Skip to main content
sharethis

กองบรรณาธิการโลคัลทอล์ค
และสำนักข่าวประชาธรรม


ข้อเรียกร้อง - ข้อเสนอของภาคประชาชนต่ออาเซียน


ด้วยหลักการที่ว่า ความต้องการของเราในฐานะเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยหญิงชายนั้นเรียบง่าย เราต้องการความมั่นคงในการทำมาหากิน และต้องการชีวิตที่ดีพอ คือมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิต ดังนั้น นโยบายด้านเกษตรกรรมของอาเซียนนั้น ควรที่จะเป็นไปในแนวทางที่ช่วยบรรเทาความยากจน เนื่องจากประชากรที่ยากจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ไม่ควรเป็นไปในทางที่เพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นให้แก่ประชากรในภาคนี้


นอกจากนี้ นโยบายทางการเกษตรควรคำนึงว่า การเกษตรมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร และสนองความต้องการด้านอาหารหลักในประเทศ


ดังนั้น การหลอมรวมภาคเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการไปในทางที่ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของทุกคน โดยเน้นคนยากจนและคนที่ถูกเบียดขับให้อยู่ชายขอบเป็นพิเศษ และจะต้องมีความเท่าเทียม ทั่วถึง ยั่งยืน อยู่บนฐานของสิทธิ อ่อนไหวต่อเพศสถานะ และนำไปสู่การเสริมสร้างอำนาจให้แก่คนยากคนจนในที่สุด


อีกทั้ง ขอให้อาเซียนพัฒนานโยบายเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านการเกษตร ที่ผสมผสานการค้ากับการพัฒนาและส่งเสริมหลักการที่ได้กล่าวมาข้างต้น และควรจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เริ่มดำเนินการในระดับประเทศก่อน จากนั้นค่อยพัฒนาขึ้นสู่ระดับภูมิภาค นโยบายดังกล่าวควรมีหลักการและองค์ประกอบต่อไปนี้


1. เกษตรกรรายย่อยหญิงชายจำเป็นต้องมีที่ดินทำกินเป็นอันดับแรก ปัญหาที่พบในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์คือ ที่ดินเพาะปลูกจำนวนมากนั้นอยู่ในมือของรัฐ หรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆ ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมือง นโยบายการเกษตรนั้นต้องแก้ไขปัญหาการเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรที่ดินทำกินก่อนที่จะก้าวไปสู่การส่งเสริมการค้าและการพัฒนา


2.จัดบริการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอย่างเพียงพอ เช่น การให้ทุนและสินเชื่อ ความรู้ทางเทคโนโลยี การประกันผลิตผล และประกันราคาที่เกษตรกรควรได้รับ เป็นต้น

3.ลงทุนอย่างทุ่มเทในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การเกษตรขนาดเล็กระดับครัวเรือน

4.ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น


5.สร้างหลักประกันการพึ่งตนเองทางด้านอาหารหลักพื้นฐานภายในประเทศ คือ สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชอาหารอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและความต้องการบริโภค รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้มีการผลิตอาหารหลักเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศก่อนการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งออก


6.จัดระดับขั้นตอนการเปิดเสรีทางค้าและการลงทุนต่างๆ จากน้อยไปมาก และวางมาตรการปกป้องเกษตรกรรายย่อยทุกขั้นตอนตามเงื่อนไขและความจำเป็นของแต่ละประเทศ

7.พัฒนาการเชื่อมโยงการผลิตเป็นห่วงโซ่ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดขึ้น โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และดูแลผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ผลิตกับผู้บริโภคผ่านการค้าและการจัดการด้านราคา เพื่อไม่ให้มีช่องว่างด้านราคาระหว่างสินค้านำเข้ากับสินค้าในท้องถิ่นมากเกินไป


8.รณรงค์ส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนให้เป็นกระแสหลัก โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตและการค้าขายที่ยั่งยืนและเป็นธรรมเป็นบรรทัดฐาน เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรและพ่อค้าทำการผลิตและค้าขายกันแต่เฉพาะผลิตผลที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และในราคาที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตรายย่อย


