Skip to main content
sharethis

ในการจัดการพิพิธภัณฑ์นั้น นอกจากผู้ดูแลรักษาสิ่งของที่นำมาจัดนิทรรศการให้ผู้ชมได้เข้าร่วมแล้ว ส่วนสำคัญที่มักถูกละเลยคือผู้บริจาคสิ่งของ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งของจากเหตุการณ์เกี่ยวกับประสบการร์ร่วมของผู้คน เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุม ความรุนแรงโดยรัฐ หรือภัยพิบัติต่างๆ ผู้คนที่รวบรวมสิ่งของในวันเกิดเหตุไว้ก็ถือเป็นประจักษ์พยานที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในหลายมุมมองได้เช่นกัน

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สามัญชน ซึ่งเก็บรวบรวมวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั้นก็มีผู้บริจาคสิ่งของคนสำคัญคือ ป้านก (นภัสสรณ์ บุญรีย์) นักกิจกรรมที่ร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2535 จนถึงปัจจุบัน  โดยสิ่งของหลายอย่าง เช่น เสื้อยืดจากการชุมนุมกปปส.ในปี 2557 ป้ายผ้าจากการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553  หรือเสื้อของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านรัฐประหารปี 2549 เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์เหล่านี้ก็เลือนหายจากความทรงจำของหลายคน แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่ง เช่น ป้านก ที่เก็บรักษาสิ่งของไว้ รอวันที่มีใครหรือหน่วยงานใดนำมาใช้เล่าเรื่องราวประวัตศาสตร์ภาคประชาชนอีกครั้ง

เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับป้านก ทางผู้สัมภาษณ์มีความสนใจและข้อสงสัยว่าทำไมในระยะเวลาหลายสิบปี ป้ายังเก็บสิ่งของไว้ สิ่งของนั้นมีความสำคัญกับป้านกอย่างไร รวมถึงเก็บรักษาอย่างไร จึงเกิดบทสนทนานี้ขึ้นมาในร้าน Mc Donald หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ตอนนี้รู้มาว่าป้านกให้สิ่งของกับพี่แว่น (อานนท์ ชวลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน) มาเยอะเลย พี่แว่นกับป้านกไปรู้จักกันได้ยังไงคะ

ก็ที่รู้จักกันรู้จักผ่านการเสวนา ป้านกจะไปเข้าร่วมทุกครั้งที่ว่ามีการเสวนา ไม่ว่าจะอาจารย์คนไหนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยป้านกจะไป ทำให้ได้รู้จักพี่แว่นตั้งแต่นั้นมา แกก็ถามว่าป้านกมีของอะไรบ้างมั้ยแกจะจัดพิพิธภัณฑ์ อย่างของที่สะสมเกี่ยวกับประชาธิปไตย แล้วป้านกก็มีเก็บไว้เยอะเลย เลยให้เขา

ส่วนใหญ่ของที่ป้านกเก็บไว้มีอะไรบ้าง

ก็มีพวกปลอกแขนต้านรัฐประหาร บางทีจะเป็นบัตร บางทีจะเป็นผ้าต้านรัฐประหาร แบ่งเป็นสี ๆ เช่น นักข่าวสีเขียว การ์ดก็เป็นอีกสี ป้านกก็จะไปร่วมอยู่ในเวทีอยู่หลังเวทีอะไรงี้

