Skip to main content
sharethis
  
เรื่องราวของอาจารย์ถาวร เพชรขุนทด วัย 60 ปี ภูมิลำเนา หมู่ 2 บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา ข้าราชการครูผู้ต่อสู้กับเรื่องราวของนาเกลือมาตลอดกว่า 20 ปี 
 
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า “เดิมการทำนาเกลือในพื้นที่ตำบลพังเทียมนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2532 แต่ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการทำนาเกลือแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2534 ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่สามารถจะทำนาเกลือได้ และตำบลพังเทียมก็เข้าหลักเกณฑ์เช่นกัน”
 
 
นายถาวร เพชรขุนทด อายุ (60 ปี)
 
เหตุผลในการกำหนดให้พื้นที่บ้านโพนไพลเป็นพื้นที่ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เนื่องจากว่า
1.       ตำบลพังเทียมเป็นพื้นที่ที่มีการทำเกลือสินเธาว์อยู่ก่อนแล้ว
2.       ตำบลพังเทียมตั้งอยู่ในแหล่งดินเค็มซึ่งไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร เนื่องจากมีพื้นที่ดินเค็มทั้งอำเภอ คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่
3.       ตำบลพังเทียมมีความเหมาะสมในด้านแหล่งน้ำใต้ดินและผิวดินซึ่งเหมาะแก่การทำเกลือมากกว่าการทำเกษตร
4.       ตำบลพังเทียมไม่เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามข้อมูลของทางราชการ พื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และไม่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่เป็นเขตพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร ตลอดจนพื้นที่บริเวณนี้ได้ตั้งอยู่นอกเขตควบคุมของกรมป่าไม้
 
ในพื้นที่บริเวณนี้ 4 อำเภอ คือ โนนไทย โนนสูง ด่านขุนทด และพระทองคำนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ “หลุมยุบ” มาแล้วหลายครั้ง ชาวบ้านกังวลว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกและรุนแรงมากขึ้นด้วย เริ่มตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2530 ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันอันเนื่องมาจากแกลบซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานต้มเกลือ ปี พ.ศ. 2538 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวัง อำเภอโนนไทยต้องหวาดผวากับหลุมยุบขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร และเมื่อ 3-4 ปีก่อนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอโนนไทย ก็ได้รับผลกระทบจากหลุมยุบมาแล้ว 4 หลุมเช่นกัน และอีกหนึ่งหลุมเร็วๆนี้ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ต้องตกใจอีกครั้งกับหลุมยุบขนาดใหญ่กว่า 180 ตารางเมตร ที่อยู่กลางไร่มันสำปะหลังของนางทองสุข ชอบรัก ชาวบ้าน บ้านหนองราน ตำบลสำโรง อำเภอโนนไทย
 
จากเหตุความเดือดร้อนที่ชาวบ้านในบริเวณนี้ได้รับมากว่า 20 ปี อาจารย์ถาวร เพชรขุนทด และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำนาเกลือรวม 22 คน ได้รวมตัวกันและนำเรื่องความเดือดร้อนนี้ไปปรึกษาสภาทนายความ เพื่อจะเรียกร้องความเป็นธรรมจากศาล จึงทำให้เกิดการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมาเมื่อปี 2548 และศาลประทับฟ้องรับคดีไว้พิจารณาเมื่อปี 2550 โดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้
           
1. ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 ข้อ 2.3 เรื่อง อนุญาตให้พื้นที่บ้านโนนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน
           
2. เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
                        2.1 โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-2136 นม
                        2.2 โรงงานของนายสมาน สมันเลาะห์ ทะเบียนโรงงาน จ3-103(1)-6138 นม
                        2.3 โรงงานของนายแอ คล้ายคำดี ทะเบียนโรงงาน จ3-103(1)-1/40 นม
                        2.4 โรงงานของนายแอ คล้ายคำดี ทะเบียนโรงงาน จ3-103(1)-2/40 นม
                        2.5 โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้นสุขไพทูรฑ์ ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/36 นม
                        2.6 โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-103/5/36 นม
2.7 โรงงานของนายสำราญ คำเปรม ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/40 นม
2.8 โรงงานของนายอาดำ รอฮีม ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-2/40 นม
2.9 โรงงานของบริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/42 นม
2.10 โรงงานของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/39 นม
           
