Skip to main content
sharethis

วานนี้ (1 ก.ย.52) เวลา 10.00 น. ณ วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง การเมือง และสิทธิชุมชน พร้อมทั้งอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานเครือข่าย ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและข้อเท็จจริงของชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในฐานทรัพยากร ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง และกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ จังหวัดเลย โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากแต่ละพื้นที่เข้าร่วมสะท้อนปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวน 80 คน

บรรยากาศในเวที ตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มต่างๆ ได้สลับกันสะท้อนปัญหาและข้อเสนอต่างๆ อย่างกระตือรือร้น โดยทุกคนต่างก็ตั้งใจรับฟังสภาพปัญหาของกันและกัน ถึงแม้จะอยู่คนละพื้นที่ของปัญหาที่กำลังประสบอยู่ก็ตาม อีกทั้งกรรมการสิทธิฯ และคณะ ต่างสลับกันออกมาพูดแลกเปลี่ยน แนะแนวทางในการต่อสู้ และให้กำลังใจชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศในเวทีครึกครื้นตื่นตัวที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ในส่วนสถานการณ์ปัญหาในแต่ละพื้นที่ ได้มีตัวแทนสะท้อนถึงผลกระทบจากการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ และการลงทุนของเอกชน ซึ่งละเมิดต่อสิทธิของคนท้องถิ่นในด้านการจัดการทรัพยากร การมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจในด้านการพัฒนา ตลอดจนความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากภาครัฐและเอกชน ดังนี้

กรณีปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี นางมณี บุญรอด ตัวแทน กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้สะท้อนออกมาว่า การต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ดำเนินมาถึงปีที่ 8 แล้ว ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดชาวบ้านได้ชุมนุมที่ถนนมิตรภาพ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่ตั้งคณะอุกรรมการที่ชาวบ้านไม่ยอมรับ และไม่มีกฎหมายรองรับ ได้นำไปสู่การเปิดเวทีคุยกันกับผู้ว่าฯ ในช่วง วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยชาวบ้านได้มีข้อเสนอให้มีการศึกษายุทธศาสตร์การทำเหมืองแร่โปแตชใน จ.อุดร ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ทั้งนี้ชาวบ้านยังได้มีการยื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยแร่ พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รับหลักการ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา และปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในข้อกฎหมาย ว่ามีสาระสำคัญที่ละเมิดสิทธิฯ ในการจัดการทรัพยากรของชุมชน

ส่วนปัญหาของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 – อุดร 3 พาดผ่านที่ดินของชาวบ้าน นางยุพาพร รักษาภักดี ได้เสนอถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขาดการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนแนวสายส่งฯ และศาลปกครองก็รับเรื่องแล้ว 55 ราย ขณะที่ปัจจุบัน กฟผ.ควรจะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่ชาวบ้าน แต่งานมวลชนสัมพันธ์ของ กฟผ.กลับเสนอผลประโยชน์ เงินค่าชดเชย เข้าเจาะเป็นรายบุคคลจนทำให้ชาวบ้านขัดแย้งกันเอง

สำหรับปัญหาของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ในพื้นที่ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งพื้นที่ทำเหมืองของบริษัททุ่งคำ ตั้งอยู่ห่างจากเขตชุมชน เพียง 500 เมตรเท่านั้น โดยนายสมัย ภักดิ์มี ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า ได้เกิดผลกกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยลำน้ำฮวย ซึ่งเป็นลำน้ำสายหลักที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค ได้เกิดการปนเปื้อนของสารไซด์ยาไนต์ อย่างรุนแรง และพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านได้เกิดความเสื่อมโทรมจนทำให้ผลผลิตลดลงเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อเรียงร้องความเป็นธรรมจากกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิดังกล่าว แต่สถานการณ์ในพื้นที่มีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนและคัดค้านการทำเหมือง นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งของคนในพื้นที่ พร้อมกันนี้ตัวแทนชาวบ้านก็ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการเหมืองทองคำซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนให้กับกรรมการสิทธิฯ ด้วย

ปัญหาสุดท้ายที่ชาวบ้านได้นำเสนอคือปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำลำพะเนียง โดยนายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ตัวแทนชาวบ้านนำเสนอว่า การขุดลอกลำพะเนียง เพื่อรองรับการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ลงสู่ลำพะเนียง แล้วส่งต่อไปยังเขื่อนอุบรัตน์ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์จากลำน้ำได้ เมื่อสิทธิชุมชนในการใช้ทรัพยากรถูกทำลายชาวบ้านจึงรวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองในเดือนธันวาคม ปี 2548 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และปัจจุบันชาวบ้านได้รวมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพลุ่มน้ำละพะเนียงให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ภายใต้ กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง

ด้าน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทการทำงานในด้านสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร ได้กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิฐานทรัพยากรในพื้นที่ภาคอีสานว่า มีสาเหตุมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมแต่ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ พร้อมทั้งให้กำลังใจต่อกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม

“ผมมองว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมา และกำลังจะเกิดขึ้นนั้น มันละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่เคยได้ใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนปากมูลสร้างมากว่า 20 ปี ชาวบ้านไม่เคยได้ใช้ประโยชน์เลย คนอีสานจึงต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะใช้ประโยชน์จาก ดิน น้ำ ป่า และแร่ ที่มีอยู่ในภูมิภาคอย่างไร ไม่ใช่ตัดสินใจโดยรัฐหรือนายทุน การต่อสู้ของพี่น้องกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ต้องยกระดับการต่อสู้จากการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ไปสู่การต่อสู้เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรของคนอีสานทั้งหมด เพื่อที่ลูกหลานในอนาคตจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีค่ามากกว่าเงินที่ใช้แล้วหมดไป ในฐานะของกรรมการสิทธิจึงมีบทบาทในการเสริมกระบวนการใช้สิทธิของประชาชนทุกคน สิ่งที่สำคัญที่ผมอยากจะฝากไว้ คือ สิทธิ ของพ่อแม่พี่น้องทุกคน ไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องต่อสู้ ผมจึงขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกคนที่ร่วมกันต่อสู้รักษาทรัพยากรของคนอีสาน” กรรมการสิทธิกล่าว

หลังจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. กรรมการสิทธิฯ และคณะ ได้เดินทางลงไปดูพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของชาวบ้าน พื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และพื้นที่หนองหานกุมภวาปีซึ่งเป็นพื้นที่รองรับโครงการผันน้ำ ก่อนเดินทางกลับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net