ไปเข้าร่วมมาตลอด หรือสนใจประชาธิปไตยแล้วไปเข้าร่วมตั้งแต่เมื่อไหร่คะ

ตั้งแต่ปี 35 พฤษภาทมิฬ ป้านกก็โดนจับตรงแยกเฉลิมกรุง พอวันที่ 19 ประกาศเคอร์ฟิว ป้านกก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่ก็นึกว่าคนออกมาเยอะเขาออกมาทำอะไร ที่มาที่เราไปเข้าร่วมเพราะที่พาต้าไฟไหม้ แล้วของบางส่วนที่ไม่เสียหาย ไม่ชำรุดก็โดนน้ำ เขาเอาลดราคา เราก็พาลูกลูกเพิ่งจะ 5 ขวบ ไปกับแฟนไปซื้อของ ทีนี้ที่สนามหลวงมีเวทีเราก็ไปจอดรถ ไปดูว่า เอ เขาพูดอะไร ไปฟังไปฟังมาก็สนุก วันที่ 2 ก็ไปฟังอีก เขาจัดอยู่หลายวัน แล้วเขาก็ย้ายมาที่จำลอง เรามีลูกอ่อน 5 ขวบ เราไม่ได้ตามมาเลยกลับ มันอยู่หลายวัน 

ทีนี้ก็มีเพื่อนที่ทำงานเขามีครูสอนอยู่เซนต์คาเบรียลก็มา เราเลยตามมา มานอนป้องกันจำลองที่ตรงนี้ แล้วทีนี้วันนั้นที่ป้าโดนจับวันที่ 19 ป้าทำงานทำจิวเวลรี่ เด็กที่ทำงานบอกว่าป้าพาไปดูของจริงหน่อย  เราก็พานั่งรถเมล์มาเลยสาย 1 จากสีลมลงที่สนามหลวง ตอนนี้ (ปัจจุบัน) เด็กๆ มันเยอะ แต่สมัยก่อนมันไม่มีมือถือ ใครอยากรู้อะไรมันต้องดูโทรทัศน์ คนต้องนั่งรถมาต้องออกมาเข้าร่วมคนมันถึงเยอะ แต่สมัยนี้เทคโนโลยีมันเยอะ พอเห็นผ่านจอว่ามีม็อบแต่คนมันไม่ออกมาเยอะ เพราะคนดูผ่านโลกโซเชียลเยอะ คนเลยเริ่มน้อยลง ทั้งอากาศร้อน ทั้งเหนื่อย ก็เลยนอนดูส่งกำลังใจจากบ้าน 

แต่ป้าไม่เหนื่อยนะ ก็ออกมาทุกแมตช์เพราะรู้สึกว่าดูเฉยๆ มันไม่ได้ ขึ้นชื่อว่านักประชาธิปไตยก็ต้องไปช่วยเค้า อย่างป้านกทำงาน จะเคลื่อนไหวแต่ละที พอมาปี 49 เนี่ย หูก็ฟังว่าประชาธิปไตยมันคืออะไร ทำไมมันยึดทำเนียบ ยึดสภา เราก็อยากหาข้อมูล ตอนแรกก็ไปฟังจำลอง ไปฟังสนธิที่สวนลุม เพื่อหาว่าคืออะไร แต่พอไปฟังก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันด่า มันขุดโคตรขุดตระกูลเขามาด่าก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ป้านกก็เลยชวนเพื่อนมาที่สนามหลวง เพราะตอนนั้น PTV ณัฐวุฒิ จตุพร จักรพงษ์ คุณวีระ กำลังจัดตั้งสถานีวิทยุทางโทรศัพท์ PTV แต่ไปตั้งไม่ได้เพราะทหารมาลุย เลยมาตั้งเวทีที่นี่แทน 

ป้านกก็มาฟังตั้งแต่คุณณัฐวุฒิยังเป็นโฆษกยังไม่ดัง แล้วรู้สึกว่าเข้าท่า พูดมีลูกล่อลูกชน เมื่อก่อนป้านกทำโอ งานเยอะ แต่พอได้มาฟังก็ไม่มีจิตใจทำงานเพราะใจเรามาอยู่ตรงนี้ เราก็รับผิดชอบในส่วนที่เราเป็นหัวหน้า แต่ไม่ได้ทำโอแล้ว พอเลิกงานก็นั่งแท็กซี่มาทุกวัน สนามหลวงยังเข้าไม่ได้เพราะทหารปิดล้อม เราก็นั่งแท็กซี่มาจากคลองหลอดมาหลังกลาโหม ไม่ตี 1 ตี 2 ก็ไม่กลับบ้านทุกวัน เวทีเลิกเที่ยงคืนเราก็นั่งคุยกันต่อ ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ เราก็นั่งคุยกันจนถึงตี 5 จนพระมาบิณฑบาต พอได้นั่งคุยการเมืองก็เริ่มรู้เยอะ คนนู้นคนนี้ก็เป็นครู เป็นตำรวจ เป็นข้าราชการที่เกษียณบ้างก็มานั่งคุยกัน เขาก็จะเล่าย้อนไปสมัยรุ่นเขา รุ่นคนเดือนตุลาบ้าง นั่งเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง เราก็ไปเก็บเกี่ยว เวลามีเสวนาเราก็ไปฟัง ที่ทำงานเริ่มมีวิทยุเราก็ฟังข่าว ซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน

