Skip to main content
sharethis

ก่อนที่กระแสจะจางหาย ยังคงมีคำถามมากมายที่ค้างคาใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ พล.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เพราะความรู้สึกของผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ที่แสดงออกต่อกรณีนี้ อาจจะไม่สอดคล้องต้องกันนักกับความรู้สึกของคนในพื้นที่จริงๆ

ก่อนหน้านี้ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ได้โยนโจทย์เรื่อง พล.ต.อ.สมเพียร ให้สังคมไทยได้ช่วยกันคิด ผ่านทางบทบรรณาธิการที่ชื่อ “บท พิสูจน์กรณี สมเพียร เอกสมญา สังคมไทยยังเข้าไม่ถึงชายแดนใต้” และสกู๊ปข่าวเรื่อง “เพราะวิสามัญฯไม่ใช่ผลงาน อย่าปล่อยให้เกิดการฆาตกรรมโดยผู้ถือกฎหมาย!” ปรากฏว่าได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและนอกพื้นที่พอสมควร

ล่าสุดบุคคลที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “นักคิด” หรือ “ปัญญาชน” ในพื้นที่ 2 คน ได้ส่งบทความที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่อง พล.ต.อ.สมเพียร เข้ามายังกองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา แม้ทั้งคู่จะเป็นนักคิดต่างวัย เพราะคนหนึ่งเป็นถึงผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ ขณะที่อีกคนหนึ่งยังเป็นนิสิตหนุ่มไฟแรงในระดับมหาบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย แต่ก็น่าแปลกใจที่ทั้งสองกลับตั้งคำถามในประเด็นเดียวกัน คือกระแสเชิดชู “วีรบุรุษ” ในบริบทของสังคมไทย กับความรู้สึกที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนที่ชายแดนใต้

กองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เห็นว่าเป็นบทความที่เสนอมุมมองน่าสนใจ แม้จะสวนกระแสสังคมไปบ้าง แต่ก็น่าบันทึกไว้เพื่อเป็นโจทย์ให้ได้ร่วมกันหาทางออกต่อไป

เพราะความเห็นต่างย่อมเปรียบเสมือนดอกไม้หลากสีที่งดงามในสวนสวยที่ชื่อ ประชาธิปไตย...มิใช่หรือ?

0 0 0

อับดุลสุโก ดินอะ: วีรบุรุษต้องแยกแยะ
บทความชิ้นแรกมาจาก อุสตาซอับดุลสุโก ดินอะ (อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

การเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” เพราะถูกลอบวางระเบิดระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศไทยจากทุกหมู่เหล่าและทุกวงการ หรือแม้แต่ศัตรูของท่านในวงการตำรวจหรือนักการเมืองบางคนจำเป็นต้องออกมา สรรเสริญ

ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธเรื่องความเป็นวีรบุรุษของท่านในแง่ความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สีแดง หรือในด้านการออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่ในกรุงเทพมหานครเรื่อง การแต่งตั้งโยกย้าย แต่ต้องแยกแยะ ไม่เหมารวมกับเรื่องรูปแบบการทำงานในพื้นที่ มิฉะนั้นจะกระทบถึงกระบวนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

แน่นอนว่าท่านทำให้ประเด็นการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่ง ชาติถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง เพราะท่านเพิ่งออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งโยกย้ายอันไม่ เป็นธรรมในระดับรองผู้บังคับการถึงสารวัตร เนื่องจากไม่ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ สภ.กันตัง จ.ตรัง ตามที่ร้องขอกับผู้บังคับบัญชาเอาไว้ว่าต้องการพักผ่อนในช่วง 18 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

เป็นการแต่งตั้งโยกย้ายที่ถูกวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่ามีการวิ่งเต้นซื้อ ขายตำแหน่งกันอย่างโจ๋งครึ่ม แต่มีน้อยคนนักที่กล้าเปิดตัวออกมาชนกับผู้บังคับบัญชา