3. ผู้ถูกผ้องคดีทั้งเจ็ด คือ 1).กระทรวงอุตสาหกรรม 2).กรมโรงงานอุตสาหกรรม 3).กรมควบคุมมลพิษ 4).กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 5).ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา 6).อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ 7).องค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ
                        3.1 บริษัท เกลือโคราช จำกัด
                        3.2 นางยุภาภรณ์ วุฒิวณิชย์พิมล
                        3.3 นายชัยวัฒน์ ปักเข็ม
                        3.4 นายฮานาฟี นริทร
                        3.5 นายโพด จักรแก้ว
                        3.6 นายอดุลย์ หาญสงคราม
                        3.7 โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพโรจน์ ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/36 นม
                        3.8 โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-103/5/36 นม
                        3.9 โรงงานของนายสำราญ คำเปรม ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/40 นม
                        3.10 โรงงานของนายอาดำ รอฮีม ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-2/40 นม
                        3.11 โรงงานของบริษัท สยามทรัพย์มณีจำกัด ทะเบียนโรงงาน 3-103(4)-1/42 นม
                        3.12 โรงงานของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียนโรงงาน 3-103(1)-1/39 นม
           
4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (กรมควบคุมมลพิษและองค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม) ดำเนินการฟื้นฟูบริเวณลำห้วยโนนเผาผี สระเก็บน้ำโนนเผาผี พื้นที่หมู่ 6 และบริเวณลำห้วยด่าน พื้นที่หมู่ 19 ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองทอง จังหวัดนครราชสีมา ให้มีสภาพความอุดมสมาบูรณ์ตามธรรมชาติดั้งเดิม ก่อนจะมีประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ฯ ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังเดิมได้ตามปกติ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชพันธุ์และผลิตของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน
 
ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมอุตสาหกรรม) ให้การรับฟังได้ว่า
 
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์ และให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นประกอบการอนุญาตด้วย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในขอบเขตจำกัดตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0202/11409 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมตินั้นไปออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 โดยประกาศดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันตามาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 1>
 
พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เทียบเคียง พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 33(1)
มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือของสาธารณชน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) กำหนดจำนวนและขนาดของโรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดที่จะให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่ให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง
(2) กำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบและหรือปัจจัยหรือชนิดของพลังงานที่จะนำมาใช้หรือผลิตในโรงงาน
(3) กำหนดชนิดหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงานที่จะให้ตั้งหรือขยาย
(4) กำหนดให้นำผลผลิตของโรงงานที่จะให้ตั้งหรือขยายไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท หรือให้ส่งผลผลิตออกนอกราชอาณาจักรทั้งหมดหรือบางส่วน
พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 68 “บรรดากฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้คงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้”
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ให้การรับฟังได้ว่า
 
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 นั้น เป็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ และกำหนดมาตราการควบคุมกิจการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งคณะรัฐมตรีได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 ลงมติเห็นชอบเกี่ยวกับหลักการในการกำหนดพื้นที่และกำหนดมาตรการควบคุมในการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการพลังงานเสนอเพิ่มเติม มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็เป็นเพียงหลักการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมาประกอบการพิจารณาจัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน โดยได้นำร่างกฏหมายฉบับนี้เข้าสู่การขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้นำเฉพาะหลักการที่สำคัญเท่านั้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 มายกร่างประกาศเสนอคณะรัฐมนตรีและมีบางส่วนไม่ได้นำมากำหนดในประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่จะกำหนดไว้ในประกาศ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามร่างประกาศนี้แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำมาออกประกาศ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นประกาศที่มีศักดิ์ตามกฎหมายออกตามความในมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวจึงเป็นการออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผ่านการให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ที่ทุกฝ่ายตั้งถือปฏิบัติ
 