แล้วความรู้สึกตั้งแต่แรก ๆ จนกระทั่งเริ่มอินมากขึ้น ความรู้สึกเปลี่ยนไปยังไงบ้าง เช่น ความผูกพัน

ก็ผูกพัน ตอนนั้นนายกทักษิณ คนเขารักมากเพราะทำอะไรก็รุ่งจริง ๆ มีเงินมีทองเก็บเพราะนายกทักษิณ ลูกค้าที่บริษัทก็เยอะ โบนัสเราก็ได้เยอะ เราก็มาช่วยทักษิณนะ มาฟังทุกวันมาซื้อซีดีทุกวัน บางอันยังไม่แกะบางอันก็มีรูปป้านกอยู่ด้วย

นภัสสรร่วมชุมนุมคาร์ม็อบไปที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2566

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เริ่มต้นเก็บของ

ก็ตั้งแต่ตอนนั้นแหละ เขาบอกว่าถ้าเราอยากช่วยกันคนละไม้คนละมืออยากให้คนรู้ เขาก็จะมีหนังสือสนามหลวงเป็นกระดาษ 4 แผ่น ป้านกก็จะหอบกลับบ้านไปโยนให้บ้านนู้นบ้านนี้ ป้านกมีสติ๊กเกอร์ ผ่านรถผ่านตู้โทรศัพท์ก็จะติด 

ทั้งหมดเป็นแนวทางสื่อสารไปในตัวใช่มั้ยคะ

ใช่ ๆ พอเรามาทำงานลักษณะนี้เราก็ว่าทำไงถึงจะสื่อสารคนได้เยอะ ๆ เวลาไปฟังอาจารย์มีเอกสารประกอบ เราก็จะเอาไปหย่อนบ้านนู้นบ้านนี้ แล้วก็มีการพูดคุยช่วยเหลือให้เป็นประชาธิปไตย เช่น ทักษิณเขาบริหารงานมาดีแล้วมายึดอำนาจเขา มันไม่ถูกอย่างงี้ จนปี 53 ป้านกโดนออกจากงาน ตอนที่เสื้อแดงเขาไปราชประสงค์ตอนที่โดนยิงเยอะ ๆ เราก็มานอนที่นี่อยู่ประจำ ปกติก็จะไม่นอนนะแต่พอโดนออกจากงานแล้วก็เครียด สมัยก่อนลูกชายก็ขึ้นเวทีด้วย แม่อยู่บนเวทีเขาก็อยู่บนเวทีกับแม่ ก็ซึมซับกันมา พอเข้ามหาลัยเพื่อนเขาเห็นออกโทรทัศน์อยู่กับพวกแกนนำบ่อย เขาเลยเริ่มถอยออกมา สมัยก่อนเป็นเสื้อแดงก็กลัวว่าจบไปทำงานแล้วจะมีภาพไม่ดีแล้วจะลำบาก หนังสือก็เริ่มเก็บตั้งแต่โน้นแหละ พอไปสนามหลวงทุกวัน PTV(ช่องยูทูปที่บันทึกการปราศรัยการชุมนุมทางการเมืองและงานเสวนาวิชาการ)  ก็จะทำเป็นซีดีทุกวัน ประมาณ 5-7 แผ่นแล้วแต่วัน เราก็ช่วยเขาอุดหนุน 

