Skip to main content
sharethis
 
 
ในวาระของวันสตรีสากล 8 มี.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (AHRC) ออกแถลงการณ์กล่าวถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและ "การฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ" (Honour Killing)
 
ในแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (AHRC) ระบุว่า มีผู้หญิงราว 1 ใน 3 จากทั่วโลกที่ถูกทุบตี ข่มขืน หรือกระทำทารุณอื่น ๆ และมักจะเกิดขึ้นในครอบครัว ระดับที่รุนแรงที่สุดคือการ 'ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ' ซึ่งหมายถึงการฆาตกรรมฝ่ายหญิงเพื่อรักษาชื่อเสียงของครอบครัว-วงศ์ตระกูล
 
ในทุก ๆ ปีจะมีเหตุการณ์ฆาตกรรมดังกล่าวราว 5,000 รายทุกปี โดยผู้ที่ก่อการฆาตกรรมเป็นได้ทั้งสามี, พ่อ, ลูก, พี่น้อง, ญาติฝ่ายชายอื่น ๆ รวมถึงบางครั้งก็มีสมาชิกครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้กระทำด้วย ซึ่งลักษณะการฆาตกรรมมีทั้งการยิง, ขว้างปาก้อนหิน, ฝังทั้งเป็น, รัดคอ, ทุบตี หรือแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต
 
การฆาตกรรมในลักษณะนี้มีหลากหลายสาเหตุ โดยอาจมาจากการที่ฝ่ายหญิงละเมิดค่านิยมเรื่องเพศในสังคมนั้นๆ จนครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือบางครั้งก็แค่มาจากความต้องการเลือกสามีของตนเอง ความต้องการหย่าหรือรับมรดก ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ มีบางครั้งที่เหยื่อจากการข่มขืนก็ถูกครอบครัวมองว่าทำเสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกสังหารด้วยสาเหตุดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายชายที่ข่มขื่นผู้หญิงยังคงลอยนวล
 
โดยปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่กฏหมายของบางประเทศยังคงมีการเลือกปฏิบัติทางเพศ บางแห่งมีการทำให้ผู้ที่กระทำการ 'ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ' พ้นจากความผิดบางส่วนหรือทั้งหมด ในชุมชนบางแห่งมีการแสดงการชื่นชมหรือยกตำแหน่งพิเศษให้ผู้กระทำการด้วย
 
ในแถลงการณ์ได้ระบุว่า การ 'ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ' เป็นสิ่งที่ผิดแผกจากมนุษย์และเป็นความล้าหลังป่าเถื่อนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นบนโลก ถือเป็นความร้ายแรงที่มีเชื้อมาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยรวมถึงการกระทำรุนแรงในครอบครัวแบบอื่นๆ ที่ยังคงมีอยู่ในทุกประเทศด้วย
 
AHRC กล่าวในแถลงการณ์ว่าความรุนแรงในครอบครัวนอกจากจะมาจากการทุบตีทำร้ายในทางกายภาพแล้ว การดูถูกเหยียดหยาม และการเมินเฉย ทอดทิ้ง จากสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สนับสนุนประเพณีนิยม ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวด้วย บางครั้งมีการบังคับให้ร่วมเพศ ข่มขืน และฆาตกรรม ผู้หญิงบางคนที่ต่อต้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชน จะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวในครอบครัวเป็นเวลานานจนกว่าฝ่ายหญิงจะยอมแต่งงานกับฝ่ายชายที่ถูกเลือกให้
 
มีข้อเสนอว่าอิสรภาพทางการเงินและการเสริมพลังให้เพศหญิง เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับความรุนแรงในครอบครัว เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายหญิงยังคงอยู่กับความสัมพันธ์ที่รุนแรงในครอบครัว เนื่องจากพวกเธอไม่มีอิสรภาพการเงินและขาดที่อยู่อาศัย
 
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ระบุว่า เราไม่ควรให้ความสำคัญทั้งหมดกับข้อเสนอดังกล่าวซึ่งจะทำให้ความลึกและความซับซ้อนของปัญหายังคงดำรงอยู่ เนื่องจากยังคงมีความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นในประเทศที่สตรีมีอิสรภาพทางการเงินในระดับหนึ่ง แม้แต่ผ้หญิงที่เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ, ส.ส., นักกฏหมาย, แพทย์, นักข่าว และนักวิชาการ ก็มีชีวิตอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งในสังคมจะได้รับการชื่นชม ขณะที่ด้านของพื้นที่ส่วนตัวจะถูกรังแก
 
ความจริงคือแม้แต่สถาบันรัฐก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงเหยื่อจากการ 'ฆาตกรรมเพื่อรักษาเกียรติยศ' เนื่องจากผู้กระทำยังคงลอยนวลอยู่ในวัฒนธรรมที่ไม่ลงโทษพวกเขา ทั้งที่การกระทำของพวกเขาถือว่าเป็นอาชญากรรม และคงถูกลงโทษไปแล้วถ้าเขาทำกับคนแปลกหน้า
 
โดยปกติแล้ว จะมีการถกเถียงกันถึงเรื่องที่รัฐควรมีส่วนรับผิดชอบในความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว แต่ขณะที่บางคนยังคงยืนยันว่า ความรุนแรงในครอบครัวอยู่นอกเหนือไปจากขอบข่ายของเรื่องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ อย่างไรก็ตามภายใต้กฏและมาตรฐานของนานาชาติ รัฐควรมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องสิทธิสตรีและช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งรวมไปถึงความรับผิดชอบในการป้องกัน คุ้มครอง และชดเชย โดยไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดว่ามีสถานะอย่างไรในครอบครัว
 
 
ยูเอ็นดีพี เผยจำกัดบทบาทสตรีในเอชีย ทำสูญเงิน 8 หมื่นล้านเหรียญ
ด้านนางเฮเลน คลาร์ก ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี เปิดเผยรายงานของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มี.ค.ระบุว่าบทบาทสตรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านเศรษฐกิจและการเมืองยังถูกจำกัดอยู่มาก จนส่งผลกระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาการของแต่ละประเทศ นอกเหนือจากปัญหาการปกป้องสตรีจากการถูกใช้ความรุนแรงหรือการได้รับสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์
 
นอกจากนี้ คลาร์กระบุด้วยว่าปัญหาหลักที่ทำให้การรณรงค์ด้านสิทธิสตรีไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เกิดจากการขาดความมุ่งมั่นในการตั้งเป้าหมายทางสังคมว่าผู้หญิงต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ตัวอย่างเช่น ปัญหาผู้หญิงถูกกีกกันเข้าทำงาน เพราะความเชื่อว่าเพศหญิงไม่เหมาะสมกับการทำงานบางประเภท ทำให้เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องสูญเสียเงินแต่ละปีมากถึง 89,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
แม้ว่าสตรีในกลุ่มชาติเอเชียแปซิฟิกได้รับโอกาสมากขึ้นทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุขและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่กลุ่มสตรียังถูกสกัดกั้นโอกาสมากกว่ากลุ่มผู้ชายอยู่ดี ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกติดกลุ่มสถานการณ์แย่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเท่าเทียมด้านการถูกจ้างงาน การเป็นตัวแทนทางการเมือง สิทธิทางกฏหมายต่างๆ รวมถึงการครอบครองที่ดิน
 
 
 
หมายเหตุ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (AHRC) เป็นองค์กรเอกชนที่คอยสอดส่องและรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในฮ่องกงปี 1984

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net