Skip to main content
sharethis

ประชาไทถอดบทสนทนาจากรายการบ้านเมืองไม่ใช่ของเรา โดยสองพิธีกรชาย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และชูวัส ฤกษ์ศิริสุข พูดคุยกับแขกรับเชิญหญิงนามว่า ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้คลุกคลีตีโมงอยู่กับประเด็นสตรีศึกษาด้วย


 


ความเป็นแม่นั้นแท้จริงเป็นเรื่องสัญชาติญาณตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งปลูกสร้างทางความคิดอีกอย่างหนึ่ง พิธีกรรมในนามของวันแม่ที่ทำหน้าที่ขับกล่อม (ประสาท) ว่าการได้เป็นแม่คือการบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่สุดในฐานะที่ได้เกิดมามีเพศสภาพหญิงนั้น ได้ตัดทอนความหลากหลายของรูปแบบความเป็นแม่ หรือความเป็นลูก หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปอย่างไร


 


 


พิชญ์: ความเป็นแม่และวันแม่ ในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับหลักรัฐศาสตร์หรือไม่ อย่างไร


 


ชลิดาภรณ์: เกี่ยวสิ ถ้าเราให้ผู้หญิงเลือกได้ ผู้หญิงจะอยากเป็นแม่ไหม ถ้าไม่มีอะไรมากล่อมประสาท ผู้หญิงจะเลือกเป็นแม่ไหม


 


ชูวัส: แต่ความเป็นแม่นี่มันคือเรื่องของความเป็นมนุษย์เลยนะ


 


ชลิดาภรณ์: ความเป็นแม่นั้นไม่ใช่แค่ตั้งท้อง ออกลูกมาแล้วจบ ภาระความเป็นแม่นั้น เริ่มตั้งแต่การตั้งท้อง แต่เราไม่ได้ปล่อยให้ผู้หญิงแต่ละคนเลือกลีลาการเป็นแม่


 


ช่วงหลายวันที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่าแม่ที่ดีเป็นอย่างไร แม่ดีเด่นคือแม่ที่เลี้ยงลูกได้ดี คนที่เลี้ยงลูกได้ดีคือต้องไม่เห็นแก่ตัว ความต้องการของลูกมาก่อนความต้องการของตัวเองมาทีหลัง ยอดโหดเลยนะ ลองคิดดูว่ามีอุดมการณ์มีทางการเมืองชนิดไหนบังคับมนุษย์ขนาดนี้บ้าง ตัวตนของคุณหายไปให้ความสำคัญกับคนอื่นก่อน


 


ชูวัส: แต่ก็มีการอธิบายว่ายังไงแม่ก็รักลูก บางทีอาจจะทำร้ายลูกแต่ยังไงก็รัก


 


ชลิดาภรณ์: รักลูกก็รัก แต่ตัวตนคุณหายไป คุณคิดดูสิ ว่าคนเราในชีวิตนี้มีหรือที่จะเอาคนอื่นมาก่อนตลอดเวลา


 


พิชญ์: มันขัดกับความเป็นผู้หญิงไหม


 


ชลิดาภรณ์: ของแบบนี้มันนานๆ ทีได้ เรื่องการเอาความต้องการของคนอื่นมาก่อนน่ะ ไม่ต้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายหรอก ทุกคนทำได้หมดแหละ เรื่องการให้ความต้องการของคนอื่นมาก่อน แต่ไม่ใช่ตลอดเวลานาที


 


พิชญ์: แต่แม่ต้องเสียสละใหญ่หลวง


 


ชลิดาภรณ์: แล้วถามว่าผู้หญิงทำได้ไหม ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นเพศหญิงมีอวัยวะเพศหญิง มีนมแล้วทำได้ คือบางคนทำได้บางคนทำไม่ได้ มันทุกข์มากเลยนะ ถึงต่อให้คุณเป็นแม่ที่ดีที่สุดคุณก็ทำไม่ได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันต้องมีอะไรที่กล่อมประสาทคุณอยู่น้อยๆ ตลอดอย่างวันแม่ก็เป็นการกล่อมประสาทเล็กๆ นะคะ ถ้าดูจากสาสน์ทั้งหลายมีแต่โฆษณา มีแต่เพลงที่ทำให้น้ำตาคลอ คือวันแม่นี่จริงๆ แล้วจำเป็นก็ต้องมีนะ เพราะถ้าไม่มีผู้หญิงก็จะห่อเหี่ยวมาก เพราะให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกและเสียสละขนาดนี้ คือมันต้องมีสักวันหนึ่งว่า เออ ที่คุณเสียสละไปก็มีคนเห็นนะ