9.จัดตั้งกลไกสำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรอิสระของเกษตรกรหญิงชายรายย่อย และองค์กรพัฒนาสังคมต่างๆ ในกระบวนการตัดสินใจต่างๆของอาเซียน ตัวอย่างเช่น สภาเกษตรกรแห่งอาเซียนซึ่งเจ้าหน้าที่อาเซียนสามารถขอคำปรึกษาในเรื่องการเกษตรได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การมีส่วนร่วมมีคุณภาพ รัฐบาลต่างๆของอาเซียนควรดำเนินการดังนี้




  • เปิดเผยข้อมูลการเจรจาทางการค้าต่อสาธารณะแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีเวลาพอในการอภิปรายถกกัน



  • จัดการทำประชาพิจารณ์และการหารือต่างๆโดยเฉพาะกับเกษตรกรและ ชาวประมงรายย่อย และองค์กรประชาสังคม



  • แปลเอกสารที่เกี่ยวกับการเจรจาการค้าใดๆเป็นภาษาท้องถิ่นและสำนวนที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้



  • เปิดให้ตัวแทนของผู้ผลิตรายย่อยทั้งหญิงชายจำนวนมากพอควรเข้าร่วมในคณะบุคคลทั้งที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและทำหน้าที่ตัดสินใจ


ต่อคำถามที่ว่า เราจะผลักดันอาเซียนในประเด็นของกฎบัตรอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและภาคเกษตรกรรมได้อย่างไร?


กลุ่มเกษตรกรหรือผู้ผลิตทางการเกษตรนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อผนึกพลังและสร้างอิทธิพลในการต่อรองทางการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ถึงแม้ว่าภาคเกษตรกรรมจะไม่มีเงินทุนเทียบเท่ากับภาคธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ แต่เรามีจำนวนคนมากกว่ามาก และเรายังอุทิศตนเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางในการค้าขายกัน และสร้างสรรค์เกษตรกรรมในฐานะอาชีพที่สำคัญให้รุ่งเรืองต่อไป


โดยการทำงานร่วมกับกลุ่มประชาสังคมที่เห็นพ้องกับเรา เราจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น และช่วยกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน เราจะดำเนินการโครงการและแผนงานต่างๆร่วมกับองค์กรภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ในด้านของการเพาะปลูกและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการค้าขายและการตลาดที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันเราจะเสริมสร้างศักยภาพของเราในด้านการปกครองตนเองและการประกอบการธุรกิจ


ดังที่ทราบกันว่าตราสัญลักษณ์ประจำอาเซียนนั้นคือต้นข้าวสิบต้นที่มัดไว้รวมกัน ซึ่งสะท้อนความหมายว่าภูมิภาคอาเซียนนี้มีจุดประสงค์ร่วมกันในการพัฒนาพื้นฐานและสร้างความเจริญเติบโตทางการเกษตร


เหล่าเกษตรกรรายย่อยหญิงชายในปัจจุบันนั้น กำลังเผชิญความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดคือ เราจะรับมือกับประเด็นปัญหาที่รุมล้อมเราอยู่ในหลายระดับอย่างไร ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค รวมไปถึงระดับโลก เราเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในสังคม และเป็นผู้ดูแลผืนดินให้ผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง แต่ภาคการผลิตนี้กำลังถูกคุกคามหลายด้าน รวมถึง การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดิน และการครอบงำของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ระบบเกษตรกรรมรายย่อยอยู่รอดได้ยากมากในโลกปัจจุบันนี้ เพราะการผลิตขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะแข่งขันได้ สิ่งที่เราทำได้คือดำรงการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่นและภายในประเทศ พวกเราจะแข็งแกร่งขึ้นถ้าเราสามารถร่วมมือกับเกษตรกรจากทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อผลักดันและเสนอแนะทางเลือกต่างๆที่น่าเชื่อถือและเป็นไปได้


