Skip to main content
sharethis

ธุรกิจค้าอัญมณีในพม่ายังไปได้สวย แม้ถูกสหรัฐคว่ำบาตร 


ร้านค้าอัญมณีแห่งหนึ่งในพม่า ยอมรับว่าลูกค้าที่มาซื้ออัญมณีเกือบทั้งหมดมาจากจีน รัสเซีย ไทย อินเดีย กลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียและกลุ่มสหภาพยุโรป สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรการค้าอัญมณีที่สหรัฐบังคับใช้กับพม่าไม่ได้ทำให้ธุรกิจค้าอัญมณีในพม่าได้รับผลกระทบแม้แต่น้อย  เพราะมาตรการคว่ำบาตรยังไม่มีผลครอบคลุมไปทั่วประชาคมโลก


พม่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสินแร่ที่มีค่าทับทิมร้อยละ 90 ของโลกอยู่ในพม่า ทั้งยังเป็นประเทศผู้ส่งออกหยกและอัญมณีอื่นอีกหลายชนิด รายได้จากการส่งออกอัญมณีถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารพม่า นักวิเคราะห์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดว่ารัฐบาลทหารพม่ามีรายได้จากการค้าอัญมณี 300 ถึง 400 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี สหรัฐจึงมองว่าถ้าคว่ำบาตรการค้าอัญมณีของพม่าก็น่าจะกระทบกับรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง เพราะขาดแหล่งรายได้สำคัญ


แต่เนื่องจากจีน อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตร เพราะมองว่าจะทำให้พม่าถูกโดดเดี่ยวและแยกตัวจากประชาคมโลกมากขึ้น จึงยังคงติดต่อซื้อขายอัญมณีกับพม่า นักการทูตต่างชาติยังมองว่าการคว่ำบาตรจะกระทบกับชนกลุ่มน้อยในพม่าเป็นหลัก เพราะหลายคนยังต้องอาศัยพึ่งพารายได้จากการขุดหาสินแร่มีค่า


(สำนักข่าวไทย วันที่ 13/08/2551)


 


รัฐกะเหรี่ยงฝนตกหนัก ดินโคลนถล่มปิดเส้นทางสายเมียวดี


เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 ได้เกิดเหตุก้อนหินจากภูเขาและดินโคลนถล่มปิดเส้นทางสายจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงไปยังจังหวัดกอกาเลก บริเวณที่เรียกว่าอะแหล่โบแด ลึกจากชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 35 ไมล์ ส่งผลให้รถยนต์บรรทุกสินค้าจากอำเภอแม่สอดชายแดนไทย-พม่า เข้าสู่จังหวัดเมียวดี เพื่อนำไปยังจังหวัดชั้นในของพม่า เช่น กอกาเลก-ผาอัน-ร่างกุ้ง ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากรถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทำให้สินค้าจำนวนมากติดค้างอยู่ที่จังหวัดเมียวดี ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงพม่าได้ระดมประชาชนเร่งเคลียร์เส้นทาง แต่เป็นไปด้วยความลำบาก เพราะมีปัญหาเครื่องจักรกลที่ใช้ยกก้อนหิน ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องกันมาหลายวัน


ทางการท้องถิ่นเมียวดีของพม่า แจ้งว่านอกจากหิน ดิน โคลน ตกลงมาปิดเส้นทางแล้ว ได้เกิดอุทกภัยขึ้นที่เมืองผาอ่าง รัฐกะเหรี่ยง น้ำจากแม่น้ำสาละวินไหล่บ่าท่วมเข้าตัวเมือง ชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำต้องอพยพหนีตาย และปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตที่ถูกน้ำพัดไป 3 คน ซึ่งพบศพแล้ว ส่วนอีก 2 คนสูญหาย ซึ่งทางการพม่าได้ระดมกำลังทหาร หน่วยกู้ภัย ช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยแล้ว และค้นหาผู้สูญหาย ซึ่งขณะนี้ฝนในพม่าได้ตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำจากลำห้วยและแม่น้ำสายต่างๆไหลลงสู่แม่น้ำเมยที่กั้นพรมแดนไทย - พม่า มีระดับสูงขึ้น ราษฎรที่อาศัยอยู่ทั้ง 2 ฝั่งริมแม่น้ำเมย ต้องเพิ่มความระมัดระวังและเตรียมอพยพทันที่หากน้ำล้นตลิ่ง โดยระดับน้ำเมยที่สูงขึ้นได้ท่วมเกาะกลางแม่น้ำเมย หรือโนแมนแลนด์ ใต้สะพานมิตรภาพไทย - พม่า จนราษฎรที่อาศัยบนเกาะต้องอพยพขนข้าวของหนี ส่วนพ่อค้า-แม่ค้า ตลาดริมเมย ได้เก็บสินค้าไว้ที่สูงเพื่อป้องกันสินค้าเสียหายหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน


 (ผู้จัดการ วันที่ 14/08/2551)


รัฐบาลทหารพม่าขยายเวลาคุมขังนางออง ซาน ซู จี


เมื่อ 11 ส.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขยายเวลาคุมขังนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประชาธิปไตยพม่าและหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีต่อไปอีก 1 ปี คำสั่งต่ออายุกักขัง
ซู จีดังกล่าวถือว่าขัดกับกฎหมายพม่าเอง ซึ่งให้อำนาจรัฐคุมขังบุคคลโดยไม่มีการตั้งข้อหาได้ไม่เกิน 5 ปี ขณะที่ในปัจจุบันนางซูจีต้องโดนกักอยู่ในบ้านรอบล่าสุดมาแล้วประมาณ 4 ปีครึ่ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนานาชาติ รวมถึงสหรัฐและสหภาพยุโรปที่กดดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยซู จีแต่ไม่เป็นผล