 


พิชญ์: วันแม่สำหรับประเทศไทยฟูมฟายมากไปหรือเปล่า ผมจำได้ว่าวันแม่ในอเมริกานั้นจะมีเพียงแค่การโฆษณาเล็กๆ น้อยๆ ว่าให้ซื้อสบู่ให้แม่ ซื้อเครื่องสำอางให้แม่ เล็กๆ น้อยๆ ไม่ขนาดนี้ อะไรทำนองนี้


 


ชลิดาภรณ์: ในเอมริกาเขาขายของ แต่ของไทยก็ขายของ แต่เนียนกว่า


 


ชูวัส: ในอเมริกา หน้าที่ของวันแม่คืออะไร


 


ชลิดาภรณ์: ทำให้คนคิดถึงแม่มากกว่า หรือไม่ก็โทรหาแม่


 


พิชญ์: อาจารย์กำลังจะบอกว่า ทั้งหมดนี้ทำให้แม่แบกภาระเกินจำเป็นเหรอ


 


ชลิดาภรณ์: แม่ที่ไหนก็เสียสละ คือถูกเรียกร้อง คือไม่ใช่แค่มีแรงใจ และจิตวิญญาณ ฉะนั้นมันก็ต้องมีวันแม่ ให้เห็นว่าที่คุณเสียสละไปก็มีคนเห็นนะ


 


พิชญ์: นี่คือหนึ่งในอุดมการณ์ใช่ไหม ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งในชีวิตต้องเตรียมตัวเป็นแม่ และเมื่อคุณเป็นแม่ตัวตนของคุณก็หายไป ปัญหาคือว่ามันชัดเจนขาวดำ ขนาดนั้นหรือ สามารถมีแม่แบบอื่นๆ ได้ไหม


 


ชลิดาภรณ์: จริงๆ แล้ว ถ้าเราบอกว่าเราต้องการคนสักคนหนึ่งมาเลี้ยงเด็ก แล้วคนที่จะเลี้ยงเด็กได้ดีคือคนที่เป็น Biological motherhood ของเด็ก คือเป็นโดยชีวภาพ โดยธรรมชาติ ก็น่าจะปล่อยให้ผู้หญิงแต่ละคนสามารถจะเลือกได้ว่าเขาจะเลี้ยงเด็กอย่างไร แต่จริงๆ แล้วดูให้ดีๆ นะว่าคุณเลือกลีลาเองไม่ได้ แต่คุณต้องเป็นแบบนี้


 


พิชญ์: แต่นี่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นประวัติความเป็นมาของแต่ละสังคมนะครับ อย่างสังคมไทยผมก็ไม่เชื่อว่าคนชนชั้นสูงสมัยก่อนจะมาฟูมฟายกะเรื่องความเป็นแม่ เพราะว่าเขามีแม่นม มีคนเลี้ยงเยอะแยะ แม่กับลูกคงไม่ได้ร้องเพลงอิ่มอุ่นด้วยกัน แต่ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร


 


คือถ้าย้อนกลับไปดูแค่ในสยามในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก่อนที่ชนชั้นกลางจะไปรับเอาวิธีคิดแบบฝรั่งมาเลี้ยงลูก เราจะพบว่าคนสมัยก่อนไม่มีใครที่แม่เลี้ยงนะ คือจะมีหลายมือเลี้ยง มีผู้หญิงหลายมือในครัวเรือน


 


ชูวัส: แปลว่า เด็กคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัวใหญ่ที่ไม่ได้ถูกแม่เลี้ยงมา จะมีปัญหาใช่ไหม


 