มีสิ่งที่ชอบซื้อเก็บเป็นพิเศษมั้ยคะ เช่น พี่แว่นจะชอบเก็บเสื้อ

เสื้อนี่ป้านกก็มี ใครทำมามันก็เป็นเสื้อแดงเหมือนกันเราก็ซื้อไว้แต่ละรุ่น ได้ใส่ทุกตัวแล้วก็เก็บไว้ ตีนตบมือตบอะไรก็ซื้อเก็บไว้ตั้งแต่อยู่สนามหลวง จนป้านกไปลุยกับพวกสนธิก็โดนถ่ายรูปไปติดไว้ว่าถ้าเจอผู้หญิงพวกนี้ให้ตีจนหมอบ เราก็ไม่กล้าไป บางวันเราแอบไปตรงคลองใกล้ UN แต่เราก็ไม่ได้เข้าใกล้ ไปนั่งฟัง ถ้าตรวจบัตรก็ไม่เข้าไป เราดูในโทรทัศน์เห็นคนก็เยอะ เราก็แอบมาฟังใกล้เวที แอบมาดู ๆ แล้วก็กลับออกไป อย่างพวกของบริจาค จะเข้าไปเราก็ต้องให้เนียนเลยต้องซื้อพวกนกหวีดบ้าง ห้อยคอ ก็ซื้อมา

เล่าให้ฟังได้ไหม ว่ามีการเกือบถูกจับหรือว่าต้องทำยังไงบ้างในการเนียนเข้าไปในม็อบอีกฝั่ง

มีทั้งเดินเข้าไปเฉย ครั้งหนึ่งที่เขาเคลื่อนขบวน ที่คุณวิภูแถลง แกก็บอกว่าอยากได้ซีดีที่พวกนี้ทำออกมา ป้านกทำงานอยู่สีลม พวกนี้เขามาใกล้ ๆ เราก็ไปแต่ไม่ได้เพราะเขาแจกหมด เขาบอกให้เราไปเอาที่ธรรมเนียบ ใครจะกล้าไป วันหลังก็หามาจนได้เลยเอาไปให้พวกแกนนำ

เหมือนเป็นคนล่าของ?

ใช่ ถ้าเค้าบอกว่าอยากได้อันนี้นะ เราก็ไปหาให้อย่างงี้ ก็เหมือนตอนคุณสุชาติ นาคบางไทร(กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ)อยู่ มันจะมีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย แล้วก็จะมีหนังสือปกม่วงก็ให้เขาไป เมื่อก่อนเรามีเยอะหนังสือปกม่วง แล้วก็มีพวกจตุคาม กลุ่ม 24 ก็จะมีเต็นท์ของเขา เราก็ไปฟังไปซื้อพวกสติ๊กเกอร์ อันไหนเราอยากจะได้เราก็เก็บซื้อไว้ แล้วก็เก็บไว้ไม่ได้เอาไปแปะ ที่เห็นว่าของที่เก็บมันยังใหม่เพราะป้านกทำจิวเวลรี่แล้วจะมีถุงใส่เพชรพลอย ก็เอามาใส่เก็บแล้วก็ใส่ลังไว้ ถ้าได้อะไรมาก็จะซักแล้วเก็บแพคเอาไว้

แล้วในช่วงนั้นมีของเยอะมาก และมีความ Creative มาก มีของชิ้นไหนที่เราเห็นแล้วว้าว เห็นแล้วประทับใจมั้ยคะ 

คือเห็นแล้วก็ไม่ได้ว้าวนะ มันก็ไม่ได้แปลกก็เหมือนกัน อย่างตีนตบก็ดูว่าน่าซื้อมั้ย อย่างบางวันเราไม่ได้เอาติดกระเป๋ามาก็ซื้อใหม่ 

ตอนที่เขาสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษา หรือก่อนหน้านั้น อยู่ในเหตุการณ์หรือเปล่า?