ทว่า “จ่าเพียร” เป็นหนึ่งในนั้น

สิ่งนี้ทำให้ท่านคือวีรบุรุษของข้าราชตำรวจชั้นผู้น้อยในจังหวัดชายแดนภาค ใต้และประเทศไทยในภาพรวม

สภาพของท่านก็เหมือนกับข้าราชการชั้นผู้น้อยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนกับชายขอบของสังคมไทยดีๆ นี่เอง

คือไม่ได้รับความสนใจจนกว่าจะสิ้นลมหายใจไปนั่นแหละ

ในท่ามกลางการสรรเสริญดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการตายของท่านยังมีอีกมุมหนึ่งในวงน้ำชาชายแดนใต้ที่ อาจจะรู้สึกตรงกันข้าม เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นไม่กล้าสะท้อนออกมาตรงๆ ทั้งนี้เพราะอีกมุมหนึ่งจากการปฏิบัติหน้าที่ของท่านกับลูกน้องเมื่อมีการ ปะทะกับผู้ต้องสงสัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีปัญหาการวิสามัญฆาตกรรมสูงมาก (โปรดดูสถิติใน http://www.oknation.net/blog/print.php?id=333896) 

วิสามัญฆาตกรรม [วิสามันคาดตะกํา] (กฎ) น. หมายถึง ฆาตกรรมที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือถูกฆ่าตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่.

การวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในการปราบปราม หรือที่เรียกว่า “ทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย” ตามคำสั่งของรัฐบาลทุกยุค ยังความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมีการ เรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศให้ตรวจสอบว่าการกระทำในลักษณะวิสามัญ ฆาตกรรมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ฉะนั้นรัฐบาลต้องใส่ใจปัญหา “วิสามัญฆาตกรรม” เป็นพิเศษ และต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกกรณี เพื่อรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรมเอาไว้ อย่าลืมว่าเรามีพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมากมายซึ่งทั่วโลก ยอมรับกันว่า รัฐจะต้องรับผิดชอบการกระทำของตนทั้งในแง่นโยบายและความรับผิดทางอาญา

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ จึงต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม ว่าการวิสามัญฆาตกรรมแต่ละครั้งนั้นเป็นการป้องกันตัวที่พอสมควรแก่เหตุหรือ ไม่

และแม้ในการ "วิสามัญฆาตกรรม" ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะกำหนดเอาไว้ชัดว่าจะต้องมีการชันสูตรพลิก ศพเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับอำเภอหรือ เทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ชันสูตรพลิกศพ แต่เมื่อพิจารณาดีๆ จะพบว่าไม่มีการเปิดโอกาสให้ญาติของผู้ตายได้มีส่วนร่วมด้วยแต่ประการใด ทั้งๆ ที่ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้วจะต้องรีบนำศพไปประกอบศาสนกิจและฝังภายใน 24 ชั่วโมง

ตรงนี้เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่ รัฐกับประชาชน...

ดังนั้นเรื่องของวีรบุรุษของ “จ่าเพียร” จึงต้องแยกแยะระหว่างการตายในหน้าที่กับการวิสามัญฆาตกรรม!

0 0 0

เอกรินทร์ ต่วนศิริ: วีรบุรุษของใคร ?
บทความชิ้นที่สองมาจาก เอกรินทร์ ต่วนศิริ นิสิตปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)

การโหมเสนอข่าวการเสียชีวิตของ “จ่าเพียร” ของ สื่อมวลชนไทย ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หนังสือ ชีวประวัติ กระทั่งอาจจะมีการสร้างรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์ “จ่าเพียร” ขึ้น เพื่อบันทึกความทรงจำในฐานะวีรบุรุษของวงการตำรวจไทย และไม่แน่ต่อไปอาจจะสร้างละครหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับ วีรบุรุษจ่าเพียรด้วยนั้น

จะด้วยเป้าหมายอะไรก็ตาม แต่เชื่อว่ากระแสลักษณะนี้ไม่อาจทำให้ปัญหาชายแดนภาคใต้คลี่คลายไปได้ โดยเฉพาะการไปส่งเสริมหรือสนับสนุนวิธีการทำงานในบางแง่มุม เช่น การวิสามัญฆาตกรรม “โจร 22 ศพ” ในช่วง 2 ปีเศษที่ดำรงตำแหน่งผู้กับการ สภ.บันนังสตา