ชลิดาภรณ์: จริงเหรอ ที่มันยุ่งยากกันอยู่นี้นะ คือเวลาที่เด็กเข้าโรงเรียนก็จะมีปัญหา เมื่อก่อนนี้เด็กจะมีคนเลี้ยงหลายคนใช่ไหม มีย่ายายเลี้ยง มีพี่ป้าน้าอาคอยเลี้ยง ช่วยกันเลี้ยงมาหลายคน ทีนี้ตอนนี้เด็กที่โตมาโดยย่ายาย ป้าน้าอาเลี้ยง กลับถูกเอาปูนป้ายว่าเป็นปัญหาน่ะ ฉะนั้นเด็กที่โตมาในครอบครัวใหญ่แม่ไม่ได้เลี้ยงแล้วเป็นทุกข์ มันทุกข์เองหรือว่าเพราะอะไรกันแน่


 


และบางทีคนเลี้ยงเด็กก็ไม่จำเป็นต้องผู้หญิงก็ได้ด้วยซ้ำ คือจกลงแล้วจะเอายังไง คือไอ้อุดมการณ์ความเป็นแม่นี้มันแย้งกันเองอยู่ในตัว คือคุณบอกว่าคนที่จะเป็นแม่ได้ดี คุณต้องรักเด็ก ต้องเสียสละ แต่มีแม่ตั้งเยอะแยะที่ไม่รักลูกตัวเองแต่ไม่กล้าพูด


 


ชูวัส: ทำไมรายการนี้ถึงสวนทางชาวบ้านเรื่อยเลยนะ คือหลังๆ เราก็มีบอกว่าเลี้ยงลูกให้ดีก็ต้องเป็นเพื่อนลูก


 


ชลิดาภรณ์: คือการเป็นเพื่อนลูกมันไม่ใช่ทุกคนเป็นได้ก็เหมือนกับการเป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกให้ดี ให้อาหารที่ดี ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ คือคุณบังคับว่าคนที่จะเป็นแม่ได้ดีต้องเป็น Biological motherhood แล้วก็ยังบอกว่าต้องเลี้ยงแบบไหน อย่างไร คุณไม่ได้ปล่อยให้เขาเลือกเอง


 


พิชญ์: ทีนี้ถ้าปล่อยเลย สถานการณ์จะเป็นอย่างไร สังคมไทยบอกว่าไม่ต้องมีการรณรงค์เรื่องความเป็นแม่


 


ชลิดาภรณ์: รับรองว่ากลียุค คือคนนั้นคิดว่าถ้าเราปล่อยเสรีความเป็นแม่ มันจะต้องยุ่งอย่างแน่นอน ตกลงเราต้องการอะไรจากความเป็นแม่ คือเราต้องการให้มีการเลี้ยงดูให้โตและเป็นสมาชิกใหม่ของสังคมแล้วเราต้องการอะไร คือนอกจากเลี้ยงดูให้โตเป็นสมาชิกใหม่ของสังคมแล้วยังต้องรักต้องมีความอบอุ่นผูกพัน คือมันมีอะไรหลายอย่างมาผูกโยงอยู่กับสถาบันความเป็นแม่ คือตกลงแล้วเรากลัวอะไรกันแน่


 


ถ้าเราเปิดเสรีความเป็นแม่ขึ้นให้ใครเลี้ยงเด็กก็ได้โดยให้ความสมัครใจว่าอยากจะเลี้ยงเด็กมันคงจะไม่ถึงกับวุ่นวาย การเลี้ยงเด็กให้โตจะยังมีเพียงแต่อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคุ้นเคย


 


พิชญ์: ต่อเนื่องจากประเด็นนี้ ลักษณะพิเศษของสังคมไทยมันต่างจากสังคมอื่นอย่างไรในเรื่องความเป็นแม่


 


ชลิดาภรณ์: ลักษณะสังคมไทยคิดว่าตนเองพิเศษ เช่น รักนวลสงวนตัว ครอบครัวอบอุ่น แต่มันไม่ไทยซักอย่าง คุณเหมือนคนอื่น คุณไปเอาเขามาแล้วคิดว่าเป็นจุดแข็งของฉัน นี่คือลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของฉัน ความจริงมันไม่ใช่ คุณเอาของคนอื่นเขามาทั้งนั้น รวมทั้งความเป็นแม่แบบนี้ด้วย