ซึ่งหลักการที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนอ้างถึงนั้น คือ การให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นประกอบการอนุญาต ก็มิได้นำมากำหนดไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวด้วย
 
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 (กรมควบคุมมลพิษ , กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ , ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา , อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ องค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม ) ให้การรับฟังโดยชี้แจ้งถึงขั้นตอนการอนุญาตโรงงาน
 
เริ่มจากการยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสถานที่ประกอบการ โดยพิจารณาให้ความชัดเจนว่าโรงงานที่ยื่นคำขอดั่งกล่าวได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เป็นเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แล้วแจ้งผลการพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ผู้ขอทราบ
 
และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ออกคำลั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 3681/2545 ตั้งคณะทำงานตรวจสอบสถานที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทำเกลือสินเธาว์ ณ ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา คณะทำงานได้ทำการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 แล้ว การกำหนดแนวเขตหมู่บ้านโพนไพลหมู่ที่ 2 ดังกล่าวไม่ตรงตามแนวเขตประกาศจังหวัดนครราชสีมาที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 มีโรงงานบางโรงอยู่นอกเขตพื้นที่กำหนด จึงได้แจ้งกับอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาว่าให้โรงงานที่ได้รับอนุญาตไปแล้วแต่ไม่ถูกต้อง(เพราะตั้งอยู่นอกเขตดังกล่าว) ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อตน เพื่อรายงานให้ส่วนการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสั่งการต่อไป
 
ผู้ประกอบการซึ่งถูกพิจารณาว่าอยู่นอกเขตพื้นที่ดังกล่าว คือ 1. คำขออนุญาตตั้งโรงงานของนายอดุลย์ หาญสงคราม 2. โรงงานเลขที่ จ 3-103(1)-1/39 นม ของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ว่าพวกตนได้ประกอบกิจการโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบ มิได้มีเจตนาทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ขอให้ผ่อนผันการประกอบกิจการได้ต่อไป
 
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องโรงงานทำเกลือสินเธาว์ ที่ตั้งอยู่นอกเขตประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันทื่ 9 ตุลาคม 2534 เรีบยร้อยแล้วด้วยการไม่ต่ออายุใบอนุญาต และส่งเรื่องไม่อนุญาตคำขอในรายที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบแล้วพบว่าอยู่นอกเขตประกาศ
 
และยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าโรงงานไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาตำบลและไม่ต้องขอความเห็นชอบจากจังหวัดแต่อย่างใด เนื่องจากไม่จัดอยู่ในประเภทโรงงานที่การประกอบกิจการก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุ่นแรง รวมถึงไม่จัดอยู่ในประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ตามประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
 
คำให้การผู้ฟ้องทั้ง 22 คน
 
เห็นว่าพิจารณาที่จะอนุญาตให้ทำเกลือสินเธาว์ และเขตที่จะอนุญาตให้ทำการสูบน้ำเกลือใต้ดินของคณะทำงานตามคำสั่งที่ 4/2533 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2534 กล่าวคือ การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขการขออนุญาตตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ฉบับปรับปรุงแก้ไข ครั้งที่ 1 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการอนุญาตกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นั้น มิได้มีความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกอบ ก่อนที่จะกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเงื่อนไขการอนุญาตและการออกใบอนุญาตซึ่งโรงงานทำเกลือสินเธาว์หรือสูบน้ำเกลือใต้ดินนั้น ทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้ความเห็นชอบในการพิจารณานุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ก่อมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 นายถาวร เพชรขุนทด ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ปกครองท้องที่ได้ร้องคัดค้านการอนุญาตทำนาเกลือ และร้องให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำนาเกลือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบการกระทำของโรงงานทำเกลือ ซึ่งผลการตรวจสอบได้กล่าวมาแล้วข้างต้นตามคำให้การของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
 
ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ถ้อยคำรับฟังได้ว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534  ก่อนการประกาศใช้ไม่ได้ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว
 
