Skip to main content
sharethis

ชี้เอื้อประโยชน์ธุรกิจ เอาเปรียบผู้บริโภค ประธานสภาวิชาชีพข่าวฯ ระบุผิดจริยธรรม ไม่ให้เกียรติผู้ชม "สมชาย แสวงการ" ชี้ กทช. มีอำนาจดูแลรายการโทรทัศน์ ด้าน "สุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร" แจง กทช. มีอำนาจชั่วคราวอ้าง ก.ม.ให้อำนาจจำกัด จี้เร่งออก พรบ.คลื่นความถี่

 

 
หลังจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการโฆษณาในรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์   โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นประธาน และมีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นกรรมการ เพื่อจัดทำร่าง “แนวทางการปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์”
 
เครือข่ายภาคประชาสังคมอันประกอบด้วยเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเด็กเยาวชน และกลุ่มนักวิชาการ ได้ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการโฆษณาในรายการสถานีวิทยุโทรทัศน์ของอนุกรรมการชุดนี้ พบว่าสาระของร่างประกาศแนวทางการปรากฏสินค้าและบริการในสถานีโทรทัศน์นั้นไม่เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในทางตรงข้ามกลับเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองการโฆษณาแฝงของผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถมีได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังอาจขัดต่อ กฎหมายมาตรา 23 ของ “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551” ที่กำหนดเงื่อนไขเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจเอาไว้ที่ 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมงหรือเฉลี่ยทั้งวันไม่เกินชั่วโมงละ10 นาทีไว้แล้ว ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมจึงเคลื่อนไหวคัดค้านร่างประกาศดังกล่าว โดยเข้าพบและยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ รัฐสภา
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่มาของการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำร่างดังกล่าวนั้นเกิดตามมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในการประชุมครั้งที่ 6/2552 วันที่ 11 กันยายน 2552 ที่กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ โดยไม่ได้ทำการหารือภายนอก ซึ่งมีหลักการคือ ให้ผู้ผลิตกำหนดหลักเกณฑ์มาดูแลกันเองก่อน
 
“เนื่องจากปัจจุบันไม่มีกฎหมายใดมาดูแลปัญหาเรื่องโฆษณาแฝง เพราะผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว กสช. ที่มีหน้าที่โดยตรงยังไม่เกิด และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน การทำหลักเกณฑ์หรือข้อตกลงเพื่อดูแลกันเองก่อนเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่หากทำไม่ได้ก็ต้องออกหลักเกณฑ์โดยรัฐในรูปแบบของกฎหมาย
 
สิ่งที่พยายามจะทำในตอนแรกเกี่ยวกับมาตรการดูแลกันเองก็คือ หากสถานีโทรทัศน์บอกว่ารับผิดชอบต่อสังคม หลักเกณฑ์ที่ออกมาก็ต้องเป็นไปในลักษณะรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมต่อความเป็นห่วงเหล่านี้จะนำไปพิจารณา” นายสาทิตย์ กล่าว
 
จากนั้น ในงานมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็ก และเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้มีการสัมมนาหัวข้อ “โฆษณาทางโทรทัศน์อย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ความเป็นไปได้ในสังคมไทย”
 
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ กล่าวว่า จากร่างดังกล่าวเห็นว่าการอนุญาตให้มีโฆษณาในเนื้อหารายการหรือในสกู๊ปนั้นผิดจริยธรรมอย่างชัดเจน เป็นการโกหก ไม่ให้เกียรติคนดู ซ่อนเร้น และไม่สมควรอย่างยิ่ง ส่วนข้ออื่นๆ ทั้งการปรากฏสินค้า โลโก้มุมจอ หรือกราฟิกขอบจอนั้นเห็นควรจะมีการจัดระเบียบร่วมกัน ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ตั้งข้อสังเกตคือ สคบ. และรัฐมนตรีมีอำนาจดำเนินการออกกฎระเบียบนี้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็เข้าใจในความเป็นห่วงที่ว่า การออกกฎนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ทำเรื่องผิดเป็นเรื่องถูก คือทำให้โฆษณาแฝงเป็นเรื่องถูกกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาถกเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
 
“ในเชิงของคนทำสื่อเอง ถ้าถามว่าควรมีการกำหนดควบคุมกันเองไหม ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรจะมีโฆษณาประมาณไหน อย่างไร ก็ต้องนำมาคุยกัน ว่าโฆษณาที่เรามีกฎหมายควบคุมไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาที ตลอดทั้งวันเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาทีนั้นพอไหม ถ้าจะมีโฆษณาแฝงแล้วจะเป็นอย่างไร จะหักออกจากเวลาที่กำหนดอย่างไร” นายวสันต์ กล่าว
 
