Skip to main content
sharethis

เวทีเจรจาโลกร้อนวันสุดท้ายปิดฉาก ภาคเอ็นจีโอ ระบุเลื่อนลอย ไร้ความหวัง ขณะที่เจ้าของเวทีโปรยยาหอม สรุป “เป็นการก่ออิฐฉาบปูนไว้ให้ข้อตกลงโคเปนเฮเกน” แต่ยอมรับสาระสำคัญการเจรจาไม่คืบ ขณะที่อียูยันหนุนพิธีสารเกียวโตต่อ แต่ขอให้สหรัฐเข้าร่วมด้วย

 9 ต.ค. 52  เวทีเจรจาโลกร้อนวันสุดท้ายปิดฉาก ภาคเอ็นจีโอ นำโดยเจ้าประจำที่ติดตามการเจรจาอย่าง CAN (Climate Action Network) Third World Network (TWN) หรือรายองค์กรอย่าง WWF กรีนพีซซึ่งได้ร่วมกันผลักข้อตกลงโคเปนเฮเกนในนาม Global Campaign for Climate Action (GCCA) ระบุเลื่อนลอย ไร้ความหวัง รุมประนามสหรัฐตัวการใหญ่ขัดขวางกระบวนการเจรจา ขณะที่ UNFCCC  เจ้าของเวทีซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศ อียู สหรัฐ อินเดีย และกลุ่ม จี 77+จีน สรุป “เป็นการก่ออิฐฉาบปูนไว้ให้ข้อตกลงโคเปนเฮเกน” ยอมรับว่า สาระสำคัญการเจรจาไม่คืบ ความเห็นขัดแย้งยังคงอยู่ ขณะที่อียูยันหนุนพิธีสารเกียวโตต่อ แต่ขอให้สหรัฐเข้าร่วมด้วย

นายโว เดอ บัว (Yvo de Boer) เลขาธิการการเจรจาโลกร้อนยูเอ็น UNFCCC Executive Secretary กล่าวว่าผลที่ได้จากการเจรจาที่กรุงเทพเป็นเสมือนการก่ออิฐโบกปูนสำหรับข้อตกลงโคเปนเฮเกนที่จะมีในเดือนธันวาคมนี้ แต่ยอมรับว่ายังคงไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็นสำคัญที่มีความเห็นขัดแย้งกันระหว่างภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ       
 
“เจตนาเบื้องต้นสำหรับการเจรจากรุงเทพฯ ที่ตั้งใจไว้ คือเพื่อให้การดำเนินการเรื่องโลกร้อนทำได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในเดือนธันวาคมนี้ทุกคนบนโลกจะได้รับทราบพร้อมๆ กันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลพวกเขาจะทำอะไรเพื่อป้องกันมหันตภัยโลกร้อน มันเป็นเวลาที่เราต้องถอยออกจากผลกระโยชน์ส่วนตัวและหันมามองประโยชน์ส่วนรวมเป็นธงนำ” นายเดอบัวกล่าวในการแถลงข่าว      
 
“เวทีเจรจาทำให้เกิดความก้าวหน้าในประเด็นการปรับตัวรับมือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพ รวมถึงสามารถตกลงกันได้ในประเด็นเชิงเทคนิคเรื่องการจัดการป่าไม้ และการใช้ที่ดินเพื่อบรรเทาวิกฤตโลกร้อน รวมถึงวิธีการประเมินศัยกภาพของก๊าซเรือนกระจกตัวใหม่ ๆ และหาทางเลือกที่จะทำให้กลไกซีดีเอ็มของพิธีสารเกียวโตใช้การได้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น”
 
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่า มีความก้าวหน้าเล็กน้อยเท่านั้นในประเด็นการตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอุตสาหกรรมในระยะกลาง เช่นเดียวกับเรื่องกลไกการเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้มีเพื่อช่วยในการลดก๊าซฯ และปรับตัว
 
“ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ นอร์เวย์ที่วันนี้ประกาศเป้าการลดก๊าซในประเทศอย่างต่ำ 40 เปอร์เซ็นต์ (ของระดับการปล่อยปี 1990) ” นายเดอบัวกล่าว       
 
ขณะที่ประชาคมยุโรปออกแถลงการณ์ว่า การประชุมที่กรุงเทพได้ทำให้การเจรจาโลกร้อนมีความก้าวหน้าขึ้นระดับหนึ่ง  คือการทำให้ร่างเจรจาลดจำนวนหน้าลง และทำให้ลำดับขั้นตอนการเจรจาชัดเจนขึ้น
 