อยู่ค่ะอยู่ วันที่เขาสลายการชุมนุม ป้านกออกจากงานแล้วก็จะมาอยู่ที่นี่ ป้านกอยู่หลังเวทีก็จะไปช่วย แกนนำขึ้นเวทีลงมาก็จะเอาผ้าเย็นให้เอาน้ำเสริฟ ทั้งแกนนำและแขกที่ขึ้นเวที วันนั้นเราก็ไปหลังเวทีลูกชายเราก็มาด้วย บางส่วนก็เคลื่อนขบวนไปที่ราชประสงค์ บางส่วนก็อยู่ที่นี่ ตอนนั้นเมธีที่เป็นดาราเขาก็ประกาศว่าขออาสาสมัครเพราะมีการทิ้งกันและมีการทิ้งแก๊สน้ำตาแล้ว จากฮอล์ที่โปรยลงมา เราก็วิ่งตามลูก แล้วมันก็ทิ้งแก๊สน้ำตาลงมา แสบตาไม่ไหวมองไม่เห็นทาง ลูกก็หาน้ำล้างให้แล้วก็ประคองเดิน 

เขาก็ยิงกันที่หัวกระจายมีคนโดนเต็มเลย เราก็แน่น อึดอัด หายใจไม่ออก ก็โดนหลายรอบ ตอนปี 49-50 เขาพาเดินไปบ้านเปรม เทเวศร์ เดินไปไม่ถึงก็โดนเขาสลาย ของก็เก็บมา ของทำมา ที่คาดผม ธงเนี่ยเป็นมัดเลย มาทุกวันเขาก็จะแจกละจะเก็บๆ ไว้ ธงมันเยอะเพราะว่าบางทีคนที่มาม็อบเขาไม่กล้าเอากลับ เขากลัวก็เลยม้วนๆ เอาไว้แล้วนั่งรถเมล์กลับบ้าน แล้วเราไม่ทิ้งอะไรหล่นก็เก็บ อะไรเราเอามาหิ้วมาก็เก็บ เป็นคนที่เก็บของ

หลังจากนั้นที่มีการสลายแล้วมีการเคลื่อนไหวอีกมั้ย?

มันก็มีตลอดนะ เพราะการเคลื่อนไหวมันไม่หยุด แกนนำอาจจะหยุด แต่พวกป้านกก็มีตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็นกลุ่มสตรีเพื่อประชาธิปไตย ก็มีมวลชนเยอะตอนนั้น ก็เคลื่อนไหวกับผู้ชุมนุมและแกนนำหลายคน

ตอนนั้นก็จะมีสถานีวิทยุของแท็กซี่อยู่วิภา ซอย 3 เราก็จะเคลื่อนไหวกับกลุ่มนี้ เขาก็จะส่งมาโทรมาว่าวันนี้มีกิจกรรม เราก็จะทิ้งงานมาครึ่งวันไปเข้าร่วม

ที่มันจะมีหนังสือเป็นเบอร์โทรศัพท์เยอะๆ หรือปล่าวคะ

ตอนนั้นมันมีเยอะนะ แกนนำทุกคนป้านกก็มีเบอร์ ทำตรงนี้มันต้องรู้จัก

คิดว่ามันเจ๋งเพราะปัจจุบันก็จะติดต่อผ่านเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ แต่พอมาเห็นหนังสือที่มีเบอร์แกนนำทุกคนในตอนนั้นเลยรู้สึกว่ามุมนึงคือเจ๋งมาก ๆ แต่อีกมุมก็รู้สึกว่าถ้ามันหลุดไปที่ตำรวจจะทำยังไง

