Skip to main content
sharethis

นักข่าวใต้ : รายงาน


 


 


 


กระแสไม่เอาถ่านหิน นับว่ายังเป็นกระแสที่ร้อนแรงแห่งยุคสมัยในแวดวงคนตระหนักเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่แพ้กระแสการเลือกข้างทางการเมืองปัจจุบัน


 


ที่จังหวัดสงขลาก็เช่นกัน จากกรณีที่บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่ของประเทศ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาที่หันมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงแทนพลังงานชนิดอื่น


 


ปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เกิดขึ้นหลังจากบริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ขออนุญาตติดตั้งหม้อน้ำ โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 100 ตันต่อวัน เมื่อปลายปี 2550


 


กระทั่งวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกใบอนุญาตขยายโรงงานครั้งที่ 1 พร้อมกับอนุญาตให้บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ทดลองเดินระบบหม้อน้ำ โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเป็นเวลา 6 เดือน


 


อย่างไรก็ตาม กระแสการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่รอบๆ โรงงานของบริษัทฯ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพราะกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เป็นการขออนุญาตหลังจากที่ได้มีการลงทุนติดตั้งหม้อต้มน้ำที่ใช้ถ่านหินโดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบมาก่อน


 


ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดกระแสการต่อต้านขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ถ่านหินและความไม่มั่นใจถึงมาตรการป้องกันของบริษัทฯ รวมถึงการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นมา โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ที่เกิดจากการเผาถ่านหิน


 


หนึ่งในแกนนำสำคัญในการต่อต้านการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ครั้งนี้คือ พระครูประโชติกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดหัวถนน หมู่ที่ 8 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา


 


โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา พระครูประโชติกิจโกศล ก็ได้ทำหนังสือคัดค้านถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" ด้วย


 


ด้วยเพราะเกรงว่า การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อชาวบ้านในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน ที่อาศัยอยู่ประมาณ 10,000 คน โดยมีผู้ลงนามคัดค้านกว่า 1,000 คน


 


ที่สำคัญ วัดแห่งนี้ที่มีรั้วรอบขอบชิดติดกับกำแพงของโรงงาน ย่อมกังวลมาเป็นพิเศษอยู่แล้ว นอกเหนือจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปบนบรรยากาศโลก


 


"เหตุที่ต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากโรงงานหมกเม็ดการใช้ถ่านหิน ไม่พยายามทำให้ถูกต้อง ปกปิดอยู่ตลอดเวลา ทำโรงงานเสร็จแล้ว ถึงขอให้ถ่านหิน ไม่ใช่ว่าขอใช้ถ่านหินก่อนแล้ว จึงมาก่อสร้างโรงงาน อันนี้ถือเป็นการหมกเม็ด ไม่โปร่งใส มีเจตนาปกปิดชัดเจน"


 


ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่พระครูประโชติกิจโกศล โดดออกมาเป็นแกนนำในการคัดค้านครั้งนี้ พร้อมกับบอกว่า สาเหตุที่โรงงานทำอย่างนี้ ก็เพราะเชื่อว่าสามารถเดินเครื่องได้เลย จึงตัดสินใจก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน ถึงมาขออนุญาตภายหลัง แสดงให้เห็นว่า ไม่สนใจว่า ชุมชนจะคิดอย่างไร นี่คือ สิ่งที่ชาวบ้านติดใจ


 


ต่อมา ยังทำลายความเชื่อถือของชาวบ้าน ด้วยการไม่พยายามอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ไม่ให้ความรู้ที่ถูกต้องกับชาวบ้าน บอกเพียงว่า ถ่านหินสะอาดเท่านั้นก็จบ ไม่มีการอธิบายรายละเอียด การก่อสร้างตามแปลนเดิมก็มีเฉพาะเครื่องดักฝุ่นอย่างเดียว ไม่มีระบบป้องกันอย่างอื่น


 


หลังจากที่ชาวบ้านต่อต้าน ถึงได้ทำตัวดักสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ขึ้น จากพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่น ขาดความเชื่อถือโรงงาน เพราะแค่เรื่องง่ายๆ ทางโรงงานยังไม่มีความจริงใจ มีเจตนาปกปิด มีวาระซ่อนเร้น


 


