Skip to main content
sharethis

วานนี้ (17 มิ.ย.2552) เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุม 2201 ศูนย์ศึกษาวิภาวดี อาคาร TST จตุจักร กรุงเทพมหานคร ดร.ประเสริฐ กิติรัตน์ตระการ, พลเรือตรี ดร.วิโรจน์ พิมานมาศสุริยา และนายสังคม คุณคณากรสกุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในประเด็น “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” พร้อมร่วมวิเคราะห์และให้ข้อเสนอแนะต่อผลโพลล์ โดย นายเธียรธรรม เธียรสิริไชย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

อนึ่ง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในระหว่างวันที่ 6 – 12 มิ.ย.2552 มีผู้ให้ข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 2,818 ตัวอย่าง ทั้งนี้ประชากรผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 33.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 31.65 เขตภาคใต้ ร้อยละ 11.92 ภาคเหนือ ร้อยละ 11.57 และเขตภาคกลาง/ตะวันออกและตะวันตก ร้อยละ 11.36 รวมทั้งหมด 22 จังหวัด

สรุปผลในการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อ “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” มีประเด็นสำคัญ คือ

• ประเด็นการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ นปช. ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย มีมากถึง ร้อยละ 54.08 รองลงมาคือเห็นด้วย ร้อยละ 23.70 และไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 22.21
 
• นปช. ควรมีการเคลื่อนไหวต่อไปอีกหรือไม่ในอนาคต ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เห็นควรยุติความเคลื่อนไหว ร้อยละ 57.24 รองลงมาคือไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 21.82 ควรเคลื่อนไหวต่อไป ร้อยละ 20.94

• ความเห็นต่อการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย มีมากถึง ร้อยละ 60.43 รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 20.58 และเห็นด้วยร้อยละ 18.99

• การจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยมีมากถึง ร้อยละ 49.68 รองลงมาคือ ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 25.94 และเห็นด้วยร้อยละ 24.38

• แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ควรมีตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือไม่ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรมี ร้อยละ 54.51 ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 28.42 ส่วนที่น้อยที่สุดคือเห็นว่าควรมี ร้อยละ 17.07

• หากมีการเลือกตั้งในปีนี้ พรรคการเมืองพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งในเขตของท่าน ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 27.64 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 25.05 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.60 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 10.08 พรรคการเมืองใหม่ (กลุ่มพันธมิตร) ร้อยละ 8.45 และ พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 6.17

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค กรุงเทพ-ปริมณฑล ส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 25.0 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.73 และ พรรคการเมืองใหม่ ร้อยละ 8.16

ภาคกลาง/ตะวันตกและภาคตะวันออก ส่วนใหญ่เลือกพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 38.75 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 20.93 และ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 17.50

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 34.75 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 27.25 และ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 12.33

ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 38.75 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 20.55
และ พรรคการเมืองใหม่ ร้อยละ 5.83

ภาคใต้ ส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 50.0 พรรคการเมืองใหม่ ร้อยละ 22.92
และ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 9.23

• รัฐบาลสามารถแก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมจากการชุมนุมประท้วงทางการเมืองได้หรือไม่ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่ได้ ร้อยละ 43.65 ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 36.16 และ ได้ ร้อยละ 20.19

• ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ มีความเชื่อมั่น ร้อยละ 55.16

• ความพอใจการบริหารงานของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ มีความพอใจในการบริหารงานด้านการศึกษา ร้อยละ 37.90 สังคม ร้อยละ 8.84 เศรษฐกิจ ร้อยละ 7.24 และการเมืองร้อยละ 5.57 ไม่ แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 40.45

• ความไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่พอใจการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 35.91 การเมือง ร้อยละ 17.99 สังคม ร้อยละ 6.42 และ การศึกษา ร้อยละ 4.72 ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็นมากถึง ร้อยละ 34.95

• สุดท้าย รัฐบาลควรยุบสภาแล้วหรือยัง ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่า ควรยุบสภา ร้อยละ 36.12 ไม่ควรยุบสภา ร้อยละ 32.47 และ ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็น ร้อยละ 31.41

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ “รังสิตโพลล์” ได้สรุปประเด็นไว้ 4 ประเด็น คือประเด็นที่ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ นปช.ที่ผ่านมา และ เห็นควรให้ยุติความเคลื่อนไหว ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และการที่แกนนำพันธมิตรจะเข้าไปมีตำแหน่งในพรรคการเมืองใหม่

ประเด็นที่ 2 ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ตัดสินใจในการเลือกพรรคการเมืองใด โดยมี พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์แพ้ชนะกันอย่างเฉียดฉิวในขอบเขตทั่วประเทศ ส่วนพรรคภูมิใจไทยจะเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน ส่วนพรรคการเมืองใหม่คงจะได้เสียงส่วนใหญ่ในภาคใต้และได้เสียงกระจัดกระจายจากทุกภูมิภาค และพรรคชาติไทยพัฒนายังคงครองความเป็นที่หนึ่งในภาคกลาง/ตะวันตกและภาคตะวันออก

ประเด็นที่ 3 ความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเพียงร้อยละ 55.16 โดยเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความสามารถแก้ไขหรือคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมจากการชุมนุมประท้วงทางการเมืองได้และไม่พอใจการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ประเด็นที่ 4 ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในทุกด้านให้สูงขึ้นได้ก็ควรยุบสภา เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้แก่ประชาชน

รังสิตโพลล์ มีเสนอแนะ ดังนี้ 1.กลุ่มพันธมิตรฯ และ นปช. ควรใช้ศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อการสร้างสรรค์กิจกรรมทางการเมืองที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้น 2.รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรเร่งสร้างผลงานด้านเศรษฐกิจและการเมืองให้เป็นรูปธรรมมากกว่าสร้างภาพเพื่อความอยู่รอดของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล

3.ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เทใจให้กับพรรคการเมืองใดอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นทุกพรรคการเมืองควรเสนอวิสัยทัศน์และนโยบายที่นำพาประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤติในทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมของบ้านเมืองด้วยตนเองอีกครั้ง

“รัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจและการเมือง นปช.ควรยุติการเคลื่อนไหว และ แกนนำพันธมิตรไม่ควรมีตำแหน่งในพรรคการเมืองใหม่” ผลสำรวจรังสิตโพลล์ชี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net