“อียูหวังที่จะได้ข้อตกลงที่โคเปนเฮเกน ซึ่งพัฒนาจากรากฐานพิธีสารเกียวโตที่มีอยู่ แต่เข้าร่วม (ให้สัตยาบัน) โดยสมาชิกอนุสัญญา (ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ทั้งหมด รวมถึงสหรัฐด้วย” นายแอนเดอร์ส ตูเรซซอน (Anders Turesson) หัวหน้าทีมเจรจาสวีเดนกล่าวในนามกลุ่มอียู       
 
ทั้งนี้ อนุสัญญาฯโลกร้อน มีภาคีสมาชิกที่ให้สัตยาบัน 192 ประเทศในปัจจุบัน ขณะที่สมาชิกที่ให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตมี 184 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 37 ประเทศที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ซึ่งต้องมีพันธะกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซ               
 
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งถูกโจมตีจากกลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาชนและกลุ่มจี 77 แถลงในวันปิดเวทีกรุงเทพว่า ขณะนี้สหรัฐได้ดำเนินการภายในประเทศ มีการออกกฎหมายภายในว่าด้วยการดำเนินการลดโลกร้อน และกำหนดเป้าหมายที่จะลดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2050 อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กล่าวใดๆ ที่เกี่ยวกับพันธะสัญญาต่อประชาคมโลก
 
ขณะที่กลุ่มจี 77 + จีนระบุว่า การเจรจาว่าด้วยตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโตระยะ 2 หลังปี 2012 นั้นดำเนินไป “ช้ามาก” และ “ไม่คืบ” ทั้งๆ ที่ระยะเวลาการเจรจานั้นเหลือน้อยลงแล้วก่อนจะถึงเวทีโคเปนเฮเกน              
 
 “มีสัญญาณชัดเจนว่าประเทศพัฒนาแล้วภายใต้พิธีสารเกียวโตไม่ต้องการใช้พิธีสารเกียวโตต่อในระยะสอง และพยายามเสนอร่างข้อตกลงใหม่แทน (ซึ่งจะทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นเจรจาตั้งแต่เริ่มใหม่)” ส่วนหนึ่งของคำแถลงกลุ่มจี 77+จีน               
 
ด้านเครือข่ายเอ็นจีโอและภาคประชาชนนอกห้องเจรจาได้ออกแถลงการณ์ทั้งรายกลุ่ม รายองค์กร ตลอดวันสุดท้ายของเวทีเจรจา อาทิ
 
 “เวทีกรุงเทพ ไม่เพียงไม่สร้างความคืบหน้าให้กับกระบวนการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงโคเปนเฮเกน แต่กลับทำให้กระบวนการถอยหลังกลับไปอีก” มาร์ติน กอร์ ผู้อำนวยการบริการของ South Center กล่าว              
 
“ตัวขัดขวางใหญ่ที่สุดของความสำเร็จจากการเจรจาที่ทุกคนรอคอยคือ สหรัฐ ตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด นอกจากไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดที่ตัวเองก่อตั้งแต่อดีตแล้ว ยังพยายามผลักดันให้การเจรจาถอยหลังไปอีก” นิโคลา บัลลาร์ด จากกลุ่ม Focus on the Global South กล่าว              
 
“สิ่งที่สหรัฐทำจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนหลายพันล้านและคนรุ่นต่อไปมหาศาล” ไดน่า เฟนเตสฟิน่าจาก GCCA กล่าว เช่นเดียวกับ กิ่งกร นรินทรกุล ที่ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการวางกระบวนการที่ประชุมกรุงเทพให้ออกมาในลักษณะอย่างนี้ด้วย ทำให้ความหวังโคเปนเฮเกนริบหรี่ไปอีก                
 
“เป็นการจงใจให้เกิดผลแบบนี้ จงใจสร้างความยืดเยื้อและเอากระบวนการ non-paper มาไว้ตอนท้ายให้สรุปไม่ได้ หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ เป็นไปได้สูงมากว่า เราจะไม่ได้อะไรนักจากโคเปนเฮเกนอย่างที่คาดหวังกัน โลกมีโอกาสสูงที่จะอยู่ในระยะสูญญากาศ แม้ไม่อยากเชื่อ แต่เป็นไปได้ว่าอีก 10 ปี 20 ปีจากนี้ เราอาจจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ว่า จะลดก๊าซกันกี่เปอร์เซ็นต์อย่างมีพันธะสัญญา” กิ่งกรกล่าว
 
ทั้งนี้ หลังการเจรจากรุงเทพ จะตามด้วยการเจรจา 5 วันที่บาร์เซโลน่า คือระหว่างวันที่ 2-6 พ.ย. 52 ก่อนจะมีการเจรจานัดสำคัญโคเปนเฮเกนระหว่างวันที่ 7-18 ธ.ค.  52

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net