 


ชูวัส: มันเป็นการจัดการทางสังคมแบบหนึ่งหรือไม่


 


พิชญ์: ทำให้มีหลักประกันว่าเมื่อแก่เฒ่ามีคนเลี้ยง มันเป็นผลตอบแทน มันเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ


 


ชลิดาภรณ์: นี่ก็เหมือนยากล่อมประสาทให้คนทำหน้าที่แม่ แต่คุณมีหลักประกันอะไรไหมว่าเลี้ยงลูกไปแล้ว ลูกจะกลับมาเลี้ยงดูแม่ มีเรื่องที่ได้ยินแบบอมตะนิรัดร์กาลมากคือแม่คนเดียวเลี้ยงดูลูกได้เป็นสิบ แต่ไม่มีใครกลับมาดูแลแม่ แสดงว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้คุณเลยแม้แต่น้อย แล้วถ้าเรียกร้องอย่างนั้นว่าฉันเลี้ยงพวกแกมา แกต้องกลับมาดูแลฉัน นี่แสดงว่า go against สิ่งที่คุณพูดถึงสถาบันความเป็นแม่ตั้งแต่แรก สถาบันความเป็นแม่ แม่ที่ดีต้องไม่คิดถึงตัวเอง


 


พิชญ์: หรืออาจารย์ชลิดาภรณ์กลัวความเป็นแม่มากไป ผู้หญิงสมัยใหม่รู้สึกว่าอะไรที่เป็นกรอบทางสังคมอยู่ก่อนหน้าเป็นตัวสกัดกั้นเสรีภาพ และเสรีภาพขอสตรีคือคามเป็นอิสระไม่ต้องมีกรอบอะไรหรือไม่


 


ชลิดาภรณ์: ที่พูดๆกันไปแล้วคนมาด่าเราว่าเราพูดถึงความเป็นแม่และสถาบันความเป็นแม่ในทางที่ลบมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เราพยายามบอกคือใครพอใจจะทำอะไรก็ทำ ใครที่คิดว่าความเป็นแม่แบบเดิมที่สังคมไทยยึดถือตอนนี้ดีแล้วก็ทำไป แต่ประเด็นคือ วันแม่แห่งชาติเป็นวันที่ดีที่จะมาคิดใคร่ครวญว่าต้องการอะไร


 


ถ้าหน้าที่การเลี้ยงดูเด็กและการเจริญพันธุ์เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่จะทำให้สังคมการเมืองอยู่ได้จริงๆแล้วยืนยันว่าถ้าไม่มีการเจริญพันธุ์มันจะจบหมดไม่ว่าประชาธิปไตยหรืออะไร อันนี้เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานมากของทุกสังคมการเมือง ถ้ามันสำคัญมากและเราต้องการคนที่สืบพันธุ์ มีคนเลี้ยงดูเด็กเพียงแค่นี้หรือไม่ หรือต้องการอะไรอื่นๆมากกว่านี้ คือเราไปบวกความรัก การเลี้ยงดู เข้าไปทำให้มันยุ่งยากมาก


 


แต่ถ้าต้องการแบบนี้ ใครที่ผูกพันกับเด็กก็เลี้ยงก็ได้ การเลี้ยงเด็กตามอุดมการณ์นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่โดยลักษณะทางชีวภาพกับเด็ก


 


ชูวัส: ถ้าเปิดเสรีแบบนี้จริงสังคมไทยไม่มีปัญหาหรือ


 


ชลิดาภรณ์: ถ้ามีปัญหาคงมีไปนานแล้ว


 


ชูวัส: แล้วสำหรับวันพ่อมีลักษณะแตกต่างกันหรือไม่ พ่อจะรู้สึกว่าความเป็นผู้ชายกดดันเท่าวันแม่หรือไม่


 