จริง ๆ มันมีหนังสือ King never smiles ป้านกก็สั่งซื้อมานะ 2 เล่ม เขาก็มาตรวจค้น เราก็กังวลว่าจะเอาของไปไว้ที่ไหน เขาบอกว่าของอย่างอื่นไม่เป็นไร แต่ไอหนังสือหนะคนก็ไม่กล้ารับ ก็เลยแช่น้ำไปเลยให้มันเปื่อย ๆ ยุ่ย ๆ เสียดาย อุตส่าห์ซื้อมาอ่านไม่จบ เราก็ไปฟังก็ช่วยๆ ซื้อมา พวกหนังสือต้องห้าม ก็ซื้อช่วยเพื่อน ไม่รู้ยังมีอีกหรือเปล่าตอนนี้

ถ้าพูดถึงจริง ๆ มันสนุกนะการต่อสู้ อย่างตอนพฤกษาทมิฬ นอนบนถนนเดือนพฤษภามันก็ร้อนมาก ปีนั้นเป็นปีที่เขาเผาป้อมตำรวจ เผาเยอะที่สุดเลย เผาแทบทุกป้อมมีที่ไหนก็เผา เราก็โดนจับถอดเสื้อผ้านอนบนถนน ลูกกระสุนเต็มไปหมดเราก็ไม่กล้าเก็บ มันให้นอนแบบผู้ชายหน้าแนบถนน ก็ร้อนหน้าไหม้หมดเลย 4-5 ทุ่มมันปล่อยกลับ มีขอดูบัตรเราก็กลัวจะโดนจับเข้าคุก คลานแบบในหนังก็เคยมาแล้ว ก็เลยไม่ค่อยกลัว มันก็มีมวลชนออกมาเยอะ ก็เลยไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่

หลังจากนั้นก็กล้ามากขึ้นไรงั้นใช่มั้ย?

เออใช่ ตอนนี้ก็คิดว่าจะไปไหนก็ต้องเขียน ในกระเป๋าป้านกงี้ก็มีป้ายมีไรไปเยอะ หรือว่าวันนี้เค้ามีงานอะไร เราก็จะคิดตามงานว่า เออ เราจะประท้วงเรื่องอะไร เราก็หากระดาษหาอะไรมา เขียน แล้วก็เอาไป ป้าก็จะทำงี้ แล้วก็จะไปเก็บไว้ มีลังก็ก็จะไปเก็บไว้ ปล่อยเพื่อนเรา มีรูปเพนกวิน มีรูปพวกแกนนำเด็ก ๆ อะ แล้วเราก็จะมีไว้อะ เสียบ ๆ ไว้ จบตรงนี้ เออไม่มีไรเราก็เก็บ ถ้ามันมีน้องโดนจับเราก็เออ มันมีใครอีกเราก็จะรื้อออกมางี้

แล้วในช่วงรัฐประหารที่ปี 57 ที่เขาห้ามชุมนุม ห้ามจัดกิจกรรม ตอนนั้นเรายังติดต่อกับเพื่อนหรือยังเคลื่อนไหวอะไรไหม

ตอนปี 57 ไปทำอาหารแจกมวลชนละก็ไปทำให้พวกการ์ด ให้แกนนำด้วย คือแกนนำไม่กล้ากินของที่คนเอามาบริจาคให้ ก็คือครั้งหนึ่งพวกแกนนำกินแล้วแบบ น็อคไง คือเขาน่าจะใส่ของมา ตอนนี้ก็คือเราทำเสร็จก็ใส่รถเข็นแล้วก็เอาไปให้เวทีบางส่วน หลังเวทีเขาก็มีทำแต่เขาก็เอาจากเราไปอีกเพราะว่าทั้งนักข่าว ทั้งอะไรก็อยู่ข้างใน ก็ทำได้ 12 วันมั้ง หน้าเวทีเขาก็ยิงกัน เราก็ทำข้าวแจกมวลชน พอจากตรงนั้นเราก็ไม่ได้อะไรแล้ว เราไม่ได้ไปอยู่หน้าเวที คือเรามาช่วยกันทำอาหารแจก ให้การ์ดให้ไรงี้คือมันไม่ค่อยมีคนทำ ส่วนมากเขาอยากอยู่หน้าเวทีกัน เมื่อก่อนป้านกก็อยู่หน้าเวทีแต่ไม่ได้แสดงอะไรออก ก็ไปนั่งฟัง ตอนนี้รู้เยอะละไง ไม่จำเป็นต้องนั่งฟัง มันก็เรื่องเดิม ๆ แบบทุกวันนี้มันเป็นไง เราก็ตามทันละ