(ข่าวสด วันที่ 12/08/2551)


ครบรอบ 20 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า


วันที่ 8 สิงหาคม 2551 กลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลพม่า ประกอบด้วย อดีต ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี นักการเมืองรัฐบาลผลัดถิ่น นักการเมืองค่ายประชาธิปไตย และชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งมีฐานที่มั่นแห่งหนึ่ง ชายแดนไทย-พม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้รวมตัวกันจัดงานครบรอบ 20 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าโดยใช้สีแดงเป็นสีแห่งชัยชนะและประกาศอิสรภาพ โดยการเขียนทาและพ่นตามสถานที่ต่างๆ


การเคลื่อนไหวครั้งนี้ใช้รหัส 8888 ซึ่งแทนความหมายครบรอบ 20 ปีในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า 8 สิงหาคม ค.ศ.2008 เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการครอบงำของรัฐบาลทหารพม่า ทั้งนี้บริเวณจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้มีกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าได้ใช้สีแดงไปฉีดและพ่นตามสถานที่ต่างๆในเมืองเมียวดี เพื่อแสดงพลังการต่อต้าน และในวันเดียวกันนี้กองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ ยังได้จัดงานวันวีรชนในการประกาศแนวนโยบายสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลพม่าอีกด้วย


ส่วนกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั่วเอเชียได้จัดงานรำลึก 20 ปีเหตุการณ์ในพม่า โดยจัดการชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าและสถานทูตจีนในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของพม่า และเป็นเวลาเดียวกับการเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และที่หน้าสถานทูตจีนในประเทศไทย มีนักเคลื่อนไหวประมาณ 30 คนไปชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนช่วยนำประชาธิปไตยมาสู่พม่าโดยกดดันรัฐบาลทหารพม่าด้วย


(ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 08/08/2551)


การค้าชายแดนพื้นที่แม่สอดเพิ่มสูงขึ้น 25 %


เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงสภาวะราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่องว่า พ่อค้าที่กักเก็บเก็งกำไรน้ำมันในระดับโลกเริ่มที่จะเทขายน้ำมันออกสู่ท้องตลาด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้โรงงานประกอบการใช้น้ำมันน้อยลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงและมีแนวโน้มจะลดลง เบนซินต่ำกว่า 30 บาท และดีเซลอยู่ในระดับ 30-32 บาท สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลทำให้การค้าชายแดนไทย-พม่า ด่านการค้าแม่สอด -เมียวดี มีการส่งอก-นำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงกว่า 20-25 % และในส่วนของสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย ไม่น่าจะมีผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะคงอยู่ในระดับราคาเฉลี่ยลิตรละ 27-32 บาท อีกยาวนาน และสิ่งที่จะตามมาถึงประเทศไทยคือราคาสินค้าและเครื่องอุปโภค-บริโภคราคาจะลดลงตามราคาน้ำมันที่จะลดต้นทุนทางขนส่งและระบบการผลิตในประเทศ


 (สำนักข่าว INN วันที่ 11/08/2551)


 


พม่าเปิดจุดทำพาสปอร์ตที่เมียวดี-ท่าขี้เหล็ก-เขาตุง แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย


เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2551 พล.อ.หม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC และผู้บัญชาการทหารบกรักษาการ ผบ.สูงสุดพม่า ได้มีคำสั่งตั้งจุดทำพาสปอร์ตหรือการออกหนังสือเดินทางให้กับชาวพม่าที่ต้องการเดินทางไปทำงานยังประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและตรวจสอบประชาชนที่จะเดินทางออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมาย โดยการตั้งจุดทำพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง) นั้น รัฐบาลพม่าได้กำหนดให้จัดตั้งขึ้นใน 3 จังหวัดสำคัญตามแนวชายแดนไทย-พม่า อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือทางการไทยในการแก้ไขปัญหาแรงงานเข้าประเทศไท ตามแนวชายแดน


ทางการพม่าได้ประกาศตั้งศูนย์ออกพาสปอร์ต(หนังสือเดินทาง)ชั่วคราว 3 จุดบริเวณพรมแดนพม่า-ไทย ในจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก, เมืองเขาตุง และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งนี้เพื่อรองรับชาวพม่าที่ต้องการเดินทางไปหางานในเมืองไทย และคาดว่าจะมีชาวพม่ามากกว่า 4-5 หมื่นคน ที่ต้องการจะทำงานในเมืองไทย และบางส่วนเข้าไปทำงานเรียบร้อยแล้วกลับมาขอทำพาสปอร์ต ซึ่งที่ผ่านมามีแรงงานพม่าในกรุงเทพกว่า 80,000 -100,000 คน ได้ไปขอทำพาสปอร์ตต่อทางการพม่า ตามคำขอของกระทรวงแรงงานไทยแล้ว ทั้งนี้เพื่อการตรวจสอบประวัติบุคคลและมาตรการของการควบคุมต่างๆ


(สำนักข่าว INN วันที่ 09/08/2551)


 






 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย พร้อมทั้งการนำเสนอบทความภาษาไทยเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่
www.burmaissues.org


 


และสามารถอ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
www.oknation.net/blog/burmaissuesnewsline


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net