Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์ของ ‘ประชาไท’ ถึงฉากความเป็นไปได้ทั้งหมด ตลอดจนข้อเสนอหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และคดีเงินพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท

สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท และคดีเงินพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น เพื่อส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค เร็วเกินคาดหมาย ชนิดมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว กระทั่งหลายคนแอบคิดว่า หรือนี่คือทางออกจากวิกฤติการนองเลือดที่กำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

ต่อจากนี้คือ บทวิเคราะห์ของ ‘ประชาไท’ ถึงฉากความเป็นไปได้ทั้งหมด ตลอดจนข้อเสนอ

0 0 0

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

            มาตรา ๖๘ บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

            ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

            ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

            ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

            มาตรา ๑๐๑ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
            (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
            (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
            (๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง 

            มาตรา ๑๐๖ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
            (๘) ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
            ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหกสิบวันนั้น 

            มาตรา ๒๓๗ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
            ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา ๖๘ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
  

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
            มาตรา 45 การบริจาคแก่พรรคการเมือง ให้กระทำโดยเปิดเผยตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด 

            มาตรา 51 ห้ามมิให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค การเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่เป็นการบริจาคโดยไม่เปิดเผย

            มาตรา 52 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็น การบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของ ประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคาม ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็น การทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน 

            มาตรา 53 ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจการ ในทางการมืองจาก
            (1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
            (2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการ หรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร
            (3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติ ไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า
            (4) องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมี ผู้จัดการ หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
            (5) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลที่ได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง จากบุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
            (6) บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของคณะ กรรมการการเลือกตั้ง 

            มาตรา 54 ห้ามมิให้บุคคล องค์การ หรือนิติบุคคลตาม มาตรา 53 บริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกผู้ใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง

            มาตรา 66 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อ ไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
            (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่ง อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
            (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
            (3) กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อ กฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ
            (4) กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือ มาตรา 53
 

ฉากที่เป็นไปได้ทั้งหมด
1. คดียุบพรรค จะต้องผ่านขั้นตอนอัยการ และสิ้นสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยปกติจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของอัยการหรือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นกรณีเกิดขึ้นเร็วดังกรณียุบพรรคพลังประชาชน จะเสี่ยงถูกครหามากว่า มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม 

2. กรณีคดีถึงศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำพิพากษา 4 คำตอบ คือ 1.ไม่ยุบพรรค 2.ยุบพรรค 3.ยุบพรรคโดยเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารเฉพาะผู้มีความผิด 3 ปี หรือ 4.ยุบพรรคโดยเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารทั้งชุดเป็นเวลา 5 ปี

3. หากเป็นกรณีที่ 2 และ 3 ผลคือ สมาชิกและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายในเวลาที่กำหนด อาจไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงขั้วรัฐบาลหรือแม้กระทั่งนายกฯ (หากไม่มีกรณีงูเห่า เหมือนกรณีเนวินหันไปกอดกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งยุบพรรคพลังประชาชน)

4. หากเป็นกรณีที่ 4 ผลคือ รัฐบาลต้องสิ้นสภาพ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายในเวลาที่กำหนด โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็น ส.ส. ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ

5. หากเป็นกรณีที่ 4 นี้ ผลที่จะตามมา ยังไม่ชัดเจนว่า นายกฯรักษาการจะมีอำนาจยุบสภาหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะต้องหาพรรคสังกัดภายใน 15 วัน เนื่องจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วง 45-60 วัน และรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมาไม่น้อยกว่า 30 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
 

บทวิเคราะห์
ไม่ว่าความคืบหน้าและผลการพิจารณานี้จะเป็นเช่นไร ย่อมไม่เกี่ยวกับกรณีความรับผิดที่มีต่อการสลายการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 

ไม่ว่าความคืบหน้าและผลการพิจารณานี้จะเป็นเช่นไร ทว่านับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำวินิจฉัยเร็วกว่าคาด เชื่อว่า จะดับความร้อนแรงของผู้ชุมนุมเสื้อแดง และทำให้จำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม กรณีเงินบริจาคทีพีไอ 258 ล้านบาทและเงินพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท เป็นกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2548-2549 ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นั่นหมายความว่า ต้องใช้ฐานความผิด ณ เวลากระทำผิด ไม่มีผลย้อนหลัง นั่นหมายความว่า กรณีการตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปไตย์จะไม่เกิดขึ้น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก (เว้นช่องไว้อันเนื่องจากตุลาการได้ภิวัฒน์มาในหลายปีที่ผ่านมาจนเกินคาดเดา)
 

ข้อเสนอ
1. เราต้องไม่เห็นด้วยหรือสนับสนุนอำนาจนอกระบบที่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีผลบรรเทาความอยุติธรรมและความคับแค้นจากสองมาตรฐานที่ผ่านมาก็ตาม 

2. เราต้องไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน เพราะพรรคการเมืองเป็นของสมาชิกพรรคทุกคนทั่วประเทศ ไม่ใช่ของกรรมการบริหารที่กระทำความผิดไม่กี่คน