พระครูประโชติกิจโกศล ยังบอกอีกว่า การลัดขั้นตอนก่อสร้างไปก่อนแล้วมาขออนุญาตทีหลัง ทำให้เกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจกัน กรณีเลือกตัวแทนชาวบ้านเข้าไปทำความเข้าใจก็มีปัญหา ไปสร้างความแตกแยกในชุมชน ทำให้ประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เพราะเลือกเชิญเฉพาะชาวบ้านประมาณ 10 คน เข้าไปฟังคำอธิบายว่า ถ่านหินสะอาด ไม่มีถ่านหินที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน พร้อมกับเชิญตัวแทนโรงเรียน ชาวบ้านข้างเคียงเข้า


 


ไปดูโรงงาน ก่อนจะให้เซ็นชื่อ ทีละกลุ่ม 2 กลุ่ม เพื่อจะนำไปอ้างได้ว่า มีตัวแทนชาวบ้านเข้ามาดูโรงงานแล้ว ได้ให้ความรู้กับชาวบ้านแล้ว ชาวบ้านเข้าใจแล้ว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนชาวบ้าน ที่ทางโรงงานฯ เลือกขึ้นมาเองไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกแต่อย่างใด


 


หลังจากที่ทางวัดเข้ามา ก็ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเข้าใจกันดีขึ้น ล่าสุดทางโรงงานได้เชิญประชุมอีก ปรากฏว่าตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดเห็นตรงกันว่า จะไม่เข้าร่วมประชุมกับโรงงานอีก


 


"คิดว่าไม่จำต้องประชุมแล้ว เพราะเสียงจากชาวบ้านในชุมชนตอนนี้ไม่เอา จะเดินหน้าคัดค้าน ไม่ว่าคุณจะใช้ถ่านหินประเภทไหน มีการอ้างถึงความสะอาดของถ่านหินอย่างไร"


 


พระครูประโชติกิจโกศล ยังบอกอีกว่า ทางโรงงานไม่เข้าใจสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตร 59 เพราะไม่ได้ไปดูกฎหมาย หรือเจตนาจะไม่ดูก็ไม่ทราบ รัฐธรรมนูญมาตร 69 ระบุว่าอะไรที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและทำประชาพิจารณ์ จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ทางโรงงานเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม เฉพาะบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกจากโรงงาน เท่านั้น


 


"เขาคิดว่าทีมกฎหมายของโรงงาน อาจจะไม่แข็ง หรือเขาไม่เคยเห็นมาตร 67 เขาจึงไม่คำนึงถึงสิทธิของชาวบ้าน"


 


ทั้งๆ เมื่อพฤศจิกายน 2550 มีการทำข้อตกลงกับชาวบ้าน มีปลัดอำเภออยู่ด้วย แต่หลังจากนั้นเขาหยุดไป ก่อนจะมาเล่นเกมใต้น้ำ ด้วยการเชิญตัวแทนชาวบ้านไปประชุม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2551 โดยเชิญนักวิชาการมาแสดงความคิดเห็น มีคนเข้าร่วมประมาณ 200 กว่าคน


 


ที่ประชุมได้ได้ทำข้อตกลง 3 ข้อ คือ 1.ให้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยการเชิญชาวบ้านเข้าไปชมโรงงาน 2.เชิญนักวิชาการที่เป็นกลาง 3.ให้ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงงานไม่เคยทำตามนี้ เท่าที่โรงงานยอมรับมีแค่ 2 ข้อ คือ ให้ตัวแทนชาวบ้าน และนักวิชาการเข้าไปร่วม


 


ถึงกระนั้น ทางโรงงานก็ไม่ยอมทำประชาพิจารณ์ อ้างว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่า ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนถึงจะยอมให้ใช้ถ่านหิน


 


"นี่คือ การให้โอกาสโรงงานแล้ว แต่ก็ปล่อยกันมาจนถึงวันนี้ วันที่สายเกินไปแล้ว"


 


พระครูประโชติกิจโกศล บอกว่า ถ้าทางโรงงานเดินเครื่อง ชาวบ้านจะยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้คุ้มครองสิทธิ์ชั่วคราว ฉุกเฉิน เพื่อระงับการเดินหน้าของเครื่องจักรพลังถ่านหิน


 


ถ้าหากยังหยุดยั้งไม่ได้ ก็ต้องถวายฎีกาในหลวง นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการต่อสู้ครั้งนี้ เพราะไม่รู้จะพึ่งใครแล้ว เราจะไม่ถอย และไม่เข้าร่วมประชุม เราจบการเจรจา เพราะไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ


 