ด้าน ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ หัวหน้าโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า จากร่างนั้นแสดงให้เห็นว่าเรายอมรับสิ่งที่สถานีโทรทัศน์ทำมาแล้วว่าถูกต้อง ถามว่าจะแก้อย่างไร กฎหมายก็บอกอยู่แล้วว่าห้ามโฆษณาเกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง หากยังต้องการที่จะโฆษณาแฝงในรายการอีกก็ควรนำเวลานั้นไปหักออกจากเวลาที่อนุญาต แต่อย่านำเวลาของโฆษณาแฝงไปรบกวนเนื้อหารายการ เพราะเป็นการเอาเปรียบประชาชนมากเกินไป
 
“ข้อสังเกตอีกอย่างจากร่างคือ ที่บอกว่าสามารถโฆษณาแฝงได้แต่ต้องเป็นธรรมชาติ คิดว่าไม่ต้องไปตีความเลยว่าโฆษณาแฝงเป็นโฆษณาหรือเปล่า แค่คำว่าธรรมชาติก็ควรตีความให้ผ่านก่อนว่า ธรรมชาติหมายถึงอย่างไร
 
การใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์สินค้าเดินเข้ามาในรายการ กิน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ให้เห็นในรายการเป็นธรรมชาติหรือไม่ ถ้าคิดว่าแบบนี้เป็นธรรมชาติก็แสดงว่าเราใส่แว่นตาคนละสีแล้ว ถ้าเกิดต้องการแฝงโฆษณา หรือจะโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งจริงๆ ก็ต้องไปหักลบกับเวลาที่กฎหมายอนุญาต” ผศ.สุรสิทธิ์ กล่าว
 
วันที่ 14 พฤศจิกายน เครือข่ายผู้บริโภค เด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในงาน “มหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กฯ” เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบร่างประกาศดังกล่าว
 
นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องเข้าหารือในที่ประชุมกรรมาธิการ ซึ่งตนเห็นว่าการออกกฎหมายที่ขัดกันย่อมเป็นไปไม่ได้ และโดยหน้าที่ของ สคบ. คือคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่คุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจ ตนเห็นว่าต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ของ สคบ.ในเรื่องนี้ด้วย
 
“ตอนนี้มีการอ้างว่า ไม่มี กสช. กำกับดูแลรายการโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่ามีการยกเลิกกฎหมายแล้ว แต่ความจริงคือไม่ได้มีการยกเลิก แต่ได้นำกฎหมายนั้นไปให้ กทช. ทำการแทน เพราะฉะนั้น กทช. มีอำนาจดูแลรายการโทรทัศน์ให้ถูกต้องตามกฎหมายได้” สมาชิกวุฒิสภา กล่าว
 
ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ณ สำนักงาน กทช. เพื่อเร่งรัดดำเนินการจัดให้มีการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยภายหลังที่กฎหมายใช้บังคับ และเป็นผลให้กลุ่มเด็กเยาวชนและผู้บริโภคได้รับผลกระทบและถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการในธุรกิจสื่อวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอคือ ขอให้ กทช. พิจารณาแนวทางการคุ้มครองเด็กเยาวชนและผู้บริโภคจากสื่อวิทยุโทรทัศน์ โดยบังคับใช้บรรดาอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิของเด็กเยาวชนและผู้บริโภคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนด และต้องเปิดกว้างให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนตลอดจนกลุ่มผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ความต้องการ ในการจัดทำมาตรการและกลไกดังกล่าว
 
ซึ่งนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กล่าวว่า ขณะนี้มีกฎหมายแล้วแต่กลไกในการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ออกมา ฉะนั้นจึงต้องช่วยกันรณรงค์ให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายพระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่ตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยชอบธรรม เพราะขณะนี้ กทช. มีอำนาจชั่วคราว หรือเฉพาะกิจเท่านั้น ทำให้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ กทช. พยายามเต็มที่เพื่อดูแลส่วนที่ทำได้
 
“ปัญหาของบ้านเราเรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็คือ เรามีกฎหมาย แต่กลไกที่จะบังคับใช้อย่างถาวรนั้นไม่มี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ การทำหน้าที่แต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ แต่เดิม กทช. ดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคมนั้นไม่มีปัญหา แต่พอมีบัญญัติกลไกชั่วคราวก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะหน้าที่ตามกฎหมายการดูแลกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ต้องมี กสช.”
 
อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะประชุมเพื่อสรุปร่าง ประกาศคณะกรรมกาคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง “แนวทางการปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์” อีกครั้ง เวลา 9.00-12.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน นี้ ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ชั้น 5 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net