เพราะคำถามสำคัญสำหรับหัวใจคนมลายูมุสลิมในพื้นที่ก็คือ การเสียชีวิตของพี่น้อง 22 คนโดยการวิสามัญฆาตกรรม เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และแทบไม่มีการตรวจสอบการวิสามัญฆาตกรรมแต่ละครั้งเลยว่าเป็นการป้องกันตัว ของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่

แน่นอนว่าคำตอบคงไม่ใช่ง่าย แต่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคนธรรมดาที่ตกเป็นเหยื่อของการวิสามัญ ฆาตกรรม และยิ่งสื่อมวลชนยังคงสร้างวาทกรรมเรื่อง “วีรบุรุษ” ในฐานะผู้กล้าในนามของตัวแทนรัฐไทย ก็จะยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของชาวบ้านว่า “ไม่เห็นหัวพวกเขา” มากขึ้นไปอีก

เพราะแน่นอนว่าชาวบ้านตาดำๆ ที่เป็นครอบครัว ญาติพี่น้องของผู้ที่ถูกสังหาร 22 ศพ ย่อมเห็นต่างอย่างแน่นอน และปัญหาการวิสามัญฆาตกรรมก็เป็นคำถามในหัวใจของคนในพื้นที่เสมอมาว่าเป็น การ “ยิงต่อสู้” หรือ “ยิงทิ้ง” ทำไมจึงไม่ “จับเป็น” เหตุใดจึงต้อง “จับตาย”

เรื่องแบบนี้ใครไม่โดนกับตัวก็คงไม่รู้ เพราะในความรู้สึกของคนในครอบครัว ญาติพี่น้องนั้น การที่สามีหรือลูกหลานถูกจับ หรือแม้แต่ถูกจำคุกตลอดชีวิต ก็ยังดีกว่าถูกยิงเสียชีวิต เพราะอย่างน้อยก็ยังไปเยี่ยมเยียน ไปหากันได้ สอบถามสารทุกข์สุขดิบกันได้ นานทีปีหนก็อาจจะได้นั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกัน

น่าแปลกที่สื่อมวลชนไทยไม่เคยตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้เลย ทั้งๆ ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการดับไฟความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการที่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงละเมิดสิทธิ มีการจับ การฆ่า โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม นั่นต่างหากที่ทำให้ไฟใต้ยังคงคุโชน

การโหมข่าวอย่างมากมายของสื่อมวลชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา คงต้องตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า สื่อมวลชนเข้าใจปัญหาชายแดนภาคใต้มากพอหรือไม่ เพียงใด?

ที่สำคัญทุกคนที่ตายไปในชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนฝ่ายต่างๆ สายสืบหรือชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ รวมถึงทนายสมชาย นีละ ไพจิตร อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ชาวบ้านที่ถูกอุ้มหายสาบสูบ หรือผู้ก่อการนับร้อยในเหตุการณ์กรือเซะ ชาวบ้านในเหตุการณ์สลายม็อบที่ตากใบ ฯลฯ ทั้งหมดมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเขาทุกคนล้วนมีคนที่รักใคร่ห่วงใย มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง มีลูกเมียญาติมิตร

ฉะนั้นไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม ไม่ว่าผู้รักชาติหรือพวกแยกดินแดน ไม่ว่าคนใส่เครื่องแบบหรือพลเรือน น้ำตาของพวกเขาเป็นสีเดียวกัน คือสีแห่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เรามีความจำเป็นต้องสร้างวีรบุรุษเพื่ออะไร หากเรายังไม่เข้าใจหรือเห็นหัวผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจจะมอง วีรบุรุษที่กำลังถูกสร้างขึ้นด้วยทัศนะที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง!

 

 

.........................
ที่มา : http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=290:2010-04-15-01-02-31&catid=21:2009-11-21-16-38-50&Itemid=5

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net