นอกจากนี้ เราต้องมีแรงปรารถนาที่ไกลกว่าแค่การค้าขายผลิตผลในตลาดเท่านั้น เช่นปรารถนาจะปกป้องที่ดินทำกินและสภาพแวดล้อมให้อยู่ดีต่อไป ปรารถนาจะสร้างความสมานฉันท์ของหมู่เกษตรกรทั้งหลายและกับภาคส่วนอื่นๆในสังคม และปกป้องวิถีชีวิตแบบชาวนา เป็นต้น การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกันสามารถทำได้โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือทำโครงการร่วมกัน (เช่น ธนาคารเมล็ดพันธุ์ระดับภูมิภาค เพื่อป้องกันการผูกขาดของธุรกิจรายใหญ่ การร่วมมือกันประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารหลัก โดยแบ่งงานกันทำตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแค่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูปและการตลาด เป็นต้น)


แรงปรารถนาที่ก้าวไกลและการริเริ่มทางเลือกต่างๆ ดังกล่าวจะช่วยแสดงให้สังคมเห็นว่า ความร่วมมือและการหลอมรวมระดับภูมิภาคสามารถเกิดขึ้นได้โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง


ชนเผ่าพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบ (+แรงงานข้ามชาติ)


ทั้งนี้ข้อเสนอของ "เวทีเครือข่ายประชาชนชายขอบอาเซียน ภาคเหนือ ASEAN Marginalized People Forum (AMPF)" ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ผลักดันให้เกิดการรับรองสถานะ ตลอดจนขจัดการเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าพื้นเมืองด้วย รวมไปถึงการรับรองสิทธิในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่อยู่ สิทธิในการจัดการที่ดิน สิทธิในการจัดการป่า


นอกจากนี้ การมีนโยบายที่ชัดเจนและเคารพสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิแรงงานของแรงงานนอกระบบ แรงงานที่ทำงานในบ้าน และแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นประเด็นที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาผลักดันเช่นเดียวกัน ทั้งเรื่องระบบสวัสดิการ, ความปลอดภัยในที่ทำงาน, การเลือกปฏิบัติ, กองทุนเงินทดแทน, ระบบสุขภาพ -ชีวอนามัยฯลฯ


ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายด้านพลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังคงมุ่งเน้นตามแบบกระแสหลัก (ปิโตรเลียม, ถ่านหิน และไบโอดีเซล) ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการใช้ทรัพยากรทั้งที่ดิน ป่า และน้ำ, ปัญหาการถูกไล่ที่ของประชาชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างด้านพลังงาน, ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งภูมิภาค และโลก อาทิ ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และปัญหาโลกร้อน ยังไม่มีการพูดถึงมากนักในเวทีอาเซียน รวมทั้งยังขาดการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว


จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนอาเซียน จะมีสิทธิมีเสียงและนำเสนอข้อเรียกร้อง ข้อเสนอเพื่อกำหนดทิศทางของนโยบาย กฎบัตร ที่จะมีส่วนอย่างยิ่งในการมากำหนดวิถีชีวิต และอนาคตของประชาชนอาเซียนทุกคนได้ด้วย


"เวทีประชุมผู้นำอาเซียน ต้องมีพื้นที่สำหรับประชาชนอาเซียนด้วย!!"


- - - - -


เรียบเรียงและอ้างอิงข้อมูลจาก:




  1. "เวทีเครือข่ายประชาชนชายขอบอาเซียน ภาคเหนือ ASEAN Marginalized People Forum (AMPF)" ทั้งนี้ ได้มีก่อตั้งเพื่อมุ่งเน้นประเด็นทางภาคเหนือเป็นหลัก ซึ่งบางประเด็นที่ขับเคลื่อนจะแตกต่างจาก เวทีเครือข่ายประชาชนอาเซียน ASEAN People Forum (APF) ที่รวมตัวกันที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ



  2. สมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) เป็นองค์กรระดับภูมิภาคซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนสิบประเทศได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์และเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการสร้างสันติสุขและเสถียรภาพในด้านต่างๆให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้



  3. ข้อมูลหลักมาจาก




    1. เนื้อหาในเวทีทำความเข้าใจต่ออาเซียนสถานการณ์และผลกระทบต่อภาคประชาชนและคนชายขอบ วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ..2551 ณ สำนักงานสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) .เชียงใหม่-แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่



    2. บทความแปลและเรียบเรียงมาจาก "Understanding the ASEAN Charter and the ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint" เอกสารเผยแพร่ของสมาคมเกษตรกรเอเชีย (AFA) และองค์กรเอเซียดราห์ (AsiaDHRRA), 1 กุมภาพันธ์ 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net