ชลิดาภรณ์: อันนี้ก็สำคัญ การรณรงค์เรื่องวันพ่อวันแม่ทำให้เห็นความคาดหวังระหว่างบทบาทที่ต่างกันมากของหญิงชายในการเลี้ยงดูเด็ก วันพ่อไม่มีนะเพลงค่าน้ำนม หรับคนไทยจะทำให้เห็นว่าพ่อมีความสำคัญในชีวิตโคตรลำบากเลย เพราะส่วนใหญ่คนไทยโตมาโดยไม่เห็นพ่อ คือครอบครัวไทยไม่ได้มีหน้าตามาแบบพ่อแม่ลูก พอโตมาสักพักพ่อก็จะหายไป เลี้ยงมาด้วยครอบครัวขยายฝั่งแม่


 


พิชญ์: พ่อมีภาพต้องไปทำงานไง


 


ชลิดาภรณ์: แต่ไปแล้วไปลับ


 


พิชญ์: อันนี้ก็แล้วแต่บ้าน พ่อส่งผมไปโรงเรียนทุกวัน ประเด็นน่าสนใจ เป็นเรื่องซึ่งใหญ่โตกว่าที่เราคิดตั้งแต่แรก กำลังคิดโยงอีกนิด เวลาสังคมพูดเรื่องความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ มันเกี่ยวกับเรื่องรัฐด้วย คือรัฐสมัยใหม่มันต้องแบกเรื่องสวัสดิการทางสังคม แต่มันไม่ทำเอง มันส่งผ่านในการสร้างความเป็นแม่ขึ้นมาแล้วบีบให้แม่มีลักษณะเฉพาะแบบนี้เพื่อที่จะลงมาดูแล เหมือนเป็นขั้นของมันพอสมควร


 


ชลิดาภรณ์: แต่มันก็อาจจะมีคนเถียงได้อีกว่า รัฐสมัยใหม่บีบให้คนทำแบบนี้หรือในที่สุดแล้วมันมีฟังก์ชั่นแบบนี้มาตลอดที่ทุกสังคมการเมืองต้องทำ เพียงแต่ว่ารัฐสมัยใหม่ต่างหากที่คิดเอาเองว่าคนต้องทำแบบนี้ มีภาพพลเมืองของตัวเองว่ามีหน้าที่เป็นพ่อใครบางคน แม่ใครบางคน ลูกใครบางคน แล้วสวัสดิการของรัฐจะให้หรือไม่ให้อะไรก็ดูจากที่ทางในครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกว่าคุณอยู่ตรงไหน ถ้าบังเอิญถ้าไม่ได้อยู่ในครอบครัวแบบพ่อแม่ลูก คุณเสร็จ คุณหลุดไปจากระบบสวัสดิการของรัฐหรือไม่


 


 


พิชญ์: ระบบเบิกจ่ายอะไรก็ต้องบอกว่าคุณเบิกให้ภรรยา เบิกให้ลูก ระบบภาษีก็เป็นแบบนั้น กลับไปที่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่ามีวันพ่อ วันแม่ แล้วมีวันลูกแห่งชาติไหม


 


ชลิดาภรณ์: วันล่งวันลูกอะไร ลูกในอุดมการณ์ครอบครัวแบบชนชั้นกลาง ลูกอยู่ที่สุดยอด ทุกคนต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อลูกอยู่แล้ว


 


พิชญ์: ก็คือลูกเป็นความหวังในอนาคต ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อลูก


 


ชลิดาภรณ์: จริงๆ ปัจเจกถูกเรียกร้องว่า เมื่อคุณมีลูกแล้ว คุณจะมาคิดถึงความสุขของตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ทุกคนต้องเสียสละเพื่อลูก คนที่มานั่งพูดว่า เฮ้ย ไม่แฮปปี้ว่ะ อยากจะหย่า มันไม่ง่าย ก็ต้องทนเพื่อลูก เพราะฉะนั้น ทุกวันก็เป็นวันของลูกอยู่แล้ว


 


พิชญ์: แล้วถ้าเราเอาเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเข้ามาจับล่ะ ความเป็นแม่ แม่ในแต่ละชนชั้นต่างกันไหม แม่ในครอบครัวจนๆ โดยวิธีคิดแบบนี้ มันโดนกระทบมากกว่าแม่ในโลกคนรวยไหม หรือจะบอกว่าไม่


 