ส่วนโรงงานจะเดินเครื่องได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐผู้ให้อนุญาต ส่วนชาวบ้านจะต่อสู้ตามสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เท่านั้น ผลจะออกมาอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความจริงตอนนี้เราไม่ได้สู้กับโรงงาน แต่สู้กับหน่วยงานราชการที่มีอำนาจในการอนุญาตให้ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง คนที่อนุญาต คือ คู่กรณี ไม่ใช่โรงงาน อำนาจเปิดหรือไม่เปิดอยู่ที่หน่วยราชการที่รับผิดชอบกำกับดูแลโรงงาน


 


สำหรับการออกมาเป็นแกนนำของพระสงฆ์ พระครูประโชติกิจโกศล กล่าวว่า สร้างความเชื่อมั่นความเชื่อถือมากขึ้นว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ ตั้งแต่มีการประท้วงเกิดขึ้น ในการประท้วงครั้งแรกเอาเงินในหมู่บ้านมาใช้


 


ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่า การที่พระเข้ามาเป็นแกนนำในการคัดค้านถ่านหิน อาจจะถูกมองเป็นภาพลบ เจ้าอาวาสวัดหัวถนน ยืนยันว่า ไม่มี เพราะวัดมีผลกระทบโดยตรง วัดอยู่ติดกับโรงงาน มองเห็นปล่องควันโรงงานจากหลังคาโบสถ์ ฉะนั้นวัดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง วัดจะสู้ไม่ถอย


 


"เราจะต่อสู้ตามวิถีทางของกฎหมาย ถ้าหากเขายอมทำประพิจารณ์ก็ปล่อยให้โรงงานทำไป ถึงตอนนี้ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ถ้าจะทำไปทำเอาเอง ที่ผ่านมาเราเคยให้โอกาสแต่เขาไม่ยอมทำเอง"


 


แม้ขณะนี้ทางโรงงานจะได้รับไฟเขียวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ทดลองเดินเครื่องโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงระยะเวลา 6 เดือนมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่วันนี้การเดินเครื่องทดลองเป็นเวลา 6 เดือนดังกล่าวก็ยังไม่สามารถเริ่มได้ เพราะทางบริษัทยังหวั่นเกรงว่าจะยิ่งมีปัญหากับชาวบ้านมากขึ้นไปอีก ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อเดินเครื่องจริงๆ แล้วความรู้สึกของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญกลุ่มชาวบ้านได้มีการพูดกันหนาหูในพื้นที่แล้วว่า "มึงสร้าง กูเผา"


 


ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในพื้นที่ จึงต้องมาแก้ปัญหาในความขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คือคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานของบริษัท และคณะกรรมการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทดลอง 6 เดือนดังกล่าว


 


โดยทั้ง 2 คณะ ให้มีส่วนส่วนของตัวแทนชาวบ้านอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านว่า ในระหว่างการทดลองเดินเครื่องเป็นเวลา 6 เดือนดังกล่าวนั้น มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ทางบริษัทได้ดำเนินการตามข้อตกลงหรือไม่ และมีผลกระทบเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าบริษัท ยังควรที่จะเดินเครื่องให้ความร้อนโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้ตลอดไปอีกหรือไม่


 


ขณะนี้รอเพียงการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจากผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ซึ่งแม้แกนนำชาวบ้านยอมที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย แต่แกนนำชาวบ้านอย่างนายสวัดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลปริก ก็ยังยืนยันว่า ชาวบ้านต้องการให้ทางบริษัท จัดทำประชาพิจารณ์ก่อน หากชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็พร้อมที่จะเปิดทางให้ทางบริษัท ดำเนินการได้


 


มีข้อสังเกตอยู่ว่า หากการทดลองเดินเครื่องโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของบริษัท เซฟสกินฯ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ที่จะไม่อนุญาตให้โรงงานต่างๆ กว่า 200 โรงงานในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะโรงงานที่ต้องใช้ความร้อนเป็นหลัก ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหากมีการขออนุญาตใช้ขึ้นมา


 


ดังนั้น กระแสต้านถ่านหินในพื้นที่ขณะนี้ จะมีพลังพอที่จะต้านทานพลังงานสกปรกและทำลายสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลกขณะนี้ได้หรือไม่ และเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร หรือว่าส่วนหนึ่งอาจชี้วัดได้จากแนวร่วมที่จะมาจากทุกสารทิศ เช่นเดียวกับกระแสการต่อสู้ทางการเมือง ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ระดมสรรพกำลังจากแหล่งต่างๆ เพื่อมาประลองกำลังกัน..?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net