Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ บุกบ้าน “อานันท์ ปันยารชุน” นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ยกเลิกนโยบายการตั้งบริษัทติดตามหนี้ ออกแถลงการณ์ชี้แจงการเดินขบวนของสหภาพฯ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่กระทำได้

 
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รวมตัวกันที่หน้าบ้านนายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้ยกเลิกนโยบายการตั้งบริษัทติดตามหนี้ โดยในจดหมายระบุว่าตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกประกาศเรื่องการจัดตั้งบริษัท Collection เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 52 เพื่อดำเนินการติดตามหนี้ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารและบริษัทในเครือทั้งหมด โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารจะยุบเลิกหน่วยงานพัฒนาสินเชื่อมีหลักประกัน พัฒนาสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และพัฒนาสินเชื่อรถยนต์ เพื่อให้พนักงานไปปฏิบัติงานกับบริษัท โดยจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ส.ค. 52นั้น พนักงานหน่วยงานดังกล่าวไม่ประสงค์จะไปอยู่บริษัท เพราะต้องการปฏิบัติงานอยู่กับธนาคารที่มีความมั่นคงกว่า
 
แม้ธนาคารจะอ้างว่าถือหุ้น 100% และหากพนักงานไปปฏิบัติงานกับบริษัทก็ได้รับสิทธิ สวัสดิการเหมือนอยู่กับธนาคาร แต่นั่นเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายบังคับไว้เท่านั้น อนาคตก็จะมีการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับสิทธิแลสวัสดิการของพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น เหมือนที่ได้เกิดขึ้นกับบริษัท SAMCO และ SISCO ที่ธนาคารตั้งขึ้นเมื่อปี2538 ปัจจุบันนี้ธนาคารก็ไม่ได้ถือหุ้นแล้ว
ในจดหมายเปิดผนึกยังระบุต่อไปอีกว่า การตั้งบริษัทติดตามหนี้ธนาคารสามารถดำเนินการในนามธนาคารได้ไม่เสียหายใดๆและไม่ผิดข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะธนาคารพาณิชย์อื่นๆก็ยังดำเนินการในนามธนาคารอยู่ บริษัทติดตามหนี้ที่ธนาคารตั้งขึ้นคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็ไม่การันตีถึงความมั่นคง ดังที่ท่านได้ชี้แจงให้พนักงานฟังเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 52 นั่นน่าจะหมายถึงความไม่พร้อมและไม่รับรองการทำงานของพนักงานหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับธนาคาร ลูกค้า และประชาชนโดยรวม สหภาพแรงงานจึงทำจดหมายเปิดผนึกขอให้ท่านยกเลิกนโยบายการตั้งบริษัทติดตามหนี้ดังกล่าว (ดู: จดหมายเปิดผนึกถึงอานันท์ ปันยารชุน)
 
นอกจากนี้ทางสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5/2552 แจ้งแก่สมาชิกสหภาพและพนักงาน การเดินขบวน โดยถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่กระทำได้ ส่วนกรณีที่เรียกประชุมพนักงานก็เป็นการเชิญสมาชิกสหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อลงมติฟ้องดำเนินคดีต่อศาลแรงงาน กรณีธนาคารละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่ใช่สหภาพแรงงานแสดงออกถึงความไม่พอใจตามที่ธนาคารกล่าวอ้าง และสหภาพไม่เคยร้องขอหรือเสนอแนะเงื่อนไขใดๆให้ธนาคารนำไปปรับปรุงสัญญาจ้าง ของบริษัทที่ธนาคารทำขึ้น นอกจากขอให้ธนาคารปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และขอให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว (ดู: แถลงการณ์ 5/2552)

 
แถลงการณ์ 5/2552
 
เพื่อนสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงานทุกท่าน
 
ตาม ที่ธนาคารได้ชี้แจงการจัดตั้งบริษัทติดตามหนี้ลงใน Intranet ของธนาคารเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2552 ว่าที่สหภาพแรงงานเดินขบวนเรียกประชุมพนักงาน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจการที่ธนาคารมีนโยบายปรับโครงสร้างการบริหารงาน ที่เกี่ยวกับการติดตามทวงหนี้นั้น
 
สหภาพขอชี้แจงว่า ขณะนี้ธนาคารได้กระทำการละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้ทำไว้กับ สหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 ข้อ 2 กรณียุบเลิกหน่วยงาน ซึ่งธนาคารยุบเลิกหน่วยงานพัฒนาสินเชื่อที่มีหลักประกัน พัฒนาสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และพัฒนาสินเชื่อรถยนต์ เพื่อให้ไปปฏิบัติงานกับบริษัทที่ธนาคารตั้งขึ้น แต่พนักงานไม่ประสงค์จะไป สหภาพแรงานจึงต้องเข้าไปคุ้มครองสิทธิของพนักงานหน่วยงานดังกล่าวตามกฎหมาย เพราะเขาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำละเมิดของธนาคาร
 
ในส่วนที่สหภาพเดินขบวนก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายที่กระทำได้ ส่วนที่เรียกประชุมพนักงานก็เป็นการเชิญสมาชิกสหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อลงมติฟ้องดำเนินคดีต่อศาลแรงงาน กรณีธนาคารละเมิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไม่ใช่สหภาพแรงงานแสดงออกถึงความไม่พอใจตามที่ธนาคารกล่าวอ้าง และสหภาพไม่เคยร้องขอหรือเสนอแนะเงื่อนไขใดๆให้ธนาคารนำไปปรับปรุงสัญญาจ้าง ของบริษัทที่ธนาคารทำขึ้น นอกจากขอให้ธนาคารปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และขอให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว
 
การที่ธนาคารได้ชี้แจงว่าธนาคารถือหุ้น 100 % นั้น ในอดีตที่ผ่านมาประมาณปี 2538 ธนาคารได้ตั้งบริษัท SAMCO และ SISCO ผลสุดท้ายธนาคารก็ขายหุ้นไปหมด และที่ธนาคารอ้างว่าให้สวัสดิการเหมือนธนาคารเพราะธนาคารต้องปฏิบัติตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 “ในกรณีที่กิจการใดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งนายจ้าง เนื่องจากการโอน รับมรดก หรือด้วยประการอื่นใดหรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอนหรือควบกับนิติบุคคลใดสิทธิต่างๆที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใด ให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ ” นั่นเป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับไว้ธนาคารจึงต้องปฏิบัติตาม
 
แต่ธนาคารกลับไม่ปฏิบัติตามที่ชี้แจง คือ พนักงานบริษัท ไทยพาณิชย์ลิสซิ่ง (SCBL) ซึ่งธนาคารถือหุ้น 100%โอนมาเป็นพนักงานธนาคารก็ได้รับสวัสดิการไม่เหมือนเดิมตามที่ธนาคาร กล่าวอ้าง เช่น อยู่ที่เดิมได้โบนัส 5 เดือน มาอยู่ธนาคารได้ 2 เดือน ทำงาน 2 ปีจะบรรจุก็ไม่บรรจุ พนักงานสัญญาราย 1 ปี ก็ลดลงเหลือ 6 เดือน สหภาพแรงงานจึงขอชี้แจงมาเพื่อให้สมาชิกและพนักงานได้รับทราบข้อเท็จจริง หากมีความเคลื่อนไหวของสหภาพหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกท่านต่อไป
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net