Skip to main content
sharethis

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐฉานและสาละวินว็อทซ์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สองบริษัทจีนยุติแผนก่อสร้างเขื่อน “กุนโหลง” บนแม่น้ำสาละวินตอนบนของรัฐฉาน เนื่องจากใกล้พื้นที่ก่อสร้างมีการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลังเขตปกครองพิเศษโกก้าง

  
วานนี้ (1 ก.ย.) องค์กรสิ่งแวดล้อมสภาวะแห่งรัฐฉานร่วมกับกลุ่มสาละวินว็อทซ์ (Salween Watch) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและพม่า ซึ่งร่วมกันจับตามองโครงการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่สงครามและเต็มไปด้วยข้อพิพาทมานานกว่า 10 ปี ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อบริษัทจีนให้ระงับการลงทุนด้านเขื่อนในแม่น้ำสาละวินทั้งหมดเนื่องจากการสู้รบอย่างหนักระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังเขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน ตอนบนของรัฐฉาน ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทในจีน
 
การสู้รบอย่างหนักเกิดขึ้นในตำบลกุนโหลง (Kunlong) ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนเพียง 15 กิโลเมตร โดยการปะทะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม หลังจากที่ทหารพม่าเคลื่อนกำลังหลายพันนายเข้ายึดเขตปกครองพิเศษโกก้าง ทำลายสัญญาหยุดยิงที่ตกลงกันไว้กับกลุ่มโกก้างเมื่อ 20 ปีก่อน ผลจากการปะทะทำให้มีผู้อพยพกว่า 30,000 คน เข้าสู่ประเทศจีน ขณะที่กองกำลังโกก้างน่าจะต้องการแยกออกจากทหารพม่า
 
แผนการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินตอนบนที่รู้จักกันในชื่อ “เขื่อนกุนโหลง” มีการประกาศแผนการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2550 โดยบริษัทจีนสองแห่งคือ Hanergy Holding Group (ชื่อเดิมคือ Farsighted Investment Group) และบริษัท Gold Water Resources Company นับตั้งแต่นั้นมาช่างเทคนิคของทั้งจีนและพม่าได้เข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างเขื่อนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2,400 เมกกะวัตต์ และอยู่ห่างจากชายแดนจีน 25 กิโลเมตร
 
 
เขื่อนกุนโหลงนับเป็น 1 ใน 5 เขื่อนยักษ์ที่จะก่อสร้างในแม่น้ำสาละวินช่วงที่ผ่านพม่าโดยรัฐบาลทหารพม่า (SPDC) บริษัทจากจีนและไทย เผื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับจีนและไทย โดยเขื่อนขนาดใหญ่อื่นๆ ที่จะก่อสร้างในพื้นที่รัฐฉาน ได้แก่ เขื่อนท่าซาง ซึ่งมีกำลังผลิต 7,110 เมกกะวัตต์ มีพื้นที่ก่อสร้างห่างจากชายแดนไทย 100 กิโลเมตร โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ปฏิบัติการกวาดล้างชุมชนที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของเขื่อน มีการทารุณและสังหารประชาชน และทำให้มีผู้อพยพออกจากหมู่บ้านของตนมากกว่า 10,000 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net