แล้วได้เก็บของอะไรมาบ้างมั้ยจากการชุมนุมรอบนั้น

รอบนั้นไม่ได้อะไรเลย รอบนั้นป้านกไม่ได้ออกไปไหน ก็คือทำข้าว 4 มื้อเลยนะ ก็วันนึงเนี่ย ทำแกงทำผัดเป็นหลายหม้ออะ แต่ปี 57 ไม่ได้ซื้ออะไร ไม่ได้เดิน เพราะคนทำอาหารก็อยู่ไกล

ของที่เยอะที่สุดคือช่วงเสื้อแดงใช่มั้ยคะ?

ใช่ค่ะ ก็ช่วง 52-53 นี่แหละ ปี 51 เริ่มจะมีเสื้อแดงคุณสายันห์ สัญญา นักร้อง แกใส่สีแดงขึ้นเวทีสนามหลวง หลังจากนั้นก็เริ่มใส่สีแดงเรียกร้อง ป้านกก็เริ่มเก็บมา เริ่มซื้อ ๆ มา ปี 52-53 เสื้อจะเยอะมาก

ตอนนี้ก็ 10 ปีแล้วนะ ป้านกเก็บของไว้ที่ไหน

ไว้ที่บ้านค่ะ ป้านกจะมีลัง ไม่ว่าจะหนังสือ จะอะไรก็จะใส่ถุงพลาสติกใหญ่เก็บ ๆ ไว้ในลัง มานั่งคิดว่าเสื้อผ้าใส่ไม่ได้แล้วก็ให้เขาไป แต่ก็มีเก็บไว้อย่างละตัว ประมาณนั้น ก็จะมีที่เอาไปให้แว่นทีละ 2-3 ถุงใหญ่ ๆ แต่ว่ามีพวกป้ายที่เอามาชูแว่นก็เอาไปแล้วบ้าง 

ภาพจาก iLaw

ของที่มีเกี่ยวกับพวกเรื่องเสื้อแดงก็จะเกี่ยวกับความสูญเสีย แล้วเวลาเราเห็นของพวกนี้ในบ้านเรารู้สึกยังไง

จริง ๆ ป้านกเก็บไว้ เราเห็นเหตุการณ์เราก็ไม่อยากดูเพราะมันก็สะเทือนใจ แต่ที่ซื้อเราก็อยากสนับสนุน ที่เก็บไว้ในลังมันก็อยู่อย่างงั้น ถ้าตายไปก็ไม่มีใครเห็นลูกก็ทิ้งเป็นขยะ พอแว่นมาขอเราก็พูดว่าให้เขาไปอย่างน้อย ๆ คนเสื้อแดง คนอุดมการณ์ได้มาเจอก็ได้รู้สึกเหมือนเรา ที่บ้านเรายังเหลืออยู่นิดนึงใช้ในวานวันรำลึก ป้านกก็ยังมีเก็บไว้

พอไปที่งานแล้วเห็นของเราอยู่ในงานจัดแสดงแล้วรู้สึกยังไง

เราก็ดีใจนะว่าเป็นของของเรา เราจำได้ อย่างมือตบเรามีเยอะ เราเห็นมันถูกติดไว้ก็จำของของเราได้ 

จนถึงปัจจุบัน เมื่อพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการ ป้านกก็ยังแวะมาพูดคุยและหยิบสิ่งของติดไม้ติดมือมามอบให้อยู่เรื่อยๆ รวมถึงในวันที่ให้สัมภาษณ์ ป้านกได้ฝากป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่ได้จากการเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัวของนักกิจกรรมหน้าศาลอาญามาให้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net