Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพแถวทหารในชุดโรโบคอปมือกระชับโล่กับปืนเผชิญหน้า มวลชนเสื้อแดงผู้กำก้อนหินกุมท่อนไม้ ทำให้ผมเศร้าใจลึกๆ อย่างที่สุด

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วหลัง 14 ตุลาฯ 2516, พฤษภาทมิฬ 2535, 7 ตุลาทมิฬ 2551 และสงกรานต์เลือด 2552...คนไทยเรามาถึงจุดนี้อีกครั้งได้อย่างไร?

เพราะอุดมการณ์ ศรัทธามุ่งมั่น เจตนาดี?

เพราะความคลั่งไคล้สุดโต่ง ความใจร้อนดื้อรั้น ทิฐิมานะ การไม่เลือกวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมาย การถือชีวิตสวัสดิภาพคนอื่นเป็นเครื่องมือ ความโง่เขลาและอุบัติเหตุ?

หรือเพราะทั้งสองอย่างผสมกัน?

จนพร้อมจะเอาชีวิตเลือดเนื้อซึ่งกันและกันเพื่อสังเวยแก่สิ่งที่เรียกว่า "นิติรัฐ" และ "ประชาธิปไตย"

อันเป็นสิ่งสูงส่งดีงามที่ยากจะไขว่คว้าจับต้องซึ่งคนที่ตายไปไม่มีวันได้สัมผัสมัน

เรื่องสำคัญที่สุดเบื้องหน้าวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้

ไม่ใช่จะยุบสภาหรือไม่ยุบ

ไม่ใช่จะยุบสภาใน 15 วัน, 3 เดือน, หรือ 9 เดือนดี

ไม่ใช่แม้แต่การปฏิรูปสังคมและการเมือง

เบื้องหน้าสถานการณ์การเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ (power shift) จากกลุ่มอำนาจเก่าไปสู่กลุ่มเศรษฐกิจสังคมใหม่ซึ่งผ่านมาแล้วราว 5 ปีและยังอาจยืดเยื้อไปอีกเป็นสิบๆ ปีเช่นนี้ เรื่องสำคัญที่สุดคือ: -

1) ไม่ควรมีใครต้องด่วนเสียชีวิต เพราะยังจะต้องทะเลาะกันอีกนาน

นั่นหมายความว่าไม่มีดอกสิ่งที่เรียกว่า "สงครามครั้งสุดท้าย" ทุกคนไม่ว่าใครฝ่ายไหนจึงควรรักษาชีวิตไว้รอทะเลาะกันต่อรอบหน้า

2) ไม่ควรมีใครต้องด่วนเสียชีวิต เผื่อว่าผิดไง

ดังที่จะสังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนฝ่ายย้ายข้างข้ามขั้วกันเป็นปกติ ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งที่ผ่านมาในฝ่ายเหลืองก็มีอดีตผู้เคยนิยมทักษิณ (เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล และพรรคพวก), ในฝ่ายแดงก็มีอดีตผู้เคยคัดค้านทักษิณ (เช่น หมอเหวง โตจิราการ เป็นต้น)

การคิดผิดกลับใจบ่อยครั้งชุกชุมเช่นนี้ จึงไม่ควรมีใครอุทิศทุ่มเทจนตัวตายเพื่อความเชื่อปัจจุบันของตน เช่น ยอมตายเพื่อให้ยุบสภา, ยอมตายเพื่อไม่ให้ยุบสภา, ยอมตายเพื่อให้ยุบสภาเร็วขึ้น, ยอมตายเพื่อให้ยุบสภาช้าลง ฯลฯลฯลฯ

ไม่แน่ว่าอีกไม่กี่เดือนกี่ปีข้างหน้า เราเองก็อาจเปลี่ยนใจเลิกคิดเลิกเชื่อความหมกมุ่นครุ่นคิดและความปักใจเชื่อตอนนี้ของเรา

แล้วจะตายไปเพื่อความคิดความเชื่ออันอาจไม่ยั่งยืนและอาจผิดทำไม?