3. เราต้องไม่ให้กรณีการยุบพรรคนี้มาเบี่ยงเบน ความรับผิดชอบที่มีต่อการปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย 21 รายและผู้บาดเจ็บนับพันคน

4. อย่าคิดว่า มติของ กกต.เสนอยุบพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นการดับร้อนและทางออกของปัญหา บางทีอาจเป็นการซื้อเวลาช่วยรัฐบาลประชาธิปัตย์

5. ผลของมติ กกต.นี้ อาจหวังผลทำให้ผู้ชุมนุมลดน้อยลง และหากมีเงื่อนไขทำลายความชอบธรรมผู้ชุมนุมเพิ่มเติมก็อาจจะมีการปราบปรามอีกครั้ง

6. หากยังมีการชุมนุม การชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสันติ ขันติ ที่รับผิดชอบต่อผู้ชุมนุม จะต้องเป็นวิถีทางที่ยึดมั่นต่อไป
 

ข้อมูลพื้นฐานประกอบและข้อสังเกตจากวรรณกรรมสื่อมวลชน 2 ชิ้น

 

1 

ดีเอสไอ เปิดปริศนาเงิน 258 ล้าน อภิสิทธิ์ ยากปัดความรับผิดชอบ
บทวิเคราะห์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552
 

ยังคงเป็นปริศนาที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตาม กับการออกมาเปิดประเด็นเงินว่าจ้างในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จำนวน 258 ล้านบาท ที่ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จ่ายให้กับ บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ในช่วงปี 2548

ที่พรรคฝ่ายค้าน "เพื่อไทย" คลางแคลงใจในเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและพุ่งเป้าไปด้วยความสนใจ ว่า เป็นเงินบริจาคให้กับพรรคประชาธิปัตย์ใช้ในการเลือกตั้งโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในปัจจุบัน และแม่บ้านพรรคอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ดูจะไม่ยี่หระ แม้ว่าจะถูกชงเป็นประเด็นซักฟอกรัฐบาลก็ตาม

แม้กระทั่ง บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ก็ยังออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่รู้เรื่อง เช่นเดียวกับประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาฯ พรรคในช่วงเวลาเดียวกันที่ย้ายออกไปอยู่รวมใจไทยฯ ในขณะนี้

ปมปัญหาพัวพันอีนุงตุงนังมีตัวละครอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีคนใกล้ชิด สุพัฒน์ ธรรมเพ็ชร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พ่อของ สุพัชรี ส.ส.หญิงพัทลุง ในฐานะบอร์ดของบริษัทในช่วงปี 2543-2544 ขณะที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน ก่อนที่จะลาออกในเวลาต่อมา

และที่กระโดดเข้ามาเป็นเป้าจังๆ เห็นจะหนีไม่พ้น นิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองเลขาฯ พรรค ในฐานะพี่ชายของ มาลี ปัญญารักษ์ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเงิน 258 ล้านบาท ในการดำเนินธุรกิจในฐานะตัวแทนปูนพีทีไอ ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรค ท่ามกลางปุจฉาภายในใจลูกสะตอว่า...ใครอมเงินพรรค?

การเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่า เมื่อ ประจวบ สังข์ขาว ถอนเงินจากบริษัท เมซไซอะ จะโอนเงินสดไปเข้าบัญชีบุคคลต่างๆ 3 กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นเงินก้อนโตประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งทยอยโอนให้กับลูกน้องในบริษัท หญิงสาวคนสนิทของประจวบ รวมถึงบุคคลใกล้ชิดนักการเมืองภายในพรรค

ขณะที่เงินก้อนที่ 2 ประมาณ 60 ล้านบาท ถูกโอนให้กับพี่และน้องภรรยาของนักการเมืองระดับแกนนำ

เงินก้อนที่ 3 ถูกโอนให้กับนักการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ส่งเงินเข้าบัญชีของบุคคลใกล้ชิด

ที่สำคัญคือ หลังจบการเลือกตั้งปี 2548 ก็ไม่พบการทำธุรกรรมโอนเงินของกลุ่มคนดังกล่าวอีกเลย...???

จากการตรวจสอบพบว่า เงินที่ถูกใช้จ่ายเพื่อทำธุรกิจโฆษณาตามคำกล่าวอ้างของ ประชัย มีเพียง 30 ล้านบาทเท่านั้น  

ดูเหมือนจะใกล้เคียงกับวงเงินที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ว่าจ้างทำป้ายโฆษณาหาเสียงประมาณ 26 ล้านบาท...

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อพิรุธ คือ บริษัท เมซไซอะ ทำใบกำกับภาษีปลอม จากจำนวนเงินที่ชี้แจงไม่ได้ กว่า 100 ล้านบาท

ในประเด็นนี้กลับไม่พบว่า มีการดำเนินคดีภาษีกับ ประจวบ เพราะหากต้องรับผิดคดีภาษีแบบเรียงกระทงลงโทษ ประจวบก็คงต้องติดคุกยาว...???