ชลิดาภรณ์: มันกระทบแน่นอน เพราะอุดมการณ์ความเป็นแม่ขณะนี้เรียกร้องว่า การเลี้ยงดูลูกที่มีคุณภาพ คุณต้องเลี้ยงเอง หรือต้องทำนู่น ทำนี่ ทำนั่นเอง ถ้ามันมีผู้ช่วยเยอะๆ หรือว่าพอมีเวลาบ้างก็ยังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ผู้หญิงคนชั้นกลางหรือล่างไปกว่านั้นจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้เอง นึกถึงผู้หญิงคนชั้นกลางทั้งหลาย ถ้าลูกคุณไม่สบายทำยังไง คุณต้องลางานมาดูลูก บางคนถูกตัดเงินก็ไม่กล้าลา ต้องทำงานเพื่อเอาเงินมา ก็ต้องนั่งรู้สึกผิดอีก สรุปแล้วนี่มัน no-win situation


 


ชูวัส: สรุปง่ายๆ อย่างนี้ได้ไหมว่า การรณรงค์วันแม่เป็นเพราะเราไม่เชื่อมั่นในพลังของความเป็นแม่หรือเปล่า


 


ชลิดาภรณ์: เราน่ะไม่เชื่ออยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าธรรมชาติกับความเป็นแม่มันอาจจะเป็นคนละเรื่องกันเลยนะ อย่างที่บอกว่าถ้าปล่อยเสรี เผลอๆ จะไม่มีใครยอมเป็นแม่ทั้งสิ้น


 


พิชญ์: แสดงว่าไม่เชื่อวิธีคิดว่ามันเป็นสัญชาตญาณ


 


ชลิดาภรณ์: ถ้ามันเป็นสัญชาตญาณความเป็นแม่จริง คงไม่ต้องมาพยายามกล่อมประสาทเรา ไม่ต้องมีเพลง เพลงอะไรนะ อิ่มอุ่น ไม่ต้องเลย คนมันจะต้องอยากอย่างนั้นเอง ไม่ต้องมานั่งสอนในโรงเรียนว่าผู้หญิงคือเพศแม่ ปล่อยเสรีสิ ถ้าเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติจะแสดงออกมาเอง


 


พิชญ์: เออ แต่ก็ไม่เคยเห็นบอกว่าผู้ชายเป็นเพศพ่อนะ


 


ชลิดาภรณ์: เห็มไหม แล้วพอมีลูกไม่ได้ ตอนนี้ก็ยังมีคลินิกผู้มีบุตรยาก ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนจะเป็นแม่กัน


 


พิชญ์: สิ่งที่เราคุยกันอาจมีหลายเรื่องที่ฟังแล้วอาจยังไม่คุ้นหู แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า สิ่งซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นสัญชาตญาณ เป็นจุดสูงสุดของเพศเพศหนึ่ง บางทีเราก็ต้องตั้งคำถามด้วย เพื่ออะไร ผมพูดไปก็อาจจะโดนว่า แต่เพื่อให้คนรุ่นต่อไป มันดีกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราเชื่อในความดีงามของลูก การมีแม่ที่หลากหลายก็อาจจะดี หรือการที่คุณไม่ต้องอ้างว่าเป็นแม่ แต่ว่าสังคมทั้งสังคมช่วยกันดูแลพลเมืองในรุ่นต่อไป มันมีวิถีทางหลายๆ แบบ


 


ชูวัส: อย่างน้อยมันก็ไม่กดทับคน มีพื้นที่ให้คนหลายๆ แบบ


 


พิชญ์: อาจารย์มีอะไรทิ้งท้ายไหม


 


ชลิดาภรณ์: ดิฉันเคยเขียนไว้ในที่อื่นว่า ถ้าสมมติว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กคืออนาคตของสังคม การเลี้ยงเด็กมันมีคุณค่ามาก เพราะมันหมายถึงอนาคตของเรา เราลองคิดใหม่ดีไหมแทนที่จะบอกว่าการเลี้ยงเด็กมันเป็นภาระของแม่ ถ้ามันสำคัญ ทำไมพวกเราไม่เห็นเด็กทุกคนในสังคมนี้เหมือนเป็นลูกเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net