3) ในสภาพเช่นนี้ การทนกันได้ (tolerance) สำคัญยิ่ง

หมายความว่าไม่ต้องถึงแก่รัก-ชอบ-สมานฉันท์-สามัคคีกัน ขอแค่พอทนกันได้ ทนกันไหว ใช่ว่าเห็นต่างกันแล้วจะต้องลุกขึ้นมาทุบตีทำร้ายฆ่าฟันกัน หากแต่สามารถทะเลาะกันได้อย่างสันติ - ก็พอ

4) สังคมไทยต้องเพียรพยายามทำให้การใช้อำนาจของรัฐบาลกับการต่อต้านอำนาจของ ฝ่ายค้านเป็นอารยะทั้งคู่ (Civilizing both the government & the opposition)

การเมืองสี่ห้าปีที่ผ่านมาและระยะต่อไปข้างหน้ายังจะมีการผลัด เปลี่ยนหมุนเวียนอำนาจกันอีกหลายรอบหลายยก

ดังจะเห็นว่าอดีตแกนนำและผู้ปราศรัยปลุกม็อบแต่ก่อนได้กลายมาเป็น รัฐมนตรีหรือ ส.ส.ในภายหลัง

ส่วนอดีตรัฐมนตรีหรือ ส.ส. แต่ก่อนก็ได้กลับกลายมาเป็นแกนนำและผู้ปราศรัยปลุกม็อบในภายหลังเช่นกัน ฯลฯ

พลิกกลับสลับเปลี่ยนไปมาสองครั้งสามคราเช่นนี้ในชั่ว 5 ปีและเชื่อว่ายังจะพลิกเปลี่ยนต่อไปอีกเบื้องหน้า

จึงจำเป็นที่เราต้องสร้างธรรมเนียมกฎเกณฑ์กติกาสำหรับกำกับควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลและการต่อต้านอำนาจของฝ่ายค้านให้อยู่ในกรอบอารยะ ประชาธิปไตยทั้งคู่

เพื่อที่ว่าไม่ว่าใครสีไหนมาเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราและสังคมไทยโดยรวมจะพออยู่ได้โดยสงบสันติพอสมควร

ไม่ใช่ว่าทะเลาะประท้วงกันทีไร ก็ต้องมีความรุนแรง การก่อการร้ายและวินาศกรรมรัฐล้มเหลว อนาธิปไตยและสงครามกลางเมืองทุกทีไปไม่รู้จบ

เพราะกล่าวให้ถึงที่สุด การทำให้รัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นอารยะ ก็คือการทำให้รัฐไทยและสังคมการเมืองไทยกลายเป็นอารยะ (Civilizing the state& political society) นั่นเอง

หากทำไม่ได้ เมืองไทยที่รักของเราก็จะกลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่มีใครรักลงอีกต่อไป

กล่าวเฉพาะหน้านี้ เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียชีวิตเพิ่มเติม

1) รัฐบาลอภิสิทธิ์ในฐานะผู้ประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงและสั่งการในปฏิบัติการ "ขอคืนพื้นที่ชุมนุม" (หรือนัยหนึ่งสลายการชุมนุมในทางเป็นจริง) ควรแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยตรงต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การดูแลบริหารและตัดสินใจใช้อำนาจของตน ด้วยการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินทันทีแล้วลาออกหรือยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด

2) ในระยะยาว ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลควรพิจารณาหาทางยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลทักษิณ-พรรคไทยรักไทย และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 อันเป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์-คมช. เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้กองทัพมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนนอีกต่อไป

3) นปช.ควรคัดค้านประณามการก่อการร้ายและวินาศกรรมต่อหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในระยะที่ผ่านมาอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน สนับสนุนร่วมมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐทุกวิถีทางในการปกป้องสิทธิสวัสดิภาพในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายจากการก่อการร้ายและวินาศกรรม

4) เมื่อยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินและมีกำหนดการยุบสภาแน่นอนแล้ว แกนนำ นปช.ควรมอบตัวต่อทางราชการเพื่อพิสูจน์ตนเองต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรม

 

 

.....................
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชน
ที่มา: www.matichon.co.th

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net