สำหรับ ประจวบ ในชั้นสอบสวนได้ให้การรับสารภาพ ว่า เป็นผู้รับเงินตามคำสั่งของผู้ใหญ่ โดยประจวบมีอาชีพหลัก คือ ทำป้ายหาเสียงให้กับพรรคมาเป็นเวลานาน

ด้วยความคุ้นเคยสนิทสนมกับผู้ใหญ่ ทำให้เป็นที่ไว้วางใจของผู้บริจาคแต่ละยุคสมัย หลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกบังคับใช้ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่าน กกต.

ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย บัญชีรายรับ ส่งรายการใช้เงินของพรรคให้กับ กกต.

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้การว่าจ้างทำป้ายหาเสียงต่างๆ ซึ่งเดิมพรรคจะว่าจ้างใครให้ดำเนินการก็ได้ ต้องเปลี่ยนมาเป็นการว่าจ้างบริษัทห้างร้าน เพื่อจะได้นำใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายไปแสดงเป็นรายจ่ายต่อ กกต.

และด้วยเหตุผลนี้อีกเช่นกัน ทำให้มีการตั้งบริษัท เมซไซอะฯ ขึ้น ในปี 2543 โดยมีกรรมการร่วมก่อตั้ง 7 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีบุคคล 2 ราย ที่พรรคประชาธิปัตย์ยากจะปฏิเสธความสัมพันธ์.....

นั่นคือ ไทกร พลสุวรรณ และ สุพัชรี ธรรมเพ็ชร บุตรสาวของนายสุพัฒน์

ในส่วนของบริษัท เมซไซอะฯ เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สถานที่ตั้งเป็นห้องแถว ไม่มีตัวสำนักงาน ไม่มีโรงงานผลิต สถานะทางการเงินโดยทั่วไป มียอดรายรับเข้าบริษัทปีละประมาณ 3-8 ล้านบาท ผลประกอบการกำไรแทบไม่มีเหลือ

ภายหลังบริษัทนี้ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือเลิกกิจการไปแล้ว เมื่อตรวจสอบรายงานการประกันสังคม ปรากฏชื่อลูกจ้างอยู่เพียง 2-3 คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ประจวบ สังข์ขาว

ด้วยข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้เป็นประเด็นต้องสงสัยว่าเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นเปเปอร์คอมปะนี...???

จากการสอบถามข้อมูลไปยังวงการโฆษณาพบว่า บริษัท เมซไซอะฯ ไม่มีชื่อในกลุ่มบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านธุรกิจการโฆษณา

จึงเกิดคำถามว่าเหตุใดบริษัทปูนยักษ์ใหญ่อย่างทีพีไอ ที่มียอดจำหน่ายปูนเป็นแสนล้านบาท..???

เหตุใดเมื่อต้องการทำประชาสัมพันธ์ จึงเลือกว่าจ้างบริษัทโนเนม ไม่มีฐานะมั่นคง ไม่มีผลงานที่ประจักษ์ ในวงเงินถึง 258 ล้านบาท

เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเมซไซอะฯ เป็นความสัมพันธ์หยั่งลึกกับพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่...!!!

แม้ว่า อภิสิทธิ์ จะปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องและไม่ขอให้ความเห็น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคก็ตาม

แต่สิ่งหนึ่งที่อภิสิทธิ์หนีไม่ออก คือ การที่ตัวเขาเองเป็นคนรับรองงบดุลของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งให้ กกต. ในเวลาต่อมา

ดังนั้น หากเงินดังกล่าวถูกพิสูจน์ว่าเป็นเงินบริจาคจริง แต่งบดุลที่ส่งให้กับ กกต.กลับไม่ปรากฏยอดเงินดังกล่าว

เรื่องจะเป็นอย่างไรไปไม่ได้นอกจากการรับรองงบดุลเท็จ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา

ถึงเวลานั้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยากที่จะอ้างว่า ไม่รู้ หรือไม่เกี่ยว ได้อีกต่อไป...!!!

2

ปชป.แถลงโต้พท.บอกคดีเงิน258ล้านบาทโทษไม่ถึงยุบพรรค
มติชน วันที่ 4 มกราคม 2553
 

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา แถลงถึงคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ขณะนี้มีความพยายามจงใจสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะกรณีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่ามีการใช้สองมาตรฐานดำเนินคดีดังกล่าวซึ่งไม่เป็นความจริง ขอชี้แจงว่าปชป.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับเงินดังกล่าว จึงเป็นไม่ได้ที่พรรคจะต้องไปรับผิด นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นในระหว่างปี 2548-49 หากฟังได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด จะต้องใช้กฎหมายพรรคการเมือง ฉบับปี 2541 ซึ่งกำหนดโทษไว้เพียงให้กรรมการรบริหารพรรคที่รับเงิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของเงินที่ได้รับมาเท่านั้น โทษไม่ถึงขั้นยุบพรรคแต่อย่างไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net