสังกัดพรรคการเมือง เช่น สมมุติว่าวันหนึ่งพรรคพลังประชาชน หมดอำนาจ พรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมามีอำนาจ กลุ่มการเมืองท้องถิ่นอื่นๆ ก็จะต้องเลื่อนไหลเข้าไปร่วมกับพรรคการเมืองนั้นด้วยอยู่แล้ว


 


ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการชี้นำโดยพรรคเท่านั้น แต่ผมเชื่อว่า ผู้นำท้องถิ่นหลายคนฉลาดที่จะเลือกใช้นักการเมืองคนไหน กลุ่มไหนอย่างไรแล้วด้วย


 


ในระดับพฤตินัย ระดับท้องถิ่น มีการสนับสนุนกันอยู่แล้ว ผ่านระบบสีสัน การหาเสียง แม้ว่าในระดับชาติในขณะนี้ อาจจะไม่ชัดเจน หรือหลายพื้นที่อาจจะตั้งต้นด้วยฐานตัวเองอยู่ เก็บเงินเพื่อต่อสู้บนฐานตัวเองอยู่ หากเรามองการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องแพ้ หรือชนะ แต่เราควรมองการเมืองว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ๆ ซึ่งวันหนึ่ง หากชาวบ้านหรือองค์กรกลุ่มหนึ่งตกผลึกทางความคิด อาจจะมีการเมืองทางเลือกขึ้นมา ที่จะมีตัวตนพร้อมหนุนเสริมท้องถิ่นได้


 


พรรคทางเลือก แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไรหรือ


 


ที่ผ่านมา พรรคการเมืองทางเลือก มีการถกเถียงกันมาก ทั้งสังคมนิยมประชาธิปไตย,แรงงาน รัฐสวัสดิการหรืออื่นๆ ทั้งนี้อยู่กับแนวนโยบายแต่ละคน แต่ ณ วันนี้ หากจะต้องการสร้างการเมืองทางเลือก โดยไม่ได้เข้ามาสร้างความคิดกับท้องถิ่น หรือจัดตั้งในระดับท้องถิ่นแล้ว ก็ไม่ต่างไปจากการเมืองที่ผ่านมา หากเรายกระดับศักยภาพท้องถิ่น องค์กรชาวบ้าน ที่หลากหลาย ให้เข้าถึงบทบาทของตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของสังคม ยกระดับขึ้นมาในท้องถิ่น กลายเป็นพลังที่จะนำไปสู่การตั้งพรรคการเมือง หรือการเข้าสู่กลไกทางการเมืองระดับหนึ่ง อาจจะมองสองแง่ คือ ตั้งพรรค แล้วไปตั้งคน หรือตั้งคนแล้วไปตั้งพรรค


 


คิดว่าพรรคทางเลือก มี 2 ระดับ คือ ในทางนโยบาย มีพื้นที่การเมืองและระดับชาติ ในหลายๆ พื้นที่ ตัวองค์กรท้องถิ่นเอง อาจจะอยู่ภายใต้กรอบของพรรคบางพรรค แต่ก็มีหลายพื้นที่ ที่มีอิสระจากกรอบเหล่านี้ พยายามดิ้นรน ถีบออกจากกระแสหลัก หรือพรรค ซึ่งเราจำเป็นจะต้องคิดกันต่อว่า จะทำอย่างไร ถึงจะดึงเอากลุ่มเล็กๆ เหล่านี้ มาขยับต่อและสร้างการเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น


 


จากการไปศึกษาดูงานที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกลับมา มีแนวคิดหรือทางออกอย่างไร กับรูปแบบการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ?


 


ในมิติท้องถิ่น มีอยู่ 3 ประเด็นที่เป็นบทเรียนสำคัญ ประเด็นแรก อยากจะผลักดันกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กับท้องถิ่นมีความจำเป็น อาจจะผลักดันผ่านโดยการเอาตัวเราลงไปในโครงสร้าง ในขณะที่พื้นที่มีให้ต่อสู้ ก็อาจส่งคนของเราลงไปต่อสู้กับนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งการต่อสู้ไม่ได้หมายความว่า แพ้ หรือชนะ แต่เพื่อประกาศทางเลือกที่ไม่เข้าไปสู่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเก่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในหลายๆ พื้นที่ อำนาจการเมือง การเงิน การถูกคุกคามก็ยังมีอยู่


 


ประเด็นที่สอง จะต้องมีการพัฒนากลไกองค์กรชาวบ้าน ให้ทำงานคู่ขนานไปกับตัวองค์กรท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้ เรามีสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นแง่ของกฎหมาย และมีรูปแบบเดิม คือ ประชาคม ซึ่งผมคิดว่ายังคงมีความเชื่อมั่น ต่อกระบวนการนี้อยู่ หากการทำงานเรามุ่งเน้นการทำงานกับชาวบ้านระดับท้องถิ่น ที่จะต้องพยายามเข้าไปสู่อบต.และกลไกประชาคมระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าไปทำงานในการติดตาม ตรวจสอบโดยเฉพาะอบต.ที่มีคนของเราเข้าไปนั่ง คนของเราจำเป็นที่จะต้องหนุนเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง หากหวังเพียงแค่ฝากความหวังแล้ว ก็จะถูกกลืนด้วยกระแสอำนาจ และเงินตรา ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ถูกต้านกระแสอื่นๆอยู่ บางส่วนมองว่า ถูกกลืนด้วยการเมืองท้องถิ่น แต่มีหลายพื้นที่ที่สามารถทำได้


 


ประเด็นที่สาม การผลักดันปฏิรูปกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งมีความจำเป็นอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาต่อกระบวนการการมีส่วนร่วม และหลายส่วนยังให้อำนาจรัฐกำกับดูแลอยู่ ทั้งในส่วนของการร่างงบประมาณ, การพิจารณาโครงการฯ หรืออื่นๆ รวมไปถึงข้อบัญญัติถึงแม้ว่าจะให้อำนาจท้องถิ่น แต่ก็ยังต้องส่งให้ข้างบนมีอำนาจเห็นชอบ


 


ประเด็นสุดท้าย น่าจะมีการพัฒนาหน่วยปกครองท้องถิ่นกับองค์กรชาวบ้าน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อร่วมกันถอดชุดองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ๆ เป็นการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ท้องถิ่นอีกรุ่นหนึ่ง หรือการพัฒนาให้เป็นสถาบันขึ้นมาในระดับท้องถิ่น ในอนาคตด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net