Skip to main content
sharethis


ที่มา : Siam Intelligence Unit


 


สามนักบินอวกาศของจีนกลับลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2551 เวลา 5:39 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น (0939 GMT) ยานแคปซูลร่อนชูชีพลงแตะพื้นดินในบริเวณมองโกเลียใน


"นี่เป็นภารกิจอันรุ่งโรจน์ เต็มไปด้วยความท้าทาย และบรรลุความสำเร็จในท้ายที่สุด" ไจ๋ จื่อกัง (Zhai Zhigang) กัปตันทีมนักบินอวกาศได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP "เรารู้สึกภาคภูมิใจกับผืนแผ่นดินมาตุภูมิของเรา"

เจ้าหน้าที่สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน ได้อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่แพทย์ที่ตรวจสอบสภาพร่างกายของนักบินอวกาศว่า คนทั้งหมดมีสุขภาพที่แข็งแรงดี ในขณะที่ประธานาธิบดีเหวินเจียเป๋า (Wen Jiabao) ได้เดินทางมาปรากฎตัวยังศูนย์ควบคุมภารกิจที่นครปักกิ่งด้วย


ไฮไลท์สำคัญของภารกิจครั้งนี้อยู่ที่วันเสาร์ เมื่อมีการถ่ายทอดสดกัปตันไจ๋โผล่ตัวออกมาจากยานอวกาศเสินโจว 7 และลอยตัวออกนอกยานอวกาศเป็นเวลา 13 นาที เขาโบกมือให้กับกล้องรวมทั้งโบกสะบัดธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ผู้ชมด้วย


พัฒนาการด้านอวกาศของจีน


จีนเป็นประเทศลำดับที่สามที่ส่งคนขึ้นไปในอวกาศเมื่อปี 2003 เมื่อนักบินทหารหยาง หลี่เว่ย (Yang Liwei) บังคับยานโคจรรอบโลกเป็นเวลา 21 ชั่วโมง ส่วนภารกิจลำดับที่สองเกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อจีนได้ส่งนักบินอวกาศ 2 ขึ้นไปดำรงชีพกับยานอวกาศเป็นเวลานาน 5 วัน



ภาพยานเสินโจว 5 จากวิกิพีเดีย


 


ก่อนหน้านี้จีนได้ปฏิบัติภารกิจช็อคโลกเมื่อปี 2007 โดยการส่งขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ขึ้นไปทำลายดาวเทียมที่เลิกใช้งานแล้ว ที่ชื่อเฟิงหยุ่น 1-C ซึ่งเป็นดาวเทียมที่โคจรในระยะ 850 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และจีนมีดาวเทียมโคจรอยู่ในอวกาศจำนวน 99 ดวง ซึ่งถือเป็นชาติที่มีดาวเทียมอยู่มากที่สุดเป็นลำดับที่สี่ รองจากรัสเซีย, สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น


เป็นที่น่าจับตาว่าจีนกำลังใช้ความสำเร็จในภารกิจอวกาศครั้งนี้ เพื่อโหมประโคมความสำเร็จในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า โดยก่อนหน้านี้ก็ประสบความสำเร็จในการจัดกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน และโอลิมปิคคนพิการปี 2008 ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของจีนครอบคลุมพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งและตัดความสนใจตรวจสอบทางการจีนจากเรื่องอื้อฉาว ในเรื่องสารปนเปื้อนในสินค้านมที่ถูกห้ามจำหน่ายในประเทศเอเชียหลายประเทศในขณะนี้


แต่อย่างไรก็ตามพัฒนาการด้านอวกาศของจีนก็เป็นที่หน้าจับตามอง และต้องถือว่าจีนมีการพัฒนาในเทคโนโลยีด้านนี้ไปอย่างรวดเร็ว ตามการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมของจีนในยุคใหม่.


ลำดับภารกิจยานอวกาศเสินโจวรุ่นต่างๆ



  • เสินโจว 1 , 19 พฤศจิกายน 1999 เที่ยวบินทดสอบโดยไม่มีมนุษย์
  • เสินโจว 2 , 9 มกราคม 2001 บรรทุกสัตว์ทดลองไปกับเที่ยวบิน
  • เสินโจว 3 , 25 มีนาคม 2002 บรรทุกสัมภาระทดสอบ
  • เสินโจว 4 , 29 ธันวาคม 2002 บรรทุกสัมภาระทดสอบ และอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชนิด
  • เสินโจว 5 , 15 ตุลาคม 2003 นักบินอวกาศ หยาง หลี่เว่ย นำยานโคจรรอบโลก 14 รอบ
  • เสินโจว 6 , 12 ตุลาคม 2005 นักบินอวกาศ เฟย จุนหลง และ เนี่ย ไห่เชง ปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 5 วัน
  • เสินโจว 7, 25 กันยายน 2008 บรรทุกนักบินอวกาศขึ้นไป 3 คน และไจ๋ ออกไปเดินในอวกาศ (spacewalk)

 



ภาพสถานีอวกาศของจีนตามโครงการ 921-2 จากวิกิพีเดีย


 


ภารกิจในอนาคต



  • เสินโจว 8, ประมาณปี 2010 เที่ยวบินปราศจากมนุษย์ มีการขนห้องทดลองอวกาศขึ้นไปด้วย ซึ่งจะเป็นโมดูลเชื่อมต่อกับสัมภาระที่จะบรรทุกขึ้นไปกับยานอวกาศเสินโจว 9 ที่จะขนส่งขึ้นไปในภารกิจเที่ยวถัดไป ในโครงการ 921-2
  • เสินโจว 9, ประมาณปี 2010 นำสัมภาระขึ้นไปเชื่อมต่อกับโมดูลห้องทดลองอวกาศที่นำขึ้นไปโดยเที่ยวบินก่อนหน้านี้
  • เสินโจว 10, ประมาณปี 2010 นักบินอวกาศจำนวน 2-3 คนจะนำยานเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศที่เตรียมไว้ในเที่ยวบิน 8-9 ตามโครงการ 921-2
  • เสินโจว 11, ประมาณปี 2012 เป็นเที่ยวบินสุดท้ายในโครงการ 921-2 นำนักบินไปยังสถานีอวกาศที่ได้เตรียมไว้ในโครงการ 921-2

 


 


 


แปลและเรียบเรียงจาก



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net