ศาลมีคำพิพากษา เห็นว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดท้องที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบน้ำเกลือหรือน้ำนำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน มิใช่เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดจำนวนโรงงานแต่ละประเภท หรือชนิดตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) และบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว ที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 และเป็นประกาศที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากไม่ได้นำประกาศดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้กำหนดไว้ จึงทำให้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหนือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว เพราะประกาศฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัว ทั้งนี้ โดยเทียบคียงตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.47/2546
 
ฉะนั้นการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานของโรงงานดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนในข้อ 2. จึงเป็นการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะเพิกถอนได้ ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของทั้ง 10 โรงงานตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนในข้อ 2. ตั้งแต่วันที่อนุญาต
 
โรงงาน 10 โรงตามคำฟ้องข้อที่ 2. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ เพียงแต่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเท่านั้น ศาลจึงไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอในส่วนนี้ได้
 
คำฟ้องข้อที่ 3. ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนอย่างลอยๆ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าโรงงานทำเกลือในพื้นที่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา มิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512
 
คำขอที่ 4  เป็นดุลยพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 7 ที่จะพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลมิใช่ผู้บังคับบัญชาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 7 ที่จะพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 7 ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนมีคำขอได้ 2>
 
 
 
 
อาจารย์ถาวร ผู้ต่อสู้และเฝ้ารอคำพิพากษาจากศาลมานานกว่า 4 ปี เห็นว่า “คำพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา ในเรื่องประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น เป็นคำพิพากษาที่มีผลดีกับอีกหลายพื้นที่อย่างมาก เพราะล้วนแล้วแต่ใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ฉบับนี้กันทั้งสิ้น
 
แต่ก็ยังมีเหตุว่า ทำไมมีคำพิพากษาออกมา แต่ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ ก็ยังคงมีโรงงานเปิดดำเนินกิจการอยู่”
 
และอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ตอบข้อสงสัยให้กับอาจารย์ถาวรว่า “คดียังไม่สิ้นสุด เนื่องด้วยว่าคำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้นเท่านั้น ผู้ถูกฟ้องยังมีสิทธิอุทธณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก”
 
 
แม้ว่าปัญหาเรื่องคดีจบไป แต่ชาวบ้านก็ยังมีข้อสงสัยอีกว่า ทำไมระหว่างการต่อใบอนุญาตโรงงาน ผู้ประกอบการยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ?
 
นายทรงวุฒิ ขันสันเทียะ รองนายกฯอบต.สำโรง มีข้อข้องใจอย่างมากว่า “เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 อุตสาหกรรมฯได้มาทำประชาคมกับสมาชิกอบต.และผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมติก็ออกมาว่า ไม่เห็นชอบในการต่อใบอนุญาต แต่ถึงปัจจุบันก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ผมจึงข้องใจว่า ทางราชการมีกำหนดเวลาหลักเกณฑ์อย่างไร กี่วัน เพราะที่ผ่านมามีการยื่นคำขอไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-45 และยังไม่ได้รับการอนุญาต  แต่สามารถเปิดโรงงานดำเนินกิจการได้อย่างปกติจนถึงปัจจุบัน”
 
อุตสาหกรรมก็ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ใบคำขอนั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่ามีคำสั่งถึงที่สุด เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” 3>
 
เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แล้วชาวบ้านที่อาศัยทำมาหากินอยู่ตรงนั้น ท่านไม่เห็นใจพวกเขาหรืออย่างไร หรือว่าพวกเขาคนส่วนน้อยจะต้องเสียสละให้คนส่วนมากอีกแล้ว !
 
 
 
 
เชิงอรรถ
 
1> สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th
2> คำพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา  คดีหมายเลขดำที่ 242/25648
                                                        คดีหมายเลขแดงที่ 431/2552
3> “เวทีประชาคมการแก้ไขปัญหา ‘ภัยพิบัติดินถล่ม’ จากการทำนาเกลือ” ที่โรงเรียนโนนไทยคุรุอุปถัมภ์ 2 ต.สำโรง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net